ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงหน้าฝนกันอีกแล้ว แน่นอนว่าความชื้นแฉะของน้ำฝนมักนำมาซึ่งโรคระบาดเพิ่มความเจ็บป่วยให้เด็กๆ ได้ง่ายมาก ยิ่งโดยเฉพาะกับโรค ไข้เลือดออกเดงกี ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกจากเชื้อไวรัสเดงกี มาเตือนให้ทุกครอบครัวได้เฝ้าระวังบุตรหลานให้ห่างไกลจากยุงลายกันค่ะ
ไข้เลือดออกเดงกี โรคระบาดที่มากับฤดูฝน
ช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่จะเห็นว่าฝนตกเกือบจะทุกวัน ลูกเล็กเด็กแดงระวังอย่าให้ป่วยโรค ไข้เลือดออกเดงกี หรือไปโดนละอองฝน เสื้อผ้าเนื้อตัวเปียกฝนกลับบ้านกันมาทุกวันนะคะ เพราะเดี๋ยวจะป่วยเป็นไข้หวัดทำให้ต้องหยุดเรียน หยุดทำงานเสียทั้งสุขภาพ เสียเวลา และเสียทั้งเงินค่าหมอ ค่ายา
Must Read >> แพ็คเกจวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ระบาด ปี 2560
ช่วงหน้าฝนตกกระหน่ำแบบนี้ ให้ทุกบ้านระวังตามตุ่มน้ำ สระน้ำ อุปกรณ์ต่างๆ ที่น้ำฝนสามารถเข้าไปขังได้ เพราะมักจะมีลูกน้ำยุงลายเข้าไปวางไข่กันได้ ซึ่งเจ้ายุงลายตัวร้ายนี่แหละค่ะ ที่เป็นพาหะนำมาซึ่งโรคไข้เลือดออก และแต่ละปีก็มักจะพัฒนาความรุนแรงของโรคจากไข้เลือดออกธรรมดา มาเป็นไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อไวรัสแดงกี
มีข้อมูลเตือนให้เฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 30 เม.ย. 2560 พบผู้ป่วย 9,229 ราย จาก 77 จังหวัด อัตราป่วย 14.11 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 14 ราย กลุ่มอายุพบมากสุด 15-24 ปี (26.24 %) 10-14 ปี (19.79 %) 25-34 ปี (15.05 %) ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน ร้อยละ 46.6
และ 5 จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด คือ สงขลา (133.86 ต่อแสนประชากร) พัทลุง (104.68 ต่อแสนประชากร) ปัตตานี(93.46 ต่อแสนประชากร) นราธิวาส (76.51 ต่อแสนประชากร) นครศรีธรรมราช (50.31 ต่อแสนประชากร)
นอกจากนี้ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคใต้ 58.54 ต่อแสนประชากร ภาคกลาง 10.49 ต่อแสนประชากร ภาคเหนือ 5.16 ต่อแสนประชากร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3.90 ต่อแสนประชากร – ที่มา : สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
อ่านต่อ สาเหตุของโรคไข้เลือดออกจากเชื้อไวรัสเดงกี คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
มารู้จักกับ สาเหตุของการเกิดโรคไข้เลือดออกเดงกี
เห็นชื่อแปลกๆ ของเดงกีแล้ว พ่อแม่อย่าได้ไว้ใจ เพราะ “เดงกี” คือชื่อของเชื้อไวรัสที่ทำให้ป่วยเป็นไข้เลือดออก ซึ่งเชื้อ ไวรัสเดงกีหลักๆ แล้วจะมีอยู่ 4 สายพันธุ์ ตกใจเลยใช่ไหมคะ คือมาแค่สายพันธุ์เดียวก็ว่าแย่แล้ว นี่มากันถึง 4 สายพันธุ์แบบ นี้ไม่ธรรมดาปล่อยไว้ไม่ได้แล้วค่ะ
สำหรับการติดเชื้อไวรัสเดงกีนั้น หากเป็นการติดเชื้อในครั้งแรก อาการป่วยอาจจะไม่รุนแรง แต่เมื่อใดก็ตามที่เด็กๆ มีการติดเชื้อขึ้นมาเป็นครั้งที่สอง แล้วเกิดเป็นเชื้อที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก จะมีอาการรุนแรงถึงขั้นเลือดออก มีภาวะช็อค หรืออาจทำให้เสียชีวิตลงได้ ไข้เลือดออกเดงกี ส่วนมากพบว่าป่วยในเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีกันอยู่มากพอสมควร และรู้หรือไม่คะว่าโรคนี้น่ากลัวตรงที่มีการติดต่อของโรคจากคนไปสู่คน ซึ่งจะมียุงลายเป็นพานะนำโรคมาให้
คุณพ่อคุณแม่ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนว่าลูกเคยเจ็บป่วยด้วยไข้เลือดออกเดงกี อาจไม่แน่ใจว่าอาการของโรคที่แสดงออกมานั้นเป็นเช่นไร ดังนั้นเพื่อให้ลูกหลานของเราได้ปลอดภัยจากไข้เลือดออก ถ้าพ่อแม่ หรือผู้ดูแลเด็กได้รู้อาการของโรคนี้ในเร็วในเบื้องต้น ก็จะสามารถช่วยให้นำไปสู่การรักษาได้อย่างทันท่วงที สามารถลดอัตราเสี่ยงจากการเสียชีวิตลงได้ค่ะ
อาการของ โรคไข้เลือดออกเดงกี หากเกิดขึ้นกับเด็กในครั้งแรกมักจะไม่อาการแสดงให้เห็นมากนัก จะมีก็แค่ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีอาการไข้ และมีผื่นขึ้นบนผิวหนัง แต่เมื่อใดก็ตามที่เด็กเกิดป่วยไข้เลือดออกเดงกีอีกครั้งที่เกิดจากเชื้อต่างสายพันธุ์กับหนแรก จะมีอาการแสดงของโรคที่พ่อแม่สังเกตได้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะไข้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา เด็กบางคนอาจชัก เนื่องจากไข้สูง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มักมีหน้าแดง และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา ระยะนี้จะเป็นอยู่ราว 2-7 วัน[2]
- ระยะช็อค ระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง ผู้ป่วยจะซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะออกน้อย อาจมีเลือดออกง่าย เช่น มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ ในรายที่รุนแรง จะมีความดันโลหิตต่ำ ช็อค และอาจถึงตายได้ ระยะนี้กินเวลา 24-48 ชั่วโมง[3]
3.ระยะพักฟื้น อาการต่างๆ จะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะมากขึ้น บางรายมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามลำตัว[4]
แนะนำว่าหากลูกๆ ที่บ้านมีอาการของไข้เลือดออกไม่ว่าจะเพิ่งเป็นครั้งแรก หรือเจ็บป่วยขึ้นมาอีกครั้ง พ่อแม่อย่าชล่าใจให้รีบพาลูกไปโรงพยาบาลทัน คือป้องกันให้การรักษากันไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ดีกว่าปล่อยให้ป่วยเข้าสู่ระยะ 2 ระยะ 3 แล้วเดี๋ยวจะรักษาไปทัน อาจทำให้เสี่ยงต่อชีวิตของลูกได้ค่ะ
อ่านต่อ การป้องกันลูกจากโรคไข้เลือดออก คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
จะป้องกันเบื้องต้นอย่างไรดีนะ เพื่อไม่ให้เด็ก และคนในครอบครัวป่วย โรคไข้เลือดออก
อย่างที่เคยบอกกันเสมอค่ะว่า การป้องกันดีกว่าปล่อยให้เกิดขึ้นแล้วมาตามแก้ทีหลัง เพราะอาจจะแก้ไขได้ หรืออาจจะแก้ไขอะไรไม่ได้เลย เหมือนอย่างกับโรคไข้เลือดออกก็เช่นกัน ที่พ่อแม่รู้อยู่แล้วว่ายุงลายเป็นพาหะนำมาซึ่งการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ดังนั้นการป้องกันเบื้องต้นก็คือการตัดวงจรของยุงให้หมดไป
1. ป้องกันลูกไม่ให้ถูกยุงกัด
แนะนำว่าควรให้ลูกนอนในห้องที่มีประตู หน้าต่างติดมุ้งลวด หรือให้นอนในมุ้งกันยุง รวมทั้งควรทายากันยุงทุกครั้งที่อยู่นอกบ้าน
2. ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
ให้สำรวจรอบๆ บ้านว่ามีถังน้ำ ตุ่มน้ำ หรือแหล่งแอ่งน้ำขังหรือไม่ ถ้ามีให้เททิ้ง หรือใส่ทรายกำจัดลูกน้ำลงไป เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงมาวางไข่
3. เมื่อลูกมีอาการผิดปกติ
หากพบว่าลูกมีอาการไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ให้รีบพาไปโรงพยาบาลรับการตรวจรักษาอาการทันทีค่ะ
ท้ายนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในช่วงฤดูฝนที่จะยาวไปอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้ เด็กๆ ทุกคนจะปลอดภัยจากการเจ็บป่วยด้วย ไข้เลือดออก และรวมถึงโรคระบาดอื่นๆ ที่มาพร้อมกับสายฝนพร่ำนี้กันนะคะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
ภัยร้าย ไข้เลือดออก ขณะตั้งครรภ์
แพ็คเกจวัคซีนไข้เลือดออก โรงพยาบาลในกทม.
ไข้เลือดออก และไวรัสซิการะบาดช่วงหน้าฝน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
[1]โรคไข้เลือดออก. สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค. www.facebook.com
[2],[3],[4]ไข้เลือดออกเดงกี.โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน