เรื่องการ ป้อนน้ำทารก เป็นสิ่งที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้ เพราะบางคนอาจเคยได้ยินว่าไม่จำเป็นต้องป้อนน้ำให้ทารก แต่ในความรู้สึกของคุณแม่ก็กลัวว่าลูกจะหิวน้ำ หรือร่างกายลูกอาจขาดน้ำได้
ซึ่งเรื่องการ ป้อนน้ำทารก นี้ก็ได้มีเพจดังออกมาเตือน ว่าไม่ช่วยในการแก้กระหายน้ำของทารก หรือไม่ได้ช่วยให้ลูกทารกหายตัวเหลือง แต่ยังเป็นอันตรายถึงชีวิตอีกด้วย หลังมีเคสย่าและพ่อเอาขวดนมใส่น้ำให้เด็กกินจนชักเสียชีวิต
โดย เพจ นมแม่แฮปปี้ ได้โพสต์ภาพข้อความของคุณแม่ลูกอ่อนท่านหนึ่งที่ระบุว่า ที่ข้างเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาล มีเด็กทารกคลอดก่อนกำหนด 1 วัน และมีภาวะตัวเหลือง ซึ่งในระหว่างที่แม่ของเด็กไปอาบน้ำ ย่าและพ่อของเด็กได้แอบเอาขวดนมใส่น้ำแล้วให้เด็กกิน ทำให้เด็กสำลักแต่ไม่ได้ร้องไห้ออกมา แล้วสักพักเด็กก็มีอาการชัก พยาบาลจึงรีบส่งตัวเด็กเข้า NICU แต่ไม่ทันกาล เด็กเสียชีวิตด้วยภาวะสมองตายจากการสำลักน้ำ
#อันตรายของการป้อนน้ำก่อนอื่นขอแสดงความเสียใจกับคุณแม่ก่อนนะคะและขอขอบคุณคุณแม่ที่อนุญาตให้โพสต์ เพื่อเตือนท่านอื่นๆ ค…
โพสต์โดย นมแม่แฮปปี้ บน 22 สิงหาคม 2017
ทั้งนี้ทาง เพจ นมแม่แฮปปี้ ได้เผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาการตัวเหลืองว่า เกิดจากเม็ดเลือดแดงที่แตกตัว แต่ละคนเหลืองมากน้อยไม่เท่ากัน ตับของทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่จึงขจัดสารเหลืองออกจากร่างกายได้ช้า ซึ่งการป้อนน้ำไม่ช่วยให้หายเหลือง และนมแม่ไม่ทำให้เหลือง ส่วนทารกที่กินนมผงก็ตัวเหลืองได้
สำหรับทารกที่กินนมแม่แล้วตัวเหลือง สาเหตุเพราะดูดผิดท่า อมไม่ลึก จึงไม่ได้น้ำนม หรือกินนมไม่บ่อยพอ นอนนานเกินไป หรือมีพังผืดใต้ลิ้น จึงดูดน้ำนมได้น้อย
อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาตัวเหลือง ไม่ควรเสริมน้ำหรือเสริมนมผง แต่ควรให้ลูกกินนมแม่บ่อย ๆ ดูดจริงจัง ไม่ตอด วันละ 8-10 มื้อ เพราะในน้ำนมส่วนหน้า มีแลคโตสช่วยให้ขับถ่ายสารเหลืองออกทางอุจจาระ
⇒ Must read : เด็กตัวเหลืองหลังคลอด อันตรายอย่าป้อนน้ำเด็ดขาด!!
ทั้งนี้หากลูกกินนมแม่เพียงอย่างเดียว ไม่ต้องให้น้ำค่ะ เพราะในนมแม่มีน้ำมากเพียงพอที่จะทำให้เด็กไม่รู้สึกหิวน้ำหรือขาดน้ำ ในหนึ่งวันลูก 2 เดือนหนัก 4.5 กก.กินนม 24 ออนซ์ เมื่อคิดเทียบเป็นผู้ใหญ่ 45 กก. หากต้องกินนมในสัดส่วนเดียวกันคือ 240 ออนซ์หรือเท่ากับ 7200 ซีซี จะไม่รู้สึกหิวน้ำแน่นอนและคงไม่มีที่ในกระเพาะเหลือให้กินอย่างอื่นแล้ว และรับรองว่าต้องปัสสาวะบ่อยมากๆ
หากลูกได้รับน้ำเข้าไป จะทำให้กินนมแม่ได้น้อยลง น้ำหนักจะขึ้นไม่ดี น้ำจะล้างหรือเจือจางสารต่อต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียในนมแม่ที่อยู่ใน ปากและกระเพาะของลูก ทำให้ฤทธิ์ในการยับยั้งการเติบโตของเชื้อราในปากลดลง ทำให้ฤทธิ์ต้านการติดเชื้อโรคในลำไส้ลดลง นอกจากนี้การให้น้ำยังเป็นการเพิ่มโอกาสได้รับเชื้อโรคเข้าร่างกาย เพราะขวดน้ำอาจไม่สะอาดหรือขวดเดียวดูดทั้งวันจนมีแบคทีเรียจากปากลูกเข้าไป อยู่ในขวด ทำให้ท้องเสียได้
อ่านต่อ >> “การป้อนน้ำทารกอาจทำให้เกิดภาวะน้ำเป็นพิษได้” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ป้อนน้ำทารก อันตราย! เสี่ยงภาวะน้ำเป็นพิษ
อีกทั้งการป้อนน้ำให้ทารกอันตรายเพราะทารกมีน้ำหนักน้อยมาก การได้รับน้ำมากเกินไป สามารถทำให้เกลือแร่ในร่างกายเจือจางลง และเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ หรือ Water Intoxication ทำให้ชัก สมองบวมและเสียชีวิตได้
ทารกกินน้ำนมแม่ล้วนตั้งแต่แรกเกิดนาน 6 เดือน จะทำให้ขาดน้ำหรือไม่?
เชื่อไหมคะว่าเป็นสิ่งที่แม่ๆ ส่วนมากมักถามกัน เพราะส่วนหนึ่งมีความสับสนระหว่างคำแนะนำจากคุณหมอ พยาบาลที่บอกว่าให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวพอ ไม่ต้องให้กินอาหารเสริมเร็ว และไม่ต้องให้ลูกกินน้ำหลังกินนมแม่อิ่มแล้ว แต่ถ้าที่บ้านมีย่า ยาย ช่วยเลี้ยงลูก ก็จะบอกให้ป้อนน้ำลูกหลังกินนมอิ่มเพื่อล้างปาก และเพื่อไม่ให้ลูกตัวเหลือง หรือบางบ้านก็ให้ลูกหลานกินกล้วยบดตอนอายุเด็กได้ 4 เดือน ซึ่งตามหลักการแล้วเราไม่ควรป้อนน้ำ ป้อนกล้วย หรือป้อนอาหารเสริมอื่นให้ลูกก่อน 6 เดือน นั่นก็เพราะระบบย่อยอาหาร กระเพาะอาหาร ยังไม่สามารถย่อยและดูดซึมอาหารได้อย่างสมบูรณ์ เสี่ยงทำลูกวัยทารกสุขภาพแย่ได้ค่ะ
หาก ป้อนน้ำทารก ก่อนอายุ 6 เดือน มีผลกระทบอย่างไร ?
1. ระบบย่อยของทารกยังทำงานไม่สมบูรณ์
ใน 6 เดือนแรก ระบบย่อยอาหารของทารกยังทำงานไม่สมบูรณ์นมแม่จึงเป็นอาหารที่เหมาะที่สุดสำหรับลูก เพราะย่อยง่าย ช่วยปรับสมดุลกระเพาะอาหารให้ทำงานได้ดี หากคุณแม่ให้ลูกดื่มน้ำหลังจากกินนมแม่ ส่งผลให้น้ำไปละลายน้ำย่อย ทำให้ลูกท้องอืด
2. ภูมิต้านทานของทารกลดลง
การให้ลูกกินน้ำตั้งแต่แรกเกิด ไม่ส่งผลดีต่อภูมิต้านทานทางสุขภาพของลูก เพราะน้ำจะไปชะล้าง และเจือจางสารต้านเชื้อรา และแบคทีเรียตามธรรมชาติที่เคลือบในปากหลังจากกินนมแม่ ซึ่งหากเชื้อราหรือแบคทีเรียเหล่านี้ลดลง ก็ จะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการต้านเชื้อโรคในลำไส้ของลูกลดลง ลูกก็จะเสี่ยงต่อการติดเชื้ออักเสบได้มากขึ้น
3. เสี่ยงต่อภาวะการขาดอาหารในทารก
กระเพาะของเด็กทารกมีขนาดเล็กมาก หากคุณแม่ป้อนน้ำให้ลูกวัยทารก น้ำที่ลูกกินเข้าไปก็จะไปแทนที่ของนมในกระเพาะ ทำให้เสี่ยงก่อให้เกิดภาวะขาดอาหารในทารก เมื่อลูกขาดอาหารก็จะกระทบกับการเติบโตและพัฒนาการล่าช้า มีการศึกษาพบว่าการให้น้ำในช่วง 6 เดือนแรกทำให้ทารกกินนมแม่ได้น้อยลง 11 %
4. เสี่ยงต่อการเกิดโรคท้องเสีย
การป้อนน้ำทารกในระยะ 6 เดือนแรก สามารถเสี่ยงต่อการเกิดโรคท้องเสีย ที่มาจากน้ำหรือภาชนะใส่น้ำไม่สะอาด แนะนำว่าในลูกวัยทารก หากเขาหิวนม หรือกระหายน้ำ น้ำ นมแม่ช่วยได้ค่ะ เพราะนมแม่จะดับกระหายให้ลูกได้อย่างดี ที่สำคัญนมแม่ยังให้สารอาหารอื่นๆ ให้ลูกอิ่มท้องอีกด้วย
อ่านต่อ >> “ลูกทารกควรดื่มน้ำตอนไหน” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก คุณแม่สบายใจและคลายกังวลไปได้เลยค่ะ เพราะในน้ำนมแม่มีสารอาหารที่หลากหลาย มีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่จำเป็นกับร่างกายลูกอย่างครบถ้วน ที่สำคัญในน้ำนมแม่ยังมีน้ำมากถึง 90 % รับรองร่างกายลูกไม่ขาดน้ำ และไม่ขาดสารอาหารอย่างแน่นอน
Mom to know… “การให้ลูกกินนมแม่ล้วนในช่วง 6 เดือนแรก สามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตในทารกจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ เช่น โรคติดเชื้อในทางเดินอาหาร และทางเดินหายใจ รวมทั้งยังเป็นการป้องกันลูกเกิดการแพ้อาหารจากการแพ้นมวัว ที่สำคัญยังถือเป็นการคุมกำเนิดให้กับคุณแม่โดยธรรมชาติได้ด้วย”
- สำหรับความกลัวที่ว่าหากไม่ฝึกให้ลูกดูดน้ำตั้งแต่แรก จะไม่ยอมดูดหรือจะเป็นคนกินน้ำน้อยเมื่อโตขึ้น ก็ไม่เกี่ยวกันและไม่เป็นความจริง เพราะถึงเวลาที่ลูกกินข้าวแล้ว เขาต้องกินน้ำขณะกินข้าว ไม่อย่างนั้นก็ติดคอแย่ ระหว่างวันก็ไม่จำเป็นต้องกินน้ำ หากได้กินนมแม่ทั้งวันอยู่แล้ว
- ส่วนเรื่องกินน้ำน้อยจะทำให้ท้องผูกก็ต้องวิเคราะห์ให้ถูกต้องว่าเป็นเพราะ อะไร เช่น หากกินนมแม่อย่างเดียว หลายวันถ่ายครั้งเดียว ไม่ถือว่าเป็นท้องผูก เพราะอึออกมาจะนุ่มมากๆ เป็นธรรมชาติของนมแม่ที่ไม่มีกากของเสียมาก จึงไม่ต้องถ่ายทุกวัน
- หากลูกเริ่มกินอาหารอย่างอื่นร่วมกับนมแม่ อาจเป็นเพราะไม่ถูกกับอาหารนั้นๆ จึงทำให้ถ่ายแข็ง การแก้ไขคือ งดอาหารนั้นไป ก็จะดีขึ้น ไม่ใช่แก้ปัญหาโดยการกินน้ำเปล่าเพิ่มขึ้น จะทำให้ได้นมแม่ลดลง หมอเคยเจอเด็กที่พอให้กล้วยหรือฟักทองแล้วทำให้ท้องผูก จึงต้องสังเกตอาการลูกเสมอเวลาให้อาหารแต่ละอย่าง
- หากลูกกินนมผง ต้องกินน้ำเปล่าหลังกินนมเสมอ เพื่อล้างคราบนมให้สะอาด ไม่เหลือตกค้างในปาก จะเป็นอาหารของเชื้อราและแบคทีเรียในปาก และทำให้ฟันผุหากมีฟันขึ้นแล้ว ปริมาณน้ำที่กินก็เพียงแค่ล้างคราบนม ไม่จำเป็นต้องมาก ดูด 2-3 คำแล้วบ้วนน้ำออกก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นการบ้วนปาก ไม่ยอมกินน้ำเปล่าเลยก็ไม่เป็นไร อาศัยคอยเช็ดทำความสะอาดปากบ่อยๆ ก็ใช้ได้เช่นกัน เพราะปริมาณน้ำที่ใช้ชงนมผงที่ถูกสัดส่วน เป็นปริมาณที่เพียงพอแก่ร่างกายเด็กอยู่แล้ว คือ 24 ออนซ์ หากมีปัญหาอึแข็ง ไม่ใช่เป็นเพราะไม่ได้กินน้ำ แต่เป็นเพราะไม่ถูกกับนมยี่ห้อนั้นๆ ควรแก้ไขโดยการเปลี่ยนนม
แต่บางครั้งลูกอาจต้องกินน้ำมากหน่อย เพื่อถ่วงเวลาไม่ให้กินนมผงมากเกินไป ในกรณีที่ลูกมีปัญหาน้ำหนักตัวเกินหรืออ้วนมากเกินไป หากร้องอยากดูด ไม่ควรชงนมให้ทุกครั้ง แต่ให้ดูดน้ำเปล่าบ้าง แต่ถ้าลูกกินนมแม่อย่างเดียวจนน้ำหนักมาก ไม่ต้องห่วงว่าจะเป็นโรคอ้วนค่ะ ดูดได้เรื่อยๆค่ะ เพราะไขมันในนมแม่เป็นชนิดที่ไม่อันตราย ไม่อุดตันเส้นเลือด ไม่ต้องให้ดูดน้ำเพื่อตัดกำลัง เพราะน้ำจะไปเจือจางของดีในนมแม่
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- น้ำผลไม้ (น้ำส้มคั้น) อย่าให้ลูกอายุน้อยกว่า 1 ขวบกิน!!
- นมข้นหวาน อันตรายใกล้ทารกแรกเกิด 1 ขวบ
- อุทาหรณ์เตือนใจทุกครอบครัว! ทารกวัย 7 เดือนเสียชีวิต หลังพ่อแม่หวังดีให้ดื่มนมชนิดนี้แทน นมแม่
- เด็กชายญี่ปุ่นวัย 6 เดือน เสียชีวิตด้วยโรคโบทูลิซึมในทารก เพราะน้ำผึ้งเป็นเหตุ!
ภาพและข้อมูลจาก
เพจ นมแม่แฮปปี้ , www.breastfeedingthai.com