หลอดลมตีบเฉียบพลัน ค่าออกซิเจนต่ำ เกือบทำให้ลูกตัวเขียวเสี่ยงถึงชีวิต เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงจากคุณแม่สรัญญา ซึ่งเป็นแฟนสมาชิกของเว็บไซต์ Amarin Baby & Kids ที่ส่งเรื่องเข้ามาเพื่อแชร์ให้กับคุณพ่อคุณแม่ทุกครอบครัวที่มีลูกเล็ก ได้เฝ้าเตือนตัวเองให้หมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลูกค่ะ
หลอดลมตีบเฉียบพลัน เสียงเตือนของแม่ที่มีลูกเล็ก!!
น้องพอใจอายุ 2 ขวบ 10 เดือนมีอาการ หลอดลมตีบเฉียบพลัน จนต้องเข้ารักษาตัวเป็นการด่วนกลางดึก ผู้เขียนอยากให้คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กๆ ได้อ่านเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงกับครอบครัวของคุณแม่สรัญญา ที่เกือบจะสูญเสียลูกไปหากพาไปโรงพยาบาลช้าเพียงอีกเสียวนาที ซึ่งก่อนหน้าที่น้องพอใจจะเข้ารักษาอาการหลอดลมตีบแบบเฉียบพลัน คุณแม่ได้เล่าว่าน้องไม่ได้มีอาการแสดงเตือนว่าไม่สบายใดๆ เลย ไม่ว่าจะอาการไข้ ไอ หรือมีน้ำมูกก็ไม่มี คือทุกอย่างปกติดี !? และนี่คือเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น…
“คนเป็นพ่อแม่ต้องระวัง และอย่าชะล่าใจกับอาการผิดปกติของลูก ก่อนอื่นขอเล่าลำดับเหตุการณ์ให้ฟังตามนี้ค่ะ ลูกเราไม่มีอาการอะไรเลย เล่นปกติ น้ำมูกหรือไอสักนิดก็ไม่มี หลังจากหลับไปสักพัก ช่วงเที่ยงคืน ลูกหายใจคล้ายคนกรนอยู่ 2 ครืนเล็กๆ เรายังพูดกับแฟนว่า เดี๋ยวลูกเป็นหวัดแน่พรุ่งนี้
จนช่วงเที่ยงคืนครึ่ง ลูกเริ่มไอคล้ายกับจะเอาเสมหะออกมา คือไอหนักมากพยายามจะอ๊วกตลอดเวลา แม่เลยจับมานั่งเคาะปอดแล้วให้นอนตัก ปรึกษาแฟนว่าพรุ่งนี้เช้าจะรีบพาไปหาหมอ
แต่ช่วงประมาณตี 1 ครึ่งถึงตี 2 ลูกเริ่มไอหนักและถี่มากขึ้น ก็เลยเอายาแก้ไอละลายเสมหะให้ลูกกิน (ระหว่างนี้ไม่มีไข้)
พอตี 2 ครึ่งลูกเริ่มไอมีเสียงก้อง หายใจดังครืนคล้ายคนเป็นหอบ และเริ่มดิ้นเพราะคัดจมูก
ดูจากอาการที่ลูกเป็นเห็นแล้วท่าจะไม่ค่อยดี เราสองคนเลยขับรถพาลูกไปโรงพยาบาล ออกจากบ้านตี 3 ระหว่างทางก็พยายามฟังเสียงหายใจลูกตลอด ซึ่งก็ยังมีเสียงครืดๆ ด้วยความที่เป็นเด็ก ลูกนึกว่าจะได้ไปเที่ยว เขาก็เล่น หัวเราะตามประสา แต่ก็ยังหายใจหอบอยู่
พอถึงโรงพยาบาลตี 4 ลูกก็เข้าตรวจฉุกเฉินทันที คุณหมอแจ้งเป็น Croup (หลอดลมตีบแบบเฉียบพลัน) คุณหมอสั่งพ่นอะดีนารีน พร้อมทั้งบอกกับเราสองคนว่า “ทำไมพาลูกมาช้า” ถ้าช้ากว่านี้เด็กตัวเขียวแน่ เพราะปากลูกเริ่มซีด และค่าออกซิเจนตกลงอย่างน่ากังวล คุณหมอและพยาบาลคุยกับเราสองคนว่าลูกอาจต้องเข้าห้องไอซียู แต่ให้ดูอาการหลังพ่นยาก่อน
ตื่นเช้ามาช่วง 6 โมงลูกอาการเริ่มดีขึ้น ค่าออกซิเจนเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่ยังถือว่าต่ำอยู่ และเริ่มมีไข้สูงถึง 40.6 องศา คุณหมอสั่งให้แอดมิดต่อ โดยครอบให้ออกซิเจนตลอด พ่นยาทุก 4 ชั่วโมง ฉีดยาทุก 8 ชั่วโมง ทานยามื้อละ 5-6 ตัวยา ผู้ช่วยพยาบาลเดินมาวัดออกซิเจนทุกครึ่งชั่วโมง มีฉีดยาทุก 12 ชั่วโมง น้องพอใจต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่ 6 วัน อาการถึงเริ่มดีขึ้น พออาการลูกเริ่มดีขึ้นก็ขออนุญาตคุณหมอมาพักฟื้นต่อที่บ้าน ปัจจุบันลูกยังมีอาการหลอดลมบวมอยู่นิดหน่อยค่ะ มีไอบ้าง
คุณแม่อยากบอกว่ารู้สึกขอบคุณความวิตกจริตของตัวเองมากที่ไปหาหมอได้ทัน ถ้าวันนั้นชะล่าใจลูกไม่รู้จะเป็นยังไงบ้าง เราในฐานะแม่คนหนึ่ง ก็อยากฝากถึงคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ให้เฝ้าสังเกตอาการผิดปกติของลูก แม้เพียงเล็กน้อยก็อย่าชะล่าใจ และให้เฝ้าดูเป็นระยะจนหาหมอได้ทันเวลาค่ะ
บทความแนะนำ คลิก>> แม่เตือน! ลูกป่วยเป็นไวรัสไข้สูงตรวจหาอะไรก็ไม่เจอ!
สำหรับอาการหลอดลมอักเสบโดยมากแล้วจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กเป็นหวัดมีน้ำมูก แต่ในกรณีของน้องพอใจถือเป็นเคสสุดวิสัย อย่างมาก แต่ก็โชคดีที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลูก แล้วรีบพาไปโรงพยาบาลได้เร็วทันการณ์ค่ะ
อ่านต่อ การสังเกตอาการเบื้องต้น โรคครูป หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อาการหลอดลมตีบอย่างเฉียบพลัน ครูป(Croup) คืออะไร?
เชื่อว่ายังมีอีกหลายๆ ครอบครัวที่ไม่ทราบว่าโรคหลอดลมตีบ หรืออักเสบแบบเฉียบพลันคืออะไร สำหรับโรคนี้ทางการแพทย์เรียกว่าโรคครูป (Croup) ค่ะ สำหรับเด็กๆ ที่ป่วยด้วยอาการครูป มักมาจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่ม parainfluenza, influenza, RSV และ measles ที่จะส่งผลทำให้กล่องเสียง และหลอดลมอักเสบขึ้นอย่างเฉียบพลัน ในกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงต่อโรคครูปก็จะมีอายุตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 3 ปี ซึ่งอาจจะเกิดกับเด็กที่เป็นหวัดมีน้ำมูกอยู่ก่อนแล้ว หรืออาจจะเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีอาการเตือนป่วยนำมาก่อนใดๆ เลยก็ได้เช่นเดียวกันค่ะ
บทความแนะนำ คลิก>> อาการไอในเด็ก บอกโรคได้หรือไม่?
อาการของโรคครูป (Croup) เป็นอย่างไร?
อาการของครูป หรือหลอดลมอักเสบ มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ดังนี้…
- เด็กจะดูสบายดีตอนเข้านอนตอนหัวค่ำ
- เด็กจะตื่นขึ้นกลางดึกพร้อมกับอาการไอเสียงก้อง มีเสียงไอคล้ายเสียงเห่า
- เด็กจะหายใจลำบาก
- เด็กจะหายใจเข้ามีเสียงดัง (inspiratory stridor) เป็นเสียงที่ดัง แหลม
แนะนำว่าหากพบว่าลูกมีอาการผิดปกติจะเพียงแค่ 1 ใน 2 อาการเตือน ก็ควรรีบพาลูกไปโรงพยาบาลทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งอาการให้ลูกเป็นหนักมากขึ้น เพราะหลอดลมที่ตีบอย่างกระทันหันจะส่งผลทำให้ค่าออกซิเจนต่ำลง และก็จะเสี่ยงต่อชีวิตของเด็กๆ อย่างมากด้วยค่ะ
อ่านต่อ 4 เรื่องควรรู้ในโรคครูป หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้เกี่ยวกับโรคครูป (Croup)
เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้เข้าใจในโรคครูปกันมากขึ้น เพื่อที่จะได้เฝ้าระวัง และดูแลสุขภาพลูกได้อย่างถูกต้องค่ะ มาดูกันว่าอะไรที่ควรรู้ในโรคครูปกันบ้างค่ะ…
- เด็กอาจป่วยเป็นโรคครูปได้หลายครั้ง เนื่องจากมีไวรัสหลายตัวที่ทำให้เกิดอาการครูปได้ รวมถึง parainfluenza, adenovirus, respiratory syncytial virus (RSV) และ influenza (ไวรัสไข้หวัดใหญ่)
- เด็กที่ป่วยเป็นครูปบ่อยๆ ก็อาจเป็น spasmodic croup (acute spasmodic laryngitis) ซึ่งถูกกระตุ้นได้ด้วยไวรัส อาการแพ้ หรือกรดไหลย้อน แม้ว่าเด็กจะมีปัญหาด้านการหายใจ แต่มักจะไม่มีไข้และอาการดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
- เด็กที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นครูปหลายครั้งในแต่ละปีอาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจสุขภาพเพิ่มเติมที่เกี่ยวเนื่องกับโรคหอบหืดด้วย
- อาการหลักๆ ของครูปมักจะมีอาการอยู่แค่ 2-5 วัน แต่ในกรณีที่หาได้ยากกว่านั้น คือ มีอาการคงอยู่หลายสัปดาห์ เมื่ออาการไอเสียงก้องและหายใจลำบากดีขึ้น ลูกของคุณอาจมีอาการหวัดต่อไปได้อีก 7-10 วัน[1]
สุขภาพของลูกเล็กๆ เป็นเรื่องที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้ามแม้เพียงเสี้ยวนาทีค่ะ เพราะถ้ารู้ทันอาการก่อน นั่นย่อมหมายถึงความปลอดภัยต่อชีวิตของลูกนั่นเองค่ะ ผู้เขียนและทีมงานทุกคน ขอเป็นกำลังใจให้น้องพอใจหายป่วยกลับมาแข็งแรง สดใสร่าเริงในเร็ววันนะคะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
วิธีสังเกต“โรคหวัด“ อาการแบบนี้ เป็นหวัดชนิดไหน
รีวิว ยาน้ำแก้ไอสำหรับเด็ก ตัวไหน? ช่วยบรรเทาอาการไอและปลอดภัยกับลูกน้อย
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
1www.honestdocs.co
ขอขอบคุณเรื่องจาก
คุณแม่สรัญญา เฟสบุ๊ค YentaFo Dudsadeeprecha