AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ยาแก้ไอ เด็ก ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

“ยาแก้ไอ เด็ก”…อากาศช่วงอากาศเปลี่ยน  เริ่มเข้าหน้าหนาวแบบนี้ ทำให้เด็กๆ เจ็บป่วย เป็นหวัด ไอเจ็บคอกันมาก เวลาลูกมีอาการไอ แต่ไม่มีไข้ พ่อแม่สามารถซื้อยาแก้ไอ เด็ก ตามร้านขายยาให้กินได้เลย หรือต้องตามที่คุณหมอสั่งเท่านั้น !! ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการใช้ ยาแก้ไอ เด็ก อย่างไรให้ปลอดภัย มาฝากกันค่ะ

 

ยาแก้ไอ เด็ก

เวลาลูกๆ มีอาการไอแห้งๆ หรือไอแบบมีเสมหะ เห็นแล้วน่าสงสารมาก ยิ่งตอนนอนช่วงกลางคืนนี่แทบไม่ได้นอนกันเลย  เอาเป็นว่าก่อนที่จะเข้าเรื่องการใช้ ยาแก้ไอ เด็ก เราไปทำความรู้จักกับอาการไอ กันสักนิดค่ะ … “อาการไอเป็นกลไกการตอบสนองของร่างกายอย่างหนึ่งต่อสิ่งผิดปกติในทางเดินหายใจ และเป็นกลไกป้องกันที่สำคัญของร่างกายในการกำจัดเชื้อโรค เสมหะหรือสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจ รวมทั้งเป็นอาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ได้บ่อยที่สุด นอกจากนี้อาการไอยังเป็นทางที่สำคัญในการแพร่กระจายของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ”1

 

Good to Know… รู้ไหมว่า อาการไอแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ไอฉับพลัน คือ มีระยะเวลาของอาการไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์ และ ไอเรื้อรัง คือ มีระยะเวลาของอาการไอมากกว่า 3 สัปดาห์ ถึง 8 สัปดาห์”2

 
เครดิตภาพ : shutterstock

ยาแก้ไอ เด็ก :  อาการไอที่เกิดจากการเป็นหวัด…

พอเป็นหวัดที่ไร ร่างกายก็จะได้ของแถมมาด้วยนั่นคือ อาการไอ ซึ่งมักเกิดขึ้นพร้อมกันตอนเป็นหวัด หรือไม่ก็อาจมีอาการไอหลังจากอาการหวัดเริ่มหาย อาการไอ ที่แหละที่สร้างความรำคาญให้อย่างมาก ยิ่งถ้าเป็นกับเด็กๆ พ่อแม่นี่อยากจะไอแทนลูกเลยค่ะ เพราะเวลาเด็กๆ ไอน่าสงสารมาก บางทีไอจนน้ำหูน้ำไหลเลยก็มี  การสังเกคอาการไอส่วนใหญ่จะพบว่าเป็นการไอแบบแห้งๆ กับการไอแบบมีเสมหะ
การไอแห้งๆ เป็นอาการไอที่เกิดจากหลอมลมมีการอักเสบหรือระคายเคือง จึงกระตุ้นให้เกิดอาการไอโดยที่ไม่มีเสมหะ3
– การไอแบบมีเสมหะ
เป็นกลไกของร่างกายที่พยายามกำจัดของเสียหรือสิ่งแปลกปลอมที่สร้างความระคายเคือง ซึ่งก็คือเสมหะ ให้ออกไปจากหลอดลม4

 

คุณพ่อคุณแม่พอจะทราบกันคร่าวๆ แล้วว่าอาการไอนั้นเกิดจากอะไร ที่นี้พอมีอาการไอ ยาที่ทุกคนมองหาเพื่อรักษาและบรรเทาอาการไอ ก็คงหนี้ไม่พ้น ยาแก้ไอ ซึ่งครั้งนี้เราจะมาพูดถึง ยาแก้ไอ เด็ก กันค่ะ เพราะยังมีการใช้ยาที่ไม่ถูกต้องกันอยู่มากพอสมควร จากที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ คือ พอลูก หรือคนในครอบครัวไอ ก็เดินไปซื้อยาแก้ไอ จากร้านขายหน้าปากซอยมากินกัน ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ผิดหรอกค่ะ ที่จะซื้อยาแก้ไอมาทานกันเอง เพราะยาแก้ไอในปัจจุบันก็คือว่าเป็นยาสามัญประจำบ้านไปแล้ว แต่ข้อควรระวังในการใช้ยาแก้ไอ นั่นมีอยู่ด้วยค่ะ  เพราะถ้าใช้ยาแก้ไอไม่ถูกต้อง ก็อาจกลายเป็นยาเสพติด หรือการใช้ยาแก้ไอ เกินขนาด ส่งผลกระทบเป็นอันตรายต่อชีวิตได้เหมือนกันค่ะ

อ่านต่อ >>  “ยาแก้ไอ เด็ก ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย” คลิกหน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

“เมื่อประมาณปีที่แล้วเว็บไซต์ sfist.com ได้มีการเผยแพร่ข่าวการกินยาแก้ไอเกินขนาดของเด็กนักเรียน ม.ปลาย 3 คนในรัฐแคลิฟอร์เนีย จนต้องถูกพาส่งเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลกะทันหัน เด็กกลุ่มนี้ได้กินยาแก้ไอยี่ห้อ Coricidin  ยาตัวนี้มีส่วนผสมของสารออกฤทธิ์ชื่อ dextromethorphan หรือ DXM ซึ่งมักถูกนำไปใช้ในทางผิดๆ คือ เสพแทนยาเสพติด
ซึ่งข้อมูลของสำนักงานปราบปรามยาเสพติดแห่งสหรัฐอเมริกา (DEA) ระบุว่า สารออกฤทธิ์ DXM เป็นสารระงับอาการไอ พบในยาแก้หวัดที่วางขายตามร้านขายยาทั่วไปกว่า 120 ชนิด แต่คนบางกลุ่มกลับซื้อเพื่อนำไปเสพ โดยจะกินยาเข้าไปครั้งละหลาย ๆ เม็ด จะทำให้เกิดความรู้สึกเมาเคลิ้ม สนุกสุดเหวี่ยง มีความสุขแบบหลุดจากโลกความเป็นจริง”5

 

เครดิตภาพ : shtterstock

มารู้จักกับ ยาแก้ไอ dextromethorphan …

Dextromethorphan เป็นยาลดอาการไอที่มีความนิยมใช้กันมานาน เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีและมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง ยา dextromethorphan ส่วนใหญ่ถูกผลิตอยู่ในรูปของยาเม็ดและยาน้ำเชื่อม ขนาดการรักษาปกติ คือ 15-30 mg ทุก 6-8 ชั่วโมง และขนาดยาต่อวันสูงสุด คือ 120 mg ซึ่งในขนาดยาปกติจะไม่มีผลทำให้เกิดอาการเคลิ้มสุขหรือมีฤทธิ์แก้ปวดหรือทำให้เกิดความเป็นพิษ

แต่หากนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยใช้ยาในขนาดสูง คือ มากกว่า 360 mg เพื่อทำให้เกิดอาการเคลิ้มสุข (euphoria) หรือลดความปวด ซึ่งในปัจจุบันพบรายงานการได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงของยาและการเสียชีวิตจากการใช้ยาในทางที่ผิด  อาการพิษเฉียบพลันจากการได้รับ dextromethorphan เกินขนาดจะขึ้นกับขนาดของการรับประทานยา ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ง่วงซึม กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกันหรือแข็งเกร็ง กล้ามเนื้อกระตุก พูดไม่ชัด ม่านตาขยาย เคลิบเคลิ้ม หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง มึนงง ประสาทหลอน กระวนกระวาย สั่น ชัก ปวดศีรษะ สูญเสียความทรงจำ หมดสติ กดการหายใจ และอาจถึงแก่ชีวิตได้6

การใช้ยาแก้ไอเพื่อให้ถูกกับโรค และมีความปลอดภัยในขนาดของยาที่ต้องทาน เพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบจากการทานยาแก้ไอเกินขนาด ไม่ว่าจะเป็นยาแก้ไอ เด็ก หรือยาแก้ไอ ผู้ใหญ่ ควรได้รับการสั่งยาจากคุณหมอเท่านั้น แต่หากมีความจำเป็นต้องซื้อยาแก้ไอทานเอง แนะนำว่าควรมีใบสั่งยาจากแพทย์ หรือไม่ก็ควรเลือกร้านขายยาที่มีเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญเรื่องยาแนะนำการใช้ยาอยู่ด้วยเท่านั้น เพื่อจะได้ยาแก้ไอที่ปลอดภัยมาทานค่ะ

อ่านต่อ >> “ยาแก้ไอ เด็ก ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย” คลิกหน้า 3

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

เครดิตภาพ : shutterstock

ยาแก้ไอ  เด็ก ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย ?

ส่วนมากแล้วหากเด็กๆ ไม่สบายแล้วมีอาการไอร่วมด้วย คุณหมอมักจะตรวจดูอาการให้แน่ชัดก่อนว่าจำเป็นต้องใช้ยาแก้ไอ เด็กด้วยหรือไม่  หลังจากนั้นจึงจะจัดยาแก้ไอให้ตามอาการของโรค  ซึ่งในใบจ่ายยา จะมีระบุไว้อย่างชัดเจนว่าควรให้ทานยาแก้ไอครั้งละกี่ช้อน และกินกี่มื้อต่อวัน ซึ่งยาแก้ไอ เด็ก ก็จะมีทั้งชนิดน้ำ และชนิดเม็ดการใช้ยาแก้ไอ ต้องดูตามกลุ่มอาการของโรค ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้ยานั่นเองค่ะ

ขนาดที่แนะนำโดยฉลากยา ขนาดใช้ยาในเด็ก :

– อายุต่ำกว่า 2 ปี : ใช้ตามแพทย์สั่งเท่านั้น

– อายุ 2-5 ปี : รับประทานยาน้ำเชื่อมครั้งละค่อน (1/4)-1 ช้อนชา วันละ 3-4 ครั้ง เมื่อมีอาการไอ

– อายุ 6-12 ปี: รับประทานยาน้ำเชื่อมครั้งละครึ่ง (1/2)-1 ช้อนชา ทุก 4 ชั่วโมงหรือยาเม็ด ครั้งละ 1 เม็ด ทุก 6-8 ชั่วโมงตามอาการที่เป็น สำหรับยาอม ให้อมครั้งละ 1 เม็ด ทุก 4 ชั่วโมง

– ขนาดใช้ยาในเด็กอายุมากกว่า 12 ปีและผู้ใหญ่ รับประทานยาน้ำเชื่อมครั้งละ 1 ช้อนชา ทุก 4 ชั่วโมงหรือ ยาเม็ด ครั้งละ 2 เม็ด ทุก 6-8 ชั่วโมงตามอาการที่เป็น สำหรับยาอมให้อมต่อเนื่อง 2 เม็ด ทุก 4-8 ชั่วโมง

– ขนาดที่ปลอดภัยใช้ในเด็กโตหรือผู้ใหญ่คือ 15-30 มก.7

 

การใช้ยาสำหรับเด็ก พ่อแม่ควรใส่ใจในรายละเอียดของการใช้ยาทุกครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยกับสุขภาพ และชีวิตของลูกค่ะ อย่างยาแก้ไอ เด็ก ขอให้ใช้ยาด้วยความระมัดระวัง และจะปลอดภัยมากยิ่งขึ้นหากเป็นการใช้ยาตามที่แพทย์สั่งให้ใช้เท่านั้น …ด้วยความห่วงใยค่ะ 

 

อ่านต่อบทความน่าสนใจ
ลูกติดใจ ยาแก้ไอ
ยาอมแก้เจ็บคอ และบรรเทาอาการไอที่ถูกจัดให้เป็นยาอันตราย
แม่ระวัง! ยาแก้ไอผสม โคเดอีน อันตรายเสี่ยงลูกเสียชีวิต

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 


ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิง
1’2รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้ ภาควิชาโสต  นาสิก  ลาริงซ์วิทยา Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. อาการไอ(Cough)ตอนที่ 1. http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=327
3,4https://www.facebook.com/benjaromhospital/posts/553872001305110
5http://sfist.com/2015/10/21/marin_kids_end_up_in_hospital_after.php
6 http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/5/ยาแก้ไอ-เดกซ์โทรเมทอร์แฟน-dextromethorphan-โทษ/
7เภสัชกรอุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล. ยาแก้ไอเด็กโตร อันตรายแค่ไหน หากเอามากินเป็นยาเสพติด. http://oknation.nationtv.tv/ blog/DIVING/2013/08/26/entry-2