AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

โรคเอ๋อ ในเด็ก สาเหตุ อาการ การป้องกัน

โรคเอ๋อ

ตอนท้องส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการทานโฟลิก ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ระหว่างการอุ้มท้องแม่ๆ อาจลืมให้ความสำคัญกับอาหารการกินโดยเฉพาะอาหารที่มีไอโอดีน รู้ไหมหากขาดไอโอดีนตั้งแต่ตอนท้อง สามารถส่งผลให้ลูกเกิดมาเป็น โรคเอ๋อ ได้นะ! ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีข้อมูลที่น่าสนใจถึงอาการเอ๋อที่อาจเกิดกับเด็กๆ มาให้ทราบค่ะ

 

โรคเอ๋อ สาเหตุเกิดจากอะไร?

พอพูดถึงอาการเอ๋อ พ่อแม่หลายๆ ครอบครัวอาจคิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้กับลูกๆ ของตัวเอง เพราะเชื่อกันว่าการป่วยเป็นเอ๋อได้หายไปนานแล้ว แต่ความจริงคือ เด็กทุกคนสามารถเป็นเอ๋อได้ หากแม่ไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพมาตั้งแต่ตอนที่ตั้งครรภ์

อาการเอ๋อ สาเหตุมาจากการขาดไทรอยด์ฮอร์โมน สำหรับไทรอยด์ฮอร์โมนจะถูกสร้างมาจากต่อมไทรอยด์ ซึ่งสมองจำเป็นต้องใช้ไทรอยด์ฮอร์โมนในการทำงาน ทั้งระบบประสาทอัตโนมัติ การควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกาย รวมถึงระบบอื่นๆ ภายในร่างกาย แน่นอนหากสมองขาดไทรอยด์ฮอร์โมนนี้ไป ระบบการทำงานของสมองก็จะผิดปกติทันที

แพทย์หญิงสินดี จำเริญนุสิต กุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก โรงพยาบาลเวชธานี[1] ได้ให้ความรู้ในกลุ่มอาการเอ๋อที่เกิดขึ้นกับเด็ก ว่ามีสาเหตุมาจากการขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ที่แยกออกมาเป็น 2 สาเหตุ คือ

  1. เกิดจากตัวเด็กเองไม่มีต่อมไทรอยด์มาตั้งแต่กำเนิด หรือต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ไม่สามารถสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนเองได้
  2. เกิดจากการขาดสารไอโอดีนในขณะที่แม่ตั้งครรภ์ หรือแม่เป็นโรคที่ขาดสารไทรอยด์ฮอร์โมน

เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้เข้าใจกันมากขึ้นถึงอาการเอ๋อ คุณหมอจึงได้อธิบายอาการไว้ดังนี้ “ตอนเด็กอยู่ในท้อง แม่จะเป็นคนให้ไทรอยด์ฮอร์โมนแก่ลูก เพราะฉะนั้นในท้องจะไม่มีปัญหา พอคลอดออกมาช่วงแรกเด็กจะออกมาเป็นปกติ เพราะยังได้รับไทรอยด์ฮอร์โมนจากแม่อยู่ จะมีอาการตอนที่ไทรอยด์จากแม่เริ่มมีระดับต่ำลง และอาการจะชัดเจนขึ้นช่วงเด็กอายุประมาณ 2-3 เดือนขึ้นไป หากปล่อยเวลาล่วงเลยเกิน 3 เดือนขึ้นไป หากไม่ได้รับการรักษาจะส่งผลให้สมองพิการถาวร มีปัญหาเรื่องระบบประสาทกล้ามเนื้ออ่อนแรง แขนขาเกร็ง ตัวเล็ก ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ในที่สุด[1]

อ่านต่อ >> อาการและการรักษาอาการเอ๋อ หน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

“เอ๋อ” อาการ การรักษา

ในเด็กทารก 2-3 สัปดาห์หลังคลอด พ่อแม่อาจไม่พบถึงอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น แต่หลังจากลูกอายุครบ 1 เดือน กับเด็กบางคนที่อาจมีอาการผิดปกติ ที่สามารถโยงไปถึงอาการเอ๋อได้ นั่นคือเด็กจะมีอาการแสดงดังต่อไปนี้

กระหม่อมของลูกปิดช้า

มีอาการตัวเหลืองนานมาก โดยปกติแล้วอาการตัวเหลืองจะค่อยๆ หายไปภายใน 7-10 วัน

มีพัฒนาการร่างกายไม่เจริญเติบโต แคระแกร็น

มีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ช้ามากกว่าวัย

ลูกมีอาการเซืองซึม

ลูกไม่ค่อยดูดนม

ลูกไม่ร้องงอแง จึงทำให้พ่อแม่คิดว่าลูกเป็นเด็กเลี้ยงง่าย

ลูกนอนหลับมากกว่าปกติของเด็กในวัยทารก

ลูกมีอาการท้องผูก

ลูกมีอาการสะดือจุ่น

ลูกมีอาการลิ้นโต

ลูกมีอาการผิวแห้ง

ลูกร้องเสียงแหบ

ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน ตระหนักถึงปัญหาของโรคเอ๋อเพิ่มมากขึ้น จึงมีวิธีการ “คัดกรอง ทารกแรกเกิด” ด้วยวิธีการเจาะเลือดจากส้นเท้าเด็ก หรือใช้วิธีนำเลือดจากสายสะดือทารกไปตรวจ ซึ่งจะสามารถทราบผลได้รวดเร็วภายใน 1-2 วัน

หากมีการตรวจพบค่าผิดปกติ ต้องเจาะเลือดยืนยันอีกครั้งและรีบให้การรักษา โดยการให้ฮอร์โมนไทรอยด์ทันที ถ้าตรวจพบก่อนเด็กอายุ 1 อาทิตย์จะได้ผลดีที่สุด และมีโอกาสหายขาดได้ แต่ถ้าเลยสัปดาห์แรกของชีวิตไปแล้ว เด็กอาจจะมีความเสี่ยงต่อปัญหาเรื่องของสมอง และ IQ ลดลง[2]

อ่านต่อ >> ไม่อยากให้ลูกเป็นเอ๋อต้องเริ่มที่แม่ หน้า 3

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

ไม่อยากให้ลูกเป็นเอ๋อ ต้องเริ่มที่แม่

การส่งต่อสุขภาพที่ดีให้ลูกเริ่มที่แม่ และก็สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ตอนที่ลูกอยู่ในครรภ์ อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นว่า การใส่ใจสุขภาพและร่างกายระหว่างตั้งครรภ์เป็นเรื่องสำคัญมาก การที่แม่กินโฟลิกถือเป็นวิตามินที่ขาดไม่ได้มาตั้งแต่ก่อนเริ่มท้อง จนกระทั่งท้องแล้วการกินโฟลิกก็ยังต้องกินให้ต่อเนื่อง เพราะโฟลิกสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อระบบประสาทสันหลังลูกปิดไม่สนิท ช่วยลดต่อการเสี่ยงเกิดโรคปากแหว่งเพดานโหว่ และอีกสารพัดความเสี่ยงทางสุขภาพของลูก

นอกจากนี้การทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ยังช่วยส่งเสริมให้สุขภาพแม่ท้องแข็งแรงสมบูรณ์มากขึ้นได้ และสารอาหารต่างๆ ที่มีประโยชน์ที่แม่กินเข้าไปส่วนหนึ่งจะถูกส่งไปยังทารกน้อยเพื่อใช้ในการสร้างร่างกาย สร้างอวัยวะต่างๆ ให้สมบูรณ์แข็งแรงพร้อมก่อนที่จะคลอดออกมา

อาหารที่แม่กินนอกจากอาหารครบหมู่ที่มีประโยชน์แล้วนั้น แนะนำให้ทานอาหารที่อุดมด้วยไอโอดีนด้วย เพื่อจะได้ป้องกันการขาดไอโอดีจากแม่ไปสู่ลูกในท้อง สำหรับอาหารที่มีไอโอดีน ก็เช่น ปลาทะเลต่างๆ สาหร่าย เครื่องปรุงที่มีไอโอดี ทั้งน้ำปลา เกลือปรุงอาหาร เป็นต้น การเติมไอโอดีนให้ร่างกาย นอกจากจะส่งผลดีต่อแม่ ก็ยังส่งประโยชน์ไปถึงลูกด้วย เพราะจะได้สบายใจได้ว่าเมื่อลูกคลอดออกมาแล้วจะไม่เสี่ยงต่อการเกิด “เอ๋อ”

แต่ถึงจะป้องกันในเบื้องต้นกันมาอย่างแล้ว ก็ใช่ว่าจะปลอดภัยนะคะ ดังนั้นในเด็กแรกเกิดในช่วง 1-3 หลังคลอด หากพบว่าลูกมีอาการทางสุขภาพที่ผิดปกติ ต้องรีบพาลูกไปพบกุมารแพทย์ด่วน ห้ามปล่อยอาการที่เกิดขึ้นไว้เด็ดขาด…ด้วยความใส่ใจและห่วงใยค่ะ

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก

ลูกตัวเหลือง เพราะกรุ๊ปเลือดไม่เข้ากับแม่ จริงหรือ?
ลูกแรกเกิดมีตาขาวสีเหลือง ใช่ตัวเหลืองหรือไม่?
อาการผิดปกติของทารก ที่ต้องพบแพทย์

 


ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
[1],[2]แพทย์หญิงสินดี จำเริญนุสิต กุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก โรงพยาบาลเวชธานี. www.vejthani.com

Summary
Review Date
Reviewed Item
โรคเอ๋อในเด็ก
Author Rating
4