รู้ให้เท่าทัน! รักษาให้ถูกโรค ลูกเป็นหวัด ชนิดไหนกันแน่ ไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันค่ะ
คุณพ่อคุณแม่เคยสงสัยกันไหมคะว่า เวลาที่คุณหมอวินิจฉัยว่า ลูกของเรานั้นเป็นหวัดประเภทไหนนั้น ทำไมคุณหมอเขาสามารถแยกแยะออก แล้วหวัดที่ว่า ระหว่างการติดเชื้อไวรัสกับแบคทีเรียต่างกันอย่างไร วันนี้ คุณหมอศาธิณี ลิมปิสุข แพทย์เวชศาสตร์ทั่วไป โรงพยาบาลกรุงเทพ จะมาไขข้อสงสัยของเรากันค่ะ
คุณหมอกล่าวว่า “หวัด” ของแต่ละคนนั้นมีอาการแตกต่างกัน แต่สาเหตุการเกิดโรคหวัดนั้นมาจากสาเหตุเดียวกันนั่นก็คือ การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน
ทำไมเราถึงควรแยกแยะให้ออกว่าเป็นหวัดประเภทไหน?
เป็นเพราะว่า หวัดแต่ละประเภทนั้น มีการรักษาที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ที่พบจากผู้ป่วยโดยทั่วไปนั้นพบว่า จะเป็นหวัดไวรัส คือมีอาการเจ็บคอเล็กน้อย มีน้ำมูกไม่มาก มีไอจาม แล้วรู้สึกเพลีย สามารถหายเองได้ เพียงแค่พักผ่อนให้เพียงพอ
แยกได้หรือไม่ได้ ไม่แปลกค่ะ อย่าว่าแต่เด็กเลยนะคะ แม้แต่ผู้ใหญ่บางคน อาจจะไม่ทันสังเกตหรือไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่า ตัวเองเป็นหวัด แค่รู้สึกว่าตัวเองปวดหัว พอทานยาแก้ปวดก็หายเองได้โดยไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ เพราะหวัดที่เกิดจากไวรัสในอากาศนั้น ไม่มียารักษาโดยตรง ก็มักจะให้ยารักษาตามอาการ และก็รอให้หายเองเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ดี หากเรารู้และแยกแยะออก การรักษาก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เห็นด้วยไหมละคะ
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นหวัดแบบไหน
วิธีการสังเกต ลูกเป็นหวัด แบบไหน?
-
สังเกตสีของน้ำมูกและเสมหะ เหมือนที่ทุก ๆ ครั้งคุณหมอจะถามคุณพ่อคุณแม่ว่า ลูกมีเสมหะหรือน้ำมูกสีอะไร เพราะ หวัดแบคทีเรีย น้ำมูกหรือเสมหะจะมีสีเหลืองหรือเขียว เพราะเวลาเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นทหารไว้คอยป้องกันศัตรูในร่างกายของเรามาต่อสู้กับแบคทีเรียที่เป็นเชื้อโรค ก็จะทำปฏิกิริยากับเอนไซม์ในเม็ดเลือดขาวทำให้เกิดเป็นสีดังกล่าว คุณหมอจึงจำเป็นต้องให้ลูกทานยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียนั่นเอง
-
สังเกตดูว่าคอของลูกนั้นแดงหรือไม่ ต่อมทอมซิลที่อยู่ด้านข้างทั้งซ้ายและขวานั้นโตหรือเปล่า หากพบว่าลูกคอแดงนิดหน่อย ก็ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า ลูกเป็นหวัดประเภทไหนกันแน่ ต้องอย่าลืมสังเกตว่าคอมีหนอง ลิ้นไก่บวมแดง ต่อมทอมซิลโตบวมแดงเป็นหนองหรือเปล่า ถ้าหากว่าใช้ แสดงว่าลูกป่วยเป็นหวัดแบคทีเรียค่ะ ต้องรับประทานยาฆ่าเชื้อด้วยเช่นกัน
-
แต่ถ้าหากพบว่าลูกมีอาการของระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย ปวดหัว ปวดเมื่อกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ตาแดง เป็นผื่นในช่วงแรกเริ่มนั้น ลูกอาจจะมีอาการคล้ายกับการเป็นหวัดไวรัสก็เป็นได้ค่ะ โดยคุณพ่อคุณแม่จะไม่มีโอกาสรู้แน่ชัดเลย จนกว่าจะมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น
-
หากมีอาการ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปวดตัว ร่วมกับอาการหวัดและเป็นค่อนข้างหนัก ให้สงสัยก่อนว่าลูกอาจจะเป็น “ไข้หวัดใหญ่”
-
หากมีอาการของไวรัสร่วมกับไข้สูง แถมมีประวัติโดนยุงลายกัด ให้คุณพ่อคุณแม่นึกถึงไข้เลือดออก
-
โรคแทรกซ้อนอะไรบ้างที่มาจากหวัด คลิก!
ระหว่างที่ลูกเป็นหวัด คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยระวังโรคแทรกซ้อนดังต่อไปนี้ให้ดีนะคะ
-
ไซนัสอักเสบ หากลูกเป็นหวัดมีน้ำมูก เยื่อจมูกบวม เสียงอู้อี้ขึ้นจมูก หายใจมีกลิ่นเหม็น ปวดโพรงมีเยื่อจมูกบวมที่ทำให้คัดจมูก จนลามขึ้นไปถึงโพรงไซนัสที่อยู่ข้างโพรงจมูกและหน้าผาก ทำให้มีหนองหรือน้ำมูกไซนัส อยู่ในโพรงไซนัสด้วย ลูกก็อาจจะต้องทานยาฆ่าเชื้อที่แรงขึ้น และต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ รวมทั้งหมั่นล้างจมูกให้กับลูก เพื่อจะได้ลดปริมาณเชื้อโรคและทำให้หายใจได้โล่งขึ้น
-
หูอักเสบ เนื่องจากหูและคอมีท่อที่เชื่อมต่อกัน คือ ท่อยูสเตเชียลทิ้วบ์ เมื่อเป็นหวัด เยื่อบุต่าง ๆ บวม ทำให้เยื่อที่บุอยู่ในท่อนี้บวมไปด้วยจนตีบตัน จึงไม่สามารถระบายแรงดันอากาศในช่องหูชั้นกลางออกมาได้ ทำให้ปวดหู หรือบางครั้งเชื้อโรคอาจจะลามขึ้นไปติดเชื้อในหูชั้นกลาง ทำให้เกิดเป็นหูอักเสบ หรือหูน้ำหนวกได้ด้วย การรักษาก็ใช้ยาฆ่าเชื้อชนิดที่สามารถฆ่าเชื้อก่อโรคหูอักเสบได้ หรือมียาหยอดหูร่วมด้วย
-
หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ เมื่อเชื้อโรคผ่านหลอดลมลงมาส่วนล่าง เข้ามาที่ปอด ก็สามารถทำให้เป็นหลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบได้ จะทำให้ไอมากขึ้น มีไข้ หรือหอบเหนื่อยได้ บางกรณีที่เป็นมาก อาจต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อรับยาฆ่าเชื้อทางเส้นเลือด
-
หอบหืด สำหรับบ้านไหนที่ลูกมีโรคประจำตัวเดิมเป็นหอบหืด คือหลอดลมมีความไวต่อการถูกกระตุ้น และเกิดการตีบตัว ทำให้หายใจไม่สะดวก หอบเหนื่อย มีเสียงวี้ดในปอด เป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไขอาการหลอดลมตีบด้วยยาขยายหลอดลม ทั้งนี้ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ด้วยนะคะ
-
ชักจากไข้สูง มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ให้รีบลดไข้ด้วยการเช็ดตัวหรือทานยาลดไข้ อย่าปล่อยให้เด็กไข้สูงนาน จนเกิดอาการชัก และรักษาหวัดให้หายค่ะ
ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ลูกเป็นหวัด คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องให้ลูก ๆ นั้นพักผ่อนให้เพียงพอ และหมั่นออกกำลังกาย ล้างมือบ่อย ๆ เพียงเท่านี้โอกาสที่จะติดหวัดก็ลดน้อยลงแล้วละค่ะ
เครดิต: โรงพยาบาลกรุงเทพ
อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจเพิ่มเติม:
-
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และ B ต่างกันอย่างไร ?
-
แม่เป็น ไข้หวัดใหญ่ 2009 ให้นมลูก ได้ไหม?
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่