เด็กทารก แรกเกิด คือเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึง 1 เดือน ซึ่งร่างกายและจิตใจยังเติบโตไม่สมบูรณ์ ทำให้พบโรคได้บ่อย เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าผู้ใหญ่ การดูแลและป้องกันโรคจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
1.ภาวะติดเชื้อใน เด็กทารก แรกเกิด
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างมาก เนื่องจากเด็กแรกเกิดยังมีภูมิคุ้มกันไม่มากพอ จึงทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งเชื้อส่วนใหญ่มาจากคุณแม่ โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนคลอดนานๆ เพราะเชื้อทางช่องคล่องจะเข้าไปในถุงน้ำคร่ำ ทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อ เข้าสู่ร่างกายลูกน้อยได้ ยิ่งถุงน้ำคร่ำแตกนานเท่าไหร่ ยิ่งมีความเสี่ยง เพราะถุงน้ำคร่ำเป็นเหมือนตัวป้องกันเชื้อโรคให้ลูกน้อย หากคุณแม่มีอาการปวดท้อง หรือน้ำเดินจึงไม่ควรปล่อยไว้ ให้รีบไปพบคุณหมอเพื่อป้องกันภาวะนี้
เมื่อลูกน้อยคลอดออกมาแล้ว จะแสดงอาการติดเชื้อ เช่น กินนมน้อย ซึม หายใจผิดปกติ ตัวซีด หรือบางรายอาจมีอาการชัก เกร็ง หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกน้อยมีอาการดังกล่าวหลังคลอด ควรรีบพาลูกน้อยไปพบคุณหมอโดยด่วน
2.โรคทางเดินหายใจ
เด็กทารกแรกเกิดที่ออกมาจากครรภ์คุณแม่ เป็นช่วงที่เปลี่ยนผันการดำรงชีวิตของตัวเอง ดังนั้น การทำงานของปอด หรือระบบหายใจอาจจะทำได้ไม่เต็มที่ จึงควรใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะหากลูกน้อยคลอดก่อนกำหนด หรือมีอายุครรภ์ไม่ถึง 36 สัปดาห์
3.ภาวะตัวเหลือง
ภาวะตัวเหลืองในเด็กทารกแรกเกิด เกิดจากสารเคมีที่เรียกว่า บิลิรูบิน เป็นสารสีเหลืองที่เกิดจากการแตกของเม็ดเลือดแดงซึ่งมีอยู่ในเลือดสูง เมื่อตับที่ยังทำงานไม่สมบูรณ์ของเด็กแรกเกิดไม่สามารถกำจัดไปได้หมด ทำให้เด็กตัวเหลือง ซึ่งเกิดขึ้นได้ในช่วง 3-4 วันแรก โดยทั่วไปจะตัวเหลืองไม่เกิน 10 วัน แต่หากตัวเหลืองมากๆ คุณหมอจะทำการเจาะเลือดและติดตามผล หรือบางรายจะใช้วิธีการส่องไฟเพื่อรักษาอาการตัวเหลือง
4.น้ำตาลในเลือดผิดปกติ
เด็กทารกแรกเกิดที่น้ำตาลในเลือดต่ำ หรือสูงผิดปกติ ส่วนใหญ่เกิดจาก 2 สาเหตุ ได้แก่ ตัวคุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และตัวลูกน้อย หากลูกน้อยที่คลอดออกมาน้ำหนักต่ำกว่า หรือสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด หากพบว่าลูกน้อยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ คุณหมอจะพิจารณาให้น้ำเกลือควบคู่ไปกับการกินนมแม่
5.โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กทารกแรกเกิด โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ โรคหัวใจพิการชนิดมีภาวะตัวเขียว และโรคหัวใจพิการชนิดไม่มีภาวะตัวเขียว มีอาการที่สังเกตได้คือ ริมฝีปากมีสีเขียวคล้ำ จมูกบาน หายใจแรงและเร็ว ดูเหนื่อย หน้าอกบุ๋ม ซี่โครงบาน ตัวเย็น มือเท้าเย็น ดูดนมได้ไม่นานแล้วหยุดเป็นพักๆ
ในบางรายคุณหมออาจพบว่ามีเสียงหัวใจเต้นผิดปกติตั้งแต่ก่อนออกจากโรงพยาบาล หรืออาจตรวจไม่พบ และไม่มีอาการแสดงออกอย่างชัดเจนก็ได้
อ่านต่อ “เด็กทารก แรกเกิด กับ 10 โรคฮิตที่พ่อแม่ต้องระวัง!” คลิกหน้า 2
6.ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด
เป็นโรคที่พบบ่อย โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการบริโภคแร่ธาตุไอโอดีนน้อย ภาวะนี้เป็นภาวะซ่อนเร้นที่ไม่สามารถสังเกตความผิดปกติได้ แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาภายใน 2 เดือนหลังคลอด จะยิ่งมีผลต่อพัฒนาการ การเจริญเติบโต และระบบการทำงานของสมอง
คุณแม่สามารถป้องกันได้ง่ายๆ โดยการรับประทานอาหารที่มีแร่ธาตุไอโอดีน และตรวจเลือดลูกน้อยก่อนออกจากโรงพยาบาล เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
7.ภาวะลำไส้ขาดเลือดจากการบิดขั้ว
เกิดจากการเรียงตัวของลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ที่มีลักษณะผิดปกติ ทำให้เส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงผนังลำไส้เกิดการบิดขั้ว ส่งผลให้ลำไส้อยู่ในภาวะขาดเลือด หากได้รับการรักษาล่าช้า อาจทำให้ลูกน้อยเสียชีวิตได้
โดยเด็กทารกแรกเกิดจะมีลักษณะปกติทุกอย่าง แต่จะเริ่มมีอาการท้องอืด อาเจียน และถ่ายเป็นเลือด หากปล่อยไว้เด็กจะมีอาการซึม ตัวซีด มีภาวะช็อก และเสียชีวิตในที่สุด จึงควรรีบพาไปพบคุณหมอโดยด่วน
8.โรคทางพันธุกรรม
โรคทางพันธุกรรม พบได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยมักเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น โรคธาลัสซีเมีย หรือการติดเชื้อโรค หรือจากสุขภาพของคุณแม่ในขณะตั้งครรภ์ เช่น โรคหัดเยอรมัน โรคเบาหวานในเด็ก โรคตาขี้เกียจ หรือโรคตามัว หรือกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม
9.พัฒนาการบกพร่อง
โรคเกี่ยวกับพัฒนาการบกพร่อง ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เช่น เด็กสมาธิสั้น หรือไฮเปอร์ หรือเอดีเอชดี (ADHD: Attention deficit hyperactivity disorder) และโรคออทิสติก (Autis tic)
10.โรคเกี่ยวกับระบบต่างๆ เช่นเดียวกับผู้ใหญ่
เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน รวมถึงโรคมะเร็ง ได้แก่ มะเร็งตา มะเร็งไต มะเร็งสมอง มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น
อ่านต่อ “เทคนิคการดูแลลูกน้อยแรกเกิดให้ไกลโรค” คลิกหน้า 3
เทคนิคการดูแลลูกน้อยแรกเกิดให้ไกลโรค
ในการดูแลลูกน้อยแรกเกิดนั้น จะดูแลยากกว่าเด็กโต เพราะเด็กทารกพูดไม่ได้ แต่จะแสดงออกทางพฤติกรรม เช่น การตื่นนอน และการร้องไห้เป็นหลัก คุณพ่อคุณแม่จึงควรใส่ใจลูกน้อยในวัยนี้เป็นพิเศษ และสามารถป้องกันโรคให้ลูกน้อยได้ตั้งแต่ตั้งครรภ์ ดังนี้
1.ปรึกษาคุณหมอก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคจากพันธุกรรม นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องมีความพร้อมที่จะมีลูกน้อย เพื่อป้องกันปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการ และสุขภาพจิตของลูกน้อย
2.ฝากครรภ์ เพื่อสุขภาพของลูกน้อย และคุณแม่ตั้งครรภ์
3.ขณะตั้งครรภ์ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป เช่น ของหมักดอง ไส้กรอก เป็นต้น
4.งดสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์ และต้องไม่มีคนสูบบุหรี่ในบ้าน
5.คอยสังเกตอาการของลูกน้อยเสมอ เพื่อรีบพาไปพบคุณหมอทันทีเมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจเร็ว หายใจลำบาก ตัวเขียว มือเท้าเขียวคล้ำ ไม่กิน ไม่ดื่ม กระสับกระส่าย สับสน ซึม ชัก
6.คอยดูแลไม่ให้ขาดอาหาร หรือมีภาวะขาดน้ำ โดยการให้ลูกน้อยกินนมแม่ให้เป็นเวลา
7.หากไม่สบาย และต้องรับประทานยา ควรรับประทานยาตามที่คุณหมอแนะนำอย่างครบถ้วน
8.เมื่อลูกน้อยมีไข้ นอกจากการรับประทานยาแล้ว ต้องคอยเช็ดตัวเสมอเพื่อช่วยลดไข้ เพราะในเด็กทารกแรกเกิด เมื่อมีไข้สูงจะมีโอกาสชักได้
9.ควรสังเกตว่าลูกน้อยร้องไห้แบบไหน เช่น ร้องเพราะหิวปากจะขยับ แต่หากร้องเพราะปวดท้อง หรือท้องอืด คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะสังเกตว่าท้องตึงกว่าปกติหรือไม่ หรือร้องเพราะไม่สบายก้นเนื่องจากการขับถ่าย
ข้อมูลอ้างอิง: โรงพยาบาลเปาโล, หาหมอ.com, HonestDocs
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่