มะเร็งในเด็ก แม้ว่าจะพบได้น้อยกว่ามะเร็งในผู้ใหญ่ แต่ก็เป็นโรคที่เกิดขึ้นแล้ว จะสร้างความเจ็บปวดให้แก่ลูกน้อยและพ่อแม่เป็นอย่างมาก แต่รู้หรือไม่ว่า โรคมะเร็งในเด็ก สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ หากแม่ท้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านี้
แม่ท้องต้องเลี่ยง! ถ้าไม่อยากเสี่ยงให้ลูกเป็น “มะเร็งในเด็ก”
มะเร็งในเด็ก คืออะไร?
โรคมะเร็งในเด็ก คือ โรคมะเร็งที่เกิดในทารกแรกเกิดจนถึงอายุต่ำกว่า 15 ปี แต่เป็นโรคมีอัตราเกิดน้อยกว่าในผู้ใหญ่มาก คิดเป็นประมาณ 1 ใน 10 ของโรคมะเร็งในผู้ใหญ่ และเกือบทั้งหมด เป็นมะเร็งชนิดแตกต่างจากผู้ใหญ่
ในผู้ใหญ่ มักจัดแบ่งชนิดของโรคมะเร็งตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็งกล่องเสียง โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งปอด หรือ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่โรคมะเร็งในเด็ก จะแบ่งตามลักษณะชนิดของเซลล์มะเร็ง โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานการพบการเกิดโรค เรียงตาม 12 ลำดับที่พบบ่อย ดังนี้
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)
- โรคเนื้องอก/มะเร็งสมอง (Brain tumors)
- โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)
- โรคมะเร็งประสาทซิมพาทีติค ชนิด นิวโรบลาสโตมา
- โรคมะเร็งลูกตา ชนิด เรติโนบลาสโตมา (มะเร็งจอตา โรคตาวาว)
- โรคมะเร็งไตชนิดวิมทูเมอร์/มะเร็งไตในเด็ก/มะเร็งวิมส์ (Wilms’tumor)
- โรคมะเร็งตับ ชนิด เฮปาโตบลาสโตมา(Hepatoblastoma)
- โรคมะเร็งกระดูกชนิด ออสติโอซาร์โคมา(Osteosarcoma) และ ชนิด อีวิง (Ewing’s saroma)
- โรคมะเร็งกล้ามเนื้อ ชนิด แรบโดไมโอซาร์โคมา (Rhabdomyosarcoma)
- โรคมะเร็งของอวัยวะ/เนื้อเยื่อต่างๆ ชนิด เจิมเซลล์ (เนื้องอกเจิมเซลล์ มะเร็งเจิมเซลล์/Germ cell tumors)
- โรคมะเร็งเยื่อบุผนังอวัยวะ ชนิด คาร์ซิโนมา
- โรคมะเร็งชนิดอื่นๆ นอกเหนือจากที่ได้กล่าวแล้วทั้งหมด ซึ่งมักเป็นชนิดพบน้อยมาก ประปราย และมักสัมพันธ์กับการมีพันธุกรรมผิดปกติของเด็ก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ ปัจจัยเสี่ยงให้เกิด มะเร็งในเด็ก ที่แม่ท้องต้องระวัง
ปัจจัยเสี่ยงให้เกิด มะเร็งในเด็ก ที่แม่ท้องต้องระวัง
แม้ว่ายังไม่มีสาเหตุที่แน่นอนในการเกิดโรคมะเร็งในเด็ก แต่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งในเด็กได้ โดยปัจจัยเหล่านี้ เกิดได้ตั้งแต่ลูกอยู่ในท้อง ดังนั้น แม่ท้องจึงควรหลีกเลี่ยงและพึงระวังถึงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้
ความผิดปกติทางพันธุกรรม
- ทั้งชนิดถ่ายทอดได้ และชนิดไม่ถ่ายทอด จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดของการเกิดโรคมะเร็งในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เนื่องจาก ยีนมีหน้าที่ ควบคุมการเจริญเติบโต และการตายตามธรรมชาติของเซลล์ปกติ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในเด็กเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะเด็กดาวน์ซินโดรม เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวสูงกว่าเด็กปกติ 10-20 เท่า
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น การติดเชื้อไวรัส ชนิด อีบีวี/โรคติดเชื้ออีบีวี(EBV, Epstein –Barr virus) หรือ ชนิดเอชไอวี (HIV) เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองสูงขึ้น
ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม
- แม่ที่ได้รับรังสีเอกซ์เรย์ ปริมาณสูงขณะอยู่ในครรภ์ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
- การที่แม่ท้องได้รับสารบางชนิดปริมาณสูงต่อเนื่องในขณะตั้งครรภ์ เช่น ยาฆ่าแมลง อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของลูกสูงขึ้น
- การทานผักและผลไม้ที่มีสารปนเปื้อนจากยาฆ่าแมลง เชื้อราในถั่วลิสง ข้าวโพด อาหารตากแห้งที่มีความชื้นมาก เช่น หอม กระเทียม พริกแห้ง
- การที่แม่ท้องดื่มน้ำที่มีสารก่อมะเร็งไนเตรท (Nitrates) ปนเปื้อนปริมาณสูงต่อเนื่อง อาจเป็นปัจจัยเสี่ยง ต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- แม่ท้องทานอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง กลุ่มไนไตรท์ปริมาณสูง จากเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก แหนม และปลาร้า อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเนื้องอก/มะเร็งสมองของลูก สูงกว่าปกติ
- แม่ท้องที่ดื่มสุราขณะตั้งครรภ์ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวของลูก
- การที่แม่ท้องดื่มหรือทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โคลา ยาชูกำลัง ในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งสมองของลูก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ มะเร็งในเด็ก รุนแรงหรือไม่ รักษาอย่างไร?
มะเร็งในเด็กสังเกตได้อย่างไร?
การบอกอาการและสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองในเด็กนั้น สามารถทำได้ยาก ต้องอาศัยการสังเกตจากพ่อแม่ โดยมีวิธีการสังเกตจากอาการที่พบได้บ่อย ดังต่อไปนี้
- คลำได้ก้อนเนื้อผิดปกติ
- มีไข้บ่อย
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ซีด หรือมีจุด/จ้ำ/ห้อเลือดง่าย
- อ่อนเพลียง่าย ไม่ซุกซนเหมือนเคย หรือโยเยผิดปกติ
มะเร็งในเด็กมีอาการรุนแรงหรือไม่? รักษาอย่างไร?
โดยธรรมชาติของโรคมะเร็งในเด็กนั้น จะมีความรุนแรงสูง แพร่กระจายได้เร็วกว่าโรคมะเร็งในผู้ใหญ่ ทำให้เมื่อตรวจพบก็จะอยู่ในระยะท้าย ๆ ของโรค แต่ข้อดีคือ โรคมะเร็งในเด็กมักจะตอบสนองได้ดีต่อการรักษา เช่น ยาเคมีบำบัด และรังสีรักษา แม้ว่าการรักษาทั้ง 2 วิธีที่กล่าวมานั้น มีผลข้างเคียงมากกว่าผู้ใหญ่
ดังนั้น แนวทางและวิธีรักษาโรคมะเร็งในเด็ก จะรักษาเช่นเดียวกับในผู้ใหญ่ ได้แก่ การผ่าตัด ยาเคมีบำบัด และรังสีรักษา สำหรับ การรักษาโรคมะเร็งในกลุ่มโรคระบบโลหิตวิทยา เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว การปลูกถ่ายไขกระดูก และการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ (Stem cell) เป็นอีกวิธีรักษาสำคัญในโรคมะเร็งระบบโลหิตวิทยาในเด็ก ซึ่งให้ผลการรักษาสูงกว่าในผู้ใหญ่
สำหรับแม่ท้องทุกคน เมื่อทราบถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ นี้แล้ว คนที่สามารถป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกในท้องต้องเป็น มะเร็งในเด็ก ได้ นั่นก็คือตัวแม่ท้องเอง ดังนั้น จึงควรระวังและหลีกเลี่ยงการทาน การสัมผัส การสูดดม สารที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งในเด็กทุกชนิด
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
10 อาหารก่อมะเร็ง ยิ่งกินมาก ยิ่งทำลายสุขภาพ
เบคอน อาหารปลิดชีวิตคนจากมะเร็งได้พอ ๆ กับบุหรี่
มะเร็งลำไส้ใหญ่ในเด็ก โรคร้ายที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม
ขอบคุณข้อมูลจาก : หาหมอ, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่