เตือนพ่อแม่อีกครั้ง! อย่า “ปล่อยลูกให้อยู่ลำพัง” โดยเด็ดขาด … วินาทีเดียวก็ไม่ได้!
เพราะไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นกับใคร แม่จึงออกโรงเตือนผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ด้วยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับลูกสาวตัวเอง จะสามารถเป็นอุทาหรณ์เตือนใจคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นให้ระวังเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อย่า “ปล่อยลูกให้อยู่ลำพัง” แม้คุณจะคิดว่าแค่สองสามนาทีก็ตาม … อุบัติเหตุย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ
คุณแม่สุทธิรักษ์ หนึ่งในสมาชิกเฟสบุ๊ค ได้โพสต์ถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
#น้องคิตตี้ อายุ 2 ขวบ 4 เดือน 11 วัน น้องโดนเครื่องซีนขยะมาค่ะ
(เครื่องซีนขยะใหญ่ไว้ซีนขยะเป็นแพค ๆ อยู่ที่ทำงาน มันจะหมุน ๆ ร้อน ๆ มันบีบเนื้อลูกไปหมด)
วันแรกที่ลูกโดนใจแทบจะขาด สงสารลูกมาก อยากเจ็บแทน ไม่กล้ามองแผลเลย แม่จะเป็นลมแม่ขอโทษ เหตุการณ์นี้แม่ไม่ได้อยู่ด้วยเพราะลูกได้อยู่กับพ่อที่ทำงานพ่อเค้าทำงาน กทม. พ่อคาดสายตาไม่ถึง5นาที โดยพ่อเค้าได้ยินเสียงลูกดีที่พ่อเค้ามีสติถอดปลั๊กทัน ไม่งั้นนิ้วคงขาดกระดูกคงหัก
แม่ก็ไม่อยากจะด่าอะไรมากเพราะก็ไม่มีใครอยากให้มันเกิด พ่อเค้าเองก็เสียใจ ร้องไห้ทุกวัน ไปโรงพยาบาลหมอได้ ทำแผลและเอ็กซเรย์แล้ว เอ็นไม่ขาด กระดูกไม่หัก แต่เกือบไปแล้วเหมือนกัน
น้องได้ผ่าตัดรอบแรกไปแล้ว แต่หมอบอกแค่ผ่าตัดเนื้อตายออกและก็เอาเนื้อที่นิ้วข้าง ๆ ที่ดีตัดมาต่อตรงที่เห็นเอ็นและกระดูกส่วนผ่าตัดอีกรอบพรุ่งนี้หมอถามจะเอาเนื้อหนังเทียมในราคา 10,000 กว่าบาทมาติดแผล ข้อดีคือ เป็นแผลน้อยเซลล์ขึ้นไว และข้อเสียคือ ติดเชื้อได้ง่าย
หรือจะผ่าเนื้อหนังที่ตัวลูกทั้งขาและแขนมาติดแผล ข้อดีคือ ติดเชื้อน้อย ข้อเสียคือ ต้องเป็นแผลที่ตัวเยอะ (และก็จะเสียเส้นเลือดที่แขน 1 เส้น) นั่นหมายถึงซอนาคตลูกถ้าไปโดนอะไรมาอีกก็จะไม่มีเลือดมาหล่อเลี้ยงอีกเลย แม่กลัวหนูเจ็บเยอะทั้งแขนขาต้องโดนผ่าไปติดแผลแล้วจะเป็นแผลหลายที่เจ็บหลายที่เป็นแผลเป็นอีก กว่าจะหาอีกนาน (แม่ตัดสินใจเลือกผ่าตัดด้วยหนังเทียม) แม่จะทำให้หนูเจ็บน้อยที่สุดจะเสียตังเท่าไรแม่ก็จะหามาให้ได้ ยอมทุกอย่าง #เพื่อลูก
ตัวคุณแม่เองได้เปิดเผยกับทีมงาน Amarin Baby and Kids ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีใครอยากให้เกิด ตอนนี้น้องผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว อาการเริ่มดีขึ้น แต่ก็คงต้องรักษาบาดแผลที่เกิดขึ้นนี้ต่อไป และอยากให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้สามารถเตือนใจคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกในวัยกำลังซนให้อย่าประมาท อย่า!! ปล่อยลูกให้อยู่ลำพัง แม้จะไม่กี่วินาทีก็ตาม เพราะวินาทีนั้นอาจเป็นวินาทีที่จะมาเปลี่ยนชีวิตลูกได้ทั้งชีวิต
“อยากให้พ่อแม่หรือคนอื่นที่มีน้องเด็กวัยนี้ ให้ระวังค่ะ ต้องดูให้ดี ๆ แค่พลาดแป๊บเดียวอะไรก็เกิดขึ้นได้ค่ะ” คุณแม่ทิ้งท้าย
ทีมงานขอขอบพระคุณคุณแม่สุทธิรักษ์มากนะคะที่อนุญาตให้เราได้นำเสนอเรื่องราวเพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนใจครอบครัวอื่น อย่างไรก็ดี ทีมงานขอภาวนาให้น้องคิตตี้หายไว ๆ นะคะ
คุณพ่อคุณแม่คะ หลายต่อหลายครั้ง ที่เรามักจะได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับอุบัติเหตุของเด็ก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่กำลังอยู่ในวัยซุกซนอยากรู้อยากเห็น … เด็กไม่ทราบหรอกค่ะว่า ตรงไหนอันตรายหรือไม่อันตรายอย่างไร และบ่อยครั้งที่เวลาเตือนแล้วเขาไม่ฟัง เหมือนกับยิ่งห้ามก็ยิ่งยุ ดังนั้น สิ่งคนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างเราสามารถทำได้ก็คือ “ป้องกันและดูแล อย่า!! ปล่อยลูกให้อยู่ลำพัง โดยเด็ดขาด”
อย่าคิดว่า เวลาแค่ไม่กี่นาที จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ ทุกที่ และทุกเวลา และเพื่อให้เกิดประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ ทีมงานขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราวของอุบัติเหตุที่พบได้บ่อยภายในบ้านค่ะ จะมีบริเวณไหนบ้าง ไปดูพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
1.อุบัติเหตุจากการนอน
อุบัติเหตุจากการนอนเกิดได้ทั้งจากการนอนของพ่อแม่และการนอนของทารกเอง เช่น ทารกแรกเกิดเสียชีวิตเพราะคุณแม่นอนให้นมจนทับลูก นอนหลับลึกเพราะฤทธิ์ยาหรืออ่อนเพลีย จากการคลอด หรือจากของใช้บนเตียงไม่ว่าจะเป็นหมอน ผ้าห่ม หรือแม้แต่ที่นอนเอง …ซึ่งอุบัติเหตุที่พบส่วนใหญ่นั้นจะเป็นอุบัติเหตุที่มักเกิดขึ้นกับเด็กทารก หรือเด็กเล็กที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย
2.จมน้ำ
สมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาเคยออกประกาศเตือนภัยว่า ใครมีลูกหลานอยู่ในวัย 1 – 2 ขวบจะต้องระวัง เรื่องการจมน้ำตายให้มาก ในเด็กไทยของเราเองมีสถิติที่น่ากลัวมิใช่น้อย อัตราการตายจากการจมน้ำในเด็ก 1 – 2 ขวบอยู่ที่ประมาณ 13 – 14 คนต่อ 100,000 คน โดยเด็กวัย 1 – 4 ขวบมีตัวเลขจมน้ำเสียชีวิตสูงกว่าเด็กญี่ปุ่น 3 เท่า และสูงกว่าเด็กสวีเดนอยู่ถึง 7 เท่า ที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือ จุดที่เด็ก ๆ ของบ้านเราจมน้ำเสียชีวิตก็คือ แหล่งน้ำภายในบ้านหรือใกล้ ๆ บ้าน เช่น ถังน้ำหรือกะละมังที่ปริ่มน้ำ โอ่งน้ำที่ไม่ปิดฝาหรือไม่มีฝาปิด บ่อน้ำที่ไม่มีรั้วกั้น รวมถึง ส้วมชักโครกที่เปิดฝาไว้ และมักที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงปิดเทอมค่ะ
3.ห้องครัว
หลายต่อหลายครั้งที่เรามักจะได้ยินข่าวคราวเด็กถูกน้ำร้อนลวก เพราะมือไปหยิบกาน้ำร้อน หม้อข้าว หรือหม้อแกง โดยที่ลูก ๆ ไม่ทราบหรอกค่ะว่าร้อน แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ประกอบกับอยู่ในช่วงของวัยกำลังเรียนรู้ จึงไปจับและคว้า จนเป็นเหตุให้น้ำร้อนราดลงมาที่ตัว มือ หรืออวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้
คุณพ่อคุณแม่คะ จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับเด็กนั้น ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการที่คุณพ่อคุณแม่ประมาทและ ปล่อยลูกให้อยู่ลำพัง โดยที่คิดว่า ใช้เวลาไม่นาน ดังนั้น เพื่อไม่ให้ต้องเกิดขึ้นกับเด็กคนไหนอีก อย่าลืมดูแลลูกกันอย่างใกล้ชิดกันด้วยนะคะ
ขอขอบคุณเรื่องราวจากคุณแม่สุทธิรักษ์ น้อยเพิ่ม
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่