AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ชิคุนกุนยา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคร้ายที่มากับยุง

ชิคุนกุนยา

ชิคุนกุนยา เป็นอีกหนึ่งโรคยอดฮิตในหน้าฝน ที่คุณแม่ต้องระวัง เพราะเป็นโรคที่มาจาก “ยุงลาย” เช่นเดียวกับ โรคไข้เลือดออก และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา

โดยสถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือ ชิคุนกุนยา ในปี 2563 ถึงวันที่ 10 มิถุนายน พบผู้ป่วยแล้ว 1,630 ราย ต่อมาถึงวันที่ 5 กรกฎาคม พบผู้ป่วยสะสม 3,258 รายจาก 56 จังหวัด จะเห็นได้ว่า ตัวเลขผู้ป่วยจากโรคชิคุนกุนยา เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ในเวลาเพียง 1 เดือน วันนี้ #ทีมแม่ABK จึงมีข้อมูลมาบอกเพื่อให้เตรียมพร้อมในการรับมือกันค่ะ

ชิคุนกุนยา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคร้ายที่มากับยุง

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา ในปี 2563 พบผู้ป่วยแล้ว 3,258 ราย จาก 56 จังหวัด ไม่มีผู้เสียชีวิต
คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีฝนตกในหลายพื้นที่ของประเทศไทย และปัจจุบันการพบผู้ป่วยโรคนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่ภาคใต้ สามารถพบผู้ป่วยในภาคอื่นๆ ได้เช่นกัน

ที่มา : 1 2

 

หน้าฝนต้องระวัง โรคชิคุนกุนยา

โรคชิคุนกุนยา หรือ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย คืออะไร?

โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) เป็นโรคเกิดจากร่างกายติดเชื้อไวรัสชื่อ ชิคุนกุนยาไวรัส  เป็นไวรัสที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยุงลายที่เป็นพาหะโรคไข้ปวดข้อยุงลาย คือ ยุงลายบ้าน และ ยุงลายสวน เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุงและเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัดทำให้คนนั้นติดโรคได้ โดยยุงลายทั้งสองสายพันธุ์นี้ มักเป็นยุงที่พบได้ทั่วไปทั้งในเมือง และในต่างจังหวัด โดยเฉพาะตามสวน เป็นยุงหากินกลางวัน มีลายขาวดำตามลำตัวและตามขา ชอบวางไข่ในน้ำสะอาด (โดยเฉพาะน้ำฝน) ที่ขังอยู่ในภาชนะต่าง ๆ เช่น กระถางต้นไม้ อ่างน้ำ โอ่งเก็บน้ำ โดยไข่จะเป็นตัวยุงภายใน 7-10 วัน ยุงพวกนี้ชอบอาศัยในบ้าน ใกล้ ๆ บ้าน ในโรงเรียน ในสถานที่ที่มีแสงแดดน้อย หรือ มีร่มเงา และมีอากาศเย็น

โรคชิคุนกุนยา มีพาหะจากยุงลายบ้าน และ ยุงลายสวน

คำว่า ชิคุนกุนยา มาจากภาษาถิ่นอาฟริกา ที่หมายความถึง อาการบิดเบี้ยวของข้อ ทั้งนี้เพราะโรคนี้ มีอาการสำคัญ คือ ข้อบวม และข้ออักเสบ จนเกิดการผิดรูป ในประเทศไทย พบว่ามักมีการระบาดในภาคใต้ โดยโรคนี้พบได้ในทุกเพศทุกวัย รวมทั้งทารกในครรภ์เมื่อมารดาติดเชื้อไวรัสนี้ (พบได้น้อย) ไปจนถึงผู้สูงอายุ และโอกาสเกิดโรคใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ชิคุนกุนยา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย อาการเป็นอย่างไร?

อาการของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นอาการเฉียบพลัน เกิดภายหลังได้รับเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (ถูกยุงลายมีเชื้อกัด) ประมาณ 1-12 วัน (ระยะฟักตัวของโรค) ส่วนใหญ่ประมาณ 2-5 วัน โดยมีอาการหลักคล้ายกับโรคไข้เลือดออก คือ

โดยทั่วไป จะมีไข้อยู่ประมาณ 2 วัน แล้วไข้ลงทันที แต่อาการอื่นๆ จะคงอยู่ต่ออีกประมาณ 5-7 วัน โดยเฉพาะอาการปวดข้อ ข้ออักเสบ อาจเป็นอยู่นานเป็นเดือน หรือ บางคนเป็นปี หรือ หลาย ๆ ปี

อาการหลักของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย คือ มีไข้สูง ปวดตามข้อ

โรคชิคุนกุนยา อันตรายหรือไม่?

โรคชิคุนกุนยา หรือ โรคไข้ปวดข้อยุงลายเป็นโรครุนแรงน้อยกว่าโรคไข้เลือดออกมาก ในประเทศไทย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตที่เกิดจากโรคนี้ แต่การปวดข้อ และข้ออักเสบส่งผลถึงคุณภาพชีวิต เพราะอาการปวดข้อเหล่านี้ อาจเป็นอาการเรื้อรังนานเป็นเดือนหรือเป็นปีได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะเกิดความรุนแรงมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย โดยผู้สูงอายุจะมีอาการรุนแรงกว่าวัยอื่น ๆ และระยะเวลาในการเจ็บป่วยจากข้ออักเสบ ก็ขึ้นกับอายุเช่นกัน โดยพบว่า ในเด็กและวัยหนุ่มสาว อาการต่าง ๆ มักหายเองได้ภายใน 5-15 วัน วัยกลางคน อาการมักหายเองได้ภายใน 1-2.5 เดือน แต่ในผู้สูงอายุ จะมีอาการอยู่นานกว่านี้ เป็นหลายเดือน หรือ เป็นปี ๆ นอกจากนี้ อาจพบผู้ป่วยบางราย (โอกาสเกิดได้น้อย) เกิดโรคสมองอักเสบ ไขสันหลังอักเสบ หรือ เส้นประสาทอักเสบ ทำให้เกิดปัญหาที่รุนแรงบนผิวหนัง ดวงตา ไต หัวใจ หรือระบบประสาทได้

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

โรคชิคุนกุนยา มีวิธีรักษาอย่างไร?

โรคชิคุนกุนยา ยังไม่มียารักษาเฉพาะโรค ดังนั้นแนวทางการรักษา จะใช้หลักการเดียวกันกับ โรคไข้เลือดออก คือ การรักษาแบบประคับประคอง และป้องกันภาวะแทรกซ้อน ร่วมกับป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสชิคุณกุนยา โดยการรักษาประคับประคองตามอาการ คือ ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ดื่มน้ำมาก ๆ และพักผ่อนเต็มที่ โดยไม่แนะนำยาแก้ปวดในกลุ่มเอนเสดส์ (NSAIDs,Non-steroidal anti-inflam matory drugs) เช่น แอสไพริน และยาลดไข้สูง ไอบูโปรเฟน (Ibruprofen) เพราะจะเพิ่มโอกาสเลือดออกตามเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ได้

วิธีการป้องกัน โรคชิคุนกุนยา

การป้องกันยุงกัด เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคที่เกิดจากยุง เนื่องจากโรคที่เกิดจากยุงนั้นไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคได้โดยเฉพาะเมื่อได้รับเชื้อจากยุงที่เป็นพาหะ วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรค คือ “ป้องกันไม่ให้ยุงกัด” โดย กรมควบคุมโรคได้แนะนำให้ประชาชนให้ยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” เพื่อป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคไข้เลือดออก และโรคติดเชื้อไวรัสซิก้า โดยมีหลัก 3 เก็บดังนี้

  1. เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
  2. เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
  3. เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่

นอกจากนี้ ยังควรจัดหาและใช้อุปกรณ์ป้องกันยุง เช่น มุ้ง มุ้งลวด เพื่อป้องกันยุงกัด และใช้ยาทากันยุง ถ้ามีความจำเป็นต้องออกนอกบ้านหรือไปในที่เสี่ยงต่อยุงชุกชุม ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิดอีกด้วย

วิธีป้องกันที่ดีที่สุดของโรคชิคุนกุนยาคือ การป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด

โรคชิคุนกุนยา นี้แปลเป็นภาษาไทยว่า “เจ็บจนตัวงอ” ซึ่งแสดงถึงสภาพของคนที่ป่วยเป็นโรคนี้ ว่าจะได้รับความเจ็บปวดขนาดไหน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ที่มีเด็กเล็ก จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ควรหลีกเลี่ยงพาลูกไปในที่ชุกชุม เพื่อป้องกันยุงกัด เพียงเท่านี้ ก็จะช่วยลดโอกาสการเป็น โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ไปได้ส่วนหนึ่งเลยค่ะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?

เปรียบเทียบสารสำคัญในสเปรย์กันยุงและแผ่นแปะกันยุง ซื้ออย่างไร แบบไหนดี?

6 พาหะนำโรค หน้าฝนที่พ่อแม่ต้องระวังให้ดี!

ดูแลผิวลูกหน้าฝน รับมือเชื้อราและแบคทีเรีย

5 เชื้อไวรัสที่มากับหน้าฝน พ่อแม่ที่มีลูกเล็กต้องระวัง !

มารู้จัก คำศัพท์หน้าฝน สนุกๆคุยเล่นแก้เบื่อตอนฝนตกกันดีกว่า

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.thaihealth.or.th, haamor.com, www.chulalongkornhospital.go.th

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids