โรคอีสุกอีใส กับความเชื่อผิดๆ พร้อมคำเตือนจากคุณหมอ - Amarin Baby & Kids
โรคอีสุกอีใส

โรคอีสุกอีใส กับความเชื่อผิดๆ พร้อมคำเตือนจากคุณหมอ

event
โรคอีสุกอีใส
โรคอีสุกอีใส

โรคอีสุกอีใส ได้ถูกพูดถึงครั้งแรกปี พ.ศ.2201 ราว 300 กว่าปีมาแล้วจึงไม่แปลกที่จะมีความเชื่อที่กล่าวถึงโรคนี้มากมาย เรามาร่วมหาความจริงจากคำคุณหมอกัน

โรคอีสุกอีใส กับความเชื่อผิดๆ พร้อมคำเตือนจากคุณหมอ

ก่อนอื่นเราจะพาคุณแม่มาทำความรู้จักกับ โรคอีสุกอีใส กันอย่างคร่าว ๆ จากคุณหมอ ผศ.นพ.ชนเมธ เตชะแสนศิริ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กันในรายการ พบหมอรามาฯ กันเสียก่อน เพื่อให้รู้จักและเข้าใจในโรคนี้อย่างถูกต้อง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก รายการพบหมอรามาฯ Big Story ไม่ใช่แค่ใครก็เป็นได้โรคอีสุกอีใส วันที่ 26/12/59

โรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่ระบาดแผ่กระจายได้ง่าย โดยเฉพาะในโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือตามชุมชนที่อยู่อาศัยทั่วไป สามารถพบได้ตลอดทั้งปี จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีผู้ป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสจำนวนมาก บางรายมีอาการรุนแรงถึงขั้น “เสียชีวิต”

ในประเทศไทยนั้นสามารถเจอโรคนี้ได้ตลอดทั้งปี เพียงแต่จะพบเจอได้เยอะในช่วงหน้าหนาว เนื่องจากพออากาศเย็นลงไวรัสจะอยู่ได้ดีขึ้น ก็จะพบโรคนี้มากขึ้น โดยลักษณะของอีสุกอีใสนั้นคือมีตุ่มใสขึ้นตามตัว โดยอีสุกอีใสนั้นจัดอยู่ในกลุ่มของ ไวรัส ชื่อเต็มๆคือ Varicella Zoster Virus

อาการ

เริ่มต้นของอีสุกใส เริ่มจากการมีไข้ต่ำๆในเด็กเล็ก แต่ผู้ใหญ่มักจะมีไข้สูง และภายใน 1-2 วันก็จะมีตุ่มขึ้น โดยจะเริ่มจากลำตัว ใบหน้า ก่อนจะลามไปถึงแขนและขา

โรคอีสุกอีใส
โรคอีสุกอีใส

การรักษา

เป็นโรคที่ไม่รุนแรง เกิดจากเชื้อไวรัสทำให้ร่างกายสามารถหายเองได้หากไม่มีอาการแทรกซ้อน การรักษาจะรักษาตามอาการ พักผ่อน ดื่มน้ำมาก ๆ หากเป็นไข้ ไม่ควรใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจเกิดอาการทางสมอง และตับจนทำให้ถึงตายได้

อีสุกอีใสส่วนใหญ่มักจะเป็นแค่ครั้งเดียว ซึ่งหากติดเชื้อแล้วก็มักจะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น แต่คนที่มีอาการซ้ำ ส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติ

นอกจากนี้การเป็นอีสุกอีใสอาจจะนำพาไปสู่ โรคงูสวัด เนื่องจากเมื่อเราหายดีแล้ว เชื้อจะยังไม่หมดไปจากร่างกาย โดยจะซ่อนอยู่ตามปมประสาทและเมื่อไหร่ที่ร่างกายเราอ่อนแอ ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง เจ็บป่วยรุนแรง หรือได้รับยากดภูมิต่างๆ เชื้อก็เกิดการกระตุ้นให้เกิดการแบ่งตัวและเกิดโรคขึ้นมา ส่งผลให้กลายเป็นโรคงูสวัด โดยจะเห็นเป็นตุ่ม เป็นปื้นๆ ตามแนวของเส้นประสาทที่เลี้ยงผิวหนังซึ่งจะเจ็บและปวดมาก

การป้องกัน

วัคซีนป้องกันนั้น เหมาะสำหรับคนที่ไม่เคยเป็น โดยเด็กที่เล็กกว่า 12 ปี แนะนำให้ฉีด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน ถ้าเกิน 13 ปีขึ้นไป แนะนำให้ฉีด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน

ความเชื่อโบร่ำโบราณว่าไว้ แล้วควรจะทำตามหรือไม่

เพื่อคลายข้อสงสัย ที่ ทีมแม่ABK เชื่อว่าหลาย ๆ บ้านคงจะประสบกับปัญหานี้กันมา เวลาลูกน้อยป่วยด้วยโรคอีสุกอีใส เหล่าบรรดาคุณปู่ คุณย่า อากง อาม่า และผู้ใหญ่ที่ได้รับการส่งต่อความเชื่อเกี่ยวกับโรคนี้ จะมีข้อปฎิบัติ ความเชื่อต่าง ๆ นานา มาให้คุณแม่ต้องลังเลว่าควรทำตัวเช่นไร เพราะเราเชื่อแน่ว่า คุณแม่คงกังวลใจอยากให้ลูกของเราหายป่วยไวไว แต่สิ่งไหนที่ควรทำตาม สิ่งไหนที่จะไปเพิ่มความเสี่ยงยิ่งขึ้นไปอีก คุณแม่คงอยากรู้แล้วว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร งั้นเรามาฟังจากปากของคุณหมอ อ.พญ. สัญชวัล วิทยากรฤกษ์ สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอกเด็กและวัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กันจากในคลิปกันก่อนดีกว่า

สามารถรับชมคลิปเต็มได้ที่ พบหมอรามาฯ – “คีโตเจนิค” กับข้อจำกัดที่ควรระวัง, อีสุกอีใสในเด็ก ออกอากาศวันที่12/02/63

ความเชื่อที่ว่า...อีสุกอีใสเป็นโรคที่ทุกคนต้องเป็น ใครยังไม่เป็นให้รีบไปอยู่ใกล้ ๆ จะได้เป็นแล้วไม่ต้องมาเป็นตอนโตแน่นอน

NO…โรคอีสุกอีใส เป็นโรคที่ติดต่อง่าย จึงมักพบว่าคนส่วนใหญ่จะเคยเป็น แต่ไม่ใช่โรคที่ต้องเป็นทุกคน ทางที่ดีไม่ควรไปรับเชื้อมาไว้ในร่างกายเพราะมันจะไม่หายไป เชื้อจะยังคงฝังตัวอยู่ในปมประสาทของร่างกาย เมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแอ หรือเกิดภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติ ก็อาจจะกลับมาเป็นอีก หรืออาจจะเป็นโรคงูสวัดในตอนโตได้เพราะเชื้อตัวเดียวกัน

ความเชื่อที่ว่า…เมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้วจะเป็นรอยแผลเป็นจากตุ่มใสทุกคน

NO…ตัวโรคนี้ไม่ก่อให้เกิดรอยแผลเป็น แต่ทำให้เป็นตุ่มใสที่มีอาการคัน หากเราไปแคะ แกะ เกา จนเป็นแผลเปิดก็จะทำให้เกิดแผลเป็นทิ้งไว้หลังจากหายได้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวัง อย่าให้ลูกเกาแผล อาจจะป้องกันโดยการตัดเล็บให้สั้น หรือทายาช่วยบรรเทาอาการคัน ก็จะช่วยได้

ความเชื่อที่ว่า…โรคอีสุกอีใสเป็นโรคของเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่ไม่เป็น

NO…จากสถิติที่พบเรามักพบว่าเด็กเป็นโรคอีสุกอีใสมากกว่าผู้ใหญ่ จึงทำให้คิดไปว่าเป็นโรคเฉพาะในเด็ก แต่ความเป็นจริงผู้ไหญ่ที่ยังไม่เคยมีภูมิคุ้มกันโรคนี้ ก็สามารถเป็นได้ และอาการเมื่อเป็นจะรุนแรงกว่าในเด็กด้วยซ้ำไป แต่ที่พบในเด็กมากกว่า อาจเพราะลักษณะนิสัยของเด็กที่ชอบอยู่รวมกลุ่ม และความระมัดระวังการติดเชื้อ ไอ จาม น้ำคัดหลั่งจะน้อยกว่าในผู้ใหญ่

ความเชื่อที่ว่า…เป็นอีสุกอีใสแล้วอาบน้ำได้ไหม

Yes…สามารถอาบน้ำได้ตามปกติ หากมีไข้ ก็ใช้การเช็ดตัว ไม่ได้มีผลต่อการกระจายของตุ่มใสจากโรค

ความเชื่อที่ว่า…สมุนไพรกับการรักษาโรคอีสุกอีใส

Beware…คุณหมอกล่าวว่าไม่มีรายงานหรือผลวิจัยมาสนับสนุนว่าสมุนไพรรักษาโรคอีสุกอีใส เช่น ยาเขียว น้ำต้มผักชี สามารถช่วยรักษาได้หรือไม่ แต่การที่มีฤทธิ์เย็นของสมุนไพร อาจจะไปช่วยบรรเทาอาการคัน แสบร้อนของตุ่มได้ ทำให้คนไข้รู้สึกสบายตัว ก็สามารถใช้ได้ แต่มีข้อควรระวัง คือ ความสะอาด เพราะเมื่อเรามีแผลจากตุ่มใส อาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียจากแผลเปิดได้ ซึ่งจะลามไปก่อให้เกิดโรคอื่นได้ โดยเฉพาะ การเป่าสมุนไพร ไม่แนะนำเพราะน้ำลายเป็นแหล่งรวมเชื้อโรค เราไม่ทราบว่าผู้เป่าให้นั้นมีเชื้ออะไรมาบ้าง

ความเชื่อที่ว่า…ไข่เป็นอาหารแสลง คนเป็นไม่ควรทาน

NO…ตามหลักของโภชนาการแล้ว ไข่ให้สารอาหารโปรตีน ซึ่งคุณหมอคิดว่ามีส่วนช่วยเสริมสร้างให้ร่างกายฟื้นตัวจากโรคได้ดี จึงไม่คิดว่าจะเกี่ยวข้องกัน ควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ให้ร่างกายแข็งแรงจะดีกว่า ถ้าในเด็กเล็กที่มีตุ่มขึ้นในปาก ก็สามารถทานอาหารเย็น ๆ ก็จะช่วยให้ลูกอยากอาหาร ทานได้เยอะขึ้น

ความเชื่อที่ว่า…ทานยาแอสไพรินลดไข้ จะให้ผลเร็วกว่า

NO…ต้องขอบอกว่าข้อนี้ห้ามอย่างแรง สำหรับคนที่เป็นไข้จากโรคอีสุกอีใสไม่ควรทายาลดไข้จากแอสไพริน เพราะอาจเกิดอาการแพ้แอสไพรินอย่างรุนแรง และทำให้ตับอักเสบได้

ความเชื่อที่ว่า…ฉีดวัคซีนแล้วไม่เป็นโรคอีสุกอีใส100%

NO…วัคซีนอีสุกอีใสสามารถป้องกันได้ 90% ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่าฉีดวัคซีนแล้วจะไม่เป็นโรคอีสุกอีใสเลย การรักษาร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงที่ชุมชน และผู้ป่วย ใส่หน้ากากอนามัยก็จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อลงได้ สำหรับวัคซีนควรฉีดสำหรับผู้ที่ไม่เคยเป็น และในเด็ก สำหรับประเทศไทยยังจัดว่าเป็นวัคซีนทางเลือก คุณแม่จึงต้องแจ้งคุณหมอหากต้องการรับวัคซีน

ขอขอบคุณข้อมูล และคลิปดี ๆ จาก RAMA CHANNEL

อ่านต่อบทความดี ๆ  คลิก

วัคซีนพื้นฐานสำหรับลูกน้อยในขวบปีแรก เป็นสิ่งจำเป็นและไม่ควรเลื่อนฉีด

“ภูมิแพ้ผิวหนัง” โรคที่พบบ่อยในเด็ก เป็นแล้วรักษาไม่หาย

8 โรคฮิตเปิดเทอม พ่อแม่เตรียมไว้เลย เปิดเทอมนี้ เจอแน่!!

โรค hMPV คือ อะไร? ลงปอดเร็ว ป่วยนานไม่แพ้ RSV

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up