มะเร็งปากมดลูก ถือเป็นภัยร้ายทางสุขภาพที่ส่งผลให้ผู้หญิงเสียชีวิตได้มากไม่แพ้มะเร็งในผู้หญิงชนิดอื่น ซึ่งสาเหตุของการเกิดมาจากการเชื้อไวรัส HPV สำหรับการป้องกันควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน และการทานอาหารก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้ ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีข้อมูลในเรื่องนี้มาให้ทราบกันค่ะ
มะเร็งปากมดลูก เกิดจากอะไร?
สำหรับคุณแม่ และผู้หญิงอีกจำนวนที่มีคำถามว่า มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) เกิดขึ้นได้อย่างไร หรือมาจากสาเหตุอะไรบ้าง ผู้เขียนมีมาบอกให้ทราบกันดังนี้…
- เกิดจากการมีคู่นอนหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์ในช่วงอายุน้อยกว่า 17 ปี เพราะเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ปากมดลูกมาก และมีความไวต่อสารก่อมะเร็ง
- มีประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส และหนองใน ก็จะยิ่งทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น
- ทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันนานกว่า 5 ปี มีความเสี่ยงสูงขึ้นถึง 1.3 เท่า ถ้ารับประทานนานถึง 10 ปี มีความเสี่ยงถึง 2.5 เท่า
- คลอดลูกมากกว่า 4 ครั้ง อาจทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัวเลยทีเดียว
- ผู้ชายแพร่เชื้อ HPV ให้ผู้หญิง เพราะเปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีรักร่วมเพศ เชื้อจะเข้าไปสะสมไว้ในอวัยวะเพศ
- การสูบบุหรี่ การมีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน เช่น โรคเอดส์ หรือรับยากดภูมิคุ้มกัน อาจเป็นตัวเร่งให้เป็นมะเร็งปากมดลูกได้
บทความแนะนำ คลิก>> มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก กับสัญญาณเตือนให้ระวัง!
พอจะทราบกันแล้วนะคะว่าสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกนั้น มีสาเหตุมาจากปัจจัยใดบ้าง ซึ่งหลังจากแนะนำว่าให้คุณแม่ และผู้หญิงทุกคนต้องหมั่นดูแลรักษาสุขภาพให้มากเป็นพิเศษ ที่สำคัญในเด็กผู้หญิงอายุประมาณ 11 ปีขึ้นไป สามารถเริ่มต้นฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้แล้วค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
วิธีดูแลสุขภาพร่างกายให้ห่างไกล ปลอดภัยจากโรคมะเร็งปากมดลูก
ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูกมากจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้อง และมาจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ซึ่งการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคในผู้หญิง สามารถดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองในเบื้องต้นดังนี้…
- ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร
- ไม่ควรมีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
- ก่อนมีเพศสัมพันธ์ หากไม่แน่ใจว่าคู่ของคุณมีสุขภาพที่ปลอดจากเชื้อโรคติดต่อต่างๆ หรือไม่ แนะนำว่าควรมีการบอกให้คู่นอนสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง
- ควรทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ทานผัก ผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ ควรงดการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวัน และไม่ควรปล่อยให้สมอง ร่างกายเครียดมากไปจากการเรียน การทำงาน
- หมั่นออกกำลังกายทุกวัน หรืออย่างน้อย 2-3วันต่อสัปดาห์ก็ได้
- ในผู้หญิงไม่ว่าจะแต่งงานแล้ว หรือยังไม่ได้แต่งงาน ควรมีการตรวจภายในทุกปี รวมถึงตรวจ สุขภาพโดยรวมอย่างอื่นด้วย
- เด็กผู้หญิงทุกคนที่อายุระหว่าง 11-13 ปีขึ้นไปควรได้รับการฉีดวัคซีนเอชพีวีกันทุกคน
บทความแนะนำ คลิก>> “วัคซีนเอชพีวี” การลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับเด็กหญิง-ชาย ป้องกันมะเร็งปากมดลูก
นี่คือการดูแลสุขภาพง่ายๆ เบื้องต้นเพื่อให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งปากมดลูก แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก อยากรู้กันไหมว่ามีอาหารอะไรบ้างที่แนะนำให้ทานกันอย่างสม่ำเสมอในผู้หญิง…
อ่านต่อ 9 อาหารช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูก หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
9 อาหารช่วยลดความเสี่ยงการเกิด มะเร็งปากมดลูก
ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านหนังสือ 100 เรื่องน่ารู้มะเร็งในผู้หญิง เขียนโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นั่นคือ แพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข[1] ซึ่งคุณหมอได้แนะนำอาหารที่หากทานเป็นประจำ จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงได้ อาหารที่ว่านี้มีอะไรบ้างไปทำความรู้จักพร้อมกันเลยค่ะ…
1. อาหารที่อุดมด้วยวิตามินอี
มีงานวิจัยในสตรีพบว่า ผู้หญิงที่มีระดับวิตามินอีในเลือดสูงจะสามารถกำจัดเชื้อ HPV ได้ภายใน 20 วัน สำหรับอาหารที่อุดมด้วยวิตามิน ได้แก่ ถั่ว ธัญพืช ข้าวกล้อง ผักใบเขียว น้ำมันพืช เช่น น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันมะกอก
2. อาหารที่อุดมด้วยวิตามินซี
อย่างที่ทราบกันมาบ้างว่า วิตามินคือสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีมากๆ ให้กับร่างกาย ซึ่งการทานผักสด ผลไม้ที่อุดมด้วยวิตามินจะช่วยป้องกันมะเร็งต่างๆ รวมถึงมะเร็งปากมดลูกด้วย สำหรับอาหารที่อุดมด้วยวิตามินซี ได้แก่ ผลไม้ ผักใบเขียว เช่น ฝรั่ง สับปะรด มะละกอ กล้วย มะนาว พริกหวาน มะเขือเทศ ส้มโอ กะหล่ำปลี กะกล่ำดอก ส้ม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี เป็นต้น
3. อาหารที่อุดมด้วยสารโฟเลต (Folate คือวิตามินบี 9)
งานวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่กินยาคุมกำเนิดเป็นเวลานานๆ จะมีระดับของสารโฟเลตต่ำกว่าคนที่ไม่เคยทานยาคุมกำเนิด แต่เมื่อมีการเสริมสารโฟเลตให้กับผู้หญิงที่ทานยาคุมกำเนิด พบว่ามีเซลล์ปากมดลูกผิดปกติน้อยกว่าคนที่ไม่ได้รับการเสริมโฟเลต สำหรับอาหารที่อุดมไปด้วยสารโฟเลต ได้แก่ ถั่ว ผักใบเขียว ธัญพืช ข้าวกล้อง ผลไม้รสเปรี้ยว น้ำส้มคั้นสด เป็นต้น
4. อาหารที่อุดมด้วยวิตามินเอ และสารเบต้าแคโรทีน
มีงานวิจัยยืนยันว่าการทานผักผลไม้ที่มีสีเขียวจัด เหลือง ส้ม แดง เช่น แครอท ผักโขม ฟักทอง ส้ม มะละกอ มะม่วง จะทำให้ได้รับสารเบต้าแคโรทีนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดเซลล์ปากมดลูกผิดปกติ และมะเร็งปากมดลูกได้
5. อาหารอุดมด้วยสารซีลีเนียม (Selenium)
มีงานวิจัยพบว่า การได้รับสารซีลีเนียมวันละ 250-300 ไมโครกรัม จะช่วยต้านมะเร็งได้หลายชนิด และจะดีมากยิ่งขึ้นห่าง ได้รับสารซีลีเนียมร่วมกับวิตามินอี สำหรับอาหารที่อุดมด้วยสารซีลีเนียม ได้แก่ กระเทียม ยีสต์ เห็ด งา ถั่ว หน่อไม้ฝรั่ง กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อกโคลี เป็นต้น
6. สาหร่าย
ใครที่ชอบทานส่าหร่ายเป็นประจำรู้ไว้เลยว่ามีประโยชน์มากๆ โดยเฉพาะในผู้หญิงทานบ่อยๆ ยิ่งได้ประโยชน์ เนื่องจาก สาหร่ายเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดทั้งมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก
7. กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อกโคลี
ในผักทั้ง 3 ชนิดนี้ จะมีสารต้านมะเร็ง นั่นคือ ไดอินโดลิลมีเทน (Diindolylmethane) ซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) และซีลิเนียม (Selenium) ดีแบบนี้ต้องทานกันบ่อยๆ นะคะ
8. น้ำมันปลา (Fish Oil)
มีงานวิจัยพบว่าสามารถช่วยหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อ HPV ได้ ซึ่งเชื้อเอชพีวีคือสาหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก สำหรับน้ำมันปลาที่มีโอเมก้า 3 สูง ได้แก่จาก ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ส่วนปลาทะเลไทย ได้แก่ ปลาทู ปลา กะพง ปลาโอ ปลาเก๋า ปลาอินทรี ฯลฯ
9. โคเอนไซม์คิวเท็น (CoQ10)
ใครที่ทานโคเอนไซม์คิวเท็นเป็นประจำ ต้องบอกว่าดีต่อสุขภาพมากๆ เนื่องจาก CoQ10 เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีงานวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่มีเซลล์ปากมดลูกผิดปกตินั้นมีระดับโคเอนไซม์คิวเท็นต่ำ สำหรับการทานอาหารเพื่อให้ได้รับโคเอนไซม์คิวเท็นสามารถทานได้จากปลาเฮร์ริ่ง และปลาแมคเคอเรล
การไม่เป็นโรคคือลาภอันประเสริฐ ซึ่งการไม่มีโรคนั้นต้องมาจากการดูแลสุขภาพร่างกายมาเป็นอย่างดีด้วย ที่สามารถเริ่มได้จากเรื่องง่ายๆ คือ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญผู้หญิงทุกคนไม่ว่าจะเป็นแม่ หรือยังไม่เป็นแม่ ขอให้เช็กสุขภาพเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะสุขภาพภายในผู้หญิง เพื่อจะได้ลดอัตราเสี่ยงจากโรคมะเร็งทุกชนิดนะคะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
ครีมกันแดด SPF เท่าไหร่ดี ช่วยป้องกันมะเร็งผิวหนังได้ ?
วิธีสังเกตลักษณะต้องสงสัย “มะเร็งไฝ”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
[1] แพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข. หนังสือ 100 เรื่องน่ารู้มะเร็งในผู้หญิง. หน้า 66,67,68,69. อมรินทร์สุขภาพ