สมองพิการ ภาวะผิดปกติในเด็ก คุณแม่ๆสามารถเริ่มสังเกตจากอะไรบ้าง และมีวิธีรักษาได้หรือไม่? วันนี้ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีข้อมูลดีๆมาฝากแม่ๆกันค่ะ
สมองพิการ ภาวะผิดปกติในเด็ก
สมองพิการ หรือภาษาการแพทย์เรียกว่า cerebral palsy บางครั้งนิยมเรียกตามตัวย่อว่า โรค CP เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการบาดเจ็บอย่างถาวรในสมองที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการเคลื่อนไหวและท่าทางของร่างกาย หรือเกิดจากรอยโรคในสมองใหญ่ ที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย ส่วนใหญ่มักเป็นมาแต่กำเนิด หรือตั้งแต่เล็กๆ พบได้บ่อยในทารกที่คลอดก่อนกำหนด, มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่า 1,500 กรัม, ทารกที่คลอดท่าก้น,เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของการคลอด หรือขณะตั้งครรภ์ มารดาเป็นโรคติดเชื้อหรือโรคเรื้อรังบางชนิด ซึ่งปัจจุบันพบได้ 1 – 3 คนต่อเด็กทารก 1,000 คน หรือปีละประมาณ 2,000 คน
โรคสมองพิการ เกิดจากสาเหตุอะไร?
ต้องบอกเลยว่าโรคสมองพิการ สามารถเกิดได้ตั้งแต่ระยะก่อนคลอด ระหว่างคลอด หลังคลอด และระยะเด็กเล็ก
- ระยะก่อนคลอด
ในระยะนี้มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดจากความผิดปกติของคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ หรือคุณแม่มีการติดเชื้อในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ติดเชื้อไวรัสบางชนิด โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไทรอยด์ หัดเยอรมัน โรคลมชักชนิดรุนแรง โรคขาดอาหารรุนแรง ดื่มแอลกอฮอล์จัด สูบบุหรี่ ได้รับสารกัมมันตรังสี หรือพัฒนาการทางสมองของทารกอาจผิดปกติตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือภาวะตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดสมองของทารก
- ระยะระหว่างคลอด
ในระยะนี้ อาจเกิดจากการคลอดยาก รกพันคอ ภาวะตกเลือด ขาดออกซิเจนแรกคลอด หรือคลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักแรกคลอดน้อย ติดเชื้อ ตัวเหลือง น้ำตาลต่ำ สมองได้รับบาดเจ็บ หรือมีเลือดออกในสมองขณะคลอด
- ระยะหลังคลอด
ในระยะนี้อาจเกิดจากการติดเชื้อ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้สมองทารกได้รับความเสียหายในบางส่วน หรือเกิดจากการที่สมองทารกได้รับการกระทบกระเทือนที่ศีรษะ
- ระยะเด็กเล็ก
ในระยะนี้มักเกิดจากการติดเชื้อของสมองจากภาวะแทรกซ้อน เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตะกั่วเป็นพิษ โรคขาดอาหารรุนแรง ศีรษะเด็กได้รับบาดเจ็บหรือเลือดออกในสมอง สำลักสิ่งแปลกปลอมทำให้เกิดภาวะขาดอากาศหายใจ หรือจมน้ำ
อาการของเด็กที่มีภาวะ สมองพิการ มีวิธีสังเกตอย่างไร?
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
วิธีสังเกตอาการของเด็กที่มีภาวะ สมองพิการ
สมองพิการในเด็ก อาการผิดปกติมักเกิดขึ้นตั้งแต่หลังคลอด จะปรากฏอาการขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน และเมื่ออายุ 1-2 ปีอาการจะชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนในรายที่เกิดจากอุบัติเหตุก็จะมีอาการหลังจากนั้น
- สังเกตว่าทารกมีพัฒนาการล่าช้า เช่น คลาน นั่ง ยืน เดิน พูดได้ช้ากว่าเด็กปกติ และกล้ามเนื้ออาจจะแข็งตัวหรืออ่อนตัว มีท่าทางและการเคลื่อนไหวผิดปกติ
- สำหรับอาการสมองพิการชนิดเกร็ง จะมีอาการแขน ขาเกร็ง เคลื่อนไหวลำบาก ข้อศอกและข้อเข่างอ จากการที่กล้ามเนื้อแข็งตัว ความผิดปกตินี้ อาจจะเกิดที่แขนขาส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้
- สำหรับอาการสมองพิการชนิดเคลื่อนไหวผิดปกติ จะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนตัวทั้งร่างกาย การเคลื่อนไหวของใบหน้าและแขน ขาช้า หรือกระตุก ทำให้ไม่สามารถตั้งตัวตรง และหยิบจับสิ่งของได้ ซึ่งอาการนี้จะอยู่เหนือการควบคุมของเด็กที่ป่วย
- อีกหนึ่งอาการ แต่พบได้เป็นส่วนน้อย คือ อาการมือสั่นเวลาเคลื่อนไหว เดินเซ เนื่องจากการที่กล้ามเนื้อไม่สามารถประสานการทำงานได้ การแสดงออกทางอาการเหล่านี้อาจมีได้มากกว่า 1 ชนิด รวมถึงอาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น เดินตัวไม่ตรง เดินขาลากหรือเท้าลากข้างหนึ่ง ตัวสั่น น้ำลายไหล กลืน ดูด หรือพูดลำบาก พูดไม่ชัด เขียนหนังสือหรือติดกระดุมลำบาก บางรายอาจมีอาการสายตาไม่ดี ตาเหล่ หูตึง เป็นโรคลมชัก สติปัญญาพร่องด้วย
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากอาการ สมองพิการ
- เด็กตัวเล็กจากการกินอาหารลำบาก
- ฟันผุ
- ท้องผูก
- ปอดอักเสบจากการสำลักอาหาร
- ตาบอด หูหนวก
- กระดูกพรุน
- ข้อยึดติด
- ข้อสะโพกหลุด
- กระดูกสันหลังคด
- โรคลมชัก
- สมาธิสั้น
สมองพิการในเด็ก รักษาได้อย่างไร?
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การรักษาภาวะสมองพิการ
- การรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด เพื่อให้เด็กสามารถช่วยตัวเองได้มากที่สุดถ้าเป็นโรคนี้ มักจะต้องรักษาทางกายภาพบำบัด และกิจกรรมบำบัด โดยการใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน การฝึกพูดและแก้ไขความผิดปกติเกี่ยวกับสายตาและการได้ยิน และเพิ่มทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก ฝึกการดูดกลืน ทักษะการทำกิจวัตรประจำวัน และการช่วยเหลือตัวเอง
- การรักษาด้วยยา อาจให้ยากลุ่มที่ใช้ควบคุมอาการที่พบร่วมด้วย เช่น ถ้าชักก็ให้รักษาแบบโรคลมชัก ถ้าแขนขาเกร็งหรือเคลื่อนไหวผิดปกติก็ให้ยาบรรเทาอาการ เช่น ไดอะซีแพม ไตรเฮกซีเฟนิดิล
- การรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ การย้ายเอ็น หรือการผ่าตัดกระดูก
- การรักษาอื่นๆ เช่น การแก้ไขปัญหาสายตาและการได้ยิน การรักษาภาวะชัก และการรักษาด้านจิตเวช
สำหรับการดูแลรักษาเด็กที่มีภาวะ สมองพิการ จำเป็นมากๆเลยค่ะ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของตัวเด็กเอง และครอบครัว รวมถึงทีมแพทย์ผู้รักษา ซึ่งหากได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เล็กๆ จะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่ารักษาเมื่อเด็กมีอายุมากแล้ว แต่การรักษาในผู้ป่วยแต่ละรายอาจต้องพิจารณาจากความรุนแรงของภาวะสมองพิการ และอายุของผู้ป่วยร่วมด้วยค่ะ ซึ่งการดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กสมองพิการ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีมสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งประกอบด้วยกุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม กุมารแพทย์สาขาประสาทวิทยา ศัลยแพทย์ด้านระบบประสาท ศัลยแพทย์ด้านกระดูกและข้อ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด และนักกิจกรรมบำบัดค่ะ
สมองพิการในเด็ก ป้องกันได้อย่างไร?
สมองพิการเป็นโรคที่หาทางป้องกันได้ค่อนข้างยากค่ะ เนื่องจากมักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ถ้าทราบสาเหตุที่แน่ชัดแล้ว ก็อาจป้องกันได้โดย
- ก่อนตั้งครรภ์ คุณแม่ควรดูแสสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง บำรุงครรภ์ด้วยอาหารสุขภาพ ควบคุมโรคเรื้อรังที่อาจะเกิด เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน
- เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ควรฝากครรภ์กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คลอดในสถานพยาบาลที่มีความพร้อม
- หากพบว่าทารกแรกเกิดมีอาการตาเหลือง ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
- ทารกที่เกิดมา ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามที่แพทย์กำหนด เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพต่างๆที่จะตามมา และควรให้การดูแลรักษาอย่างถูกต้องเมื่อลูกน้อยมีอาการเจ็บป่วย
ไม่ว่าแม่คนไหน ก็ย่อมอยากให้ลูกน้อยที่เกิดมามีสุขภาพที่แข็งแรง สมบูรณ์ และมีร่างกายที่ปกติใช่ไหมคะ ดังนั้นคุณแม่ๆควรดูแลตัวเองอย่างดีที่สุด ตั้งแต่ช่วงเริ่มวางแผนที่จะมีลูกน้อยเลยค่ะ รวมถึงเมื่อลูกคลอดออกมาแล้ว คุณแม่ก็ควรหมั่นสังเกตว่าลูกมีความผิดปกติกับร่างกายใดๆหรือไม่ หากพบความผิดปกติ จะได้รู้เท่าทัน และดูแลรักษาอย่างถูกต้องค่ะ
ขอบคุณข้อมูล www.phyathai.com / www.healthcarethai.com
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ
หมอสุธีรา เผย! ลูกอ้วน จากนมแม่ อันตรายไหม?
อยากให้ลูกมีพัฒนาการดี พ่อแม่ต้องทำ 5 สิ่งนี้ให้กับลูก!
พ่อแม่เช็กด่วน! หลังจิตแพทย์เตือน! เลี้ยงลูกระวังเสี่ยง ภาวะเด็กถูกเร่ง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่