สุดสงสาร ลูกเป็น โรคตุ่มน้ำพอง … แม่โพสต์เตือน! สังเกตให้ดี ลูกมีตุ่มใสขึ้นตามตัว เป็นผื่นเล็กๆ อย่าชะล่าใจคิดว่าเป็นแค่ ผดร้อน พาไปหาหมอช้า อาการอาจหนักกว่าเดิม
แม่โพสต์เตือน! ลูกขึ้นผื่นเล็กๆ มีตุ่มใสๆ
เสี่ยงเป็น “โรคตุ่มน้ำพอง”
เข้าสู่หน้าร้อน..อากาศที่ร้อนอบอ้าว อาจทำให้เกิดผดผื่นร้อนขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กเล็ก เนื่องจากผิวของลูกยังระบายเหงื่อได้ไม่ดี จึงเกิดเป็น ผื่นผดตุ่มแดง ผดตุ่มใส หรือผดตุ่มหนอง ขึ้นมา พบบ่อยที่ใบหน้า หนังศีรษะ ข้อพับ และแม้ว่าผดร้อนจะเป็นภาวะทางผิวหนังที่ไม่อันตราย สามารถอาจหายได้เองเมื่ออากาศเย็นลง
Must read >> ผดร้อนในทารก อาการทางผิวหนังจากอากาศร้อน
Must read >> 7 ปัญหาผดผื่นในเด็กแรกเกิด ที่พ่อแม่ควรรู้!
แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรชะล่าใจ หากผดผื่นหรือตุ่มใสที่เกิดขึ้นบนตัวลูกน้อยมีลักษณะผิดปกติ ควรรีบพาไปพบคุณหมอ เพราะลูกอาจเสี่ยงเป็นหนึ่งในโรคผิวหนัง อย่าง โรคตุ่มน้ำพอง หรือ โรคเพมฟิกอยด์ เช่นเดียวกับหนูน้อยคนนี้!!..ซึ่งคุณแม่ได้ใช้ชื่อเฟซบุ๊ก Ammko Ko โพสต์ภาพพร้อมข้อความเตือนถึงอาการของ โรคตุ่มน้ำพอง ที่เกิดขึ้นกับลูกชายวัย 2.4 ขวบ ของตนเอง จากผดผื่นร้อน ที่ขึ้นบนตัวลูก กลายเป็นโรคตุ่มน้ำพอง โดยคุณแม่เล่าว่า..
โรคนี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น มันคือ โรคตุ่มน้ำพอง แบบที่ดาราเป็น 1 ใน 400,000 คน ที่จะได้เป็นดันมาเป็นที่ลูกเรา สภาพตอนแรกก็เป็นผื่นร้อนธรรมดา แล้วประมาณ 3-4 วันอาการก็แย่ลงตุ่มเริ่มขึ้นเรื่อยไป เป็นตุ่มน้ำหนอง ไปหาหมอตอนแรกก็มีแค่หน้าผากกับแขนนิดเดียว ใช้เวลาแค่ไม่กี่วัน ไปหาหมอวันเสาร์หมอบอกเป็นผื่นร้อน ให้ยามากินและยาทา
แล้วพอมาวันอังคารตกกลางคืน อาการเริ่มหนักขึ้น ตุ่มเริ่มขึ้นเยอะกว่าเดิม และมีหนอง วันพุธก็เลยพาลูกไปหาหมออีกรอบ หมอถึงกับตกใจ ว่าไม่กี่วันทำไมขึ้นเยอะขนาดนี้ หมอเลยทำเรื่องส่งตัวไป รพ.ในเครือของคลีนิคบัตรทอง
ไปถึง รพ.หมอตรวจมาสรุปผลที่ได้คือ เป็นโรคตุ่มน้ำพุพอง หรือ โรคของดารา วินัย ไกรบุตร หมอทำการ เจาะเอาน้ำเหลืองออกจากตุ่ม เจาะได้บางจุดเท่านั้นเพราะน้องอยู่ไม่เฉย เช่น หน้าท้อง หน้าอก เพราะน้องร้อง หน้าอกกับหน้าท้องเลยกระเพื่อมเจาะไม่ได้ เจาะเสร็จ หมอทำการเอาน้ำเกลือล้างและเอายาทาให้ สภาพที่เห็นลูกคือ ลูกตัวสั่นมาก เพราะลูกมีไข้ด้วย หมอเลยจัดยามาให้ พอดีกับหมอนัดอังคารนี้
ระวังด้วยนะคะ นำมาบอกต่อ เป็นอุทาหรณ์ให้กับทุกคน แถมมาเป็นในช่วงโควิดระบาด ฝากเตือนแม่ๆ ทุกคนนะคะ เห็นผื่นเล็กๆ ตุ่มใสๆ ตามตัวอย่าได้ชะล่าใจไปนะคะ อย่าคิดว่าเป็นแค่ ผดผื่นร้อน แล้วไม่พาไปหาหมอ อาการจะหนักกว่าเดิม
โดยคุณแม่ยังบอกกับทีมแม่ ABK อีกว่า เบื้องต้นคุณหมอทำการรักษาโรคให้ลูกชายตัวน้อยของตน โดยให้ยาฆ่าเชื้อ ส่วนเรื่องที่ลูกจะหายได้เมื่อไหร่นั้น หมอบอกว่าต้องใช้เวลานานพอสมควร เพราะจะเป็นแผลเป็น
อาการโรคตุ่มน้ำพอง
อย่างไรก็ตาม โรคผิวหนังมีหลายพันโรค เช่น โรคตุ่มน้ำพองใส หรือ โรคเพมฟิกอยด์ bullous pemphigoid ที่คุณเมฆ วินัย เป็นอยู่และมีมานานแล้ว ซึ่งโรคกลุ่มนี้บางชนิดพบในวัยเด็ก บางชนิดพบในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ พบได้ทั้งเพศหญิงและชาย อาการคือ มีตุ่มน้ำพองขนาดต่าง ๆ เกิดขึ้นที่ผิวหนัง บางรายอาจเกิดที่เยื่อบุต่าง ๆ ร่วมด้วย เมื่อตุ่มน้ำแตกจะเกิดแผล หรือรอยถลอก ทำให้มีอาการเจ็บ ถ้าเกิดตุ่มน้ำพองหรือแผลในปากจะทำให้เจ็บแสบ กลืนอาหารไม่สะดวก บางรายผิวหนังที่ถลอกหรือเป็นแผล อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียเป็นหนอง ถ้าเป็นรุนแรง เชื้อโรคอาจเข้าสู่กระแสเลือดทำให้มีไข้ หรืออาการอื่น ๆ ได้
อ่านต่อ >> “สาเหตุของการเป็นโรคตุ่มน้ำพอง
พร้อมวิธีดูแลรักษา” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
โรคตุ่มน้ำพอง เกิดจาก !?
ทั้งนี้โรคตุ่มน้ำพอง ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เกิดจากภูมิเพี้ยน เนื่องจากร่างกายจากที่เคยมีภูมิต้านทานคอยป้องกันเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม แต่บางครั้งภูมิเกิดเพี้ยน มาทำอันตรายร่างกายตัวเองจนเกิดเป็นโรคนี้ หรืออาจเกิดร่วมกับการมีปัจจัยทางพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อมอื่น เช่น เชื้อโรคหรือสารเคมีเป็นปัจจัยกระตุ้น
โรคเพมฟิกอยด์ หรือ โรคตุ่มน้ำพอง มีอาการอย่างไร?
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า ลักษณะเด่นของโรคนี้ ที่ต่างจากเพมฟิกัส คือ
- ตุ่มพองจะเต่งตึงแตกได้ยาก เนื่องจากการแยกตัวของผิวอยู่ในตำแหน่งที่ลึกกว่าเพมฟิกัส
- มักพบตุ่มน้ำพองมากในตำแหน่งท้องส่วนล่าง แขนขาด้านใน บริเวณข้อพับ และส่วนน้อยที่จะมีแผลในปาก
- สามารถพบโรคเพมฟิกอยด์ได้บ่อยในคนสูงอายุ ทั้งสองโรคนี้แยกกันได้จากอาการ และการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติม
คำแนะนำเมื่อสงสัยว่าป่วย
กรณีที่สงสัยว่าจะเป็นโรคตุ่มน้ำพองแนะนำให้รีบพบแพทย์ เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง จะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ … ทั้งนี้สาเหตุของโรค 90% เกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ วิธีป้องกันจึงไม่มี หากรู้ว่าเป็นก็รีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษา
วิธีรักษาโรคเพมฟิกอยด์ หรือ โรคตุ่มน้ำพอง
ยาที่ใช้รักษาหลัก คือ ยาทาสเตียรอยด์ จะใช้เป็นการรักษาหลักในผู้ป่วยที่มีตุ่มน้ำเฉพาะที่ กรณีที่ตุ่มน้ำกระจายทั่ว ร่างกาย การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน หรือร่วมกับยากดภูมิต้านทาน จะช่วยควบคุมโรคได้ โดยหากเปรียบเทียบกับโรคเพมฟิกัสแล้ว โรคเพมฟิกอยด์จะใช้ยากดภูมิในขนาดที่น้อยกว่า และตอบสนองต่อการรักษาได้ดีกว่าเพมฟิกัส ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ อาจจะมีตุ่มน้ำขึ้นเป็นๆหายๆ ในระยะเวลา 2-3 ปี และสามารถหายเป็นปกติได้ และในปัจจุบันมีการรักษาด้วยยาฉีดที่ออกฤทธิ์โดยตรงต่อภูมิต้านทานที่ทำงานผิดปกติ ซึ่งพบว่าสามารถควบคุมโรคได้ดี มีผลข้างเคียงน้อยกว่ายากดภูมิต้านทานชนิดรับประทาน
คำแนะนำในการปฏิบัติตัว การดูแลโรคเบื้องต้นด้วยตนเอง เมื่อเป็นโรคเพมฟิกอยด์
- ควรมาพบแพทย์สม่ำเสมอ ไม่ควรหยุดยา หรือปรับลดยาเอง
- ควรทำความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ บริเวณที่เป็นแผลให้ใช้น้ำเกลือทำความสะอาด ใช้แปรงขนอ่อนทำความสะอาดลิ้น และฟัน
- ไม่แกะเกาผื่น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
- หากมีแผลในปาก ควรงดอาหารรสจัด งดรับประทานอาหารแข็ง เช่น ถั่ว ของขบเคี้ยว เนื่องจากอาจกระตุ้นการหลุดลอกของเยื่อบุในช่องปาก
- โรคนี้ทำให้มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ จากการได้รับยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ติดเชื้อง่าย จึงควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อ ไม่ไปในสถานที่แออัด
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ
- ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดคับ เพื่อลดการถลอกที่ผิวหนัง
- หลีกเลี่ยงแสงแดด และความเครียด ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ
- การได้รับยากดภูมิต้านทาน อาจมีผลกระทบต่อโรคประจำตัวได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ควรได้รับการรักษาควบคู่กันไป นอกจากนี้หากมีอาการปวดท้องอุจจาระดำ อาเจียนเป็นเลือด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
ในช่วงที่โรคยังไม่สงบ ไม่ควรตั้งครรภ์ เนื่องจากยาที่ใช้ควบคุมโรคอาจมีผลต่อทารกในครรภ์
ซึ่งหากดูแลสุขภาพและแผลอย่างถูกวิธี จะช่วยให้โรคสงบได้เร็วขึ้น ทำให้เด็กหรือผู้ที่ป่วยเป็น โรคตุ่มน้ำพอง สามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป ไม่มีรอยโรคใหม่เกิดขึ้น
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :
- ทำอย่างไรเมื่อลูกน้อยมีผดผื่น ?
- ผดผื่นทารก มีวิธีป้องกันได้อย่างไร?
- เคล็ด(ไม่)ลับ ช่วยลด “ผดผื่น ผดร้อน” ให้ลูกน้อย
- เตือนคุณแม่ ติดไข้ออกผื่นจากลูก กินแต่ยาเขียว เสี่ยงปอดอักเสบ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข inderm.go.th , www.si.mahidol.ac.th , www.dst.or.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่