อาการมะเร็งเต้านม ในผู้หญิงถือเป็นสัญญาณอันตรายทางสุขภาพร้ายแรง เพราะเป็นมะเร็งที่ผู้หญิงป่วยกันมากอันดับหนึ่งและมีการเสียชีวิตสูงในผู้หญิงอีกด้วย และเพื่อให้ผู้หญิงทุกคน ไม่ว่าจะยังไม่มีลูก หรือมีลูกแล้ว ได้ ตระหนักและเข้าใจกันให้มากขึ้น ทีมงาน Amarin Baby & Kids จะพาไปทำความรู้จักกับมะเร็งชนิดนี้กันค่ะ
อาการมะเร็งเต้านม เป็นอย่างไร?
ในคุณแม่ และผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานควรต้องใส่ใจในการตรวจเช็ก อาการมะเร็งเต้านม กันให้มากขึ้นค่ะ เพราะถ้าหากพบในระยะเริ่มต้นก็มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ค่ะ และนี่คืออาการของมะเร็งเต้านม ที่เมื่อพบว่าตัวเองมีอาการผิดปกติตามนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีค่ะ
- มีก้อนหนาๆ ในเต้านมหรือใต้แขน
- บริเวณหัวนมบุ๋ม มีน้ำเหลือง หรือมีแผล
- เต้านมมีผื่น แดง ร้อน ผื่นคล้ายผิวส้ม
- มีอาการปวดบริเวณเต้านม
ที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินกันว่าคนที่จะป่วยเป็นมะเร็งเต้านมได้มากที่สุดก็คือผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน และยังไม่มีลูก แต่ ปัจจุบันพบว่าถึงจะแต่งงานมีลูกแล้วก็มีโอกาสป่วยเป็นมะเร็งที่เต้านมได้มากเช่นกัน ความเสี่ยงในผู้หญิงที่สามารถเจ็บป่วยด้วยมะเร็งชนิดนี้ มักจะมีลักษณะดังต่อไปนี้ นั่นคือ…
- อายุ
ผู้หญิงยิ่งอายุมากยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งพบว่า 4 ใน 5 ผู้หญิงที่ป่วยเป็นมะเร็งที่เต้านมมีอายุมากกว่า 50 ปี
- โสด แต่งงานไม่มีลูก
พบว่าอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งที่เต้านมในผู้หญิง คือ โสด หรือถ้าแต่งงานแล้วไม่มีลูก ก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งชนิดนี้มากกว่าคนที่มีลูกแล้วถึง 3 เท่าเลยค่ะ
- มีลูกคนแรกตอนอายุมากกว่า 34 ปี
ใครที่มีลูกตอนที่อายุมากกว่า 34 ปี ก็พบได้ว่ามีความเสี่ยงเป็นมะเร็งที่เต้านมมากกว่าคนที่มีลูกอายุน้อยกว่า 34 ปี ถึง 4 เท่า
- การกินอาหาร
พบว่าในคนที่กินอาหารไม่ดี ไม่ระวัง เช่น ชอบทานอาหารประเภทไขมันมาก มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งที่เต้านมได้มากถึง 2 เท่าเลยค่ะ
นอกจากนี้ความเครียดสะสม การไม่ออกกำลังกาย และมีน้ำหนักตัวมาก ปัจจัยเหล่านี้ทำให้คุณผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้มากถึง 2 เท่า น่ากลัวใช่ไหมคะ
Good to know…ในเด็กผู้หญิงที่มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ได้มากกว่าเพื่อนวัยเดียวกันที่ประจำเดือนมาช้ากว่ากว่า 12 ปี ถึง 1.3 เท่า
อ่านต่อ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานๆ ลดเสี่ยงมะเร็งเต้านม หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ให้ลูกกินนมแม่ ลดเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมจริงหรือเปล่า?
พอจะรู้กันคร่าวๆ ไปแล้วกับอาการมะเร็งเต้านม ทีนี้เราไปดูข้อดีของการให้ลูกกินนมแม่ที่ได้ประโยชน์หลายอย่างทั้งต่อตัวลูกเอง และก็ต่อตัวแม่โดยตรงค่ะ โดยเฉพาะแม่ที่คลอดลูก แล้วให้ลูกได้กินนมจากเต้าตัวเองตั้งแต่แรกคลอด
แพทย์หญิงพักตร์พิไล ทวีสิน มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย[1] พูดถึงข้อดีของการให้ลูกกินนมแม่นานถึง 3 ปี เพราะ สามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้
“การเลี้ยงดูลูกด้วยน้ำนมแม่ จะช่วยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านมลงถึง 20 % แม่จึงควรให้นมลูกให้นานที่สุดเท่าที่จะ เป็นไปได้ หากแม่ให้นมลูกได้ยาวนานรวมกันถึง 3 ปีหรือมากกว่า จะลดความเสี่ยงได้อย่างมาก”
นอกจากนี้คุณหมอยังได้แนะนำสำหรับผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งที่เต้านม คือ ในคนที่มีประวัติคนใน ครอบครัวเป็น หรือมีการตรวจทางพันธุกรรมแล้วพบว่ามียีนBRCA 1 และ 2 ที่ผิดปกติอย่างชัดเจน สามารถลดเสี่ยงก่อนเกิดมะเร็งเต้านม ดังนี้…
- ควรตรวจเต้านมให้บ่อยกว่าคนอื่น ทั้งคลำ ทั้งตรวจแมมโมแกรมบ่อยกว่าคนทั่วๆ ไป เพื่อที่ว่าหากมีก้อนเนื้อ ผิดปกติจะได้ตรวจพบตั้งแต่ยังมีขนาดเล็กมาก ๆ จะได้รักษาได้ทันท่วงทีก่อนที่จะลุกลามขยายใหญ่
- เริ่มรับประทานยา ทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) เพื่อป้องกันมะเร็งเต้านมก่อนที่จะตรวจพบก้อนเนื้อ ซึ่งสามารถจะลดความเสี่ยงลงได้ถึง 50 % แต่ก็มีความเสี่ยงจากข้อแทรกซ้อนของตัวยา เช่น ปัญหาเลือดอุดตันในหลอดเลือด หรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเนื้อเยื่อมดลูกชนิดหนึ่งมากขึ้น
- ในต่างประเทศ ผู้หญิงบางคนที่พบยีน BRCA 1 หรือ 2 ผิดปกติที่ชัดเจน อาจตัดเต้านมทั้งสองข้างทิ้ง[1]
ซึ่งทั้ง 3 ทางเลือกนี้จะต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับผู้ป่วยว่าจะสามารถใช้ทางเลือกใดที่เหมาะสมที่สุดค่ะ
บทความแนะนำ คลิก>> 7 ท่าโยคะ หลังลูกหย่านม ช่วยเต้านมแม่หายเหี่ยวกลับมาเต่งตึงอีกครั้ง
Good to know… รู้หรือไม่ว่า ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนช้าเกินอายุ 55 ปี พบว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการป่วยเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนที่หมดประจำเดือนเร็วกว่าถึง 1.2-1.5 เท่า
อ่านต่อ วิธีตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
3 เทคนิคอย่างง่าย ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง
พญ.ชัญวลี ศรีสุโข สูติ-นรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเขียนหนังสือ 100 เรื่องน่ารู้มะเร็งในผู้หญิง[2] ได้แนะนำให้ผู้หญิงทุกคนเริ่มตรวจหาความผิดปกติของเต้านมด้วยตัวเอง เมื่ออายุได้ 20 ปีขึ้นไป โดยให้ตรวจในช่วงที่ประจำเดือนหมดประมาณ 3-5 วัน ซึ่งขั้นตอนการตรวจเต้านมด้วยมือตัวเอง ดังนี้…
- ดู : ถอดเสื้อและชั้นในออก ยืนหน้ากระจกดูเต้านมว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เช่น บิดเบี้ยว มีก้อนนูนหรือไม่
- ยกแขนสองข้างเหนือศีรษะ แล้วดูว่าเต้านมมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่
- ใช้มือเท้าสะเอว เกร็งหน้าอก เพื่อให้ผนังทรวงอกกระชับขึ้น ให้เอียงตัวไปมาเพื่อให้เห็นเต้านมด้านข้างให้ทั่ว แล้วดูว่าเต้านมมีการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติหรือไม่
- โน้มตัว ก้มศีรษะไปด้านหน้า ประสานมือกดท้ายทอย เกร็งกล้ามเนื้อหน้าอก เพื่อดูว่าเต้านมมีอะไรผิดปกติหรือไม่
- บีบ : ให้บีบหัวนมดูว่ามีน้ำออกมาจากหัวนมหรือไม่
- คลำ : ยกแขนขวาขึ้น วางมือบริเวณท้ายทอย ใช้กึ่งกลางตอนบนของนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนางของมือซ้ายกดคลึงเต้า นมขวาให้ทั่วๆ (การกดคลึงให้ให้กดขึ้น หรือวนคล้ายเข็มนาฬิกาก็ได้) ให้คลำสลับกันทั้งสองเต้า
- การคลำสามารนอนคลำได้ โดยการนอนราบ หากตรวจเต้านมขวา ให้สอดหมอน หรือผ้าห่มไว้ใต้ไหล่ขวา มือ ขวาวางเหนือศีรษะ หรือวางไว้ใต้ท้ายทอย จะทำให้ตรวจได้ง่ายมากขึ้น จากนั้นใช้มือซ้ายกดคลึงเหมือนท่ายืน แล้วสลับข้างตรวจ
- คลำเต้านมแล้ว ก็ให้กดดูบริเวณรักแร้ด้วยว่ามีก้อนอะไรขึ้นมาผิดปกติหรือไม่[2]
สรุปได้ว่าในผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานมีลูก ควรหมั่นตรวจเต้านมของตัวเองทุกๆ เดือน และควรมีการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ส่วนในคุณแม่ที่มีลูกนอกนอกจากการตรวจสุขภาพแล้ว ควรให้ลูกได้กินนมจากเต้าตัวเองตั้งแต่แรกคลอด และเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้นานมากที่สุด เพราะทั้งหมดนี้สามารถช่วยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านมลงได้ค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
เต้านมส่วนเกินใต้รักแร้อันตรายหรือไม่?
มะเร็งเต้านม มหันตภัยร้ายใต้ทรวงอก ของผู้หญิง
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
1พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน. ให้นมแม่กับลูกได้ถึง 3 ปี ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมสูง. มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
2พญ.ชัญวลี ศรีสุโข สูติ-นรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ. มะเร็งเต้านม. หนังสือ 100 เรื่องน่ารู้มะเร็งในผู้หญิง หน้า 5, 19-20.