โรคไตในเด็ก น่ากลัวและใกล้ตัวกว่าที่คิด หลังแม่พบลูกแอบดื่มน้ำจากก๊อกกลางดึก
มิเชล เทียร์นี แม่ของ แซค หนูน้อยวัย 6 ขวบเล่าว่า ลูกชายเพิ่งตรวจพบว่าไตมีปัญหา โดย มิเชล เล่าว่า ตอนแรกเธอไม่รู้หรอกว่าเกิดความผิดปกติขึ้นกับลูก คิดมาตลอดว่าลูกชายคงจะหิวกระหายน้ำมากจริง ๆ และอีกอย่างการดื่มน้ำเยอะก็เป็นผลดีกับร่างกาย แต่พอมาสังเกตจริง ๆ กลับสงสัยว่า มันไม่แปลกไปหน่อยเหรอ ที่เด็กคนนึงจะดื่มน้ำเยอะขนาดนี้!
การกระทำของ แซค นั้นทำให้ มิเชล ต้องกลับมาคิดทบทวน เนื่องจากว่า เขาหิวกระหายน้ำตลอดเวลา เสมือนว่าร่างกายนั้นไม่สามารถขาดน้ำได้เลยแม้แต่นิดเดียว และมีอยู่คืนหนึ่ง แซค ตื่นขึ้นมากลางดึกและแอบไปดื่มน้ำจากก๊อกน้ำในห้องน้ำ นั่นเองที่ทำให้เธอตัดสินใจพาลูกไปพบแพทย์
เมื่อผลตรวจของลูกชายออกมา ก็พบว่า เธอตัดสินใจถูกแล้วที่รีบพาเขามาพบแพทย์ เพราะผลตรวจชี้ชัดแล้วว่า ไตของแซคนั้น ไม่เหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ เนื่องจาก ไตที่เขามีนั้นเทียบเท่ากับคนแก่ที่มีอายุ 80 ปี! หรือเรียกง่าย ๆ ว่า แซค นั้นกำลังทุกข์ทรมานด้วยโรคไตฝ่อนั่นเอง โดยแพทย์ได้แนะนำว่า พวกเขาจะต้องทำการปลูกถ่ายอวัยวะ ก่อนที่ แซค จะโตเป็นหนุ่ม มิเช่นนั้น เขาอาจจะเสียชีวิตได้
เป็นอีกหนึ่งโรคแปลกและน่ากลัวที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนเลยใช่ไหมละคะ เพราะส่วนใหญ่แล้วพวกเราจะคิดว่า คนที่จะป่วยเป็นโรคไตได้นั้น จะต้องเป็นคนที่สูงวัยแล้วจริง ๆ แต่ในความเป็นจริง โรคดังกล่าวนั้นสามารถเป็นได้ทุกเพศและทุกวัยเลยละค่ะ
อ่านต่อ สาเหตุของโรคได้ที่หน้าถัดไปค่ะ >>
เครดิต: The Mirror
สาเหตุของการเกิด โรคไต ในเด็ก
สาเหตุของโรคดังกล่าวในเด็กนั้น จะแตกต่างกันตามช่วงอายุ ดังนี้
- เด็กเล็ก สาเหตุมักจะเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างของไตและระบบทางเดินปัสสาวะตั้งแต่กำเนิด เช่น ภาวะอุดกั้นของระบบทางเดินปัสสาวะ ภาวะเนื้อไตผิดปกติแต่กำเนิดหรือโรคทางพันธุกรรม
- เด็กโต สาเหตุมักเกิดจาก ภาวะไตอักเสบ ซึ่งอาจเกิดภายหลังการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลำคอหรือผิวหนัง หรือเกิดจาก โรคเอสแอลอี (โรคภูมิต้านทำลายเนื้อเยื่อตนเอง)
โรคที่พบบ่อยในเด็กไทย ได้แก่
- การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจเกิดจากการขับถ่ายปัสสาวะไม่ถูกสุขลักษณะ หรือเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างของไตและระบบทางเดินปัสสาวะตั้งแต่กำเนิด
- กลุ่มอาการเนโฟรติก หรือ โรคไตรั่ว เด็กจะสูญเสียโปรตีนไข่ขาวไปทางปัสสาวะ ทำให้บวมไปทั้งตัว
- โรคไตอักเสบ อาจเกิดจากภายหลังการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลำคอหรือผิวหนัง หรือเกิดจาก โรคเอสแอลอี (โรคภูมิต้านทำลายเนื้อเยื่อตนเอง) ผู้ป่วยจะมีอาการบวม หรือปัสสาวะเป็นเลือดหรือสีน้ำล้างเนื้อ เป็นต้น
อ่านต่อ อาการบ่งชี้ว่าลูกอาจเป็นโรคนี้ คลิก!
วิธีสังเกตลูก
อาการผิดปกติดังต่อไปนี้ พ่อแม่จะต้องสังเกตให้ดี อาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคดังกล่าวได้ ยกตัวอย่างเช่น
- ตาหรือหน้าบวมหลังตื่นนอน บวมทั้งตัว
- มีความผิดปกติของปัสสาวะเช่น ปัสสาวะเป็นสีแดงหรือสีน้ำล้างเนื้อ
- ปัสสาวะมีฟองมาก ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด ออกกระปริบกระปรอย บางรายจะออกมากหรือน้อยกว่าปกติ
- มีอาการผิดปกติอื่น ๆ แบบเรื้อรังร่วมด้วย เช่น ดูซีด เหนื่อยง่าย หรือตัวเล็กกว่าปกติ เป็นต้น
ดูแลลูกอย่างไร ให้ห่างไกลโรค
- ช่วงตั้งครรภ์ มารดาควรมีการตรวจติดตามโดยสูติแพทย์อย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงสารเคมีหรือยาบางชนิดที่อาจเป็นอันตรายต่อทารก
- สังเกตอาการแสดงของโรคไตข้างต้น ถ้าพบความผิดปกติควรพาเด็กมาพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว เพื่อแก้ไขสาเหตุที่จะทำให้เกิดโรคไต
- ป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะโดยอาศัยพฤติกรรมการถ่ายปัสสาวะที่เหมาะสม เช่น ทำความสะอาดอวัยวะหลังขับถ่าย ไม่กลั้นปัสสาวะ ถ่ายปัสสาวะออกจนสุดโดยไม่เร่งรีบ ดื่มน้ำให้เพียงพอ (ในเด็กโตประมาณ 6-8 แก้วต่อวัน) เพื่อให้รู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะ
- กินผัก ผลไม้ และดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงภาวะท้องผูก เพื่อให้ขับถ่ายปัสสาวะได้สะดวก
- ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดอาจมีผลเสียต่อไตได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนนำมาใช้กับเด็ก
- ระวังอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน โดยหลีกเลี่ยงการกินอาหารจุบจิบ อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารรสหวานเกินไป และสนับสนุนให้เด็กออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับการวินิจฉัยโรคนั้น แพทย์จะทำการตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด ร่วมไปกับการตรวจเพาะเชื้อจากคอหอย หรือผิวหนัง เพื่อดูว่า ไตของลูกนั้นอักเสบหรือไม่นั่นเอง
อ่านต่อวิธีการรักษา คลิก>>
โรคไตในเด็กบางชนิด เช่น ไตอักเสบ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ สามารถรักษาให้หายได้และมีภาวะแทรกซ้อนน้อย ถ้าตรวจพบเร็วและรับการรักษาที่เหมาะสม ส่วนโรคในกลุ่มที่มีความผิดปกติของโครงสร้างไตและระบบทางเดินปัสสาวะตั้งแต่กำเนิด อาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้เร็ว ก็จะช่วยชะลอการเสื่อมของไตลงได้ สำหรับกรณีที่เด็กมีภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ก็จะได้รับการรักษาบำบัดทดแทนไตเช่นเดียวกันกับในผู้ใหญ่ ได้แก่
- การล้างไตผ่านทางช่องท้อง ด้วยตนเอง หรือ อาศัยเครื่องอัตโนมัติ ซึ่งเป็นทางเลือกที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเด็ก เพราะเครื่องจะควบคุมการเปลี่ยนถ่ายน้ำยาล้างไตแบบอัตโนมัติ ทำในเวลากลางคืนขณะที่เด็กนอนหลับ เด็กสามารถไปโรงเรียนได้ และเล่นกับเพื่อน ๆ ได้เหมือนปกติ
- การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ต้องเดินทางไปที่ศูนย์ไตเทียมทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ใช้เวลาฟอกเลือดครั้งละ 3-4 ชั่วโมง ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เด็กต้องขาดเรียน การผ่าตัดปลูกถ่ายไต
เห็นไหมคะ โรคดังกล่าวไม่ได้ไกลตัวลูกน้อยของเราแต่อย่างใดเลย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องสังเกตอาการของลูกให้ดีนะคะ หากพบว่ามีอะไรน่าสงสัยละก็ รีบพาลูกไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดค่ะ
เครดิต: คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่