ลูกตัวใหญ่ หลานตัวใหญ่ โบราณว่า น่ารักจ้ำม่ำ อบอุ่น ตุ้ยนุ้ยน่ารัก … บ้างก็บอกไม่ดีป่วยบ่อย สรุปคืออย่างไรแน่?
สังเกตกันไหมคะว่า คนโบราณชอบเด็กตัวใหญ่ อ้วนท้วน เนื้อแน่น ๆ ยิ่งใหญ่ยิ่งชอบ เพราะนั่นหมายถึงความสมบูรณ์และแข็งแรง … เพราะนั่นอาจหมายถึงโรคอ้วนในเด็กถามหาได้ … ไม่ต้องตกใจไปค่ะ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่ยังไม่ทราบ โรคอ้วนในเด็กมีนะคะ หลาย ๆ ท่านอาจจะยังไม่รู้จักกัน วันนี้ทีมงาน Amarin Baby and Kids ก็ได้นำเรื่องนี้มาฝากคุณพ่อคุณแม่ควบคู่ไปกับเรื่องบางเรื่องที่คนมีลูกตัวใหญ่เท่านั้นจะเข้าใจ หากพร้อมแล้ว เราไปอ่านบทความนี้พร้อม ๆ กันเลยค่ะ
ลูกตัวใหญ่ เกินกว่าเกณฑ์แปลว่าสุขภาพดีจริงหรือ?
ได้มีการรายงานจากการสำรวจการรับประทานอาหารของคนไทย ในระดับประเทศพบว่า เด็กและวัยรุ่นอายุ 3 – 18 ปีมีความชุกของภาวะน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์มากถึง 7.6 เปอร์เซ็นต์ และเป็นโรคอ้วนมากถึง 9.0 เปอร์เซ็นต์เลยละค่ะ
คำว่าโรคอ้วนในเด็กนั้น หมายถึง เด็กที่มีน้ำหนักตัว และปริมาณไขมันมากเกินกว่าปกติ เมื่อเทียบกับน้ำหนัก และความสูงมาตรฐานในช่วงอายุเดียวกัน หากน้ำหนักมากกว่าร้อยละ 20 จะถือว่าเป็นโรคอ้วน
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นโรคนี้ อ่านต่อ >>
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นโรคอ้วน?
สามารถทำการวินิจฉัยโดยการใช้องค์ประกอบดังนี้
– การตัดสินด้วยสายตา
– การคํานวณหาดัชนีความหนาในร่างกาย
– การวัดเส้นรอบวงเอวและสะโพก
– การวัดความหนาของไขมันใต้ผิวหนัง
– การชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง
สําหรับเด็กวัยเรียน พิจารณาจากการเปรียบเทียบน้ำหนัก และส่วนสูงตามมาตรฐานชี้วัดภาวะโภชนาการของเด็ก อายุ 5-18 ปี ของกรมอนามัย 2542 โดยใช้กราฟแสดงเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเพศชาย และเพศหญิง อายุ 5-18 ปี ซึ่งจะนําส่วนสูง และน้ำหนักมาเปรียบเทียบกับกราฟ และแปรผลภาวะโภชนาการ ดังนี้
การแปลผลค่าน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง
– อยู่เหนือเส้น+ 3 SD แสดงว่า อ้วน
– อยู่ระหว่างเส้น + 2 SD ถึง + 3 SD แสดงว่า เริ่มอ้วน
– อยู่ระหว่างเส้น+ 1.5 SD ถึง + 2 SD แสดงว่า ท้วม
– อยู่ระหว่างเส้น+ 1.5 SD ถึง – 1.5 SD แสดงว่า สมส่วน
อ่านต่อสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค >>
อะไรคือสาเหตุ?
สาเหตุที่พบโดยส่วนใหญ่นั้น เกิดจาก
1. อาหาร และพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม การรับประทานอาหารจุบจิบ รับประทานอาหารปริมาณมาก และบ่อยรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น ไก่ชุบแป้งทอด ไอศกรีม น้ำอัดลม รับประทานอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย
2. การดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมการรับประทานอาหารในครอบครัว เด็กจะรับประทานอาหารตามที่บิดามารดารับประทานและจัดหาให้ ในครอบครัวที่มีบิดามารดาอ้วน พบว่า บุตรจะอ้วนด้วย
3. การออกกําลังกาย ทราบหรือไม่คะว่า ในปัจจุบันนั้น เด็กใช้พลังงานน้อยลง เนื่องจากมีอุปกรณ์อํานวยความสะดวกมากขึ้น และบิดามารดาจะเป็นผู้ทําเองทั้งหมด หลังจากเด็กกลับจากโรงเรียนหรือช่วงวันหยุด เด็กมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่สำหรับการดูทีวี การเล่นเกมส์ หรือเล่นอินเตอร์เน็ต ซึ่งอย่างน้อยเวลาเหล่านี้มักไม่ต่ำกว่า 2-3 ชั่วโมง/วัน และช่วงเวลาที่อยู่กับสิ่งเหล่านี้มักจะมีการรับประทานอาหารพวกขนมของหวาน ไอศกรีม หรือ น้ำอัดลม ร่วมด้วย สุดท้าย เด็กจะเกิดความอ้วน เพราะไม่มีเวลาออกกําลังกายหรือมีเพียงเล็กน้อย
4. พันธุกรรม หากบิดามารดามีน้ำหนักมากลูกจะมีโอกาสอ้วนร้อยละ 80 ถ้าบิดามารดาคนใดคนหนึ่งอ้วน โอกาสที่ลูกอ้วนลดลงร้อยละ 40 ถ้าผอมทั้งบิดามารดาบุตรมีโอกาสอ้วนร้อยละ 14
5. สิ่งแวดล้อม ปัจจัยที่มีผลต่อน้ำหนักตัว เช่น น้ำหนักเด็กแรกเกิดที่มาก ระยะเวลาที่ใช้ในการเปื้อนอาหาร อายุที่เริ่มอาหารผสม เพศชายมีผลต่อการเพิ่มน้ำหนัก เป็นต้น
สิ่งที่พ่อแม่ต้องเจอ เมื่อลูกตัวใหญ่หรืออ้วนเกินกว่าเกณฑ์ คลิก!
สิ่งที่พ่อแม่ต้องเจอ เมื่อลูกตัวใหญ่หรืออ้วนเกินกว่าเกณฑ์
- หาเสื้อผ้าใส่ยาก สังเกตไหมคะว่า เสื้อผ้าเด็กตัวเล็ก ๆ นี่น่ารักนะคะ สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ต้องเจอเลยก็คือ หาเสื้อผ้าน่ารัก ๆ ในวัยของเขานั้นยากมากเลยละค่ะ เห็นเด็กบางคนตัวเล็ก ๆ ใส่เสื้อผ้าได้เยอะแยะ แต่เมื่อลูกตัวใหญ่ละก็ นอกจากจะหายากแล้ว ยังต้องกระโดดข้ามไซส์ไปใส่เสื้อผ้าของเด็กโตอีกด้วย
- คนชอบเข้าใจผิด จริง ๆ แล้วลูกดิฉันเพิ่งสามขวบค่ะ … คำตอบของคำถามที่ใครหลาย ๆ คนชอบเข้าใจผิดคิดว่าลูกห้าขวบ
- คาร์ซีทเล็กเกินไป ด้วยความรักของพ่อแม่ ก็อยากที่จะมอบสิ่งดี ๆ โดยมุ่งเน้นไปในเรื่องของความปลอดภัยให้กับลูก ยกตัวอย่างเช่น คาร์ซีท … แต่จะเลือกทั้งทีก็ต้องเลือกดี ๆ เพราะครอบครัวไหนที่มีลูกน้ำหนักตามเกณ์ก็ยังสามารถใช้ได้นานหน่อย แต่คนที่มีลูกตัวใหญ่นี่สิ จะซื้อเด็กของเด็กโตมาให้นั่งเลยก็กระไรอยู่
- ปวดเมื่อย ก็ลูกยังเล็กนี่คะ เลยชอบให้อุ้ม คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็ต้องอุ้มเป็นธรรมดา … แต่ลูกจ๋าจะรู้ไหม อายุลูกน่ะใช่ แต่น้ำหนักตัวนี่สิจ้ะ พ่อกับแม่ไม่ไหวจริง ๆ เกี่ยงกันแล้วเกี่ยงกันอีกเลยทีเดียว
- ซนเกินพิกัด จริงอยู่ที่การซนนั้นเป็นเรื่องปกติของเด็กทั่ว ๆ ไป แต่อย่าลืมนะคะว่า เด็กตัวเล็ก ๆ น่ะ เขายังไม่สูงพอที่จะเปิดประตูหรือหยิบของที่อยู่บนโต้ะหรือชั้นได้ … แต่การมีลูกตัวใหญ่นี่สิ พวกเขาสามารถหยิบจับได้ทุกอย่าง ทำเอาคนเป็นพ่อเป็นแม่นี่ต้องคอยจับตาดูทุกฝีก้าว เรียกว่า เผลอเป็นไม่ได้
- คนอื่นชอบหยิบแก้ม รู้ว่าลูกน่ารัก จ้ำม่ำน่าเอ็นดู แต่อย่าจับจะได้ไหมคะ นอกจากลูกจะไม่ชอบแล้ว คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็ไม่ชอบด้วย เพราะมือไปหยิบไปจับอะไรสกปรกมาแล้วไม่ล้างหรือเปล่าก็ไม่รู้
- แรงเยอะ เด็กตัวใหญ่นั้น แน่นอนค่ะว่าแรงเยอะ การเล่นกับเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน จึงเป็นปัญหาหนึ่งที่พ่อแม่มักเจอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูกเข้าโรงเรียน ไม่ใช่เพราะว่าลูกชอบเล่นแรง ๆ หรอกนะคะ เพียงแต่ว่าพวกเขายังไม่สามารถควบคุมหรือยั้งน้ำหนักได้เท่านั้นเอง
- กินไม่รู้จักอิ่ม หากลูกตัวใหญ่เกินกว่าเกณฑ์เพราะรับประทานเก่งละก็ คนเป็นพ่อเป็นแม่จะรู้เลยว่า ลูกนั้นกินเท่าไรก็ไม่อิ่ม เห็นอะไรก็อยากกินไปหมด คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็ต้องซื้อสิจ้ะ ก็สงสารลูกนี่นา
- ใช้เงินเยอะ สำหรับข้อนี้ นอกจากหมดไปกับเรื่องอาหารการกินแล้ว ยังหมดไปกับเสื้อผ้าและรองเท้าอีกด้วย เรียกได้ว่า ซื้อทีก็ใช้ได้ไม่นาน ใส่ไม่กี่ทีก็ต้องเปลี่ยนอีกแล้ว เรียกได้ว่า ต้องเตรียมเงินไว้สักก้อนเพื่อการนี้โดยเฉพาะเลยละค่ะ
- สุขภาพ ข้อนี้สำคัญมาก เพราะหากลูกตัวใหญ่แล้วมีสุขภาพแข็งแรง อันนั้นคือโชคดี แต่ถ้าหากไม่ใช่ละก็ โรคต่าง ๆ เหล่านี้อาจถามหาได้ ยกตัวอย่างเช่น โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ไม่สามารถเล่นกิจกรรมผาดโผน หรือเล่นกีฬากับเพื่อนได้อย่างสนุก ทำให้ความสัมพันธ์กับคนอื่นค่อย ๆ ถดถอย เป็นต้น
การมีลูกตัวใหญ่ ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ดีไปเสียหมด แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนควรคำนึงเป็นอย่างยิ่งเลยก็คือ สุขภาพ ของลูกเป็นสำคัญ ควรดูแลอาหารการกินให้ครบห้าหมู่ และหมั่นให้ลูกออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันนะคะ เท่านี้ ลูกของเราเป็นเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงได้แล้วละค่ะ
เครดิต: Scary Mommy
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่