พาลูกออกนอกบ้าน เสี่ยงติดเชื้อ …พ่อแม่มือใหม่หลายๆ บ้าน มักมีคำถามว่าสามารถ พาลูกออกนอกบ้านตอนกี่เดือน เพราะตามปกติ ไม่ควรพาเด็กอ่อนอายุต่ำกว่าหนึ่งเดือน ออกไปในที่ที่มีคนมาก เพื่อป้องกันการติดโรค เนื่องจากภูมิต้านทานของเด็กทารกแรกเกิดยังมีน้อย หากออกไปเจอเชื้อโรคนอกบ้าน หรือไปในที่ชุมชนแออัด หรือที่ที่มีคนป่วย อาจเสี่ยงทำให้ลูกน้อยติดเชื้อโรคเหล่านั้น และมีอาการเจ็บป่วยตามมาได้
แต่ก็ใช่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะต้องกลัวเรื่องการติดโรค จนถึงกับไม่พาเด็กออกจากบ้านเลย เมื่อลูกอายุเกิน 4 อาทิตย์แล้ว คุณควรให้ถูกอากาศข้างนอกบ้าง โดยการพาออกเดินเล่นนอกบ้านวันละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 15 นาที ห้องเด็กควรเปิดหน้าต่างให้ลมเข้าออกสะดวก แต่ก็ยังไม่ควรให้ทารกอายุเท่านี้ถูกแดดโดยตรง เพราะผิวหนังของทารกยังไม่สามารถทนต่อแสง UV ได้เหมือนกับผู้ใหญ่
แม่แชร์ประสบการณ์เตือน! ลูกวัยไม่ถึงเดือน พาลูกออกนอกบ้าน เสี่ยงติดเชื้อ
ทั้งนี้สำหรับลูกน้อยที่เพิ่งเกิดยังอายุไม่ถึงหนึ่งเดือนนั้น เด็กจะไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าการนอนหลับและกินนม แต่ในสมัยนี้ก็อาจพบเห็นการพาลูกน้อยวัยแบะเบาะออกมาเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ แม้จะมีความเชื่อและความเห็นที่ว่ายังไม่ควรพาลูกออกจากนอกบ้านเร็วเกินไปในวัยที่ไม่เหมาะสม นั่นก็เพราะทารกแรกเกิดที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนสูง เนื่องจากช่วงแรกเกิดของทารกเป็นช่วงที่ร่างกาย อวัยวะของลูกยังมีพัฒนาการที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้อาจเกิดความผิดปกติต่าง ๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพาลูกออกจากบ้านในวัยที่อายุต่ำกว่าหนึ่งเดือน ไปในสถานที่ที่มีคนมาก จะมีโอกาสทำให้เด็กอ่อนติดเชื้อได้ง่าย
เช่นเดียวกับคุณแม่ มาริษา ดาว ที่ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก แชร์ประสบการณ์ของลูกสาวที่ต้องป่วย เพราะพาลูกออกไปเที่ยวนอกบ้าน
โดยคุณแม่เล่าว่า…
ขอแชร์ประสบการณ์ของลูกสาวหน่อยค่ะ
[ตอนนี้น้องหายแล้วนะคะแข็งแรงขี้เล่นมากค่ะ โพสต์นี้เป็นประสบการณ์ตอนน้อง 1 เดือน ค่ะ]
อยากฝากเตือนแม่ๆ ทั้งหลายที่พึ่งคลอดลูกได้ยังไม่ถึงเดือนแล้วอยากพาลูกออกไปข้างนอกนะคะ
เรายังโทษตัวเองอยู่ทุกวันนี้เลยค่ะ ว่าเป็นความผิดเราเอง คือเรื่องมีอยู่ว่า เราเครียดจากการอยู่แต่ในห้องเลี้ยงลูกค่ะ เลยขอแฟนว่าอยากออกไปข้างนอกโดยพาลูกไปด้วยตอนนั้นน้องอายุได้เพียง 20 วันค่ะ เราพาไปห้างเลย แต่พอกลับจากห้างวันนั้นก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นค่ะจนวันที่น้องอายุครบ 1 เดือน คือเลยมา 10 วัน น้องมีไข้ขึ้นสูงประมาน 38 องศาค่ะ เช็ดตัวทั้งวันแล้วยังไงก็ไม่ลงเลยตัดสินใจพาน้องไปหาหมอค่ะ
⇒ บทความแนะนำควรอ่าน : ไวรัส RSV วายร้ายต่อสุขภาพของเด็กเล็ก!!
⇒ บทความแนะนำควรอ่าน : ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A โรคระบาดที่พ่อแม่ควรรู้
อ่านต่อ >> “แม่แชร์ประสบการณ์เตือน! พาลูกวัยไม่ถึงเดือนออกนอกบ้านเสี่ยงติดเชื้อ” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
หมอเลยให้แอดมิดดูอาการก่อน เราเองก็คิดในแง่ดีว่าลูกคงเป็นแค่ไข้ธรรมดาคงไม่เป็นไรมากหรอกอยู่วันสองวันก็คงได้กลับบ้าน แต่ผลไม่เปนอย่างนั้นค่ะปรากฏว่าวันที่ 2 น้องมีผื่นขึ้นเต็มหน้าเต็มตัวไปหมดหมอจึงขอเจาะเลือดไปตรวจเพื่อดูว่าน้องเป็นไข้หวัดใหญ่หรือ rsv รึป่าวผลออกมาว่าน้องไม่ได้เป็นทั้งไข้หวัดใหญ่และ rsv หมอจึงขอดูอาการไปก่อน
พอวันที่ 3 ผื่นน้องขึ้นเยอะมากจนคุณหมอต้องขอปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง หมอจึงสงสัยว่าลูกเรามีโอกาสเป็นได้3โรค
คือ 1. มือ เท้า ปาก 2. เริม 3. อีสุกอีใสแต่ทั้งหมดนี้ต้องรอผลตรวจประมาน7วัน ซึงลูกเราก็ยังมีไข้ขึ้นสูงอยู่หมอจึงขอเจาะน้ำไขสันหลังน้องไปตรวจด้วยปรากฏว่าน้องมีไข้สมองอักเสบร่วมด้วยซึ่งอันตรายถึงชีวิตน้องมาก หมอจึงเริ่มให้ยาเพื่อครอบคลุมโรคที่หมอคาดว่าจะเป็นไว้ก่อน หมอจึงถามเราว่าน้องไปติดใครมา ได้พาน้องออกไปไหนรึป่าว
ตอนนั้นเราไม่คิดว่าเป็นเพราะเราพาน้องไปห้างในครั้งนั้นเพราะมันก็เลยมาตั้ง 10 วันแล้ว เลยบอกหมอไป หมอจึงตอบเราว่าระยะการเพาะเชื้อของแต่ละโรคนั้นไม่เท่ากันบ้างก็ 3 วันถ้าสัมผัสโดยตรง บ้างก็ 7 วัน 10 วัน แล้วแต่เชื้อ
อ่านต่อ >> “แม่แชร์ประสบการณ์เตือน! พาลูกวัยไม่ถึงเดือนออกนอกบ้านเสี่ยงติดเชื้อ” คลิกหน้า 3
ตอนนั้นเราสงสารลูกมากร้องให้ทุกวันที่ไปหาเลยค่ะ ได้แต่โทษตัวเองว่าเป็นเพราะเราเองแท้ๆ น้องโดนเจาะเลือดทั้งมือทั้งเท้า เราเห็นแล้วอยากเป็นแทนลูกเลยค่ะ
น้องโดนให้ยาอยู่ 14 วันจนยาครบโดสน้องจึงอาการดีขึ้นไม่มีไข้และผื่นยุบลง แต่ผลตรวจกลับออกมาว่าน้องไม่ได้เป็นทั้ง3โรคที่หมอสงสัยเลยค่ะ และจนน้องออกจาโรงพยาบาลเราก็ยังไม่รู้เลยว่าลูกเราเป็นอะไรแน่
เลยอยากฝากเรื่องนี้ไว้เป็นอุทาหรณ์สำหรับแม่ๆเลยที่คิดจะพาน้องออกไปข้างนอกนะค่ะใครป่วยบ้างเราก็ไม่รู้ พยายามหลีกเลี่ยงหรือรอให้ลูกแข็งแรงก่อนดีกว่าค่ะ
สำหรับประสบการณ์ที่คุณแม่มาริษา ดาว ได้เล่าให้ฟังมานี้ ซึ่งคุณแม่ได้บอกว่าปัจจุบันน้องอายุได้ 4 เดือนแล้ว และหายดีแล้ว แม้หมอจะยังหาสาเหตุไม่พบก็ตาม
แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ไม่ควรกลัวเรื่องการติดโรค จนถึงกับไม่พาเด็กออกจากบ้านเลย เพราะเมื่อแรกเกิด หลังหมออนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว อย่างไรก็ตามคุณพ่อคุณก็จำเป็นต้องพาลูกน้อยออกนอกบ้าน เพื่อไปโรงพยาบาลให้คุณหมอตรวจอีกครั้ง แต่หากคุณแม่บางคนพาลูกที่ยังเล็กมากๆไปเดินห้างหรือไปเที่ยวทะเลตามต่างจังหวัด ซึ่งก็สามารถทำได้ แต่จริงๆ แล้วควรพาลูกเที่ยวตอนอายุเท่าไร และต้องคอยระวังเรื่องใดบ้าง ไปดูกันค่ะ
อ่านต่อ >> “สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนพาลูกเล็กออกเที่ยวนอกบ้าน” คลิกหน้า 4
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
พาลูกเล็กไปเที่ยวตามที่ต่างๆ มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงดังนี้
* การติดเชื้อ
การพาลูกเล็กๆไปตามสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันมากๆ ที่แออัด หรือห้องแอร์ที่อากาศไม่ถ่ายเท ไม่มีแสงแดด ไม่มีระบบกำจัดเชื้อโรคหรือฟอกอากาศ ทำให้มีโอกาสสูงที่จะได้รับเชื้อโรค โดยเฉพาะในเด็กเล็กซึ่งระบบภูมิคุ้มกันยังไม่ดี อาจได้รับเชื้อโรคที่ติดต่อทางละอองฝอยจากการไอหรือจาม ซึ่งล่องลอยอยู่ในอากาศและมองไม่เห็น ทำให้ป้องกันได้ยาก โดยเฉพาะการพาลูกไปเล่นเครื่องเล่นหรือบ้านบอลซึ่งเด็กๆชื่นชอบ เพราะมักมีเชื้อโรคซึ่งเด็กที่เป็นหวัดเอาน้ำมูกหรือน้ำลายไปป้ายไว้ พอลูกไปเล่นก็มักเอามือหรือของเล่นเข้าปากจนติดเชื้อโรคนั้นไปด้วย
นอกจากนี้ เด็กเล็กยังมีความน่ารักน่าเอ็นดู ใครเห็นก็อดไม่ได้ที่จะเข้ามาแอบหอมแก้ม จับหน้า จับมือลูก แล้วลูกก็เอามือตัวเองเข้าปากดูด บางครั้งก็จู่โจมด้วยความรวดเร็วจนคุณแม่หลบหรือห้ามไม่ทัน ลูกจึงได้รับเชื้อจากคนแปลกหน้าจนป่วยด้วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งทำให้เป็นหวัด ระบบทางเดินอาหาร ซึ่งทำให้ท้องร่วงและอาเจียน หรือบางครั้งอาจเป็นโรคที่ร้ายแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเริมที่ปาก
ดังนั้น หากจำเป็นต้องพาลูกไปห้างเพราะไม่มีคนดูแลอยู่ที่บ้านและคุณแม่ต้องไปจับจ่ายซื้อของ ก็ขอให้เลือกช่วงที่คนไม่พลุกพล่าน ไม่ให้ใครจับหรืออุ้มลูก และถ้าให้ลูกเล่นเครื่องเล่น หลังเล่นเสร็จให้รีบล้างมือทันที หรือควรพกแอลกอฮอล์เจลติดตัวไว้ใช้ถูมือในกรณีที่หาที่ล้างมือไม่ได้
* วัตถุประสงค์ของการไปสถานที่ดังกล่าว
เช่น ถ้าคุณแม่ไปซื้อของ ไปกินข้าวกับเพื่อน หรือแอบสวีทดูหนังกับสามี ก็ไม่ต้องพาลูกไปด้วย เพราะเขาไม่ได้ประโยชน์จากการไปดังกล่าว แถมยังเพิ่มความเสี่ยงในการรับเชื้อโรคอีกด้วย อาจฝากคนที่บ้านหรือเพื่อนบ้านที่ไว้วางใจช่วยดูแลลูกแทนชั่วคราว (แล้ววันหน้าก็ค่อยดูแลลูกของเพื่อนบ้านเป็นการตอบแทน)
คุณแม่อาจคิดว่าน่าจะพาลูกเข้าห้างตากแอร์เพราะอากาศข้างนอกร้อนเหลือเกินหรือฝนตก พอเข้าห้างก็มีทั้งที่กินอาหาร ที่จอดรถสะดวกสบาย ที่ให้เด็กเล่น ซึ่งจริงๆแล้วก็พาลูกไปได้บ้างค่ะ แต่อย่าลืมว่าการพาเขาไปวิ่งเล่นหรือขี่จักรยานตามสวนสาธารณะในวันที่อากาศดีๆ ไปเที่ยวสวนสัตว์ ชมพิพิธภัณฑ์ หรือห้องสมุด จะช่วยเปิดโลกทัศน์ให้ลูกได้มากขึ้น หากพาเข้าห้างอย่างเดียว เขาจะขาดโอกาสในการเรียนรู้สิ่งดีๆอีกมากมาย
ส่วนการพาไปทะเลหรือการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์และรู้จักธรรมชาติก็เป็นเรื่องที่ดีมิใช่น้อย แต่บางครั้งลูกอาจยังเล็กเกินกว่าที่จะได้เรียนรู้ในสิ่งที่พ่อแม่อยากให้เขาได้รับ และการเดินทางไกลอาจทำให้ทั้งคุณและลูกเหน็ดเหนื่อยโดยไม่จำเป็น เพราะหากลูกเดินไม่ไหว คุณก็ต้องอุ้มหรือกระเตงทั้งข้าวของทั้งรถเข็นพะรุงพะรังไปหมด จนอาจทำให้เที่ยวไม่สนุกเพราะเหนื่อยเกินไป สู้รอให้ลูกโตอีกหน่อย รู้เรื่องมากขึ้นอีกนิด เขาก็จะได้ประโยชน์จากการเที่ยวและอาจคุ้มค่ากับการเดินทางไกลมากขึ้น (ไม่ต้องรู้สึกผิดหรอกนะคะ หากไม่ได้พาลูกเล็กไปเที่ยว)
แต่ถ้าเป็นการไปเที่ยวเพราะคุณได้ลาพักร้อนหลังจากทำงานเหน็ดเหนื่อยมาทั้งปี และวางแผนไปเที่ยวทั้งครอบครัวให้สุขสันต์กันเต็มที่ (ถ้าไปเฉพาะผู้ใหญ่โดยไม่เอาลูกไปด้วยก็กลัวว่าจะคิดถึงลูกจนเที่ยวไม่สนุก) ก็ลุยได้เลยค่ะ เอาไปกันทั้งบ้านได้เลย
* การเดินทาง
หากเป็นการเดินทางไกลโดยรถยนต์ ต้องหยุดพักทุก 2 ชั่วโมง เพราะลูกอาจเหนื่อยเกินไป และต้องให้ลูกนั่งในคาร์ซีทตรงเบาะหลัง เพราะเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุดเวลาเกิดอุบัติเหตุ
หากเดินทางโดยเครื่องบินระยะไกล ควรรอให้ลูกอายุ 2 เดือนขึ้นไป จึงแข็งแรงพอที่จะทนความเครียดจากการบินได้ และเลือกเวลาเดินทางที่เป็นเวลานอนของลูก จะได้มีปัญหาในการปรับตัวเรื่องเวลาน้อยที่สุด แต่ไม่แนะนำให้เดินทางทางเรือ เพราะภัยพิบัติทางน้ำและทะเลเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ ทั้งยังมักเป็นภัยธรรมชาติที่รุนแรงและช่วยเหลือได้ลำบาก
* การเตรียมตัว
นอกจากการเตรียมเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ ของเล่น อาหาร และของว่างสำหรับลูกและทุกคน โดยแบ่งใส่กระเป๋าใบใหญ่และกระเป๋าถือซึ่งหยิบของที่ต้องการออกมาได้โดยง่ายแล้ว คุณแม่ต้องอย่าลืมเตรียมยาเผื่อไว้ในกรณีฉุกเฉินด้วย
อ่านต่อ บทความน่าสนใจ คลิก!
- พาลูกน้อยไปที่ชุมชนเมื่อใด ระวังภัยโรคติดเชื้อไมโคพลาสมา
- IPD โรคติดเชื้อ สาเหตุการตายอันดับ 1 ในเด็ก
- 6 โรคฮิต ที่เบบี๋มักเป็น คุณแม่มือใหม่ต้องรู้ไว้!
ขอบคุณเรื่องราวประสบการณ์จริงและภาพจาก คุณแม่ มาริษา ดาว
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids