โรคไหลตายในทารก SIDS สาเหตุ วิธีป้องกันลูกหลับไม่ตื่น - Amarin Baby & Kids
โรคไหลตายในทารก SIDS

โรคไหลตายในทารก SIDS สาเหตุสำคัญ พร้อมวิธีป้องกันทารกหลับไม่ตื่น

account_circle
event
โรคไหลตายในทารก SIDS
โรคไหลตายในทารก SIDS

หัวอกพ่อแม่ใจสลาย อุทาหรณ์ทารก 45 วันเสียชีวิต ต้องป้องกันก่อนจะสาย มาทำความรู้จัก โรคไหลตายในทารก SIDS สาเหตุสำคัญและวิธีป้องกัน

โรคไหลตายในทารก SIDS

เรื่องร้ายที่ไม่มีใครอยากให้เกิด เมื่อผู้เป็นพ่อต้องตื่นขึ้นมาพบว่า ลูกน้อยทารกวัยเพียง 45 วัน ตัวเขียวคล้ำ หมดลมหายใจ

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในจังหวัดกาฬสินธุ์ ทารกน้อยเพศชายวัยเดือนเศษนอนเสียชีวิตภายในห้องนอน ทางครอบครัวจึงแจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยร.ต.อ. สมศักดิ์ ลีกา พนักงานสอบสวน สภ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ได้รายงานผู้บังคับบัญชาทราบ ก่อนออกตรวจที่เกิดเหตุ และชันสูตรศพพร้อมแพทย์เวรโรงพยาบาลยางตลาด และอาสาสมาคมกู้ภัยสามัคคีกาฬสินธุ์

ภายในบ้านเต็มไปด้วยบรรยากาศเศร้าสลด ผู้เป็นพ่อวัย 19 ปี เล่าว่า ปกติตนกับภรรยาและลูกชาย จะนอนอยู่ห้องชั้นล่าง 3 คน แม่กับลูกจะนอนติดกันเพื่อสะดวกในการให้นม ในทุก ๆ เช้า ตนจะรีบตื่นขึ้นมาเพื่อดูแลลูก เล่นกับลูก แต่เช้าวันนี้พอตื่นขึ้นมากลับพบว่าลูกชายวัยเดือนครึ่งที่นอนหงายอยู่บนที่นอน นอนหลับตานิ่ง ไม่ขยับเขยื้อน จับลำตัวดูก็พบว่าผิวหนังเย็นเฉียบ ตัวเขียวคล้ำ พยายามเรียกลูกให้ตื่น แต่ก็ไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบ จึงเข้าใจว่าเสียชีวิตแล้ว ก่อนโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาตรวจสอบที่เกิดเหตุ

แพทย์ที่มาชันสูตร สันนิษฐานว่า สาเหตุที่ทารกวัย 45 วันเสียชีวิต เกิดจากขาดอากาศหายใจเป็นเวลานาน โดยเสียชีวิตมาประมาณ 3 ชั่วโมงแล้ว เพราะนอนหงายบนฟูกที่นุ่ม ผู้เป็นแม่ในวัย 23 ปี อาจจะหนุนหัวลูกสูง โดยเอาหมอนให้ลูกหนุนหัวนอน ทำให้ช่วงลำคอเด็กที่สั้นเกิดอาการพับทับหลอดลม หายใจไม่สะดวก เมื่อนอนอยู่ในท่านอนนั้นเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กนอนหลับด้วย ทำให้ลมหายใจติดขัด เป็นสาเหตุทำให้ขาดอากาศหายใจ

“อยากจะฝากเตือนพ่อแม่มือใหม่ ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น ยังไม่มีประสบการณ์ในการดูแลลูก โดยเฉพาะในเวลานอน ต้องหมั่นลุกขึ้นมาดูลูกเป็นระยะ ๆ เพื่อความปลอดภัย ไม่ถูกผ้าห่ม หรือหมอนปกปิดหรือทับใบหน้า ที่จะทำให้ขาดอากาศหายใจ หรือให้นอนท่านอนหัวสูง ขอให้เหตุการณ์นี้เป็นอุทาหรณ์”

ต้องขอแสดงความเสียใจกับพ่อแม่และครอบครัว ที่ต้องสูญเสียทารกน้อยไปด้วยนะคะ สำหรับการเสียชีวิตในลักษณะนี้ เรียกกันว่า โรคไหลตายในทารก เรามาทำความรู้จักถึงภัยเงียบนี้ เพื่อป้องกันการสูญเสียในอนาคตกันค่ะ

SIDS หรือโรคไหลตายในทารก ภัยเงียบที่คร่าชีวิตทารก

Sudden Infant Death Syndrome (SIDS) หรือ cot death หรือ crib death ในชื่อไทยเรียกกันว่า โรคไหลตายในทารก ภาวะที่ทารกเสียชีวิตขณะนอนหลับ หรืออาการหลับไม่ตื่นในทารก อาการนี้มักเกี่ยวข้องกับสิ่งที่มากีดขวางการหายใจของทารกขณะนอนหลับ

อาจารย์ ดร.คณิสส์ เสงี่ยมสุนทร ภาควิชาชีวเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า โรคไหลตายในทารกเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตทารกมากกว่า 3,000 คนต่อปี สามารถเกิดขึ้นในทารกที่มีสุขภาพแข็งแรง อาจเกิดขึ้นขณะพ่อแม่นำลูกเข้านอน แต่เมื่อตื่นขึ้นมาพบว่าปลุกลูกไม่ตื่นอีกเลย สามารถเกิดได้กับทารกทุกคนและทุกช่วงเวลา โดยทั่วไปแล้วจะเกิดกับทารกที่อายุตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 1 ขวบ ช่วงเวลาที่เกิดคือเที่ยงถึงสามโมงเช้าของวันใหม่

โรคนี้จะเกิดในทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน ร้อยละ 90 ทารกจะไม่ปรากฏอาการใดนำมาก่อน เช่น ไม่ร้องงอแงหรือเคลื่อนไหวก่อนเสียชีวิต ในประเทศที่กำลังพัฒนาอัตราการเกิดโรคไหลตายในเด็กจะเพิ่มขึ้น 10 เท่า พบทารกเสียชีวิต 10 คน ในทารกเกิดใหม่ 1000 คน

สาเหตุของโรคไหลตายในทารก

สาเหตุของโรคไหลตายในทารกอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น

  • พัฒนาการที่ผิดปกติของทารก
  • ความเครียดจากปัจจัยภายในและภายนอกร่างกาย เช่น การจัดท่าให้ทารกนอนคว่ำหรือนอนตะแคง อยู่ในสภาพอากาศร้อน หรืออุณหภูมิในห้องนอนที่ร้อนเกิน ได้รับควันบุหรี่ ขาดอากาศหายใจการกดทับขณะนอนเตียงเดียวกับพ่อแม่
  • มีวัตถุนิ่ม ๆ หมอน หรือผ้าไปอุดทางเดินหายใจ โดยเฉพาะขณะที่ทารกนอนหลับ เนื่องจากทารกยังไม่สามารถควบคุมการคลื่นไหวของศีรษะได้ดี
  • ภาวะทารกคลอดก่อนกำหนดหรือน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย
  • เกิดภาวะการติดเชื้อ โรคทางพันธุกรรมและโรคหัวใจ

วิธีป้องกันโรคไหลตายในทารก

ข้อแนะนำการนอนอย่างปลอดภัยสำหรับเด็ก โดยเพจ Infectious ง่ายนิดเดียว ได้บอกถึงวิธีป้องกันโรคไหลตายในทารก หรือ SIDS ไว้ว่า

  1. ทารกจัดให้นอนในท่านอนหงายเท่านั้น
  2. เด็กอายุ 2 ปีแรก ควรจัดให้นอนเตียงเด็ก เตียงแยก (crib) หากไม่ใช้เตียงแนะนำใช้เบาะเด็กที่แยกนอนจากเบาะที่นอนผู้ใหญ่ได้ ป้องกัน นอนทับเด็ก
  3. เบาะที่นอนที่เหมาะสมต้องมีความแข็ง ไม่หนาและอ่อนนุ่มเกินไป เพราะเมื่อเด็กพลิกคว่ำแล้วอาจกดทับการหายใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กอายุ 4-6 เดือนซึ่งคว่ำเองได้แต่หงายไม่ได้
  4. เลี่ยงการใช้หมอนในเด็กเล็ก ถ้าใช้หมอนต้องไม่อ่อนนุ่มและใบใหญ่เกินไป ไม่สูงเพราะคอพับขาดหายใจได้ หรือ อาจกดทับใบหน้า จมูกได้
  5. การจัดวางต้องไม่มีช่องว่างระหว่างเบาะกับกำแพงมากกว่า 6 เซนติเมตร ซึ่งอาจเกิดการติดค้างของศีรษะได้
  6. อย่าวางผ้าห่ม กองผ้า ตุ๊กตา เยอะจนแน่น ใกล้ศีรษะเด็ก ซึ่งอาจกดทับใบหน้า จมูกทำให้ขาดอากาศหายใจได้ หรือชิ้นส่วนของเล่นต้องประกอบแน่นไม่หลุดง่าย
  7. หลีกเลี่ยงการใช้เปลตะกร้าที่ทำจากวัสดุถักสาน เนื่องจากเสี่ยงทำให้ทารกหายใจไม่ออกและอาจนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างฉับพลัน
  8. การใช้เตียงเด็กมีข้อกำหนดความปลอดภัยที่สำคัญ ดังนี้
  • เตียงเด็กต้องมีราวกันตกที่มีซี่ราวห่างกันไม่เกิน 6 cm.
  • ราวกันตกต้องมีตัวยึดที่ดี เด็กไม่สามารถเหนี่ยวรั้งให้เคลื่อนไหวได้เอง
  • เบาะที่นอนต้องพอดีกับเตียง และไม่มีช่องว่างระหว่างเบาะกับราวกันตก
  • มุมเสาทั้ง 4 มุมต้องเรียบ มีส่วนนูนได้ไม่เกิน 1.5 mm
  • ผนังเตียงด้านศีรษะและเท้าต้องไม่มีการตัด ตกแต่งให้เกิดร่อง รู หากเป็นซี่ราวต้องมีระยะห่างไม่เกิน 6 cm
  • เมื่อเด็กอายุ 2 ปีหรือสูงเกินกว่า 89 เซนติเมตรควรงดใช้เตียงเด็ก เพราะมีความเสี่ยงต่อการปีนราวกันตกและตกจากที่สูงได้
  • สำหรับเตียงสองชั้น ไม่ให้เด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี นอนชั้นบน เพราะเสี่ยงต่อการตกได้ง่าย ช่องห่างของราวกันตกต้องไม่กว้างกว่า 9 เซนติเมตร

อ้างอิงข้อมูล : pharmacy.mahidol.ac.th, amarintv.com และ facebook.com/Infectious1234

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

RSV อาการ เป็นแบบไหน ไวรัสอาร์เอสวี เกิดจากอะไร หน้าฝนทีไรมาทุกที

ระวัง ไข้หัดแมว ระบาด! อีกหนึ่งภัยร้าย..บ้านไหนเลี้ยงแมวควรรู้

วิธีป้อนขวด ให้นมลูกอย่างถูกวิธี ป้องกันลูกสำลัก ลดความเสี่ยงลูกฟันผุ

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up