ท้องผูก หากเกิดขึ้นกับลูกเล็กๆ บอกเลยว่าน่าสงสารมาก เพราะเขาจะไม่สบายตัวแน่นอึดอัดท้อง อยากถ่ายก็ถ่ายไม่ออก ร้องแงตลอดเวลา นอนน้อย ตื่นบ่อย ทีนี้ก็ต้องเช็กดูว่าลูกมีอาการท้องผูกมาจากสาเหตุอะไร เพราะถ้ารู้เร็วจะได้แก้ไขได้ถูกจุด ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีเรื่องจากคุณแม่ท่านหนึ่งที่ลูกไม่ถ่ายตอน 4 เดือน เหตุเพราะกลัวลูกกินนมไม่อิ่ม ก็เลยป้อน…
ท้องผูก ถ่ายไม่ออก เพราะแม่ป้อนกล้วยบด!
อย่างที่รู้ๆ กันว่าในเด็กเล็กๆ วัยทารกถ้ามีอาการ ท้องผูก ถ่ายไม่ออก นี่ทรมานยิ่งกว่าผู้ใหญ่ซะอีก เพราะเขายังพูดบอกเรา ไม่ได้ว่า “ปวดอึ แต่อึไม่ออกนะแม่” แล้วถ้าลูกเพิ่งคลอดมาได้ 3-4 เดือน ถ่ายไม่ออกจะให้กินยาระบาย กินน้ำส้ม หรือน้ำลูก พรุนเพื่อช่วยให้ระบายง่ายขึ้นก็คงยังไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะลูกวัยนี้ต้อง “นมแม่อย่างเดียวเท่านั้น” !!
อย่างกรณีนี้ที่คุณแม่ได้อนุญาตให้เรานำมาแชร์ เพื่อช่วยเตือนพ่อแม่มือใหม่ หรือครอบครัวที่ยังมีความคิดว่าจะป้อนกล้วย บด หรืออาหารเสริมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากนมแม่ให้กับลูกก่อน 6 เดือน ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะคุณแม่กังวลว่าลูกจะกินนมแม่ไม่อิ่ม เนื่องจากลูกกินนมได้น้อยลง ก็เลยมีความคิดที่ว่าลองป้อนกล้วยบดเสริมให้ลูกตอน 4 เดือน แต่ปรากฎ ว่าแทนที่จะช่วยให้ลูกอิ่ม นอนหลับสบาย กลายเป็นทำให้ลูกไม่ถ่ายไปหลายวัน ถึงขั้นต้องใช้ที่สวนก้นเพื่อช่วยให้ลูกถ่าย ออกมา เอาเป็นว่าเราลองไปดูลำดับเหตุการณ์เรื่องนี้จากคุณแม่กันค่ะ
คุณแม่ลำใย – สวัสดีแม่ๆ ค่ะวันนี้ขออนุญาติเล่าประสบการณ์ตรงจาก “กล้วยบด” ยาวนิดนึงแต่มีประโยชน์แน่นอน
เริ่มจากเราที่คิดว่าน่าจะมีหลายคนเป็นเหมือนกันกับความคิดที่ลังเลว่าจะป้อนกล้วยลูกก่อน 6 เดือนดีไหม? เราก็เป็น 1 ในนั้น ช่วงเข้า 4 เดือน ลูกเริ่มกินนมน้อยลง ตื่นบ่อยจนเรากังวลคิดไปเองว่า “ลูกไม่อิ่ม ไม่สบายท้อง” ความคิดการป้อน กล้วย จึงเข้ามาในหัวจากคอมเม้นท์ที่เคยอ่านผ่านมาว่า “เราก็ป้อนตอนเดือนเท่านั้นเท่านี้ ลูกก็แข็งแรงดีไม่เป็นอะไร” เราก็เลยลอง ที่จะป้อนกล้วยบดให้ลูกกินเสริมจากนมแม่ นี่เป็นลำดับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับลูกเราหลังจากป้อนกล้วยไป
วันที่ 1 : ป้อนกล้วยบดช่วงเช้าไม่ถึงครึ่งลูก บดละเอียดยิบลูกก็กินแต่ไม่หมดนะ เท่ากับว่ากินไปครึ่งหนึ่งของครึ่งลูก จากนั้นก็ให้ลูกนอน ปรากฎว่านอนนานไม่กวน ต่อมามื้อที่ 2 ตอนเย็นครึ่งลูกเท่าเดิม แต่รอบนี้กินหมดเกลี้ยง กลางคืนลูกนอนปกติ
วันที่ 2 : ลูกตื่นมาก็ขับถ่ายปกติ เราก็ป้อนกล้วยบดให้เช้า-เย็น เหมือนวันแรก ลูกนอนนานขึ้นเราสบายใจมากความรู้สึกคือลูกกินอิ่มนอนหลับ
วันที่ 3 : ลูกตื่นมาไม่ถ่าย เราก็ยังป้อนกล้วยบดให้เหมือนเดิมเช้า-เย็น แต่ลูกกินกล้วยบดน้อยลงป้อนได้คำ 2 คำก็งอแง ตื่นไว และงอแงมากในช่วงกลางคืน
วันที่ 4 : ลูกตื่นมาก็ไม่ถ่าย งอแงไม่กินกล้วยบดเลย นอนน้อยมากเดี๋ยวตื่นๆ ร้องตลอด เราเลยไม่ป้อนกล้วย ตอนเย็นเพราะเห็นว่าลูกไม่ได้ถ่ายมา 2 วัน วันนี้เราเริ่มกังวลเพราะลูกไม่กิน ไม่ถ่าย และงอแงมาก
วันที่ 5 : วันนี้ไม่ได้ป้อนกล้วยลูกเลย แต่ลูกก็ไม่ถ่าย และงอแงหนักกว่าเดิม ทุกครั้งที่ลูกตดเขาจะร้องงอแงหนักมาก มันทำให้เรารู้สึกว่าลูกเหมือนอยากถ่ายแต่ถ่ายไม่ออก วันนี้เราเครียดมากกังวล สงสารลูก ความคิดเรื่องเด็กกินกล้วยแล้วเป็นอันตรายถึงชีวิตแว๊บเข้ามาในหัว กลัวว่าลูกจะเป็นอะไร เลยปรึกษาสามีๆ บอกให้ไปซื้อที่สวนก้นของเด็ก แต่เราไม่เห็นด้วยเพราะกลัวลูกจะใช้แล้วติดต้องสวนก้นบ่อยๆ แต่ถ้าไม่ใช้เดี๋ยวจะไม่ถ่ายอีก จนถึงช่วงหัวค่ำลูกร้องหนักมาก และสังเกตเห็นเขาเบ่งอึแต่ไม่มีอะไรออกมาเลย ยิ่งเบ่งยิ่งร้อง เราเลยตัดสินใจใช้คอตตอนบัดขนาดของเล็กของเด็กจุ่มเบบี้ออยล์แล้วค่อยๆ สวนก้นลูก ช่วงที่คอตตอนบัดเข้าไปเรารู้สึกว่ามีของแข็งอยู่ในก้นลูก ช่วงที่แหย่เข้าไปยังไม่ทันดึงคอตตอนบัตออก ลูกก็เบ่งเราเลยรีบดึงคอตตอนบัดออก ปรากฎว่าลูกอึออกมาหัวแข็งมาก ขนาดทำให้ก้นน้องฉีกเลือดออกซิบๆ ตอนนั้นรู้สึกโกรธตัวเองมากๆ ที่เอากล้วยให้น้องกิน น้องอึออกมาเยอะมากมีแต่แข็งๆ ไม่มีก้อนเหลวๆ ออกมา และคืนนั้นลูกนอนหลับไม่งอแง
วันที่ 6 : วันนี้ไม่ได้ป้อนกล้วย และลูกก็ไม่อึ เราจึงใช้วิธีเดิมวันนี้อึออกมาเป็นเม็ดๆ แข็งๆ 3 ก้อน แล้วก็มีเหลวๆ ตามออกมา พออึวันนี้หลับยาวเหมือนสบายตัว เราเลิกความคิดที่จะป้อนกล้วยลูกอีกเลย
ความจริงไม่กล้ามาเล่ากลัวคอมเม้นท์แรงๆ แต่ถ้าเก็บไว้คนเดียวคนที่มีความคิดแบบเราอาจเป็นเหมือนเรา เราเลยอยากแชร์ เด็กคนไหนที่กินแล้วปลอดภัยไม่เป็นอะไรก็โชคดีไป แต่เรามั่นใจว่าคงไม่โชคดีเหมือนกันทุกคน ไม่เจอกับตัวจะไม่รู้เลยทุกวันนี้น้องขับถ่ายปกติ กินนมแม่อย่างเดียว น้องร่าเริง ไม่งอแง ใครที่คิดจะทำเหมือนเรา ก็ขอให้หยุดคิดนะคะ แต่ถ้า ความคิดแบบนี้มีเราคนเดียวที่คิดก็โล่งใจไปค่ะ
บทความแนะนำ คลิก>> กล้วยบด รับประทานก่อน 6 เดือน เสี่ยงติดเชื้อ
จากการได้พูดคุยกับคุณแม่ โชคดีมากๆ ที่สังเกตเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้น แล้วหยุดป้อนกล้วยให้ลูกทันที เพราะถ้ายังฝืน ป้อนกล้วยให้ลูกต่อไป อาจเป็นอันตรายต่อตัวลูกมากกว่านี้ได้ จากเหตุการณ์ครั้งนี้คุณแม่ลำใย และทีมงานขอให้ทุก ครอบครัวดูไว้เป็นตัวอย่างว่าไม่ควรป้อนอาหาร น้ำ หรือกล้วยให้กับลูกก่อน 6 เดือน เพราะช่วงตั้งแต่แรกเกิด จนถึง 6 เป็น ช่วงเวลาของ “นมแม่” อย่างเดียว และก็เพียงพอต่อความต้องการของลูกแล้วค่ะ กินนมแม่ลูกจะไม่มีปัญหาเรื่องขับถ่าย ที่ สำคัญกินนมแม่แล้วอิ่มสบายท้อง นอนหลับสบาย ตื่นขึ้นมาลูกก็สดชื่น อารมณ์ดีไม่ร้องงอแงด้วยค่ะ
อ่านต่อ วิธีแก้ไขเมื่อลูกไม่ถ่าย อุจจาระแข็ง หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ถ้าลูกท้องผูก จะช่วยอย่างไรได้บ้าง?
เห็นลูกเล็กๆ ทรมานเพราะท้องผูกจนถ่ายไม่ออกมาหลายวัน คนเป็นพ่อแม่นี่แทบกินนอนไม่ได้เลย เอาเป็นว่าเพื่อช่วยให้ลูกสบายตัว และถ่ายได้ปกติ หายจากอาการท้องผูก ลองมาดูคำแนะนำจาก คุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด ดังนี้…
ก่อนอื่นเราไปลักษณะของท้องผูกก่อนว่าเป็นอย่างไร สำหรับลักษณะอุจจาระที่เข้าข่ายว่าใช่อาการท้องผูก คือ เมื่อลูกถ่ายออกมาแล้วอุจจาระแข็งเหมือนขี้แพะ เป็นก้อนกลมๆ เล็กๆ หรือเหมือนดินน้ำมันก้อนใหญ่ๆ ถ้าอึเป็นแบบนี้ก็ใช่เลยค่ะว่าลูกท้องผูก
ซึ่งคุณหมออธิบายว่า ในเด็กที่ทานนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน โดยปกติแล้วจะไม่มีปัญหาท้องผูก ส่วนสาเหตุและวิธีแก้ไขอาการท้องผูกให้กับเด็กเล็กๆ นั้นควรต้องทำอย่างไร ลองดูได้จากคลิปที่นำมาฝากนี้กันค่ะ
สำหรับลูกเล็กตั้งแรกเกิดแนะนำว่าให้ทานนมแม่อย่างเดียวดีที่สุดค่ะ เพราะนอกจากจะได้สารอาหารครบถ้วนที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย พัฒนาการที่ดี ก็ยังช่วยให้ลูกไม่มีปัญหาท้องผูกด้วยค่ะ ส่วนหลังจาก 6 เดือนไปแล้วอาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ลูกท้องผูกได้ สามารถแก้ไขได้ตามคำแนะนำของคุณหมอนะคะ
อ่านต่อ อันตรายจากการป้อนกล้วยลูกก่อน 6 เดือน หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อันตรายจากการป้อนกล้วยให้ลูกก่อนอายุ 6 เดือน
แพทย์หญิงอรพร ดํารงวงศ์ศิริ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า เนื่องจากระบบการย่อยอาหารของทารกแรกเกิดยังไม่แข็งแรงสมบูรณ์เต็มที่ ทําให้การย่อยการดูดซึมอาหารไม่มีประสิทธิภาพมากเท่ากับผู้ใหญ่
อาหารสำหรับทารกแรกเกิดที่ดีที่สุด คือ นมแม่ ซึ่งทารกสามารถย่อยและดูดซึมได้ดี แต่หากป้อนอาหารอื่นๆ ที่ไม่ใช่นม ให้แก่ทารกแรกเกิด เช่น ข้าว กล้วย หรืออาหารเสริมอื่นๆ เข้าไป อาหารเหล่านี้จะไม่สามารถย่อยและดูดซึมในกระเพาะ อาหารและลําไส้ของทารกได้ อาจก่อให้เกิดอาการผิดปกติได้ เช่น ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องผูก ท้องเสีย แพ้อาหาร และจะ ก่อให้เกิดปัญหาลําไส้อุดตันจากเศษอาหารที่ไม่ย่อยนี้ได้ ซึ่งอาจรุนแรงจนต้องรักษาด้วยการผ่าตัดลำไส้ หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้
และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมถึงต้องรณรค์ให้ความรู้กับพ่อแม่มือใหม่ว่าให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวไปจนถึงลูกอายุ 6 เดือน หลังจากนั้นจึงค่อยๆ เริ่มให้อาหารเสริมชนิดอื่นๆ ได้ สำหรับนมแม่นั้นมีสารอาหารครบถ้วน ประหยัด และถูกหลัก ทางโภชนาการมากกว่าอาหารชนิดอื่นๆ ทั้งยังช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกายลูกได้ดีมากๆ ด้วยค่ะ
นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อสุขภาพลูก ที่มาจากการทานอาหารเสริมอื่นที่นอกเหนือจากนมแม่ก่อนวัย 6 เดือน ดังนี้…
1. สำลักได้ง่าย
ในเด็กระบบการกลืนอาหารแข็งของเด็กยังไม่พร้อมที่อายุ 3-4 เดือน การกลืนการดูดการกิน จึงไม่ใช่เรื่องที่เด็กจะสามารถทำได้ง่ายๆ เหมือนกับในผู้ใหญ่ แน่นอนว่าเด็กจะสำลักอาหารที่ป้อนให้เขา และที่น่าเศร้าคือเด็กทารกไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เวลาที่เกิดการสำลักขึ้นมา ขอบอกว่าอันตรายมาก
2. ลำไส้มีปัญหา
การย่อยอาหารและช่วงก่อนออกมาเป็นอุจจาระต้องใช้แบคทีเรียช่วย ซึ่งเอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยแป้งและไขมัน รวมไปถึงแบคทีเรียในลำไส้จะพร้อมก็ตอนอายุ 5-6 เดือน การเริ่มอาหารเร็วเกินไปจะทำให้เกิดปัญหาทางลำไส้ได้
3. ติดเชื้อมากขึ้น
หลายกลไก ทั้งจากการสำลักน้อยๆ จากเชื้อที่ผ่านไปทางลำไส้
4. ขาดสารอาหาร
นมแม่มีสารอาหารและพลังงานสูง เพราะประกอบไปด้วยไขมันในสัดส่วนที่พอประมาณ (น่าจะ30%) เนื่องจากจำเป็นในการสร้างเสริมสมอง ถ้าหากเลี้ยงลูกด้วยอาหารแข็งอื่นๆ แล้วไปลดนมแม่ ก็มีความเสี่ยงที่จะขาดสารอาหารทั้งกลุ่มแร่ธาตุวิตามิน และในกลุ่มไขมัน
5. อ้วน
เด็กที่เริ่มอาหารแข็งเร็ว เมื่อติดตามไปนานๆ จะมีสัดส่วนเด็กอ้วนมากกว่าเด็กที่กินนมอย่างเดียวจน 6 เดือน(ถึง1ปี)
6. นอนหลับไม่สบาย
ให้ลูกวัยทารกกินอาหารเสริมก่อน 6 เดือน อย่างที่บอกว่าระบบย่อยยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ อาหารที่ป้อนเข้าไปเวลาย่อยไม่ได้ ย่อยไม่หมด ทำให้เด็กท้องอืด อึดอัดแน่นท้อง ตอนนอนก็ไม่สบายตัวจึงต้องร้องไห้กวนโยเยได้ตลอดทั้งคืน
ย้ำกันอีกสักครั้งว่านมแม่ช่วงก่อน 6 เดือนสำหรับลูกนั้นดีที่สุดและเพียงพอแล้วค่ะ ที่สำคัญเด็กที่ทานนมแม่จะไม่มีปัญหาท้องผูก ระบบขับถ่ายเป็นปกติดีด้วยค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
ป้อนกล้วยทารก ก่อนวัยเริ่มอาหารเสริมอันตรายถึงชีวิต!
อาหาร 6 อย่างนี้ “ห้ามให้ลูกน้อยต่ำกว่า 6 เดือน” กินเด็ดขาด!
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คุณแม่ลำใย ไหทองแดง
แพทย์หญิงอรพร ดํารงวงศ์ศิริ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี. ป้อนกล้วยบดเด็กแรกเกิดเสี่ยงปัญหาลําไส้จริงหรือ?.www.thairath.co.th
ความรู้สนุกๆ แบบหมอแมว. เด็กทารกกินกล้วยได้ที่อายุเท่าไหร่. เพจหมอแมว
ขอขอบคุณคลิปความรู้จาก Youtube
พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ.ลูกน้อยท้องผูก ทำอย่างไร?
พญ.ศิริลักษณ์ เจนนุวัตร.สายตรงสุขภาพ.ลูกท้องผูก แก้ได้