AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แม่แชร์ วิธีสังเกต อาการเด็กออทิสติก รู้ก่อนรักษาได้เร็ว

อาการเด็กออทิสติก

อาการเด็กออทิสติก ในรายที่ไม่ได้เป็นรุนแรงมาก มักจะสังเกตอาการได้ยาก ทำให้เด็กไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการที่ถูกต้อง จนอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้นได้

แม่แชร์ วิธีสังเกต อาการเด็กออทิสติก รู้ก่อนรักษาได้เร็ว

ออทิสติก (Autistic) คือ ภาวะระบบประสาททำงานซับซ้อน ผู้ที่เป็นออทิสติกจะมีความสามารถเกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคม พัฒนาการทางภาษา และทักษะการสื่อสารด้อยกว่าคนปกติ ทั้งนี้ ผู้ป่วยออทิสติกมักมีพฤติกรรมทำอะไรเหมือนเดิมซ้ำ ๆ เช่น โยนของไปมา สะบัดมือซ้ำ ๆ หรือชอบพูดเลียนแบบ โดยอาการอาจรุนแรงหรือไม่รุนแรงก็ได้ เพราะผู้ป่วยออทิสติกแต่ละคนมีปัญหาและความรุนแรงที่แตกต่างกัน

โดยปัจจุบันยังไม่มีการระบุสาเหตุหรือปัจจัยที่ก่อให้เกิดออทิสติกอย่างเป็นทางการ เบื้องต้นสันนิษฐานว่าโรคนี้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของยีน บางรายอาจเสี่ยงเป็นออทิสติกได้สูงหากบุคคลในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นออทิสติก ดังนั้น ทีมงาน Amarin Baby & Kids ขอนำกระทู้จากคุณแม่ joley ที่ได้โพสต์เรื่องราวที่ลูกถูกวินิจฉัยว่าเป็นออทิสติก โดยคุณแม่ได้สังเกตอาการและพบแพทย์ได้เร็ว จึงทำให้สามารถเข้ารับการกระตุ้นพัฒนาการได้ทัน ซึ่งเรื่องราวต่อไปนี้ คุณแม่ต้องการแชร์เพื่อเป็นอุทาหรณ์และเพื่อให้คุณแม่ได้สังเกต อาการเด็กออทิสติก ไว้ดังนี้

ลูกชายเราวัย 2 ขวบ 8 เดือนถูกวินิจฉัยว่าเป็น ASD หรือที่ทุกคนคุ้นหูกันว่า ออทิสติกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาค่ะ

ลูกชายเราเป็นเด็กซุกซน เติบโตมามีพัฒนาการตามวัย เริ่มคว่ำได้ตอน 4 เดือน คลาน 6 เดือน จับยืนได้ตอน7เดือน เริ่มเดินตอน 11 เดือน เริ่มพูดได้ ตอน 15เดือน ทุกอย่างเป็นปกติมาโดยตลอด น้องเป็นเด็กร่าเริง เลี้ยงง่าย ไม่งอแง พูดจารู้เรื่อง ตอบสนองดี แต่มีสิ่งนึงที่แปลกคือ น้องชอบเดินเขย่งเท้า ก็ไม่ได้เอะใจอะไรเพราะน้องใช้รถหัดเดินที่หมุนรอบโต๊ะ ยอดฮิตตอน 7เดือน ตั้งแต่นั้นมาน้องเริ่มเดินเขย่ง แต่ไม่มาก พอทักให้เดินปกติก็เดินได้

น้องอยู่บ้านย่าอีกหลังกับพี่เลี้ยง(พี่เลี้ยงคนนี้ไม่สามารถมาอยู่บ้านเราได้เพราะมีเงื่อนไขบางอย่าง)
เราและสามีจะแวะไปไปหาน้องเกือบทุกวัน ไปอ่านหนังสือช่วงเย็นให้ฟัง วันเสาร์อาทิตย์เราไปรับน้องกลับมาบ้าน ทุกเสาร์อาทิตย์เราจะมีกิจกรรม พาลูกออกไปเที่ยวนอกบ้านทุกวัน ย่ากับพี่เลี้ยงรักน้องมาก น้องเติบโตมาท่ามกลางความรักที่เต็มเปี่ยม

การเลี้ยงดูทางบ้านย่าค่อนข้างตามใจ มีการเปิด TV ให้ดู ซึ่งเราห้ามหลายรอบ แต่เหมือนไม่เป็นผล น้องเริ่มดูตอนเกือบ ๆ 2 ขวบ แต่กว่าเราจะโวยวายให้น้องเลิกดูได้ก็แค่ 2อาทิตย์ก่อนการตรวจ พอ 2 ขวบเต็มเราพาน้องไปเรียนฝึกเข้ากลุ่มพัฒนาการด้านภาษาและสังคม เริ่มมีบางอย่างที่เราเห็นว่าไม่ปกติ
เช่น ซนมาก ฃอบปีนป่าย ไม่ค่อยฟัง ต้องเรียกหลายครั้ง เวลาทำกิจกรรมกับครู บางอย่างสนใจทำ บางอย่างไม่ทำ น้องสามารถบอกชื่อตัวเองได้ แต่พอคุณครูให้พูด น้องจะทำท่าแกล้งไม่ยอมพูด
คนรอบข้างเรามองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะคิดว่ายังไม่ถึงวัยเค้าหรือเปล่า เราเริ่มเหนื่อยกับการพาลูกไปทำกิจกรรม ดูท่าทีลูกไม่ได้มีพัฒนาการทางภาษาที่ดีขึ้นเท่าไหร่ น้องๆที่อยู่ใน Class เดียวกันเริ่มพูดเป็นประโยคยาวๆ ในขณะเดียวกับที่ลูกเราพูดเป็นคำๆ กับประโยคสั้นๆ

ออทิสติก

จนในที่สุด 8 เดือนผ่านไป เราตัดสินใจพาน้องไปตรวจพัฒนาการเด็ก เพราะคิดว่าน้องเป็นสมาธิสั้น
เราทำการบ้านไปส่วนนึง สรุปพัฒนาการแต่ละด้านเพื่อไม่ให้ข้อใดข้อนึงหลุดไป ทันทีที่เริ่มคุยกับหมอ หมอพูดว่าดูเรากังวลมากเราเลยเล่าอาการของน้องให้หมอฟังว่าเราไม่แน่ใจว่าลูกเราเป็น ADHD หรือเปล่า แต่ไม่น่าใช่ ASD (คิดเองล้วนๆ) อาการของลูกเรา คือ

  • ชอบเขย่งเท้า
  • ไม่ค่อยสบตาเรียกไม่หัน ต้องเรียกหลายๆครั้ง
  • พูดเป็นคำ เป็นวลี เหมือนถูกป้อนโปรแกรม
  • พูดตามได้ แต่เสียงก็จะเป็นแบบโมโนโทน
  • ความจำดีท่อง ก-ฮ A-Z นับ1-20เป็นภาษาอังกฤษ รู้จักสี รู้จักข้าวของเครื่องใช้ สัตว์เป็น100ชนิด ซึ่งบางอย่างเราจำไม่ได้ แต่น้องจำได้
  • ชอบร้องเพลง น้องร้องเพลงเด็กได้หลายเพลง บางส่วนจำเนื้อไม่ได้ก็จะดำน้ำไป
  • ถามตอบดี รู้ชื่อนามสกุลตัวเอง สะกดชื่อตัวเองได้
  • ชอบเล่นกับเพื่อน น้องมีเพื่อนอายุ 4 ขวบ 5 ขวบ ก็เล่นกันดี(เจอกันเสาร์อาทิตย์)
  • ชอบเข้าสังคม ไม่กลัวคนแปลกหน้า
  • รู้จักแบ่งปันไม่หวงของ
  • เล่นของเล่นตามฟังก์ชั่นที่ถูกออกแบบมา
  • ชอบอ่านหนังสือมากเวลาอ่านเค้าจะนิ่งเงียบไม่ซน
  • ทำตามคำสั่งได้เก็บของ ทิ้งขยะ ซื้อของจ่ายเงินเองได้
  • ถอดเสื้อผ้าใส่เองได้ประมาณนึง
  • อารมณ์ร่าเริง ยิ้มง่าย ไม่ชอบให้ถูกตำหนิ พอถูกตำหนิเบาๆแบบเค้าพอรับรู้ได้ก็จะเสียใจมาก
  • เล่นบทบาทสมมติเป็นเล่นเป็นคุณหมอ เป็นเด็กเล็ก เป็นสัตว์
  • กินยากชอบกินของไม่กี่อย่าง
  • มีอาการกลัวเพิ่มขึ้นจากเด็กๆที่ไม่เคยกลัว ก็กลัว เช่นกลัวหมา กลัวการตัดเล็บ

หลังการตรวจสิ้นสุดลง หมอแจ้งว่าน้องเป็น ASD แต่เป็นน้อย แนะนำให้น้องเข้าโรงเรียนจะได้มีสังคมและไปฝึกพูด

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ แม่แชร์ วิธีสังเกต อาการเด็กออทิสติก..Second Opinion และแนวทางการรักษา

แม่แชร์ วิธีสังเกต อาการเด็กออทิสติก..Second Opinion และแนวทางการรักษา

วันนี้เราพาน้องเข้าพบหมอผู้เชี่ยวชาญด้าน ASD หรือออทิสติก เพื่อหา Second Opinion ค่ะ
การตรวจครั้งนี้ไม่แตกต่างจาก รพ.แรกมากนัก หมอจะสัมภาษณ์พ่อแม่ พี่เลี้ยงเพื่อถามพฤติกรรมของเราที่มีต่อน้อง พร้อมกับตรวจประเมินพฤติกรรมน้องไปพร้อมๆกัน โดยใช้แบบประเมิน Denver II การตรวจครั้งนี้ใช้เวลาประเมิน 1 ชั่วโมง นิดๆ

ครั้งนี้ก็เช่นกันที่ผลไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก คือพัฒนาการโดยรวมน้องดี บางอย่างอาจเกินอายุ แต่ส่วนที่มีปัญหามาก ๆ เลยคือด้านภาษา เพราะน้องไม่ค่อยสบตา จริง ๆ ตอนตรวจก็สบตาบ้างนะคะ แต่หมอบอกว่าเด็กปกติควรมี Eye Contact มากกว่านี้ หมออธิบายว่า ภาษา ไม่ได้หมายถึงแค่การพูด แต่หมายถึงการสื่อสาร และการปฎิสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย

โรคออทิสติก

หมอไม่ฟันธงว่าน้องเป็น ASD หรือไม่ แต่ขอใช้คำว่าเข้าข่าย การประเมินว่าเป็นว่าเป็นไม่เป็นต้องใช้เวลาและการติดตามผลมากกว่านี้ และถ้าหากเป็น น้องจะเป็น ASD ในรูปแบบที่เป็นน้อยมาก และเป็น ASD ประเภท High Functioning การระบุชี้ชัดไปเลยว่าเป็น ASD เหมือนกับเป็นตราที่ตีตัวติดน้องไป
ส่วน TV ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เป็น ASD แต่จากการวิจัยพบว่าเป็นตัวกระตุ้น หมอไม่แนะนำให้เด็กต่ำกว่า 2 ขวบดูจอทุกชนิด !!!

หลังจากการประเมิน เราทำนัดฝึกน้องทันที ซึ่งต้องฝึกกิจกรรมบำบัด (หมอแนะนำให้ฝึกเดี่ยว) และฝึกการพูด และพาน้องไปสมัครเรียนเตรียมอนุบาล

นอกจากนี้ยังย้ายบ้านมาอยู่กับน้องแล้วนะคะ บ้านย่าหลัง เล็กห้องนอนก็เล็ก แต่เรารู้สึกว่าการที่เราได้ย้ายมาอยู่บ้านนี้มันเป็นบ้านหลังเล็กที่มีความสุขเหลือเกิน เมื่อคืนได้นอนกอดลูกที่บ้านย่าเป็นคืนแรก ลูกเราดูตื่นเต้นที่พ่อกับแม่มาอยู่ด้วยที่นี่ ชวนอ่านหนังสือ พร้อมกับเล่านิทานให้เราฟังหลายเรื่อง รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างแต่เราก็ตั้งใจฟัง

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเรื่องนี้หลัก ๆ คือ

  1. ลูกต้องการความรักและเวลาจากพ่อแม่ ไม่ใช่เงินหรือสิ่งของ
  2. ของเล่นที่ดีที่สุดคือพ่อแม่
  3. ไม่ควรให้เด็กดูจอทุกชนิดก่อน 2 ขวบ

ขอให้เรื่องราวของเราเป็นบทเรียนสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีน้องอยู่ในวัยนี้นะคะ เราเองเกือบเสียลูกไป
โชคดีที่เราตัดสินใจพาน้องไปตรวจ ไม่ทิ้งเวลาเนิ่นนานไปกว่านี้ คุณพ่อคุณแม่ที่มีน้องเข้าข่าย ASD ถ้าเป็นไปได้อยากให้พาน้องไปตรวจนะคะ ถ้าเป็นน้องจะได้รับการรักษาทันที อย่าทิ้งไว้นานเกินไป การรักษาอาจจะใช้เวลานานมากกว่าปกติค่ะ

ขอบคุณสำหรับทุกกำลังใจที่ส่งให้เรากับน้องนะคะ เราเชื่อว่าน้องจะต้องดึขึ้นในเร็ววัน
และถ้ามีโอกาสและมีเวลาเราจะมาแชร์ประสบการฝึกและผลการรักษาของน้องเผื่อจะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ที่เผชิญสถานการณ์เดียวกับเรา

ทีมงาน Amarin Baby & Kids ขอขอบคุณคุณแม่ joley ที่อนุญาตให้นำเรื่องราวมาแชร์เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับแม่ ๆ ทุกท่านนะคะ ขอให้น้องดีขึ้นในเร็ววันค่ะ นอกจากนี้ ทีมงานยังมีวิธีสังเกต อาการเด็กออทิสติก เพิ่มเติมดังนี้

อาการเด็กออทิสติก รู้เร็ว รักษาได้ ดังนั้น หากคุณแม่สงสัยว่าลูกเข้าข่ายการเป็นออทิสติก ควรเข้ารับการประเมินและวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญค่ะ

อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ

14 ข้อสำคัญ เพื่อรับมือกับลูกน้อยที่เป็น “เด็กออทิสติก”

10 แบบอย่างที่ดี ที่พ่อแม่ควรทำให้ลูกเห็น

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : คุณแม่ Joley@Pantip.com / Pobpad

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids