โรคสมาธิสั้น เป็นกลุ่มอาการที่มีความบกพร่องทางด้านสมาธิ สามารถพบว่าเกิดขึ้นได้กับเด็กเล็ก ซึ่งกลุ่มอาการสมาธิสั้นนั้นมีทั้งที่เป็น สมาธิสั้นแท้ และสมาธิสั้นเทียม ทีมงาน Amarin Baby & Kids ได้อ่านเรื่องราวของคุณแม่สมาชิก Pantip ที่ได้มาแชร์ประสบการณ์ที่ว่าทำไมจึงต้องพาลูกชายวัย 2 ขวบกว่าไปตรวจเช็ก โรคสมาธิสั้น รวมถึงวิธีแก้อย่างไรเพื่อให้อาการลูกดีขึ้น
โรคสมาธิสั้น ลูกเราเป็นหรือเปล่านะ!!
ถ้าวันนึงลูกเรามีพฤติกรรมที่ต้องสงสัยว่าเป็น โรคสมาธิสั้น หรือเปล่านะ!? คุณจะทำอย่างไร และจะจัดการหาวิธีแก้ไขอย่างไร? ถ้ายังนึกไม่ออก ผู้เขียนอยากให้ลองอ่านเรื่องจริงจากคุณแม่สมาชิก Pantip ท่านนี้กันค่ะ ที่เธอได้มาแชร์ประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นกับลูกชายตัวน้อยที่เธอคิดว่าเข้าข่ายเด็กสมาธิสั้น แต่จะด้วยสาเหตุใดนั้น รวมถึงแนวทางการพาลูกไปตรวจเช็ก รักษาจนอาการค่อยๆ ดีขึ้น ต้องทำ ต้องแก้ไขกันตรงจุดไหนบ้าง ไปติดตามคำตอบพร้อมกันค่ะ…
สวัสดีค่ะ ก่อนอื่นขออนุญาตเท้าความนิดนึงนะคะ ดิฉันเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวค่ะ มีลูกชาย 1 คน ปัจจุบันอายุ 2 ขวบ 9 เดือน เลี้ยงกันสองคนกับคุณยาย คุณยายจะติดตามใจหลานมาก ด้วยความเป็นหลานชายคนเดียวของบ้าน ก่อนหน้านี้ดิฉันทำงานนอกบ้าน หน้าที่ดูแลลูกจึงตกเป็นของคุณยาย จนถึงเมื่อปลายปีที่แล้วจึงได้มาเปิดร้านเป็นของตัวเองได้มีเวลาดูแลลูกมากขึ้น จึงเริ่มพบเห็นปัญหาในการเลี้ยงลูกที่ต่างกันของคุณยายกับตัวดิฉันเอง ด้วยความที่เห็นว่าลูกเป็นผู้ชายจึงค่อนข้างเข้มงวดกับลูก อะไรที่ไม่ได้คือไม่ให้เลย มีตี มีดุกันตลอด แต่กับคุณยายนั้น จะอ่อนข้อให้หลานตลอด เวลาดิฉันดุลูก ลูกก็จะวิ่งเข้าหาคุณยาย คุณยายก็จะโอ๋หลานเป็นอย่างนี้ประจำ ทำให้การสอนลูกของดิฉันเหมือนทำได้ไม่จริงจังเท่าไร และช่วงที่ดิฉันทำงานนอกบ้านนั้น คุณยายด้วยความที่ไม่ชอบให้หลานรบกวน ชอบให้หลานอยู่นิ่งๆ สิ่งที่หยิบยื่นให้หลานคือ แท็บเล็ตพร้อมเปิดการ์ตูนให้หลาน การดูการ์ตูนของลูกนั้นดูติดต่อกันเป็นชั่วโมง สะสมมานานเป็นปี จนมาถึงจุดที่ผลของการกระทำทั้งหลายแสดงออกมา
จุดเริ่มต้นของความคิดที่จะนำลูกไปตรวจเช็กสมาธิสั้น จากที่เกริ่นมาทั้งหมดเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกนั้น ทำให้ลูกชายมีอาการดังนี้ค่ะ
- พูดช้า เริ่มพูด 2 ขวบกว่า ก่อนพบหมอยังไม่สามารถพูดแบบมีตัวสะกดได้ แต่สามารถสื่อสารบอกความต้องการได้บ้าง เช่น หิว หรือ อยากเข้าห้องน้ำ
- อยู่ไม่นิ่ง
- เริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง
- พูดไม่ค่อยสบตา
- จากเด็กที่ชอบทำอะไรเอง พักหลังเริ่มขอความช่วยเหลือ คนที่สนองตอบได้คือคุณยาย ถ้าไม่อยากทำอะไรเองก็จะวิ่งหา คุณยาย
- เอาแต่ใจ ไม่พอใจมีหันหน้าหนี ล่าสุดก่อนพบหมอคือร้องเอาของเล่นที่ห้าง ปกติไม่เคยมีอาการแบบนี้ค่ะ
จนที่สุดแล้วจุดที่ทำให้ดิฉันเลือกพาลูกเข้าพบหมอคือ เมื่อกลางเดือนสิงหาคม ครูพี่เลี้ยงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก แจ้งต่อดิฉันว่า “คุณแม่คะ ตอนนี้น้องแกล้งเพื่อนหนักเลยนะคะ ผลักเพื่อน ตีเพื่อน ไม่สนใจเรียน ชวนเพื่อนคุยตอนเรียน ขนาดจับให้นั่งคนเดียวก็ยังสามารถชวนเพื่อนเล่นได้ ตอนนี้น้องรบกวนการเรียนของเพื่อนร่วมชั้นนะคะ แล้วก็น้องเริ่มสอนไม่ได้ ถ้าเขาไม่พอใจจะหันหน้าหนีเลยค่ะ” ดิฉันก็ได้ถามกลับคุณครูไปว่าคุณครูมีคำแนะนำอย่างไรบ้างคะ เนื่องจากปกติคุณครูจะแนะนำว่าเราต้องทำอะไรบ้าง ต้องฝึกลูกอย่างไร แก้ไขอย่างไร แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งที่ผ่านมา คุณครูตอบกลับมาว่า “คุณแม่ลองพาไปพบหมอดูนะคะ เขาจะแนะนำได้ว่าต้องแก้ไขอย่างไร” ตอนนั้นคือคิดหนักเลย นี่ลูกเราเป็นถึงขนาดนี้แล้วเหรอ เริ่มหาข้อมูลในอิเตอร์เน็ตว่ามีที่ไหนบ้างที่มีจิตแพทย์เด็ก เริ่มหาว่าพฤติกรรมที่ลูกเราแสดงออกมามันคืออะไร ซึ่งผลที่ได้คือ เราสงสัยว่าลูกเป็นสมาธิสั้นหรือเปล่า หาข้อมูลอยู่เกือบอาทิตย์ ติดต่อสอบถามโรงพยาบาลอยู่ 2 – 3 ที่ ที่แรกบอกว่ามีแต่หมอเด็กไม่มีจิตแพทย์เด็กที่สามารถเช็กสมาธิสั้นให้ได้ และที่ 2 ไม่รับบุคคลภายนอก จนในที่สุดจึงตัดสินใจติดต่อไปโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในละแวกนี้ ก็สอบถามข้อมูลเด็กนิดหน่อย แล้วเราก็แจ้งความประสงค์ไปเลยว่าน้องอาการเป็นอย่างนี้ ต้องการพบจิตแพทย์เด็ก อยากเช็กสมาธิสั้นด้วย รอบแรกที่โทรติดต่อไปเป็นพยาบาลรับเรื่องไว้ก่อน รอบที่สองจึงมีการนัดวันเวลาเป็นวันที่ 22 สิงหาคม เวลา 15.00 น. พร้อมกับแจ้งว่าครั้งแรกเป็นการประเมินพัฒนาการน้องกับพยาบาลวิชาชีพก่อนนะคะ พร้อมแจ้งค่าใช้จ่ายในการรักษา ซึ่งเราเห็นสมควรว่าก็ไม่แพงเท่าที่เรากลัวนะ พอรับได้
บทความแนะนำ คลิก>> คนท้อง กินยาพาราเซตามอล เสี่ยงลูกเกิดมาสมาธิสั้น !!
Good to know อาการหลัก 3 ด้านของเด็กสมาธิสั้น สังเกตได้จาก อยู่ไม่นิ่ง ซน / ไม่มีสมาธิ เหมือนไม่ได้ฟังเวลามีคนพูดคุยด้วย / หุนหันพลันแล่น รอคอยไม่ได้[1]
พาลูกไปพบหมอครั้งแรก
ก็มีการแนะนำว่าใช้เวลา 1 ชั่วโมง ซึ่ง 30 นาทีแรกเป็นการพูดคุยกับคุณแม่ ต่อไปคือการประเมินพฤติกรรมของน้อง พยาบาลก็แนะนำตัวว่าชื่ออะไร ขั้นตอนการรักษาเป็นอย่างไร ครั้งนี้คือการประเมินก่อน พี่พยาบาลก็จะมีแบบประเมินตามช่วงวัย ก็จะมีการถาม – ตอบระหว่างเด็กกับพยาบาล ว่าน้องบอกชื่อได้ไหม สำหรับเด็กวัยนี้คือ ต้องบอกชื่อตัวเอง ชื่อเพื่อน บอกความต้องการ บอกอวัยวะ บอกสี บอกว่าภาพที่ชี้ให้ดูคืออะไรได้แล้ว แต่ปรากฏว่าลูกชาย ทำได้แบบเกือบตก เพราะอยู่ในห้องที่ประเมินนั้น ลูกไม่นิ่ง ไม่สนใจ ไม่โฟกัสอะไรเลย ทั้งๆ ที่ตอนอยู่บ้านนั้นจะสามารถบอกได้ว่าอวัยวะอะไรเป็นอะไร ภาพนั้นเป็นภาพอะไร แต่บอกชื่อเพื่อนไม่ได้ ดีที่ยังบอกชื่อตัวเองได้ และระหว่างการทดสอบ ลูกดันปวดท้องเข้าห้องน้ำพอดี พยาบาลบอกเราว่า ถ้าน้องไม่ปวดท้องเข้าห้องน้ำแล้วมาบอกเรานะ พี่ให้น้องตกข้อเลยนะเนี่ย
ผลออกคือ 50 – 50 พยาบาลก็ยังไม่ปักใจว่าน้องเป็นสมาธิสั้นเพราะอาการของน้องมันก่ำกึ่งมาก แล้วก็สรุปสาเหตุที่ทำให้น้องเป็นแบบนี้ หลักๆ เลยคือ
- การดูการ์ตูนเป็นเวลานาน ทำให้น้องไม่ได้เรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วรอบๆ ตัวเขาเนี่ยเป็นไปอย่างไร ประกอบกับในการ์ตูนนั้นเป็นภาพเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา ทำให้น้องไม่มีสมาธิ ไม่สมารถจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้
- การที่แม่สอนอย่างหนึ่ง คุณยายสอนอีกอย่าง หรือการที่แม่ดุ แต่คุณยายเข้ามาโอ๋นั้น ส่งผลให้น้องไม่เชื่อฟัง คิดว่าตัวเองจะทำอะไรก็ทำได้ แม่ดุก็ดุไปสิ ยังไงยายก็โอ๋อยู่ดี พยาบาลบอกน่าเอาคุณยายมาฟัง (วันนั้นไปกับลูกแล้วก็น้องสาว น้องสาวรออยู่ข้างนอก บินมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาพาหลานไปหาหมอ และพูดคุยกับคุณยายถึงการรักษา ตอนแรกยายไม่ยอมให้มาด้วยค่ะ) ต่อไปต้องคุยกับคุณยายว่าเราจะสอนแบบนี้ ต้องเป็นไปในทางเดียวกัน
- อันนี้เป็นข้อที่ทำให้เราสะอึกที่สุด คือ สาเหตุที่น้องตีเพื่อน ตียาย ผลักเพื่อน และหวีด เหวี่ยง เอาแต่ใจ เราก็ถามสาเหตุจากพี่พยาบาล พยาบาลมองหน้าเราแล้วถามกลับมาในทันที่ว่า “ที่บ้านตีลูกไหม?” เราสะอึกเลยค่ะ แล้วตอบไปว่า “ตีค่ะ” พยาบาลบอกนั่นล่ะค่ะสาเหตุ เด็กซึมซับพฤติกรรมของเรา ไม่จำเป็นจริงๆ อย่าตีนะคะ ถ้าเขาหวีดขึ้นมาหรือทิ้งตัว โวยวายให้จับแขนเขาไว้นะคะ ให้ลูกมองหน้าเราให้ได้ วิธีการจับแขนไม่ให้ใช้สองมือกำนะคะ แต่ให้ใช้มือข้างเดียวล็อกข้อมือของลูกไว้ พยาบาลก็สาธิตวิธีการให้ มาถึงตรงนี้คุณลูกชายคงคิดว่าพยาบาลจะทำอะไรแม่ ก็เข้ามาดึงมือพยาบาลออก จึงทำให้พยาบาลยังไม่ปักใจว่าน้องเป็นสมาธิสั้น เนื่องจากเด็กที่เป็นสมาธิสั้นหรือออทิสติกนั้น จะโฟกัสแต่ตัวเอง สนใจตัวเอง ไม่สนใจรอบข้าง อันนี้ลูกยังมีความเป็นห่วงเรา พอล็อกแขนเขาได้ให้อธิบายว่าทำไม ทำแบบนี้ไม่ดี พยาบาลก็ย้ำนะคะว่าไม่จำเป็นอย่าตี ถ้าจะตีให้ใช้มือตีที่มือ ตอนตีคุณแม่ตั้งสติก่อนนะคะ อย่าโมโหแล้วใส่สุดแรง อย่าหยิกนะคะ เพราะหยิกนี่เด็กจำฝังใจ
จริงๆ วันนี้พยาบาลจะไม่ทดสอบอารมณ์น้องเนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มาไม่อยากให้น้องฝังใจแล้วไม่อยากมาอีกแต่มันก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้พี่พยาบาลต้องแสดงให้ดูจนได้นั้นคือ คุณลูกชายเล่นลิ้นชักดึงจนลิ้นชักหลุดออกมา พี่พยาบาลเขาก็เข้าไปทำเสียงโอ้ย หลุดเลยทำไงดีเนี่ย หนูทำใช่ไหม ไม่ดีเลยนะ ก็คือทำเสียงดุ ลูกเราก็นิ่ง สักพักก็ร้อง วิ่งมาหาเราๆ ก็เกร็งเพราะปกติดุลูกแล้วจะไม่โอ๋ อันนี้พี่เขาก็บอกปลอบลูกเลยค่ะ กอดได้เลยนะคะ แล้วอธิบายว่าตอนนี้ลูกกำลังรู้สึกแบบไหนอยู่ บอกลูกว่าหนูโมโหที่พี่พยาบาลดุใช่ไหม อธิบายไปว่าไม่ดีเลยเนาะพี่พยาบาลดุหนู แต่ที่พี่ดุเพราะอะไรอธิบายเหตุผลไปว่าเพราะอะไร แล้วบอกลูกว่าเขากำลังรู้สึกแบบไหนอยู่ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่พยาบาลยังไม่ปักใจว่าลูกเป็นสมาธิสั้น เพราะลูกเรายังรู้จักโกรธ โมโห แล้วก็พออธิบายสาเหตุ เหตุผลให้ลูกไป ลูกยังรู้จักที่จะรับฟัง พร้อมกับบอกเราว่า ตอนนี้เขายังเด็กสอนเขาให้ได้ให้เขารู้ทันอารมณ์เขาให้ได้ ถ้าต่อไปเขาโกรธแต่ไม่รู้ว่าตัวเองโกรธทำลายข้าวของขึ้นมา คนที่จะลำบากคือคุณแม่
บทความแนะนำ คลิก>> สังเกตอาการสมาธิสั้นในวัยประถม
สรุปแนวทางการรักษาในตอนนี้คือ
- งดการ์ตูนเด็ดขาด
- ให้เวลากับลูก
- หากิจกรรมให้ลูกทำ
- ฝึกลูกให้พูดคุยให้รู้เรื่อง เลิกเรียนมาถามลูกว่าวันนี้เป็นยังไง เรียนอะไร เล่นอะไรบ้าง เพื่อนทำอะไร เพื่อนชื่ออะไร
- หาสมุดจดว่าแต่ละวันลูกทำอะไรบ้าง
- ฝึกให้ลูกทำอะไรด้วยตัวเองห้ามช่วยเหลือ ฝึกให้เขาคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเองให้ได้ เปิดฝาไม่ได้ทำอย่างไร สอนให้ลูกคิด คอยดูอยู่ห่างๆ แต่ไม่ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือทุกอย่าง
สรุปสุดท้ายก่อนจากกัน พี่พยาบาลบอกว่าคุณแม่ไม่ต้องกังวล ตอนนี้เรายังบอกไม่ได้ว่าน้องเป็นหรือไม่เป็น เป็นช่วงปรับพฤติกรรม จะต้องปรับแล้วนัดมาเจอกันใหม่ก่อน ถ้าน้องดีขึ้น ปรับแก้ได้ ก็แสดงว่าน้องไม่ได้เป็น ก็ไม่ต้องพบหมอ ไม่ต้องเทคคอร์สหลายๆ หมื่น ตอนนี้คุณแม่ต้องเหนื่อยกว่าเดิม แต่เหนื่อยตอนนี้ดีกว่าปล่อยให้เป็นมากกว่านี้แล้วแก้ไขอะไรไม่ได้นะคะ แต่ในท้ายที่สุดแล้วถ้าเกิดว่าน้องเป็นขึ้นมาจริงๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายแบบแย่ๆ สุดนะคะ หน้าที่ต่อไปของเราถ้าเกิดน้องเป็นขึ้นมาคือ ช่วยกันช่วยเหลือน้องให้ใช้ชีวิตในสังคมได้แบบไม่มีปัญหา หรือมีปัญหาน้อยที่สุด แล้วก็ไม่ต้องโทษตัวเอง เด็กที่เป็นสมาธิสั้นไม่ใช่เพราะเราเลี้ยงลูกไม่ดี แต่มันเกิดขึ้นเพราะว่าเซลล์ในสมองของลูกมีปัญหาซึ่งเด็กเป็นมาตั้งแต่เกิดไม่เกี่ยวกับการเลี้ยงดู เลี้ยงดีอย่างไรก็เป็นได้ค่ะ
อ่านต่อ 4 วิธีที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ ปรับพฤติกรรมลูก หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
คนในครอบครัวต้องปฏิบัติเป็นทิศทางเดียวกัน ถึงจะแก้ไขพฤติกรรมเด็กเล็กได้
หลังจากผ่านไป 1 สัปดาห์ มาดูกันว่าลูกเรามีพัฒนาการอะไรดีขึ้นมาบ้าง ซึ่งหลังจากกลับจากโรงพยาบาล แล้วก็ได้รับคำแนะนำจากคุณพยาบาลมาค่ะ
คราวนี้จะเล่าว่าหลังจากได้ฟังพยาบาลสรุปพร้อมคำแนะนำมาแล้วเราทำอะไรกับลูกบ้าง อีกหนึ่งอย่างที่พยาบาลให้มาเป็นการบ้าน คือ หาสมุดมาจดว่าแต่ละวันลูกเป็นอย่างไรบ้าง อันนี้เราคิดว่ายากพอๆ กับคิดหากิจกรรมมาเล่นกับลูกเลยค่ะ เพราะเราเลี้ยงลูกไปแต่ล่ะวันมันก็เหมือนกับอะไรเดิมๆ ที่เป็นกิจวัตร ตื่นมาทำกับข้าว ส่งไปโรงเรียน มาดูแลร้าน ไปรับลูก พาลูกเข้านอน มันเลยทำให้ในตอนแรกเราคิดว่าจะเขียนบันทึกอะไรส่งพี่พยาบาลดี เลยสรุปได้ว่าไหนๆ เราก็ต้องลงมาเล่นกับลูก มาฝึกลูกอยู่แล้ว ก็ขอทำเป็นตารางเลยแล้วกัน ว่าวันนี้เล่นอะไรบ้าง ผลการเล่นเป็นอย่างไร
อันดับแรกเลย คือ เราคุยกับคุณยายค่ะ อันนี้มีน้องสาวช่วยพูด เพราะเราไม่แน่ใจว่าถ้าเราพูดคนเดียวคุณยายจะรับฟังมากน้อยแค่ไหน เพราะเรากับคุณยายเลี้ยงกันแค่สองคน น้องสาวก็ไปๆ มาๆ ว่างๆ ถึงได้มาเยี่ยม ก็คุยกันว่าพยาบาลบอกมาอย่างนี้นะ ต่อไปห้ามให้หลานดูการ์ตูน คุณยายก็รับฟังดีค่ะ ขอย้อนความนิดนึงวันที่ไปพบพยาบาลครั้งแรก บอกคุณยายก่อนไปหนึ่งวันเพื่อป้องกันการถามคำถาม และการโน้มน้าวจิตใจให้ไม่ต้องพาลูกไป เราก็ตีมึนเลยค่ะ บอกเสร็จปุ๊บปั๊บ วันต่อมาพาลูกไปเลย ก็บอกคุณยายว่านอกจากงดการ์ตูนแล้ว ต้องให้ความสนใจเขามากขึ้น เรื่องตีเรื่องดุก็ต้องงด เพื่อการปฏิบัติที่เป็นไปในทางเดียวกันของบ้าน ไม่อย่างนั้นอาจกลายเป็นว่าเราสอนอย่าง คุณยายทำกับหลานอีกอย่าง เด็กสับสนค่ะ คุยกับผู้ใหญ่เสร็จคราวนี้ก็ถึงตาเด็กบ้าง สิ่งที่เราจะฝึกลูก พร้อมกิจกรรม อันนี้ขออธิบายเป็นข้อๆ เลยนะคะ
- เราปรับเรื่องการพูดของลูกก่อนเลย คือกับลูกเราฟังเขารู้เรื่อง เป็นเพราะเราอยู่กับเขาตลอด แต่พอเขาไปพูดกับคนอื่นเขาคุยไม่รู้เรื่องค่ะ พูดไม่มีตัวสะกด อันนี้พยาบาลแนะนำว่าเวลาพูดให้เขามองปากเรา ออกเสียงให้ลูกดูช้าๆ ชัดๆ คำไหนเขาออกเสียงผิดให้แก้ให้เขาพูดให้ถูก เราก็ซื้อหนังสือมาให้เขาเป็นหนังสือ กอ ไก่ เอบีซี หนังสือผลไม้ ผัก สัตว์เลี้ยง ผลปรากฏว่า คุณลูกชายถือหนังสือมาให้ท่องกอไก่ทุกเช้าเลยค่ะ แล้วก็เริ่มพูดชัดขึ้น อีกหนึ่งวิธีที่เราปรับเรื่องการพูดของเขาคือ เราพยายามคุยกับเขาให้มากที่สุด เย็นไปรับถามว่าวันนี้เรียนอะไร ลูกบอกไม่เรียนเล่น ตอนเที่ยงกินข้าวกับอะไร ลูกเราบอกไม่ๆ พอ อิ่มแล้ว คือ บางครั้งเขาก็คุย ตอบตามเรื่องตามราวของเขานะคะ หน้าที่เราคือมีอารมณ์ร่วมไปกับลูกให้เขารู้สึกว่าเราสนใจ เรารู้สึกเหมือนที่เขารู้สึก เขาก็จะอยากเล่าอะไรมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้เราไม่เคยถามลูกเลย อาจเป็นเพราะที่บ้านก็ต่างคนต่างอยู่ คุยกันเมื่อจำเป็น ไม่คุยเรื่อยเปื่อย ทำให้เราติดนิสัยไม่คุยอะไรมากมาย ถามคำตอบคำ มันส่งผลมาถึงว่าเราไม่คุยกับลูก วันแรกๆ เขาก็ไม่ค่อยตอบนะคะ พอคุยไปทุกวันๆ เขาเริ่มตอบมากขึ้น เริ่มบอกได้ว่าเพื่อนชื่ออะไร อันนี้มีในแบบทดสอบซึ่งลูกเราตกค่ะ เขาบอกชื่อเพื่อนไม่ได้ คราวนี้พอเราคุย ถามเขาทุกวัน ตอนนี้บอกชื่อเพื่อนได้แล้ว ถึงแม้จะออกเสียงไม่ชัดเจนเท่าไรก็ยังพอฟังรู้เรื่อง
- งดมือถือ การ์ตูน แท็บเล็ต บ้านเรางดขาดเลยค่ะ ไม่มีการค่อยเป็นค่อยไป หักดิบเลย โชคดีที่ลูกเราก็ไม่ถามหาเลยอาจเป็นเพราะว่าพอเรางดการ์ตูนเขา เราก็ลงมาเล่นกับลูกแทน อันนี้พยาบาลก็กำชับมาเลยว่าให้เล่นกับลูก คิดหนักพอๆกับเขียนบันทึกส่งพยาบาลเลยค่ะ จะเล่นยังไง?
- จากข้อ 2 ที่บอกว่าให้เล่นกับลูก เราก็เริ่มมาคิดกิจกรรมให้ลูกล่ะ อ่ะลูกทดสอบตกข้อไหนบ้าง อย่างเช่น พยาบาลชี้รูปสัตว์แล้วลูกตอบไม่ได้ เราก็ซื้อหนังสือมาให้พาชี้ พาออกเสียงฝึกการพูดไปด้วย ฝึกลูกให้รู้จักสิ่งต่างๆ ไปด้วย อันนี้ได้สองเด้งค่ะ หนังสือเราไม่เน้นแพงนะคะ เอาให้รูปภาพน่าสนใจ และที่สำคัญดูแล้วน่าจะทนมือคุณลูกได้ด้วยค่ะ ต่อไปที่ทดสอบไม่ผ่านคือ ต่อบล็อกไม้ให้สูงค่ะ อันนี้ไม่แน่ใจว่าลูกไม่เข้าใจคำสั่งหรืออะไร ทั้งๆ ที่อยู่บ้านก็มีบล็อกไม้ อันนี้สมนาคุณจากคุณตาเมื่อนานมาแล้ว เป็นแม่ที่ไม่ลงทุนกับของเล่นลูกค่ะ เพราะคุณลูกเล่นแรง อะไรก็พัง เน้นถูกและทนไว้ก่อน วิธีฝึกคือ อธิบายคำสั่ง แล้วทำให้ดูว่าต้องทำยังไง เหมือนเป็นการติวเข้มอันไหนตกเราแก้ แต่ผลลัพธ์มันไม่ใช่แค่ลูกทดสอบผ่านแต่มันหมายถึงลูกมีสมาธิดีขึ้น นอกจากนี้ลูกเรายังบอกสีไม่ได้ค่ะ อันนี้แบบไม่ได้เลย เหมือนจะสับสนกับชื่อสีภาษาอังกฤษด้วย เนื่องจากดูการ์ตูน เราก็ให้เล่นแยกสีกระดุม ให้ดูว่าแต่ล่ะสีต่างกันนะ สีนี้เรียกว่าอะไร ตอนนี้ก็ยังมีสับสนบ้างค่ะ แต่ก็ดีขึ้น แล้วกิจกรรมที่เขาจะชอบมากคือเล่นอะไรที่ต้องออกแรง เตะบอล โยนบอล ว่ายน้ำ พวกนี้จะเล่นได้เป็นชั่วโมง กิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ ให้เรากับลูกมีส่วนร่วมด้วยกัน ให้ลูกเลือกเองว่าจะเล่นอะไร เล่นแบบไหน แล้วก็พยายามให้ลูกเล่นให้ได้นานที่สุด ฝึกไปเรื่อยๆ จนตอนนี้ลูกเราเริ่มนิ่งขึ้น เริ่มฟังมากขึ้น ไม่โดดจนเกินไป นอกจากนี้ยังมีปั้นแป้งโดว์ แล้วก็ให้เขาช่วยงานบ้านที่เขาพอช่วยได้นอกเหนือจากงานที่เขาได้รับผิดชอบ คือพยายามให้เขามีส่วนในทุกกิจกรรมค่ะ
- อีกข้อที่สำคัญคือ เรื่องการใช้ความรุนแรงค่ะ ยอมรับว่าตีลูกด้วยอารมณ์บ่อยมาก หลังจากพบพยาบาล อันนี้ไม่รู้ฝึกลูกหรือฝึกเรา เราก็พยายามใจเย็นกับลูกมาขึ้น ผลจากการไม่ตีลูก แต่ไม่ใช่เราไม่ดุนะคะ มีดุ มีงดของชอบ มีนั่งเข้ามุมไทม์เอ้าท์อันนี้แบบสุดๆ จริงถึงใช้ ปรากฏว่าครูที่โรงเรียนแจ้งผลว่าลูกเราไม่แกล้งเพื่อนแล้ว แต่วันนั้นไปเห็นลูกเรานั่งเล่นชิงช้าอยู่ เพื่อนเข้ามาลากลูกเราลงไปนั่งกับพื้นเลย เราก็ดูลุ้นว่าลูกจะทำยังไงต่อ เตรียมเข้าชาร์จ เพราะหนึ่งเพื่อนดึง สองเพื่อนแย่งเล่น ปกติเขาจะหวงมากอะไรเล่นอยู่ใครจะมาแย่งไม่ได้ ในใจคิดมีสวนคืนแน่ๆ แต่ปรากฏว่าลูกนั่งนิ่งเลย จนครูหันมาเห็น เขาก็ไม่ร้องนะ ไม่ตีเพื่อนคืนด้วย อันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จค่ะ
หลักๆ ที่เราฝึกลูกก็มีประมาณนี้ค่ะ ต่อไปก็จะเล่าถึงวันพบพยาบาลครั้งที่ 2
พบพยาบาลครั้งที่สอง
ครั้งนี้เราพาคุณยายไปด้วยค่ะ ตอนแรกก็มีอิดออดบ้าง แต่เราให้เหตุผลว่าเนี่ย นัดตอนบ่ายสาม ตอนนี้เที่ยงกว่าแล้วยังไม่หลับเลย ขับรถเองอีก เดี๋ยวมากวนช่วงเวลาอันตรายเลยบ่ายโมงบ่ายสอง สุดท้ายคุณยายยอมไปจนได้ คือเราอยากให้คุณยายมาเห็นว่าเราทำอะไรบ้าง กลับมาแล้วต้องทำยังไงต่อบ้าง อะไรที่เราสอนเขาผิด อะไรที่ทำแล้วดีอยู่แล้ว คือพบหมอด้านนี้ต้องยอมรับและปฏิบัติตามอย่างเข้มงวดไม่อย่างนั้นรักษาไปเท่าไรก็คงไม่ได้ผล
เข้าห้องพบพยาบาลคุณลูกก็นำหน้าไปเลยค่ะ จำได้ด้วยว่าห้องไหน จำได้ด้วยว่าจะมีของเล่น มีโต๊ะ คราวนี้มีของเล่นใหม่เป็นตัวตุ๊กตาเล็กๆ สิบกว่าตัว พยาบาลก็ให้เอาตุ๊กตามาต่อแถว ทำโน้นนี่นั้น ลูกก็ทำได้ ลูกก็เล่นไป พยาบาลก็ซักถามไปด้วยว่าไปทำอะไรมาบ้าง พยาบาลบอกว่าเท่าที่สังเกต(มีทดสอบซ้ำช่วงหลังช่วงแรกเป็นการให้เล่น เพื่อเช็กปฏิกิริยา ทดสอบอารมณ์ด้วยค่ะ) น้องดีขึ้น นิ่งขึ้น แต่แปลกปากเขาหัวเราะแต่ตาเขาไม่หัวเราะด้วย ไม่ใส ก็เล่นไปเรื่อยๆ จนถึงจุดนึงที่ลูกกวาดตุ๊กตาตัวเล็กๆ ลงพื้น ครั้งแรกยอมเก็บขึ้นโดยดี ครั้งที่สองไม่เก็บ คุณยายก็ดุ สั่งให้เก็บ พร้อมกับพูดขึ้นว่า “เก็บเร็วลูก คนเก่ง เก็บของเล่นนะครับ” เราก็ดุซ้ำ ลูกคลานไปหายายเพราะตอนนั้นเขาเล่นที่พื้นอยู่ ก็ร้องไห้ขึ้นมาทันที เตรียมจะให้คุณยายโอ๋ ยายก็เตรียมโอ๋เลยค่ะ พยาบาลบอก คุณยายเชิญข้างนอกก่อนนะคะ พร้อมกับให้ลูกมาหาเรา เราก็บอกลูก นี่หนูโกรธใช่ไหม หนูโกรธที่แม่ดุ รู้ไหมทำไมแม่ดุเพราะหนูเทของลงพื้นแล้วไม่เก็บไงลูก เขาก็หยุดร้องแล้วเก็บของขึ้นมาไว้บนโต๊ะเหมือนเดิม รู้ไหมคะว่าคุณยายทำผิดตรงไหน ตรงที่พูดว่าคนเก่งในขณะที่หลานทำไม่ถูกค่ะ อันนี้พยาบาลอธิบายว่าทำให้เด็กสับสนว่าที่ทำอยู่ผิดหรือถูก ทำไมแม่ดุแต่ยายบอกว่าคนเก่ง เอ๊ะหรือที่ทำถูกต้องแล้ว งั้นทำต่อไปเลยแล้วกัน สิ่งที่เราต้องทำคือ บอกลูกให้ทำอะไรก็ตามให้เสร็จ ถ้ามีต้องดุก็ดุก่อนเลย เมื่อเขาทำอะไรเรียบร้อยแล้ว หรือถ้าเขาร้องไห้ก็ให้ปลอบพร้อมอธิบายก่อน เมื่อเขาทำเสร็จจึงค่อยชม ไม่ชมในขณะที่เขายังทำไม่ถูกต้อง อันนี้ข้อมูลใหม่สำหรับเราเลยค่ะ หลังจากเก็บอะไรเสร็จก็มาทดสอบกันต่อ คราวนี้ลูกเราทดสอบผ่านหลายข้อมาก ที่ยังไม่ผ่านก็อย่างเช่น บอกสี ผ่านแค่สีเดียว ยื่นยกขาหนึ่งข้างอันนี้เหมือนลูกยังไม่เข้าใจคำสั่ง นอกจากนี้ก็มีทดสอบเพิ่มเติม ให้วาดเส้นตรงๆ เหมือนตอนฝนตก ลูกเราก็วาด วาดเสร็จบอกฝนตกแล้วกลับบ้าน มุดเข้าไปใต้โต๊ะบอกฝนตก หลบฝน จินตนาการของเด็กนี่สุดยอดจริงๆ นะคะ แล้วก็มีตอบคำถาม พยาบาลถามว่าหิวข้าวให้ทำยังไง ลูกเราบอกหิวข้าว ก็อ้ำๆ ถ้าหนาวทำยังไง ลูกเราทำปากสั่นให้ดู
ผลสรุปของการพบพยาบาลครั้งที่สองคือ ลูกเราดีขึ้นเกินคาด พยาบาลบอก คุณแม่เก่งนะเนี่ยทำได้ขนาดนี้ เราเอาบันทึกให้ดู พยาบาลบอกโห้สุดยอดมาก ละเอียด คือเราไม่รู้จะจดยังไงก็ทำตารางให้จดง่ายขึ้นด้านหน้าบันทึกว่าวันนี้ลูกทำอะไร ด้านหลังบันทึกว่าวันนี้พาลูกทำอะไร
คือเราก็หายเหนื่อยขึ้นเยอะเมื่อรู้ว่าสิ่งที่เราทำมันทำให้ลูกเราดีขึ้น หลายคนบอกเป็นสมาธิสั้นเทียม อันนี้เราไม่ทราบว่าเป็นยังไง แต่เพื่อความสบายใจเราเลือกพาลูกไปเช็กก่อน ครูแจ้งมาประมาณอาทิตย์หรือสองอาทิตย์เราก็พาลูกหาหมอแล้ว มันอาจจะเร็วแต่ระยะเวลาที่เขาสั่งสมมาจนถึงขั้นแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมานั้นเราไม่รู้ว่านานเท่าไร เหมือนไปขอคำแนะนำในการเลี้ยงลูกมากกว่าค่ะ
สำหรับใครที่สงสัยว่าลูกเป็นหรือไม่เป็น ขอบอกตรงนี้เลยว่า พบหมอดีที่สุดค่ะ บ้างครั้งเราก็เข้าข้างลูกบ้างล่ะ เราก็เป็นนะคะ เรื่องแบบนี้เราวิเคราะห์เองไม่ได้ทั้งหมด ต้องคนที่เขาเชี่ยวชาญจริงๆ อันนี้คือความเห็นส่วนตัวของเรา เคยเจอที่มีคนโพสต์ว่าเด็กไม่น่ารัก บางครั้งเราก็กลัวว่าหนึ่งในนั้นจะมีลูกเราอยู่หรือเปล่า แต่ก็อยากให้เข้าใจนิดนึงว่าเด็กก็คือเด็ก บางครั้งเขาทำเพราะไม่รู้แล้วบางครั้งเขาทำเพราะเขาคิดว่าเขาทำถูกแล้วเนื่องจากไม่มีใครที่จะชี้แนะเขาได้ว่าอะไรถูกหรือไม่ถูก ยอมรับว่าที่ผ่านมาละเลยลูกมากเกินไป อยากคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านสนใจเขาบ้าง อย่าปล่อยจนเกิดเรื่องแบบลูกเรา ยอมรับอีกครั้งว่าเลี้ยงลูกไม่เป็น ได้แค่ทำในสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดเท่านั้น วิธีการที่ดีที่สุดของแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน
สุดท้ายก็ขอจบกระทู้นี้ไว้เท่านี้ค่ะ แชร์มาให้เป็นประสบการณ์ว่าพาลูกพบจิตแพทย์มันก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรเท่าไร อยากให้ยอมรับกันว่าที่เด็กเป็นอย่างนี้ให้มองย้อนกลับมาที่ตัวเรา เป็นเราเองหรือเปล่าที่ดูแลเขาไม่ดี เข้มงวดเกินไป ปล่อยปะละเลยเขาเกินไป จนเกิดอะไรขึ้นแบบนี้ ปัญหาเด็กทุกปัญหาสาเหตุจริงๆ ก็คงเกิดจากเราๆ ที่เป็นพ่อแม่เด็กนี่ล่ะค่ะ ขอบคุณที่เข้ามาอ่าน และติดตามนะคะ หลายส่วนเป็นความคิดเห็นส่วนตัวหากไม่ถูกใจใครก็ขออภัยด้วยนะคะ
เป็นอย่างไรบ้างคะอ่านมาถึงตอนท้ายที่คุณแม่เขียนแล้ว สำหรับผู้เขียนได้ข้อคิดในการเลี้ยงลูก รวมถึงพฤติกรรมของคนในครอบครัวที่หากสื่อสารกับเด็กได้ไม่ถูกต้องเขาก็จะซึบซับเอาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมไปใช้ทำกับคนรอบข้างด้วยเช่นกัน ง่ายๆ ค่ะ ถ้าอยากให้ลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสม มีพัฒนาการที่สมวัย พ่อแม่มีส่วนสำคัญมากในการเลี้ยงดู และส่งเสริมลูกให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ และประสิทธิภาพนะคะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
ลูกไฮเปอร์ กับสมาธิสั้น แตกต่างกันอย่างไร?
พ่อแม่สูบบุหรี่ วิจัยชี้! เสี่ยงลูกมีสมาธิสั้นและมีพฤติกรรมในทางลบได้ง่าย
ขอขอบคุณข้อมูลเรื่องจาก
pantip.com
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
1โรคสมาธิสั้น. med.mahidol.ac.th