ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ ในเด็ก เป็นโรคที่เกิดจากผิวหนังมีการอักเสบเรื้อรังจากปฏิกิริยาทางภูมิแพ้ พบได้บ่อยในผู้ป่วยเด็ก โดยผิวหนังมักมีลักษณะแห้ง ขึ้นผื่น มีอาการคันมาก ในช่วงฤดูหนาวผื่นภูมิแพ้ผิวหนังจะมีโอกาสเกิดมากขึ้นในกลุ่มเด็กเล็ก
โรค ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ ในเด็ก
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) เป็นโรคที่พบได้ทุกฤดู แต่ในช่วงฤดูหนาวผื่นภูมิแพ้ผิวหนังจะมีโอกาสเกิดมากขึ้น เนื่องจากอากาศหนาวผิวจะยิ่งแห้ง เพราะความชื้นในอากาศต่ำ อากาศแห้ง เย็น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันผิวหนังรุนแรงมากขึ้น เมื่อคันก็จะเกา ซึ่งการเกาอาจทำให้เกิดแผลติดเชื้อตามมา ซึ่งอาจพบบ่อยในเด็ก เพราะยังมีภูมิต้ายทานน้อย ดังนั้นในผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องใช้ครีมทาผิวให้ชุ่มชื้นอยู่ตลอด เพื่อป้องกันการเกิดผื่นมากขึ้น ผู้ป่วยที่เป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมักจะมีลักษณะผื่นเป็นผื่นแดง แห้งลอก มีอาการคันมาก มักเป็นที่บริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา ใบหน้า แขน ขา และซอกคอ
ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ใช่โรคติดต่อ มักเริ่มพบในวัยเด็ก โดยพบประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวได้ถึงร้อยละ 70 เช่น ประวัติว่าพ่อแม่เป็นหืดหอบ ลมพิษ หรือน้ำมูกไหลเพราะแพ้อากาศ
เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่เป็นๆ หายๆ พบบ่อยในเด็ก ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีแนวโน้มทางพันธุกรรมอยู่เป็นพื้นฐาน กล่าวคือ ผู้ป่วยมักมีประวัติเยื่อบุตาอักเสบ แพ้อากาศ ไอ จามบ่อยๆ หรือหอบหืด โดยเฉพาะเวลาที่อากาศรอบตัวเปลี่ยนแปลง เช่น ตอนเช้ามืดคนในครอบครัวผู้ป่วยมักมีประวัติโรคภูมิแพ้ของเยื่อบุต่างๆ เช่น เยื่อบุตาอักเสบภูมิแพ้ แพ้อากาศ ไอจามบ่อยๆ หอบหืด หรือผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ไม่ได้เกิดจากการแพ้อาหาร หรือสารเคมีอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เกิดจากผิวหนังของผู้ป่วยไวต่อสภาพแวดล้อมรอบตัว ทั้งสภาพร้อน เย็น แห้ง ชื้น เชื้อโรค และสารเคมีที่ระคายผิวหนัง อย่างไรก็ตามผู้ที่ไม่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวเลยก็เป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะความผิดปกติซ่อนเร้นอยู่ในยีนของครอบครัวผู้ป่วยโดยไม่เกิดอาการก็ได้
โรคนี้แบ่งลักษณะตามช่วงอายุได้เป็น 3 ช่วง
- ช่วงวัยทารก เริ่มมีอาการคัน และผื่นขึ้นตั้งแต่อายุประมาณ 6-8 สัปดาห์ อาการคันอาจเป็นมากจนเด็กอายุถึง 2 ขวบ พบเป็นผื่นที่แก้มทั้ง 2 ข้าง หรือตามด้านนอกของแขน ขา ลำตัว ผื่นคันอาจเห่อขึ้นเมื่อเด็กฉีดวัคซีน เมื่อเด็กมีอาการผื่นคันอยู่แล้วจึงต้องระมัดระวังในการฉีดวัคซีน หรือควรปรึกษาแพทย์เสียก่อน
- ช่วงวัยเด็ก ผื่นผิวหนังในช่วงวัยเด็ก มักเป็นตามข้อแขนข้อพับ และขา ผื่นจะแดง คลำดูได้หนากว่าปกติ อาการคันอาจเป็นรุนแรงมาก จึงทำให้เด็กหงุดหงิดรำคาญ
- ช่วงวัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่พบว่าโรคผิวหนังภูมิแพ้ในวัยทารก และวัยเด็กอาจหายไปเองใน 2-3 ปี แต่กลับมากำเริบอีกครั้งในวัยรุ่น อาจมีอาการคันอย่างมาก อาการคันมักกำเริบตอนกลางคืน ผื่นคันมักเป็นตามข้อพับ แขน ขา ใบหน้า หัวไหล่ และด้านบน
อาการและลักษณะของผื่นแพ้
ผื่นผิวหนังอักเสบในโรคนี้อาการคันมาก ลักษณะเป็นผื่นแดง หรือมีตุ่มแดงนูน ตุ่มน้ำใส ซึ่งเมื่อแตกออกเป็นน้ำเหลืองไหลเยิ้มแล้วกลายเป็นสะเก็ดแข็ง ถ้าผื่นนี้เป็นมานานเข้าสู่ระยะเรื้อรัง จะพบเป็นแผ่นหนาแข็ง มีขุย ตำแหน่งที่พบผื่นแตกต่างกันได้ตามวัยของผู้ป่วยในเด็กเล็ก ช่วงขวบปีแรก ผื่นผิวหนังอักเสบจะพบมากบริเวณใบหน้า ศีรษะ เด็กมักจะเอาแก้ม หรือศีรษะถูกไถกับหมอน ผ้า ที่นอน เพราะผื่นคันมาก
ในเด็กวัยเรียน และผู้ใหญ่ ผื่นผิวหนังอักเสบพบมากในบริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา คอ ใบหน้า และผิวหนังตำแหน่งที่มีการเสียดสีแต่ในรายที่เป็นมากๆ ผื่นเกิดทั่วร่างกายได้
โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง เป็นโรคที่มีผิวหนังอักเสบเรื้อรังเป็นๆ หายๆ ในเด็กทารกมักเป็นผื่นคันที่แก้ม รอบปาก หนังศีรษะ ซอกคอ เด็กที่โตขึ้นจะมีผื่นตามข้อพับ แขนขา หรือบริเวณที่มีการเสียดสีบ่อยๆ เช่น ข้อศอก เข่า อาการที่สำคัญคือ “คันมาก” ผื่นจะกำเริบมากขึ้นเมื่อผิวแห้ง หรือมีเหงื่อออกมาก ยุงกัด อาการคันทำให้ผู้ป่วยเกา ส่งเสริมให้ผื่นลามกว้างขึ้น และอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนด้วย
อ่านต่อ >> “ปัจจัยที่ทำให้ผื่นกำเริบมากขึ้น” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ปัจจัยที่ทำให้ผื่นกำเริบมากขึ้น
- สภาวะแวดล้อมเช่น สภาวะที่มีละอองเกสร ขนสัตว์ ไรฝุ่น สิ่งเหล่านี้ทำให้ผื่นมีอาการคันมากขึ้น
- เชื้อโรคเช่น แบคทีเรีย เชื้อรา อาจแทรกซ้อนทำให้เกิดการติดเชื้อบนผิวหนังของผู้ป่วย ผิวหนังที่อักเสบอยู่เดิมจะกำเริบมากขึ้น กรณีที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย
- ฤดูกาล ผื่นผิวหนังอักเสบมักมีอาการมากขึ้น ในช่วงฤดูหนาว เพราะความชื้นในอากาศต่ำ อากาศแห้ง เย็น ทำให้ผิวหนังผู้ป่วยคันและเป็นผื่น ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการมากขึ้นในช่วงฤดูร้อน เพราะอากาศที่ร้อนทำให้เหงื่อออกมาก เกิดอาการคัน และเกิดผื่นเช่นเดียวกับในฤดูหนาว
- เสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่ม และเครื่องประดับที่มีขน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสื้อผ้าที่ทำจากขนสัตว์ จะทำให้เกิดการคันเพิ่มเติม
- สบู่ ครีม โลชั่น และผงซักฟอกที่ใช้เป็นประจำ สารเคมีเหล่านี้มีฤทธิ์ละลายไขมัน หรือ/และอาจมีส่วนประกอบที่ก่ออาการระคายเคืองแก่ผิวหนังทำให้เกิดอาการคันและเป็นผื่นผิวหนังอักเสบได้ง่าย
- อาหารในผู้ป่วยกลุ่มนี้ประมาณร้อยละ 10 พบว่าอาหารบางชนิดเป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นแย่ลง มักพบในผู้ป่วยเด็ก เช่น นม ไข่ ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์บางประเภท
- จิตใจที่วิตกกังวลความเครียดก็สามารถทำให้โรคกำเริบได้
การวินิจฉัยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้
- การวินิจฉัยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ อาศัยประวัติที่ผู้ป่วยมีอาการคันตามตัว เป็นผื่นผิวหนังอักเสบเป็นๆ หายๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะบริเวณข้อพับต่างๆ
- การทดสอบว่าผู้ป่วยแพ้อะไร เช่น การสะกิดฉีด หรือแปะยา ทดสอบใต้ผิวหนัง หรือใช้วิธีการเจาะเลือดตรวจว่าผู้ป่วยแพ้อะไร ช่วยในการวินิจฉัยหาสาเหตุของการแพ้ สารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อยว่าเกี่ยวข้องกับการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบมีหลายชนิด
- ผู้ป่วยและญาติควรสังเกตตัวเองว่าเมื่อสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมชนิดใดแล้วทำให้ผิวหนังอักเสบเห่อขึ้น ก็ควรหลีกเลี่ยงสภาวะแวดล้อมเหล่านั้น
อ่านต่อ >> “วิธีการรักษาผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ ในเด็ก” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ
สำหรับเด็กทารก ให้กินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน โดยมีการวิจัยระบุว่า การให้นมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนแรกของชีวิตลูก ช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้ โดยเฉพาะในรายที่สงสัยว่าแพ้โปรตีนนมวัว เนื่องจากนมแม่มีสารอาหารต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างสารภูมิคุ้มกันหลาย ๆ ชนิดให้ทารก
- หลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆ ที่ทำให้โรคกำเริบมากขึ้นเช่นไม่อยู่ในห้องปรับอากาศที่เย็นจัด ไม่อาบน้ำที่มีอุณหภูมิเย็น หรือร้อนจัด และควรหลีกเลี่ยงภาวะที่ทำให้เหงื่อออกมาก
- รับประทานยาต้านฮิสตามีน ลดอาการคัดเมื่อมีอาการคันควรรับประทานยาต้านฮิสตามีน วันละ 2-3 ครั้งติดต่อ เว้น 5-7 วัน เพื่อลดอาการคัน เพราะอาการคัดทำให้ผู้ป่วยต้องแกะเกาผิวหนัง ผื่นผิวหนังที่อักเสบจะกำเริบขึ้นได้ ยากลุ่มนี้ได้แก่คลอเฟนนิลามีน สามารถซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ข้อที่ควรระวังคือ ยานี้มีผลข้างเคียงคือ อาการง่วงนอน
- ยาทากลุ่มสเตรียรอยด์มีฤทธิ์ลดการอักเสบของผื่นผิวหนัง ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะโรคกลุ่มนี้ต้องใช้ยานาน อาจมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นได้ ถ้าใช้ยาไม่ถูกต้อง
- กรณีที่มีตุ่มหนองเกิดแทรกซ้อนบนตุ่มหรือผื่นแดง แสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์เพราะผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
วิธีทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น
- ไม่ควรอาบน้ำอุ่นจัด หรืออาบน้ำบ่อยเกินไป
- ไม่ควรฟอกสบู่บ่อยๆ โดยเข้าใจผิดคิดว่าอาการคัน เกิดจากความสกปรกของผิวหนัง การถูสบู่มากๆ ทำให้ผิวระคาย และแห้ง กลับทำให้เป็นผื่นมากขึ้นอีก สบู่ที่เลือกใช้ไม่ควรเป็นกรดหรือด่างจนเกินไป ไม่มีสี หรือน้ำหอมเจือปน
- ใช้สารเคลือบผิว (Emollients) ผสมน้ำแช่อาบ หรือ ทาผิวหนังทันทีหลังอาบน้ำ และใช้ครีม Moisturizer หรือ โลชั่นทาเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวหนังบ่อยๆ
วิธีลดอาการคัน
- การลดอาการคัน เพื่อลดการเกาซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีผื่นลุกลามขึ้น
- อย่าใช้เสื้อผ้าที่ระคายง่าย อับร้อน ควรใส่เสื้อผ้าหลวมๆ และควรซักล้างผงซักฟอก และน้ำยาปรับผ้านุ่มออกให้หมด
- ควรอยู่ในสภาพแวดล้อมอากาศที่สบาย ไม่ร้อน หรือหนาวจนเกินไป
- ไม่ควรใช้น้ำหอม สเปรย์ และหลีกเลี่ยงขนสัตว์ ฝุ่น ควันบุหรี่
- อย่าออกกำลังกายมากขณะที่มีผื่นกำเริบ เพราะจะทำให้เหงื่อออกมาก และคัน
- ลดการเกา โดยตัดเล็บให้สั้น ตะไบเล็บอย่าให้คม ในเด็กเล็ก อาจสวมถุงมือให้เวลานอน เพื่อไม่ให้เกาเวลาหลับ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
แนวทางการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคผิวหนังภูมิแพ้
- ไม่ควรใช้สบู่มากเพราะผิวหนังในโรคนี้แห้งมากอยู่แล้ว ถ้าจะใช้ให้ใช้สบู่อ่อน หรือสบู่ที่มีไขมันสูง ชำระล้างบริเวณที่สกปรกเท่านั้น ไม่ควรขัดฟอกแรงๆ ไม่ควรนอนแช่ในอ่างอาบน้ำ ใช้ขันตักอาบหรืออาบน้ำฝักบัวจะดีกว่า ไม่ควรอาบน้ำร้อนจัด การเช็ดตัวให้ใช้วิธีซับ ไม่ควรเช็ดหรือถูแรงๆ ไม่ควรใส่เสื้อผ้าขนสัตว์ที่หนา ควรใส่เสื้อผ้าฝ้ายทอโปร่งๆ ให้พยายามระงับสติอารมณ์ไว้ อย่าเครียดอย่าเกาบริเวณที่คัน
- ไม่ควรเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่มีขนเช่น สุนัข และแมว ไม่มีสุนัขพันธุ์ใดที่ไม่กระตุ้นโรคภูมิแพ้ ความเข้าใจที่ว่าโรคภูมิแพ้เกิดจากขนสุนัขนั้นผิด ที่จริงสารก่อภูมิแพ้ในสุนัขนั้นคือโปรตีนที่อยู่ในเศษขี้ไคล น้ำลาย และฉี่ ซึ่งสุนัขทุกตัวมีโปรตีนเหล่านี้ คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ที่ต้องการเลี้ยงสุนัขจริงๆ อาจต้องปรึกษาแพทย์ และไม่ควรให้สุนัขเข้าห้องนอน ควรอาบน้ำให้สุนัขทุกสัปดาห์ ไม่ควรใช้พรมปูพื้นเพราะทำความสะอาดยาก
- เก็บตุ๊กตายัดนุ่น และตุ๊กตาที่มีขนปุยออกไปให้หมด รวมถึงหมอนที่ยัดด้วยขนนก ควรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝุ่นละออง สารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรม ควันไอเสีย สเปรย์ น้ำมันเพราะสารเหล่านี้กระตุ้นให้ผื่นผิวหนังกำเริบได้
- ระวังไม่ให้เป็นหวัดหรือโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอื่นๆ เพราะการอักเสบติดเชื้อเหล่านี้ทำให้ความต้านทานของผิวหนังต่ำลง และผิวหนังอักเสบกำเริบง่ายขึ้น พยายามไม่เข้าใกล้คนที่เป็นเริม เพราะผู้ป่วยที่มีผิวหนังอักเสบจากโรคผิวหนังภูมิแพ้อยู่แล้วอาจได้รับเชื้อไวรัสเริม และเกิดการติดเชื้อเริมลุกลามได้มาผิดปกติ
- พยายามควบคุม และระงับสติอารมณ์ไว้ อย่ามีความเครียดมากเกินไปพบได้บ่อยว่าผื่นผิวหนังกำเริบเมื่อผู้ป่วยเครียด พ่อแม่ผู้ปกครองเด็กก็ต้องไม่เครียดและวุ่นวายมากเกินควร พยายามอย่าเกาบริเวณที่คัน เพราะการเกาผิวหนังทำให้ผิวหนังถลอก และเกิดการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียตามมาได้
- ผู้ป่วยโรคนี้ และผู้ปกครองต้องเข้าใจว่า แม้ว่าโรคนี้จะก่อให้เกิดความน่ารำคาญเพียงใดก็ตาม โรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรงถึงชีวิต จึงควรยอมรับสภาพความเป็นจริงที่จะมีชีวิตอยู่กับโรคนี้ให้ได้ พยายามมองในแง่ดีว่าโรคนี้ในที่สุดมักจะดีขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น
เนื่องจากโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งส่วนของพื้นทางพันธุกรรมที่มีในตัวผู้ป่วยเอง หรือคนในครอบครัวที่มีโรคภูมิแพ้ ปัจจุบันจึงไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ เช่น อาหารบางอย่าง สภาพอากาศ สิ่งระคายเคือง เช่น สารเคมี น้ำหอม สบู่ แป้ง ผงซักฟอก ตัวไรฝุ่น เหงื่อ เนื้อผ้าที่ระคายผิว การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา การเกาและความเครียด จะสามารถป้องกันการเกิดผื่น และลดความรุนแรงของผื่นได้
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- ป้องกันผิวลูกจากลมหนาว
- 7 ปัญหาผดผื่นในเด็กแรกเกิด ที่พ่อแม่ควรรู้!
- โรคหน้าหนาว ที่ทุกคนในครอบครัวต้องระวัง
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.bangkokhealth.com
Save