สังเกตลูกให้ดี ลูกมีเม็ด ตุ่ม หรือสะเก็ดขึ้นบริเวณขอบปากไหม? ถ้าใช่! ลูกอาจเป็นโรค ปากนกกระจอก ได้!
“คุณแม่ครับ…คุณแม่ครับ ปากผมเป็นอะไรก็ไม่รู้ อ้าปากกว้าง ๆ ไม่ได้ แถมมีเลือดออกด้วยครับ เจ็บมาก” พอสิ้นคำพูดลูกเท่านั้นแหละ คนเป็นแม่หรือจะอดใจไม่ดูไม่ได้ … รีบลุกขึ้นดูทันที อุ้ย!! ตายแล้ว ไม่ธรรมดาจริง ๆ ด้วย แผลแบบนี้ อาการแบบนี้ นี่มันโรคที่ฉันเองก็เคยเป็นตอนเป็นเด็กนี่นาและนั่นก็คือโรค “ปากนกกระจอก” นั่นเอง
ว่าแล้วก็นึกได้ว่ามีคำโบราณเคยบอกว่า ให้รักษาด้วยการขโมยน้ำตาลปี๊บในตู้เย็นมาแอบทาปาก แต่ครั้นจะไปหยิบมาให้ลูกทาเลยก็กลัวว่าคำโบราณจะไม่ขลัง เดี๋ยวไม่หาย … ทำไงดีละทีนี้ … เอาเป็นว่าขอหาข้อมูลก่อนแล้วกันว่า โรคนี้เกิดจากอะไร อาการเป็นแบบไหน แล้วจะมีวิธีการรักษาแบบอื่นหรือไม่ โดยสรุปแล้วมีรายละเอียดดังนี้
ปากนกกระจอก เกิดจากอะไร?
ปากนกกระจอกนั้นเขามีชื่อเรียกภาษาอังกฤษกันว่า Angular Cheilitis เป็นภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นบริเวณมุมปาก อาการเบื้องต้นที่เห็นก็คือ ปากแห้ง ปากแตก ปากเป็นแผล มีรอยแดง บวม หรือตึงบริเวณมุมข้างในข้างหนึ่งหรืออาจจะทั้งสองข้างเลยก็ได้ค่ะ ซึ่งอาการดังกล่าวนั้นจะเป็นอยู่ประมาณ 3 – 5 วันแล้วแต่ บางคนเป็นนาน 7 วันเลยก็มี
สาเหตุของการเกิด
คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านอาจจะอยากรู้กันแล้วใช่ไหมละคะว่า ปากนกกระจอก นั้นเกิดจากอะไร แน่นอนค่ะว่า เกิดจากการที่ร่างกายของลูกนั้นขาดวิตามินบี แต่นอกจากการขาดวิตามินแล้ว ยังเกิดจากสาเหตุอื่นได้อีกด้วยนะคะ ดังนี้
- โรคผิวหนัง ยกตัวอย่างเช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก โรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม ซึ่งเป็นสาเหตุของโรค ปากนกกระจอก ที่พบได่บ่อยที่สุด
- การขาดสารอาหาร อันเกิดจากการที่ร่างกายขาดวิตามินบี 2 หรือไรโบฟลาวิน การขาดธาตุเหล็ก วิตามินซี และโปรตีน เป็นต้น
- การติดเชื้อโรคบางชนิด เช่น เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส เช่นเชื้อเริมที่ริมฝีปาก เป็นต้น
- ภาวะน้ำลายออกมากกว่าปกติ ยกตัวอย่างเช่น การนอนหลับน้ำลายไหลเป็นประจำ หรือเด็กบางคนที่เวลาพูดแล้วชอบมีน้ำลายเอ่อ หรือน้ำลายไหลตลอด ซึ่งอาการดังกล่าวส่งผลทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนังบริเวณมุมปากจนเกิดเป็นแผลได้ง่ายกว่าปกติ เป็นต้น
- การแพ้หรือระคายเคือง เช่น แพ้อาหาร หรือแพ้ยาสีฟัน
- ริมฝีปากแห้งมากเกินไป ทั้งนี้มาจากการที่ชอบเลียปากหรือเกิดจากการที่อาการหนาวเย็น ซึ่งภาวะนี้จะพบได้บ่อยในช่วงฤดูหนาว
- สาเหตุอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายบกพร่อง ความเครียด หรือแม้แต่การถ่ายทอดทางพันธุกรรม เป็นต้น
อาการของโรค
อาการของโรคปากนกกระจอกที่สามารถพบได้นอกจากจะเกิดอาการระคายเคือง เจ็บปาก และปวดแสบปวดร้อนบริเวณมุมปากแล้ว ยังจะสามารถมีอาการอื่นร่วมด้วยดังนี้
- มีรอยแดงและเลือดออก
- เกิดตุ่มพองขึ้นมา เป็นแผล มีของเหลวไหลเยิ้มออกมา หรือเกิดสะเก็ดแผลที่มุมปาก
- ปากลอก รวมทั้งแห้งและแตกโดยปากอาจตึง ซึ่งทำให้รู้สึกไม่สบายปาก
- รู้สึกคันระคายเคืองบริเณมุมปากที่เป็น ทำให้ผู้ป่วยอาจรับประทานอาหารลำบากในกรณีที่เกิดอาการดังกล่าวอย่างรุนแรง อาจส่งผลให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอหรือน้ำหนักตัวลดลง
สำหรับวิธีการรักษานั้น มีมากมายหลากหลายวิธีเลยละค่ะ จะมีอะไรบ้างนั้น เราไปดูพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
- หากเกิดจากสาเหตุการขาดวิตามินบี 2 ให้คุณพ่อคุณแม่รักษาลูกด้วยการให้รับประทานวิตามินบี 2 หรือวิตามินบีรวมค่ะ หรือให้รับประทานอาหารประเภทข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินบีเป็นประจำทุกวัน
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ
- หากเป็นเด็กที่มีน้ำลายเยอะ ให้พยายามเช็ดมุมปากให้แห้งอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการอับชื้น
- พยายามให้ลูกเลิกเลียมุมปาก และริมฝีปาก เพราะการกระทำดังกล่าวจะยิ่งส่งผลทำให้เกิดการอักเสบของแผล และติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นได้
- หมั่นทำความสะอาดช่องปากด้วยการแปรงฟัน และบ้วนปากให้สะอาดหลังการรับประทานอาหารอยู่เสมอ
- หากลูกแพ้ยาสีฟัน ให้หยุดใช้ยาสีฟันชนิดนั้น และเปลี่ยนมาใช้ยาสีฟันตัวอื่นทันที
- หมั่นทำความสะอาดเครื่องนอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ้าห่ม ปลอกหมอน รวมไปถึงผ้าเช็ดหน้าที่ใช้เป็นประจำด้วยนะคะ
สำหรับวิธีที่คนโบราณแนะนำบอกต่อ ๆ กันมา ยกตัวอย่างเช่น การเอาน้ำตาลปี๊บทาปากนั้น บ้างก็ว่าทำให้ดีขึ้น บ้างก็ว่าเฉย ๆ ตรงนี้ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจริงเท็จเพียงใด หากใครสนใจจะทำอันนี้ก็ไม่ว่ากันค่ะ ไม่ได้มีข้อห้ามอะไรระบุเอาไว้ แต่ถ้าหากพบว่า ลูกเป็นนานแล้วไม่หายเสียที ตรงนี้แนะนำให้พาลูกไปพบแพทย์จะดีที่สุดค่ะ
- เริมที่ปาก อันตรายแฝงใกล้ตัวจากการลองเทสเตอร์ลิปสติก
- หมอเตือนเฝ้าระวัง! โรคมือเท้าปากในเด็ก ระบาดหนัก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่