ลูกผมร่วง …อาการผมร่วงในเด็กเกิดจากสาเหตุหลายประการ ซึ่งแต่ละสาเหตุก็มีอาการและวิธีรักษาที่แตกต่างกันไป คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจจะไม่ได้สังเกตว่าลูกผมร่วง บางคนร่วงน้อย บางคนร่วงมาก แต่สำหรับทารกที่มีผมน้อยอยู่แล้ว พ่อแม่มักจะสังเกตเห็นมากกว่าทารกที่มีผมหนาว่าตั้งแต่เกิดมาผมลูกบางลงมาก
แม่แชร์ประสบการณ์ ลูกผมร่วง ทั้งคิ้วและขน
เพราะป่วยเป็นโรคอะโลพีเซีย ยูนิเวอซัลลิส
โดยเด็กทารกบางคน พ่อแม่จะเริ่มสังเกตเห็นว่าผมบางหรือหนาตอนหลังโกนผมไฟไปแล้ว (เด็กบางคนก็ไม่ได้โกน) บางคนก็ว่าโกนผมแล้วผมจะหนามากกว่าเดิม ซึ่งก็แล้วแต่ความเชื่อ แต่เรื่องผมร่วงในเด็กนั้น ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเกิดจากฮอร์โมน และถือว่าเป็นวงจรของการเจริญเติบโตของหนังศีรษะอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเด็กคนไหนผมร่วงออกมาเป็นกระจุก ผมร่วงเร็วอย่างเห็นได้ชัด และร่วงลงในเวลาอันรวดเร็ว อาการแบบนี้ถือว่าผิดปกติ ต้องรีบปรึกษาคุณหมอทันที เพราะอาจจะเกิดจากการติดเชื้อ หรือเป็นโรคแทรกซ้อนบางอย่าง
เช่นเดียวกับคุณแม่ท่านนี้ ที่สังเกตเห็นลูกน้อยผมร่วงผิดปกติ โดยได้มาเล่าประสบการณ์ผ่านเฟซบุ๊กใช้ชื่อว่า วนิดา ชัยสิทธิ์ เจ้าหญิง ถึงเรื่องราวของลูกชายซึ่งปัจจุบันอายุ 1 ขวบ โดยน้องชื่อว่า น้องมิกกี้ ซึ่งป่วยเป็น โรคอะโลพีเซีย ยูนิเวอซัลลิส (alopecia universalis) เป็นโรคผมร่วง ซึ่งเกิดจากภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยคุณแม่ของน้องมิกกี้เล่าว่า
มีโรคอย่างนี้ด้วยเหรอ โรคนี้ไว้ใจไม่ได้จริงๆ น้อยคนถึงจะไม่เป็น 10 ใน 100 เลยล่ะค่ะ ทางการแพทย์ยังสรุปไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นและทำไมถึงเกิด แค่สันนิษฐานว่าเกิดความบกพร่องทางร่างกายค่ะ อ่านหน่อยนะคะแบ่งปันประสบการณ์กัน และต้องรู้จักสังเกตลูกดีๆนะคะ
…อยากทราบว่า แม่ๆเคยได้ยินชื่อโรคนี้กันบ้างไหม เริ่มด้วยน้องมิกกี้เป็นลูกคนที่ 2 ผช. และมีพี่สาว 4 ขวบ ตอนท้องน้องมิกกี้ก็ปกติทุกอย่าง จนกระทั่งผ่าคลอดและเลี้ยงเขามาเหมือนตอนเลี้ยงพี่สาวเขาทุกอย่าง ช่วงแรกเกิดขนคิ้วขนตามีปกติก็ปล่อยให้ผ่านไป พอ4-5เดือน ผมก็ร่วง แม่ก็คิดว่า ร่วงปกติก็ปล่อยให้ผ่านไป 8-9 เดือน
ผมก็เลยร่วงและดูเหมือนว่าจะเยอะขึ้นๆและสังเกตเห็นอีกว่า ขนคิ้วขนตาก็ร่วง แล้วก็พาไปพบหมอเด็ก ปกติหมอบอกไม่เป็นไรเป็นเรื่องปกติ แม่ก็เลยปล่อยให้ผ่านไปอีกครั้ง จนระยะที่มีแต่คนทักมาว่า โกนผมมาหรอ บ่อยมากจนขนคิ้วขนตาก็ร่วงจนหมดแล้ว
อ่านต่อ >> “แม่แชร์ประสบการณ์ ลูกผมร่วง เพราะป่วยเป็นโรคอะโลพีเซีย ยูนิเวอซัลลิส” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
จนน้องมิกกี้ครบ 11 เดือนจึงพาไปพบหมอผิวหนัง คราวนี้แหละค่ะหมอบอกถึงโรคที่ลูกเป็น แม่นี่ไม่ได้เตรียมใจไปก่อนเลยว่า ลูกเป็นโรคอะไร ตอนที่หมอบอกแม่หูอื้อไปหมด ขาอ่อน มึน งง นี่มันโรคบ้าอะไรทำไมถึงเกิดขึ้นกับลูก ชื่อโรคอะโลฟีเซียยูนิเวอร์ซัลลิส หรือผมร่วง ฟังๆดูแล้วไม่น่ากังวลแต่การดำเนินของตัวโรคชนิดนี้ของน้องมิกกี้คือขั้นรุนแรงคือ ไม่มีผมและขนทั้งร่างกายและเป็นในเด็กเล็ก ซึ่งน้อยคนที่จะเป็นในช่วงอายุช่วงนี้
เมื่อรับการรักษาแล้วอาจจะมีผมขึ้นมาหรือไม่มีก็ได้ หรือมีแล้วก็อาจจะหลุดร่วงไปอีกก็ได้ทั้งผมและขน และน้องเป็นในเด็กเล็กมากเลยไม่มียากินใช้ได้แต่ยาทารักษาไปตามอาการดีหน่อยที่โรคนี้ไม่ถึงแก่ชีวิตแต่จะมีผลกับรูปลักษณ์ภายนอก
แล้วหมอก็แนะนำให้ปรึกษากับหมอเด็กเฉพาะทางโรคผิวหนังที่ รพ.ศิริราช ตอนนี้น้องมิกกี้ก็รักษามาได้ 3 เดือนแล้วค่ะ เหมือนจะดีขึ้น แต่ตอนนี้แม่ดูเหมือนว่าผมจะเริ่มๆร่วงอีกแล้วค่ะ ก็ได้แต่บอกกะตัวเองและลูกว่า ไม่เป็นไรลูกยังเด็กนักตอนนี้ยังไม่ชนะ เดี๋ยวพอโตขึ้นก็จะรักษาได้ดีกว่านี้เดี๋ยวเราก็จะชนะมันนะลูก …
ขอบคุณเรื่องราวและภาพจาก คุณแม่น้องมิกกี้ (วนิดา ชัยสิทธิ์ เจ้าหญิง)
♥ บทความแนะนำน่าอ่าน : อาหารที่ช่วยให้ลูกน้อยผมดกดำตั้งแต่อยู่ในท้อง
ตามปกติผมของคนเราจะร่วงเป็นประจำ หรือทุกวันอยู่แล้ว ซึ่งตามวงจรธรรมชาติของรากผม โดยจะมีประมาณ 5 -10 % ของจำนวนรากผมบนหนังศีรษะ ถ้าคิดเป็นจำนวนเส้นนั้นคงไม่มีใครมานั่งนับหรอกจริงไหม แต่สันนิษฐานไว้ประมาณ 50 – 100 เส้นต่อวัน เริ่มจากหนูน้อยในวัย 3 – 4 เดือนแรก ผมอาจหลุดร่วงได้ตามปกติ เพราะร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน เซลล์ของผมก็มีการผลัดใบเพื่อสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ค่ะ แต่ถ้าหลัง 6 เดือนไปแล้ว ผมของทารกยังร่วงจนผิดปกติ ก็คงต้องดูสาเหตุว่าเกิดจากอะไรทั้งจากแชมพูที่ใช้ประจำ หรือไม่ก็เกิดจากอื่นๆ
Good should know : อาการผมเว้าแหว่ง เห็นแล้วเหมือนโดนหนูแทะ มีสาเหตุสำคัญมาจากการเสียดสีผมและศีรษะของเด็ก เช่น ที่นอน ผ้าปู สีไปสีมาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เส้นผมก็จะหลุดง่าย เพราะรากผมเด็กยังอ่อน ไม่แข็งแรง นานเข้าจึงร่อนหายไปเป็นแถบ และเกิดอาการร่วงเป็นหย่อมๆ โบราณอาจเรียกว่า โดนผ้าอ้อมกัด วิธีแก้ คุณแม่อาจเปลี่ยนท่านอนให้ลูกน้อยเป็นท่านอนตะแคง หรือนอนคว่ำให้พอเพียงกัน ส่วนเรื่องที่เว้าๆ แหว่งๆ นั้น พอเจ้าหนูเกินขวบปีไปแล้ว ก็จะค่อยๆ ขึ้นมาเองได้ตามปกติ
ทั้งนี้ อาการผมร่วงในเด็กเกิดจากสาเหตุหลายประการ แต่ละสาเหตุก็มีอาการและวิธีรักษาที่แตกต่างกันไป
- อะโลพีเซีย อารีอาต้า (alopecia areata) หรือโรคผมร่วงเป็นหย่อม เป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุด เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำปฏิกิริยากับการเติบโตของเส้นผม
วิธีรักษา ไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะ 60 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่มีอาการนี้จะมีผมงอกมาใหม่เองใน 12 เดือน หรือหากคุณกังวลใจ ลองปรึกษากับแพทย์ผิวหนังก็ได้
- สาเหตุทางกายภาพ จากการรัดผมหรือถักเปียที่แน่นเกินไป หรือหวีผมแรงๆ
วิธีรักษา คุณควรดูแลเส้นผมและหนังศีรษะของลูกอย่างนุ่มนวลจนกว่าผมใหม่จะเกิดขึ้น คำนึงอยู่เสมอว่าเส้นผมของเด็กนั้นเล็กและบอบบางกว่าผู้ใหญ่ ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมที่อ่อนละมุนเป็นธรรมชาติและหวีผมเพียงเบาๆ
- โรคกลากที่หนังศีรษะ เป็นอาการติดเชื้อที่พบได้มากในเด็กจากการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น หวี เป็นต้น เชื้อราจะส่งผลให้รากของเส้นผมอ่อนแอ เกิดผื่นที่ศีรษะเป็นวง รวมทั้งมีสะเก็ดหรือรังแคร่วมด้วย
วิธีรักษา ควรให้ลูกรับประทานยาที่แพทย์สั่งประกอบกับการใช้แชมพูชนิดอ่อนโยนต่อเนื่องกันประมาณ 3 สัปดาห์
- ทรัยโคทิลโลมาเนีย (trichotillomania) หรืออาการถอนผมตัวเอง เด็กจะชอบดึง ทึ้ง ถอนผมตัวเองจนหลุดร่วงหรือแหว่ง ซึ่งอาจเกิดจากความเครียด ความกลัว หรือกังวล อาการนี้อาจลามไปถึงการดึงขนตาและขนคิ้วได้ด้วย
วิธีรักษา ขั้นต้นควรแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยลองใช้เบบี้ออยล์ทาผมลูกให้ลื่นเพื่อให้ดึงทึ้งได้ยากขึ้น แต่ที่สำคัญอย่าลืมหาสาเหตุที่ทำให้ลูกเครียดจนถึงขนาดอยากดึงผมตัวเอง พร้อมกับพูดคุยรับฟังลูกอย่างเปิดกว้างใจเย็น เพื่อขจัดปัญหาที่ต้นตอ
อ่านต่อ >> “อาการผมร่วงในเด็กและวิธีการรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อม” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องที่คุณแม่น้องมิกกี้เล่ามานั้น นพ.ประวิตร พิศาลบุตร แพทย์โรคผิวหนัง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ลักษณะดังกล่าวเป็นโรคผมร่วงแบบเป็นหย่อม (alopecia areata) มักพบในวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โรคนี้พบได้บ่อย ประมาณว่าตลอดทั้งช่วงชีวิตแต่ละคนมีโอกาสร้อยละ 2 ที่จะเป็นโรคนี้
ปัจจุบันนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา พบว่าโรคนี้เกิดจากความผิดปกติของหน่วยพันธุกรรมหรือยีน 8ตำแหน่ง ตัวที่สำคัญที่สุดคือยีน ULBP3 ยีนกลุ่มนี้นอกจากทำให้ผมร่วงแล้วยังเกี่ยวข้องกับโรคอื่นๆ คือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งเป็นชนิดที่ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้
ผมร่วงแบบเป็นหย่อมนี้ปกติมีขนาดกว้าง 1-3 เซนติเมตร อาจแลดูคล้ายเหรียญบาท หนังศีรษะจะเรียบปกติ ไม่มีอาการบวมแดง หรือมีสะเก็ด และไม่มีแผลเป็น ความรุนแรงของโรคสามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ระดับคือ
- Alopecia areata – จะมีผมร่วงเป็นหย่อมๆ อาจมีจุดเดียวหรือหลายจุดก็ได้
- Alopecia tatalis – ผมร่วงมากจนทั่วทั้งศีรษะ
- Alopecia universalis – ผมร่วงทั่วทั้งตัวตั้งแต่ ศีรษะ, ขนคิ้ว, ขนตามตัว, ขนรักแร้
และพบว่าโรคนี้อาจเป็นซ้ำได้ และความเครียดบางครั้งก็อาจทำให้ผมร่วงได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามสาเหตุของผมร่วงก็มีหลายอย่าง ซึ่งบางอย่างก็รักษาให้หายขาดได้ เช่น ผมร่วงจากการติดเชื้อ
√ วิธีการรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อม
- ในรายที่เป็นเพียงเล็กน้อย คือเป็นเพียงแค่จุดเดียวเล็กๆ และไม่มีการลุกลามของโรค สามารถปล่อยไว้ให้ผมงอกกลับขึ้นมาเองได้ภายในระยะเวลา 2-3 เดือน แต่หากกังวลมากอาจใช้ยาทาประเภท steroid ร่วมด้วยแต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลโดยแพทย์
- ในรายที่เป็นไม่มาก แต่มีการลุกลามของโรค (มีการขยายตัวของโรค) การรักษาจะมีการฉีด steroid เข้าไปบริเวณโรคเพื่อหยุดยั้งการลุกลามของอาการผมร่วง และทำให้ผมงอกมาใหม่บริเวณที่เคยร่วงไป
- ในรายที่เป็นขั้นรุนแรง (tatalis หรือ universalis) การใช้ยาทาเฉพาะจุดจะไม่สามารถรักษาได้จะต้องใช้การรับประทานยาจำพวก steroid หรือ cyclosporix แต่ทั้งสองชนิดนี้จะต้องรักษาโดยแพทย์และต้องอยู่ภายใต้การดูแลโดยแพทย์อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ นพ.ประวิตร ยังกล่าวอีกว่า การรักษาผมร่วงแบบเป็นหย่อมอาจค่อนข้างยาก ในบางรายอาจเป็นซ้ำซากทำให้ผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวลมากเกินไป นั่นอาจยิ่งทำให้ผมร่วงมากขึ้น โรคผมร่วงมีความสัมพันธ์กับจิตใจโดยโรคผมร่วงแบบเป็นหย่อมอยู่ในกลุ่มที่เป็นโรคผิวหนังโดยตัวเองอยู่แล้ว แต่ปัจจัยทางอารมณ์และความเครียดกระตุ้นให้โรคกำเริบ และยังอยู่ในกลุ่มโรคผิวหนังเป็นตัวทำให้จิตป่วยเพราะมีลักษณะภายนอกไม่น่าดู หรือน่ารังเกียจ
ถึงแม้จะอยู่ในช่วงวัยเด็ก แต่หากเกิดปัญหาเกี่ยวข้องกับเส้นผม พ่อแม่ไม่ควรปล่อยปะละเลย ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อแก้ปัญหาโดยด่วน เพราะไม่เช่นนั้น ปล่อยเกี่ยวกับเส้นผมเพียงเล็กน้อย อาจลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไขได้ยากเหมือนกัน
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- เช็กพัฒนาการตามวัยของลูก! กับคู่มือสำหรับส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด -5 ปี
- 10 เทคนิคพาเจ้าเตาะแตะไปตัดผม ให้ราบรื่น
- โกนผมไฟ ประเพณีไทยทำอย่างไรให้เป็นมงคล?
- ทำกิ๊บติดผมสุดน่ารัก แบบง่ายๆ ให้ลูกน้อย
ขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 376 (www.doctor.or.th/article/detail/11022)
ขอขอบคุณ นพ.สมศักดิ์ ภักดีวงศ์ นายแพทย์ประจำนครหลวงการแพทย์ – คลีนิกรักษาผมร่วง คลินิกปลูกผม (www.xn--12cfan1gua9andn3au6hqayo84a.com/2016/06/alopecia.html)