AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

3เก็บ ป้องกัน 3โรคจาก ยุงลาย รีบทำก่อนลูกป่วย!!

3เก็บป้องกัน 3 โรคจาก ยุงลาย

กระทรวงสาธารณสุขเตือนหน้าฝนมาพร้อมกับโรคร้ายจาก ยุงลาย แนะมาตราการ 3เก็บ 3โรค มาดูวิธีป้องกันไว้ดีกว่าแก้ ลูกป่วย นอนโรงพยาบาล ทุกข์กายทุกข์ใจทั้งลูกทั้งคุณ

3เก็บ ป้องกัน 3โรคจาก ยุงลาย รีบทำก่อนลูกป่วย!!

Aedes หรือยุงลาย เป็นสกุลของยุง ซึ่งดั้งเดิมกระจายพันธุ์ในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน แต่ปัจจุบันเพราะกิจกรรมของมนุษย์ ยุงลายบางสปีชีส์กระจายทั่วทุกทวีป ยกเว้นทวีปแอนตาร์กติกา เราจะจำแนกรู้ว่าเป็นยุงลาย โดยสังเกตได้ง่ายจาก ลายสีดำสลับขาว ตามลำตัวและขา และอีกเอกลักษณ์สำคัญอีกอย่างของมัน คือ มักตื่นตัวและกัดเฉพาะในกลางวัน ซึ่งต่างจากยุงสกุลอื่น ที่มักกัดบ่อยในตอนเช้าและพลบค่ำ

ยุงลาย มีมากกว่า 700 สปีชีส์ บางสปีชีส์เป็นพาหะของปรสิตก่อโรคระบาดร้ายแรงหลายโรค โดยที่สำคัญได้แก่ ไข้เลือดออก, ไข้เหลือง, โรคเท้าช้าง, ไข้ซิก้า, โรคชิคุนกุนยา, ไข้ไนล์ตะวันตก และ ไข้สมองอักเสบม้าตะวันออก

ยุงลาย ยุงร้าย นำพา 3 โรคอันตราย

สำหรับโรคที่มักพบบ่อยของคนไทยที่มาจากยุงลาย คงหนีไม่พ้น 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า และโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา ซึ่งทั้ง 3 โรคเป็นโรคที่มีอันตรายอาจถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก พ่อแม่จึงไม่ควรมองข้ามเห็นเป็นแค่ยุงกัด คงไม่มีอันตรายใด ๆ ทาง ทีมแม่ ABK  อยากขอเตือนว่า “โปรดอย่ามองข้ามความปลอดภัย มองข้ามอันตรายจากยุงลาย” มาร่วมตระหนักถึงภัยร้าย จากเจ้ายุงตัวเล็ก ๆ ที่นำพาโรคร้ายมาสู่ครอบครัวเราจากคลิปเตือนภัยนี้กันสักหน่อย

ขอขอบคุณคลิปดี ๆ จาก รู้ทัน กันโรค

3 โรคอันตราย ที่มาจากยุงลาย

1. โรคไข้เลือดออก

เป็นโรคที่เรารู้จักกันมานาน ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มียารักษาเฉพาะ และยังพบการระบาดอยู่เป็นระยะ ในอดีตโรคนี้มักพบในเด็ก แต่ในปัจจุบันสามารถพบในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ได้มากขึ้น

โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่พบมากในไทย จากรายงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 24 สิงหาคม 2563 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 47,738 ราย เสียชีวิต 32 ราย (ผู้ป่วยเฉพาะช่วงหน้าฝน เดือนมิ.ย. – 24 ส.ค. 63 รวมจำนวน 29,814 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 62 ของผู้ป่วยทั้งหมด) กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คืออายุ 15-24 ปี (ร้อยละ 26.22) อายุ 10-14 ปี (ร้อยละ 22.25) และอายุ 25-34 ปี (ร้อยละ 13.14)

ระยะของโรค

  1. ระยะไข้สูง  ระยะนี้ผู้ป่วยจะมีไข้สูงร่วมกับอาการต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น ระยะนี้จะใช้เวลาราว 3-7 วัน เมื่อได้รับยาลดไข้ ไข้ก็จะลง หลังจากหมดฤทธิ์ยา ไข้ก็จะกลับสูงขึ้นอีก ในระยะนี้ถ้าไม่มีเลือดออกมาก โดยปกติไม่ทำให้เกิดอาการที่รุนแรง ผู้ป่วยอาจดูซึมลง รับประทานอาหารได้น้อยลง ระยะนี้เป็นระยะที่ตรวจพบไวรัสเดงกีในเลือด และถ้ายุงมากัดผู้ป่วย ยุงก็จะเป็นพาหะของโรคต่อไป ดังนั้น การวินิจฉัยโรคในระยะนี้มักจะสังเกตจากอาการ หากต้องการยืนยันก็ต้องตรวจหาตัวเชื้อ ซึ่งปัจจุบันแพทย์จะเจาะตรวจหา NS1antigen ในช่วงที่มีไข้หลังวันที่ 3 ถ้าแพทย์ทำ Tourniquet test หรือการรัดแขน อาจพบจุดเลือดออกได้
  2. ระยะวิกฤต ในผู้ป่วยบางคนหลังไข้ลงแล้วจะเข้าสู่ระยะนี้ ซึ่งจะมีการรั่วของน้ำเหลืองออกนอกเส้นเลือด ทำให้มีอาการเหมือนสูญเสียของเหลวหรือเลือดจากร่างกาย ทำให้มีความดันเลือดต่ำจนถึงอาการช็อกได้ ผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่ายปลายมือปลายเท้าเย็น เด็กบางคนจะดูตัวลาย ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้มีอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว ซึ่งอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ในระยะนี้ผู้ป่วยบางคนอาจมีเลือดออกมาก (โดยเฉพาะจากทางเดินอาหาร) ทำให้อาการช็อกได้มากขึ้น ระยะนี้โดยทั่วไปจะใช้เวลาราว 1-2 วัน
  3. ระยะฟื้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่หลังระยะไข้สูงจะเข้าสู่ระยะนี้ทันที บางคนถ้าเข้าสู่ระยะวิกฤตแล้ว 1-2 วัน ก็จะเข้าสู่ระยะนี้ ผู้ป่วยจะเริ่มอยากรับประทานอาหารมากขึ้น มีผื่นแดงที่มีวงขาวขึ้นตามตัว มีอาการคันตามตัวและฝ่ามือฝ่าเท้า ระยะนี้เป็นระยะที่ผู้ป่วยกำลังจะหายจากโรคและเป็นระยะปลอดภัย

การรักษาโรค

ผู้ป่วยจะมีไข้เกือบตลอดเวลา การดูแลคือการให้รับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล และเช็ดตัวลดไข้ ควรหลีกเลี่ยงยาลดไข้ชนิดอื่น เช่น กลุ่มแอสไพรินหรือไอบูโพรเฟน เพราะจะทำให้มีโอกาสเลือดออกมากได้ หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียน สามารถให้ยาลดอาการคลื่นไส้อาเจียน พยายามกระตุ้นให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือแร่ โดยอาจดื่มทีละน้อยและบ่อย  ๆ ถ้าพอรับประทานอาหารได้ ให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย ในระยะนี้อาจดูแลรักษาเองที่บ้านได้ และให้สังเกตอาการที่ต้องรีบไปโรงพยาบาล ได้แก่ ปวดท้องมาก อาเจียนมาก ดูซึมลง มีเลือดออกมาก หรือมีอาเจียนเป็นเลือด

ยุงลาย ยุงร้าย

2.โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า

ระยะฟักตัวของโรคไข้ไวรัสซิก้า ใช้เวลาประมาณ 3 – 12 วัน อาการของโรคไข้ซิกา คล้ายกับโรคที่เกิดจาก อาร์โบไวรัส (Arbovirus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่มีแมลงเป็นพาหะนำโรค เช่น โรคไข้สมองอักเสบ โรคไข้เหลือง และโรคไข้เลือดออก เป็นต้น โดยมีอาการไข้ มีผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อาการเหล่านี้ปกติแล้วจะเป็นเพียงเล็กน้อย และอาการจะเป็นอยู่ประมาณ 2 – 7 วัน อย่างไรก็ตามยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด (Microcephaly) กับการติดโรคไข้ไวรัสซิก้า และต้องมีการค้นคว้าหาสาเหตุอื่นๆ ที่อาจมีผลให้เกิดภาวะดังกล่าวร่วมด้วย

เนื่องจากประเทศไทยเพิ่งเริ่มมีการเฝ้าระวัง ผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันหรือวินิจฉัยจึงยังน้อยอยู่ เราจึงต้องติดตามต่อไปว่าไวรัสตัวนี้มีผลระยะยาวต่อเด็กและแม่อย่างไรบ้าง รวมถึงการเฝ้าสังเกตว่าโรคนี้ทำให้เกิดอาการรุนแรงได้หรือไม่ กรณีพบเด็กที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสซิก้าซึ่งมีขนาดศีรษะเล็กผิดปกติ ในทางการแพทย์สามารถเสริมสร้างอะไรได้บ้าง เริ่มแรกต้องหาสาเหตุก่อนว่าจริง ๆ แล้วเด็กที่มีกะโหลกศีรษะเล็กผิดปกติเกิดจากอะไร ซึ่งถ้าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิก้าจริง ๆ (ซึ่งไวรัสซิก้าเกิดจากภาวะที่กะโหลกเล็กจากสมองที่เล็ก) การผ่าตัดจึงไม่มีบทบาทอะไรเนื่องจากความผิดปกติตั้งต้นที่สมอง การรักษาคงเป็นแบบประคับประคองหรือรักษาตามอาการ ในประเทศไทยยังไม่พบการระบาดของเชื้อนี้ชัดเจน เพียงให้ช่วยกันดูแลแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ถ้าไม่จำเป็นยังไม่ควรเดินทางไปในประเทศที่มีการระบาดของไวรัสนี้อยู่ ในอนาคตเราก็หวังว่าอาจมีวัคซีนป้องกันโรคไวรัสนี้ได้

การรักษาโรค

ผู้ป่วยโรคไข้ไวรัสซิก้า ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง จึงสามารถรักษาตัวได้โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ รักษาตามอาการ เช่น ใช้ยาลดไข้ หรือยาบรรเทาอาการปวด แนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอล ห้ามรับประทานยาแอสไพริน หรือยากลุ่มลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพราะมียาบางชนิดที่เป็นอันตรายสำหรับการเป็นโรคนี้ อาจทาให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น หากอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรปรึกษา และทำตามคำแนะนำของแพทย์

3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคชิคุนกุนยา

เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่มียุงลายสวนและยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค พบได้ทุกกลุ่มอายุ รวมทั้งเด็กเล็ก มีอาการคล้ายโรคไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก โดยทั่วไปเมื่อผู้ป่วยถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยากัด จะมีระยะฟักตัวของโรค 1-12 วัน แต่ที่พบบ่อยจะอยู่ที่ประมาณ 2-4 วัน และเมื่อครบระยะฟักตัวผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน โดยอาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ประมาณ 2-4 วัน และไข้จะลดลงอย่างรวดเร็วมีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย เนื่องจากเส้นเลือดฝอยในชั้นผิวหนังมีการขยายตัวอาจมีอาการคันร่วมด้วย บางรายอาจมีตาแดงอาการที่พบเด่นชัดในผู้ใหญ่นอกจากปวดข้อรุนแรงแล้ว อาจมีอาการข้ออักเสบร่วมด้วย เช่น ข้อมือ ข้อเท้า ข้อศอก ข้อเข่า เป็นต้นอาการปวดข้อจะพบได้หลายๆ ข้อ และเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ บางครั้งอาจรุนแรงมากจนไม่สามารถขยับข้อได้ โดยอาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปีแต่สำหรับในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าผู้ใหญ่

การรักษาโรค

โรคนี้ไม่มีการรักษาที่จำเพาะเจาะจงแต่เป็นการรักษาแบบประคับประคอง เช่น การให้น้ำเกลือ หรือการดูแลรักษาตามอาการเช่น ให้ยาลดไข้ (ห้ามใช้ยาแอสไพรินลดไข้เป็นอันขาดเนื่องจากจะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น)ยาบรรเทาอาการปวดข้อ  เช็ดตัวด้วยน้ำสะอาดเพื่อช่วยลดไข้ ดื่มน้ำและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการถูกยุงกัดเพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น

เฝ้าระวัง 3 เดือนอันตรายในหน้าฝน

เมื่อทราบอันตรายจากยุงลายกันดีแล้ว สิ่งต่อมาที่ควรใส่ใจ นั่นคือ ช่วงเวลาอันตรายที่เป็นช่วงเกิดความชุกของโรคที่เกิดจากยุงลาย คือช่วงหน้าฝน ที่กินระยะเวลาประมาณ 3 เดือน (เดือนมิ.ย.-ส.ค.) นับว่าเป็น 3 เดือนอันตรายที่พ่อแม่ต้องคอยหมั่นดูแล น้ำฝนที่ตกมาแล้วทำให้เกิดน้ำขังในภาชนะต่าง ๆ ในบ้านและพื้นที่โดยรอบ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายนั้น กรมควบคุมโรค จึงได้ออกเตือนประชาชนให้ช่วยกันสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์ และระมัดระวังป้องกันตนเอง พร้อมทั้งลูกหลานไม่ให้ถูกยุงกัด ด้วยโครงการ 3 เก็บ 3 โรค

3เก็บ3โรค ป้องกัน ยุงลาย

ชวนลูกร่วมกันทำ 3เก็บ ป้องกัน 3โรค ทำง่าย ปลูกฝังพฤติกรรมปลอดภัย

โครงการ 3เก็บ 3โรค นอกจากเป็นการช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตัวร้ายแล้ว หากคุณพ่อคุณแม่ลองชวนลูก ๆ มาร่วมกันทำตามวิธี 3 เก็บดังกล่าวแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังให้ลูกมีพฤติกรรมที่ดีต่อไปในอนาคตเรื่องการดูแลตนเองให้ปลอดภัยปลอดโรคอีกด้วย เพราะไม่มีการป้องกันใด ๆ ที่ดีไปกว่าการเริ่มที่ตัวเอง การป้องกันไม่ก่อให้เกิดโรคจากต้นเหตุ เป็นการสอนให้เขาเห็นตัวอย่างที่ดี และสามารถนำไปเป็นแนวทางกับเรื่องอื่น ๆ ได้อีกด้วย เมื่อลูกมีนิสัยทางสุขลักษณะที่ดี พ่อแม่ก็วางใจไม่ต้องกลัวลูกป่วยบ่อย ๆ เพราะเราไม่สามารถไปปกป้องเขาได้ตลอดเวลา

3 เก็บ มีอะไรบ้าง

  1. เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
  2. เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
  3. เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่
ขอขอบคุณคลิปดี ๆ จาก กลุ่มสื่อสารความเสี่ยง สคร.4 สระบุรี 

จะเห็นได้ว่า โรคที่มาจากยุงลายที่มีประวัติระบาดอยู่ในประเทศไทยนั้น แต่ละโรคล้วนแล้วแต่น่ากลัว คุณพ่อคุณแม่คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับลูกน้อย หรือคนในครอบครัวเป็นแน่ ไม่ว่าจะเป็นโรคใด ก็ล้วนแล้วแต่ทรมานทั้งทางร่างกาย และจิตใจไม่น้อย ดังนั้นการมาร่วมกันป้องกันการเกิดโรคย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่าอย่างแน่นอน เพราะเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ใกล้ตัวเรา นอกจากปลอดโรคแล้ว ยังได้บ้านอาศัยที่สะอาด และปลูกฝังพฤติกรรมถูกสุขอนามัยอันดีแก่ลูกได้อีกด้วย อย่ารอช้ารีบมาช่วยกัน 3 เก็บ 3 โรคไม่ยากเริ่มที่ตัวเรา

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก รพ.ราชวิถี / คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล /Wikipedia /สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย / กรมควบคุมโรค

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

โรคไข้เลือดออก วิธีสังเกตอาการและวิธีป้องกัน!

RSV อาการ เป็นแบบไหน ไวรัสอาร์เอสวี เกิดจากอะไร หน้าฝนทีไรมาทุกที

โรคเสี่ยงลูกป่วย ปี 63 รวมโรคเด็ก ที่พ่อแม่ต้องระวัง

15 คำถามข้องใจกับการ ล้างจมูก ให้ปลอดภัยในวัยเด็ก

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids