ลูกไม่นิ่ง ซน อยู่ไม่สุข เข้าข่าย โรคสมาธิสั้น หรือไม่? - Amarin Baby & Kids
โรคสมาธิสั้น

ลูกไม่นิ่ง ซน อยู่ไม่สุข เข้าข่าย โรคสมาธิสั้น หรือไม่? พ่อแม่ช่วยแก้ยังไง!

event
โรคสมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้น

แม้ความซนกับเด็กจะเป็นของคู่กันจนคุณพ่อคุณแม่อาจเห็นเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าลูกซนมาก อยู่ไม่นิ่ง ไม่มีสมาธิ มีอารมณ์หุนหันพลันแล่น แสดงว่าลูกเข้าข่ายเป็น โรคสมาธิสั้น หรือเปล่า ซึ่งปัจจุบันภาวะสมาธิสั้นใกล้ตัวลูกกว่าที่คิดด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง รวมถึงเด็กในยุคดิจิตอลมีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น ไอแพด แท็บเล็ต มือถือ และโทรทัศน์ เป็นเวลานาน ๆ หากรู้ทันก็จะช่วยป้องกันและรักษาได้ ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นพัฒนาการของลูกที่บางครั้งอาจบ่งบอกความผิดปกติ ไม่ควรปล่อยผ่านเมื่อเกิดความสงสัย

ลูกไม่นิ่ง ซน อยู่ไม่สุข เข้าข่าย โรคสมาธิสั้น หรือไม่? พ่อแม่ช่วยแก้ยังไง!

“โรคสมาธิสั้น” เรียกย่อ ๆ ว่า ADHD หรือ “Attention deficit hyperactivity disorder” เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมสมาธิและพฤติกรรมมีการทำงานลดลง ทำให้ขาดการควบคุมการเคลื่อนไหว มีลักษณะอาการซุกซน วอกแวกง่าย ไม่มีสมาธิ ไม่อยู่นิ่ง เวลาที่พูดด้วยจะไม่ตั้งใจฟัง ขาดความรับผิดชอบ และเก็บรายละเอียดไม่ค่อยได้ ซึ่งพบว่าเด็กวัยเรียนทั่วโลกเป็นโรคสมาธิสั้นประมาณ 7 % หมายความว่าในเด็กวัยเรียน 100 คน จะพบเป็นโรคสมาธิสั้น 7 คน ถ้าในห้องเรียนมีนักเรียนประมาณ 40 – 50 คน ก็น่าจะมีเด็กสมาธิสั้น 2 – 3 คน และพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง ซึ่งในประเทศไทยพบ 3-5% ของเด็กในวัยเรียน ช่วงอายุระหว่าง 3 – 7 ปี และอาการเหล่านี้ต้องเกิดก่อนอายุ 12 ปี ในรายที่แสดงอาการไม่มากจะสังเกตพฤติกรรมได้ชัดเจนขึ้นในหลังอายุ 7 ปีขึ้นไป เพราะเป็นช่วงที่ลูกเข้าโรงเรียน มีการบ้าน มีงานที่ต้องรับผิดชอบหลายอย่างในเวลาเดียวกัน รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและคุณครู ที่จะต้องรู้จักปรับตัวในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นและการเข้าสังคม โดยเด็กที่แสดงอาการจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน และการปรับตัวเข้าสังคม

ลูกสมาธิสั้น
ภาพนี้เป็นเพียงภาพประกอบบทความ ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

 สาเหตุของการเกิดภาวะสมาธิสั้น เกิดได้จากปัจจัยร่วมหลายปัจจัย ได้แก่

  • ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ พบว่าโรคนี้สามารถถ่ายทอดภายในครอบครัวได้ ถ้ามีพ่อหรือแม่ 1 คนเป็นโรคสมาธิสั้น พบว่าลูกจะเป็นโรคนี้ร้อยละ 57
  • ปัจจัยทางด้านระบบประสาท พบว่ามีการทำงานของสมองส่วนหน้าที่ผิดปกติ โดยเฉพาะบริเวณที่ทำงานเกี่ยวกับการคิด การวางแผน การจัดลำดับสิ่งต่าง ๆ และการควบคุมตนเอง รวมถึงมีสารในสมองที่สำคัญบางตัวน้อยกว่าคนปกติทั่วไป ที่ทำให้เป็นโรคสมาธิสั้นได้
  • ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น แม่ท้องสูบบุหรี่/ ดื่มสุราระหว่างตั้งครรภ์ เด็กที่มีประวัติการคลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่าเกณฑ์ ได้รับพิษสารตะกั่ว ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้เด็กมีโอกาสเป็นสมาธิสั้นด้วย
  • ปัจจัยทางด้านการเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อม เช่น ภายในครอบครัวมีการเลี้ยงดูที่ขาดระเบียบวินัย ตามใจ ไม่มีกฎระเบียบภายในบ้าน ไม่มีการควบคุมที่สม่ำเสมอ หรือความเห็นในการเลี้ยงดูที่ไม่ตรงกันของพ่อแม่ ซึ่งก็จะส่งผลทำให้เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมีอาการมากขึ้น หรือทำให้เด็กปกติดูมีอาการคล้ายสมาธิสั้น หรือที่เรียกว่า “สมาธิสั้นเทียม”
  • การใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น ไอแพด แท็บเล็ต มือถือ รวมถึงโทรทัศน์ เป็นเวลานาน ๆ โดยขาดการควบคุม พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกให้อยู่กับหน้าจอตลอดเวลาทั้งในบ้านและนอกบ้าน โดยยื่นอุปกรณ์เหล่านี้ให้เพื่อที่จะได้ไม่มารบกวน ทำให้ลูกนิ่ง ควบคุมได้ง่าย เด็กที่ใช้มือถือ สมาร์ทโฟนอยู่หน้าจอเป็นเวลานานมาก ๆ จะกลายเป็นเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า โดยเฉพาะด้านการพูดและการสื่อสาร ขาดทักษะสังคม ใจร้อน รอคอยอะไรไม่ได้ หงุดหงิดง่าย รวมถึงอาจมีปัญหาพฤติกรรมรุนแรงที่เกิดจากการเลียนแบบสิ่งที่ดูจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้อีกด้วย

โดยปกติโรคสมาธิสั้นที่แสดงพฤติกรรมชัดจะมีกลุ่มอาการหลัก 3 ด้าน ซึ่ง ในเด็กบางคนมีอาการซนและหุนหันพลันแล่นเป็นอาการเด่น แต่บางคนมีอาการขาดสมาธิเป็นอาการเด่น หรืออาจมีครบทุกอย่างเลยก็ได้ แต่ควรเริ่มเห็นอาการตั้งแต่ก่อนอายุ 12 ปี และ มีอาการในหลาย ๆ สถานที่ เช่น ทั้งที่บ้าน ในห้องเรียน สนามเด็กเล่น ฯลฯ ได้แก่

  • พฤติกรรมขาดสมาธิ มีสมาธิสั้น – มีอาการเหม่อลอย วอกแวกง่าย ใจลอย ไม่ได้ตั้งใจฟังเวลาที่คุณพ่อคุณแม่หรือครูที่โรงเรียนพูดด้วย พูดแล้วจะไม่ทำตาม หรือทำตามไม่ได้เพราะฟังคำสั่งไม่ได้ครบ เนื่องจากเด็กขาดสมาธิทำให้ไม่สนใจที่จะฟังประโยคยาวๆ ได้ไม่จบ ไม่สามารถรับความรู้ใหม่ ๆ ได้เต็มที่ ทำให้การเรียนได้ไม่ดี ทำการบ้านไม่เสร็จ ทำงานตามสั่งไม่ครบ หรือมีอการขี้ลืม ทำของหายได้บ่อย ๆ เพราะจำไม่ได้ว่าไปวางที่ไหน
  • พฤติกรรมซนมาก อยู่ไม่นิ่ง – เด็กจะวิ่งเล่นแบบไม่หยุด ไม่รู้เหนื่อย ไม่ยอมอยู่นิ่ง นั่งนิ่ง ๆ ไม่ได้ นั่งไม่ติดที่ ผุดลุกผุดนั่งตลอดเวลา ชอบเดินวนไปวนมา ต้องขยับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเสมอ และชอบพูดไม่หยุดและส่งเสียงดัง เล่นผาดโผน เล่นแรง ๆ แบบไม่กลัวเจ็บ จนทำให้เกิดอุบัติเหตุได้บ่อย และเป็นสาเหตุที่ไม่ค่อยมีเพื่อนกล้าเข้ามาเล่นด้วย
  • พฤติกรรมขาดความยับยั้งชั่งใจตนเองหุนหันพลันแล่น – เด็กจะไม่รู้จักการรอคอย มีความอดทนน้อย ใจร้อน วู่วาม ขาดความระมัดระวังในการทำสิ่งต่าง ๆ สังเกตได้จากการชอบพูดสวน พูดโพล่ง พูดแทรกขึ้นมา หรือชอบที่จะแซงคิว ถ้าต้องทำอะไรที่ช้า ๆ หรือนาน ๆ ก็จะไม่อยากทำหรือไม่อดทนพอที่จะทำสิ่งนั้น
โรคสมาธิสั้น (adhd)
ภาพนี้เป็นเพียงภาพประกอบบทความ ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

 เช็กลิสต์ลูกมีอาการเป็นเด็กสมาธิสั้นหรือเปล่า?

ข้อมูลจากโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้แนะนำว่าการสังเกตว่าลูกเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ ยังจำเป็นต้องพิจารณาจากระยะเวลาที่เป็น และสถานที่ที่เด็กมีอาการ กล่าวคือ

อาการขาดสมาธิ เด็กต้องมีอาการดังต่อไปนี้ 6 ข้อ (หรือมากกว่า) ติดต่อกันเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน โดยที่อาการต้องถึงระดับที่ผิดปกติและไม่เป็นไปตามพัฒนาการตามวัยของเด็ก ได้แก่

  • มักไม่สามารถจดจ่อกับรายละเอียดหรือไม่รอบคอบเวลาทำงานที่โรงเรียนหรือทำกิจกรรมอื่น
  • มักไม่มีสมาธิในการทำงานหรือการเล่น
  • มักดูเหมือนไม่ได้ฟังสิ่งที่คนอื่นพูดกับตนอยู่
  • มักทำตามคำสั่งได้ไม่ครบ ทำให้ทำงานในห้องเรียน งานบ้าน หรืองานในที่ทำงานไม่เสร็จ (โดยไม่ใช่เพราะต่อต้านหรือไม่เข้าใจ)
  • มักมีปัญหาในการจัดระบบงานหรือกิจกรรม ทำงานไม่เป็นระเบียบ
  • มักเลี่ยงไม่ชอบหรือไม่เต็มใจในการทำงานที่ต้องใช้ความคิด (เช่น การทำการบ้านหรือทำงานที่โรงเรียน)
  • มักทำของที่จำเป็นในการเรียนหรือการทำกิจกรรมหายบ่อยๆ (เช่น อุปกรณ์การเรียน)
  • มักวอกแวกไปสนใจสิ่งเร้าภายนอกได้ง่าย
  • มักหลงลืมทำกิจวัตรที่ต้องทำเป็นประจำ

อาการอยู่ไม่นิ่งหรือหุนหันพลันแล่น เด็กต้องมีอาการดังต่อไปนี้ 6 ข้อ (หรือมากกว่า) นานติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน โดยที่อาการต้องถึงระดับที่ผิดปกติและไม่เป็นไปตามพัฒนาการตามวัยของเด็ก ได้แก่

  • อาการอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity)
  • ยุกยิก อยู่ไม่สุข ชอบขยับมือและเท้าไปมา หรือนั่งนิ่ง ๆ ไม่ได้
  • มักลุกจากที่นั่งในห้องเรียนหรือในสถานการณ์อื่นที่เด็กจำเป็นต้องนั่งอยู่กับที่
  • มักวิ่งไปมาหรือปีนป่ายสิ่งต่าง ๆ ในที่ ๆ ไม่สมควรกระทำ
  • ไม่สามารถเล่นหรือทำกิจกรรมอย่างเงียบ ๆ ได้
  • มัก “พร้อมที่จะวิ่งไป” หรือทำเหมือนเครื่องยนต์ที่เดินเครื่องอยู่ตลอดเวลา
  • มักพูดมากพูดไม่หยุด
  • อาการหุนหันพลันแล่น (Impulsivity)
  • มักโพล่งคำตอบโดยที่ฟังคำถามไม่จบ
  • มักไม่ชอบการเข้าคิวหรือการรอคอย
  • มักขัดจังหวะหรือสอดแทรกผู้อื่น (ระหว่างการสนทนาหรือการเล่น)

อื่น ๆ

  • เริ่มพบอาการเหล่านี้ตั้งแต่ก่อนอายุ 7 ขวบ
  • พบความบกพร่องที่เกิดจากอาการเหล่านี้ในสถานการณ์อย่างน้อย 2 แห่ง เช่น ที่บ้านหรือที่โรงเรียน
  • อาการต้องมีความรุนแรงจนกระทั่งรบกวนการเรียน การเข้าสังคม หรือการทำงานอย่างชัดเจน
  • อาการไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยเป็น กลุ่มโรคที่มีความผิดปกติของพัฒนาการ (Pervasive Developmental Disorder), โรคจิตเภท Schizophrenia, กลุ่มอาการโรคจิต Psychotic Disorder และอาการต้องไม่เข้าได้กับอาการของโรคทางจิตเวชอื่น ๆ เช่น อารมณ์แปรปรวน, มีความวิตกกังวล, หรือความผิดปกติด้านบุคลิกภาพ (Personality Disorder)
ลูกสมาธิสั้น รักษาอย่างไร
ภาพนี้เป็นเพียงภาพประกอบบทความ ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

10 วิธีดูแลลูกสมาธิสั้นที่พ่อแม่ช่วยแก้ได้

เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นนั้น มีเพียง 15 – 20% เท่านั้นที่สามารถหายได้เองเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่อีกประมาณ 60% นั้นอาจไม่หายขาดและจะเป็นโรคนี้ไปจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ดังนั้นการหมั่นสังเกตอาการดังกล่าวหรือสงสัยว่าลูกเข้าข่ายสมาธิสั้นหรือเปล่า เพื่อรีบพาลูกเข้ารับการรักษาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะมีโอกาสหายจากโรคนี้ สำหรับการช่วยเหลือดูแลเด็กสมาธิสั้นนั้นจะต้องร่วมด้วยช่วยกันหลายฝ่ายทั้งตัวเด็กเอง พ่อแม่ผู้ปกครอง และครูที่โรงเรียน ในการปรับพฤติกรรมที่ต้องใช้หลายวิธีผสมผสานกันในการดูแล ร่วมกับการใช้ยาสมาธิสั้นในบางรายเพื่อให้ได้ผลการรักษาดีที่สุด อย่างไรก็ตามพ่อแม่ยังคงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในการเลี้ยงดูและช่วยปรับพฤติกรรมลูกเพื่อช่วยให้โรคสมาธิสั้นในเด็กดีขึ้นได้ ซึ่งการดูแลเบื้องต้นง่าย ๆ ที่พ่อแม่ช่วยแก้ได้ เช่น

1.พ่อแม่ต้องมีความตั้งใจที่จะร่วมมือกันในการปรับพฤติกรรมลูก ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งดูแลตามลำพัง เพื่อช่วยให้ลูกที่สมาธิสั้นมีอาการดีขึ้น หรือช่วยให้ลูกที่มีอาการสมาธิสั้นเทียมหายจากการมีอาการคล้ายสมาธิสั้น

2.ใช้การสื่อสารที่สั้น กระชับ ตรงไปตรงมา  เวลาพูดหรือออกคำสั่งให้ลูกทำ ควรให้ลูกได้สบตาพ่อแม่และให้หยุดกิจกรรมที่ทำอยู่ เมื่อพูดแล้วควรให้ลูกได้พูดทบทวนซ้ำ เพื่อเช็กว่าความเข้าใจว่าลูกได้รับฟังครบอย่างถูกต้องหรือไม่

3.จัดตารางเวลา สร้างวินัยให้ลูกกิน นอน เล่น เป็นเวลา ให้ลูกได้รู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไรบ้าง เพื่อเป็นการฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมตัวเอง ได้ช่วยเหลือตัวเองและรู้จักวางแผนแบ่งเวลาโดยที่ไม่ต้องให้พ่อแม่คอยเตือนซ้ำ ๆ ทุกวัน โดยในช่วงแรก ๆ พ่อแม่อาจจะต้องคอยดูแลกำกับจนลูกคุ้นเคย เมื่อมั่นใจว่าลูกสามารถทำซ้ำทุกวันได้แล้วก็ให้ปฏิบัติตามตารางที่จัดจนเป็นนิสัย

4.ปรับบรรยากาศภายในบ้านให้สงบ เวลาให้ลูกได้ทำการบ้านหรือทำกิจกรรมควรให้ลูกได้อยู่ในพื้นที่ที่สงบ ไม่มีเสียงโทรทัศน์ ไม่มีสิ่งเร้าส่งเสียงดังที่มาคอยกระตุ้นให้เด็กวอกแวกหรือเสียสมาธิ

ลูกสมาธิสั้น ทําไงดี
ภาพนี้เป็นเพียงภาพประกอบบทความ ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

5.หากิจกรรมสร้างสรรค์ที่เหมาะสม เช่น เล่นกีฬา ฟุตบอล ว่ายน้ำ ตีแบด ทำศิลปะ หรือการเล่นดนตรี เช่น เปียโน เป็นต้น ฯลฯ เพื่อให้ลูกได้ปล่อยพลังงาน  สร้างความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้เข้ากับธรรมชาติของเด็กสมาธิสั้นที่ไม่ชอบอยุ่นิ่ง อีกทั้งยังช่วยเสริมพัฒนาการ และสร้างความอบอุ่นภายในครอบครัว

6.หลีกเลี่ยงการเลี้ยงลูกด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยี เนื่องจากการอยู่กับหน้าจอนาน ๆ มีส่วนกระตุ้นให้เด็กสมาธิสั้นมากขึ้น ทำให้เด็กขาดสมาธิ และการควบคุมตนเอง อยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น และหากเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นอยู่ก่อนแล้วอาการจะยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรจำกัดเวลาในการดูสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือโทรทัศน์ ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรใช้เวลาอยู่หน้าจอ เด็กอายุ 3-5 ปี วันละไม่เกิน 1 ชั่วโมง/ วัน และอายุ 6-10 ปีไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมงครึ่ง/ วัน ควรจัดเวลาให้ลูกเล่นที่ชัดเจน และพ่อแม่ควรอยู่กับเด็กในขณะที่เล่นหรืออยู่หน้าจอเพื่อความเหมาะสม

7.ชื่นชมและให้รางวัล พูดให้กำลังใจเมื่อลูกทำได้ดีหรือให้รางวัลดวยการสะสมดาว เพื่อกระตุ้นให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดี หากมีการลงโทษควรใช้วิธีที่ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่พูดด่าทอรุนแรง

8.พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกเห็น ทั้งในเรื่องระเบียบวินัย การรอคอย รวมถึงไม่ควรใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เวลาอยู่กับลูก

9.ปรึกษาแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อทำความเข้าใจและขอคำแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง

10.สื่อสารกับครูที่โรงเรียน เพื่อร่วมกันช่วยกันปรับพฤติกรรม โดยเฉพาะวิธีพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กให้ดีขึ้นอย่างเหมาะสม

ภาวะสมาธิสั้นจำเป็นต้องทำการรักษา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและส่งผลเสียต่อตัวเด็ก การเข้าสังคมร่วมกับคนอื่น รวมถึงความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และเมื่อโตขึ้นเด็กสมาธิสั้นยังมีแนวโน้มที่จะเป็นคนขี้โมโห หงุดหงิดง่าย อ่อนไหวต่อคำพูดของคนอื่น การรักษาได้ทันท่วงทีจะช่วยลดความรุนแรงของโรคลงได้ ดังนั้นหากสงสัยว่าลูกเข้าข่ายอาการสมาธิสั้น หรือสมาธิสั้นเทียม ควรพาลูกเข้ารับการปรึกษาจากคุณหมอเพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องอย่างเหมาะสม หลังเข้ารับการรักษาจนหายขาดจากโรค ทำให้ลูกมีสมาธิที่ดีขึ้น มีผลการเรียนดีขึ้น ทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้อาการสมาธิสั้นของลูกดีขึ้นได้ คือความเข้าใจและการยอมรับของพ่อแม่ในอาการที่ลูกเป็นว่าเกิดจากการทำงานของสมองบางส่วนที่เสียสมดุลไป ทำให้เด็กไม่สามารถควบคุมตนเองได้เท่าที่ควร ไม่ได้เกิดจากนิสัยหรือการตั้งใจทำให้เกิดขึ้นเอง ซึ่งพ่อแม่จะต้องมีความอดทนเป็นอย่างสูง มีทัศนคติและให้แรงเสริมในเชิงบวกอยู่เสมอ ต้องให้เวลา ให้ความรัก ความอบอุ่นที่มีคุณภาพ ก็จะส่งผลให้การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้เด็กสามารถปรับพฤติกรรมได้อย่างเหมาะสม มีพัฒนาการด้านต่างๆ  ดีขึ้น และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้ในอนาคต ซึ่งก็จะทำให้คุณพ่อคุณแม่หายเหนื่อยและสบายใจมากขึ้นด้วย.

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.bangkokhospital.comwww.manarom.comwww.bumrungrad.com

อ่านบทความอื่นที่น่าสนใจ :

พ่อแม่ควรอ่าน! หากไม่อยากให้ ลูกเป็นโรคสมาธิสั้น

ไม่อยากให้ลูกเป็น “โรคสมาธิสั้น ADHD” หยุดหยิบยื่นสิ่งเหล่านี้

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up