AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

อุ้มโยน เขย่า ดึงแขน อันตรายกับลูกมากกว่าที่คิด

อุ้มโยนลูกแรงๆ เสี่ยง shaken baby syndrome

คุณพ่อ คุณแม่หลายท่านชอบจับลูก อุ้มโยนเขย่าดึงแขน ขึ้นสูงๆ แกว่งไปมาบ้าง โยกบ้าง เห็นลูกน้อยหัวเราะชอบใจก็คิดว่าชอบ แต่จริงๆ แล้วการกระทำเหล่านี้เป็นอันตรายต่อลูกน้อย คุณพ่อ คุณแม่อาจจะยังไม่ทราบถึงอันตรายที่อาจทำให้ลูกบาดเจ็บขั้นรุนแรงได้

 

เขย่าทารก อันตราย

“เธอช่วยทำยังก็ได้ให้ลูกมันเงียบเสียงซะทีเถอะ”

คุณพ่อบ้านผู้กำลังคร่ำเคร่งกับกองงานตรงหน้า บ่นอย่างหงุดหงิด หลังจากทนฟังเสียงลูกน้อยวัยแบเบาะร้องไห้ลั่นแบบไม่รู้จักหยุด

“เงียบ…เงียบได้แล้ว แหกปากอยู่ได้ บอกให้…เงียบๆๆๆ”

คุณแม่ตะเบ็งเสียงอย่างสุดกลั้น พร้อมสองมือยกลูกสาวตัวน้อยลอยเหนือเบาะรองนอน และแล้วหล่อนก็เขย่าลูกอย่างสุดแรง!!!  สิ่งที่ตามมาก็คือ ลูกสาวเงียบเสียงลงโดยพลัน! คุณแม่ จึงหันกลับไปทำงานบ้านต่อ คุณพ่อก้มหน้าพิมพ์งานต่อ สามชั่วโมงก็แล้ว สี่ชั่วโมงก็แล้ว ลูกน้อยก็ยังคงนอนนิ่ง ไม่ร้อง ไม่หิว

“หรือว่าเราจะเขย่าตัวลูกแรงเกินไป” คุณแม่เริ่มวิตก “แต่ไม่นะ ลูกคงร้องจนเพลียเลยหลับยาว”

เธอปลอบใจตัวเองเพื่อลดความรู้สึกผิด ส่วนคนเป็นพ่อก็ยังวุ่นอยู่กับงานที่กองสุมดั่งไม่รับรู้ใดๆ ในบ้าน

กระทั่งต้องอุ้มลูกไปโรงพยาบาล หลังจากที่คุณแม่หน้าซีดเผือดมาบอกว่า ลูกรักนอนแน่นิ่งไปกว่าหกชั่วโมงแล้ว! ทางโรงพยาบาลพบว่าเด็กมีอาการซึม ไม่สนองตอบต่อเสียง สนองตอบเล็กน้อยต่อความเจ็บ หายใจแค่สิบสี่ครั้งต่อนาที แถมชีพจรเต้นช้าเพียงหกสิบครั้งต่อนาที

คุณหมอช่วยให้ออกซิเจนผ่านทางหน้ากากและถุงลม แต่เด็กอาการไม่ดีขึ้น จึงใส่ท่อเพื่อช่วยการหายใจ คุณหมอตรวจตาพบว่าที่จอรับภาพนั้นมีเลือดออก เมื่อตรวจสมองด้วยเครื่อง MRI ก็พบว่า มีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง รวมทั้งระหว่างรอยแบ่งแยกของสมอง

นี่คือสิ่งที่น่าตกใจ และน่าเสียใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ อีกเพียงสามวันถัดมา….ลูกน้อยเสียชีวิต สาเหตุเนื่องจากเด็กถูกจับตัว และเขย่าอย่างรุนแรงจนเลือดออกในสมอง

อุ้มโยนเขย่าดึงแขน อันตรายกับลูก

 

ภาพกรณีตัวอย่างจาก bushywood.com เมื่อลูกน้อยถูกพ่อแม่อุ้มโยน เขย่าจนเป็น Shaken baby Syndrome

Shaken baby Syndrome

คลิปกรณีตัวอย่างเมื่อลูกน้อยร้องงอแง แล้วคุณพ่อจับตัวลูกมาเขย่า

Shaken Baby Syndrome คืออะไร?

โอกาสที่เกิดขึ้นโดยส่วนมาก จะเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ ซึ่งพบบ่อยในช่วงวัย 3 – 8 เดือน เกิดจากการเขย่าเด็กไปมาอย่างรุนแรง จนกระทบกระเทือนทางสมอง อาจทำให้ตาบอด เป็นอัมพาต ชักกระตุก ไปจนถึงเสียชีวิตได้

เด็กที่ตกอยู่ในภาวะ Shaken Baby Syndrome จำนวน 1 ใน 3 คน มักจะเสียชีวิต ที่เหลือรอดก็มีโอกาสตาบอด เป็นลมชัก หรือถ้ารอดก็มักมีปัญหาด้านการเรียนรู้ หรือสติปัญญาต่อไปได้

เคยมีกรณีที่ลูกน้อยเสียชีวิตเพราะโดนเขย่าอย่างรุนแรง จนเกิดอาการชัก หยุดหายใจเป็นช่วงๆ เนื้อตัวเขียว และสิ้นใจ เมื่อทีมแพทย์ทำการผ่าชันสูตรก็พบว่าเด็กมีเลือดออกในสมองจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ภายนอกไม่มีบาดแผล หรือริ้วรอยการถูกทำร้ายเลย

จากการศึกษาในประเทศแคนาดา พบว่าในกลุ่มทารกที่รอดชีวิตหลังจากที่ถูกสั่นหรือเขย่าอย่างรุนแรงและได้รับบาดเจ็บนั้น 10 ปีต่อมาพบว่า มีเพียง 7% เท่านั้นที่มีอาการปกติ ส่วน 12% นั้นยังอยู่ในขั้นโคม่า คือไม่สามารถพูด คิดหรือเคลื่อนไหวได้ และเป็นอัมพาต อีก 60% นั้นจัดอยู่ในขั้นไร้ความสามารถ (Disability) และจากที่กล่าวมาในกลุ่มที่รอดชีวิตนั้นร้อยละ 80 ต้องพึ่งการรักษาและช่วยเหลือไปตลอดชีวิต

 

อ่านต่อ ทำไมถึงอันตราย? และ 6 พฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยง” คลิกหน้า 2

ทำไมอุ้มโยน และเขย่าถึงอันตราย?

การอุ้มโยน และเขย่าลูกน้อยอย่างรุนแรง เปรียบได้กับการขับรถพุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว แล้วเหยียบเบรกกะทันหัน การถูกแรงเหวี่ยงอย่างรวดเร็ว เส้นเลือดใหญ่ในสมองที่ยังไม่แข็งแรงของลูกน้อย ทำให้เส้นเลือดเล็กๆ ที่เชื่อมต่อกันระหว่างเนื้อเยื่อของสมองฉีกขาด แล้วทำให้เลือดออก

ชมคลิปภาพจำลอง 3 มิติ เมื่อคุณพ่อ คุณแม่ เขย่าตัวลูกน้อย เริ่มตั้งแต่นาทีที่ 1

6 พฤติกรรมที่คุณพ่อ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยง

  1. หลีกเลี่ยงการอุ้มลูกน้อยขึ้นโดยจับใต้รักแร้ แล้วเขย่า หรือแกว่งไปมา
  2. หลีกเลี่ยงการอุ้มลูกน้อยโดยการโยน-รับ ขึ้น-ลง
  3. ถ้าให้ลูกน้อยนั่งบนตัก หรือนั่งบนไหล่ ต้องระมัดระวังไม่ให้ลูกน้อยล้มตัวลงไปด้านหลังอย่างกะทันหัน
  4. หลีกเลี่ยงการกอดลูกน้อย หรืออุ้มแล้วหมุนตัวอย่างรวดเร็ว
  5. เวลาอุ้มลูกน้อย ต้องใช้มือประคองศีรษะลูกน้อยไว้เสมอ
  6. เวลานั่งรถ เดินทางไปไหนก็ควรระวัง ไม่ให้ศีรษะของลูกน้อยเหวี่ยงไปมา

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเขย่าตัวลูกน้อย และควรบอกญาติ พี่น้อง หรือคนใกล้ชิด ให้ได้ทราบถึงผลกระทบที่ตามมาด้วย ถ้าไม่ระมัดระวัง ลูกน้อยอาจมีอาการผิดปกติ เช่น ร้องไห้ไม่หยุด เซื่องซึม ชักกระตุก อาเจียน ควรรีบพบคุณหมอโดยด่วน เพื่อตรวจร่างกายให้ละเอียด ก่อนที่จะสายเกินแก้ไข

ข้อศอกเคลื่อนจากการดึงแขนลูก

อาการข้อศอกเคลื่อนจากการดึงข้อศอกลูกพบได้ในเด็ก 2-4 ขวบ ซึ่งมักจะเป็นแขนซ้าย เกิดจากการดึงแขนขณะที่เหยียดข้อศอก และคว่ำมือ ทำให้หัวกระดูกหลุดออกมาจากเส้นเอ็นที่ยึดไว้ คุณพ่อ คุณแม่มักบอกว่าอยู่ดีๆ แขนลูกก็ไม่ขยับ อาจเป็นเพราะดึงแขนลูกเพื่อยกตัวลูกขึ้นมา จับมือกระชากให้เดิน และอุบัติเหตุหกล้ม

วิธีสังเกตลูกข้อศอกเคลื่อน

โดยปกติเด็กๆ จะไม่ปวด ไม่บวม ไม่ร้อน ยกเว้น เด็กไม่ยอมขยับแขน ไม่ยอมคว่ำหงายมือ และไม่ยอมเหยียดงอข้อศอก แขนจะอยู่ในท่างอศอกเล็กน้อย และคว่ำมือลง เด็กๆ อาจเอามือข้างหนึ่งมาพยุงข้างที่เป็น บางครั้งอาจร้องได้เพราะเจ็บ หรือกลัว

ดึงแขนทารก ข้อศอกเคลื่อนจากการดึงแขนลูก

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

จัดการส่วนที่บาดเจ็บของลูกอยู่นิ่งๆ มากที่สุด แล้วรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ อย่าพยายามขยับข้อศอกให้เข้าที่ด้วยตัวเอง เพราะอาจเกิดการผิดพลาด และบาดเจ็บมากกว่าเดิมได้ ระหว่างทางที่ไปหาคุณหมอให้ประคบเย็น เพื่อรักษาสภาพข้อศอกให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุด

การรักษาลูกข้อศอกเคลื่อน

คุณหมอจะดึงหัวกระดูกให้เข้าที่ ส่วนใหญ่ไม่ต้องใช้ยาระงับความรู้สึก เช่น ยาชา หรือยาสลบ เด็กจะเจ็บมากขณะดึง แต่ถ้าเข้าที่แล้วก็จะหายเจ็บ และขยับข้อศอก ขยับมือไปมาได้ปกติ บางรายอาจต้องรอ 30 นาที โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ที่เป็นมานานกว่า 4 ชั่วโมง

หลังจากดึงแล้ว ถ้าลูกยังไม่ยอมเหยียดข้อศอก ไม่ยอมใช้มือ ให้ส่งเอกซเรย์ เพื่อดูว่าผิดปกติหรือไม่ ถ้าปกติให้คุณหมอลองดึงอีกครั้ง ไม่จำเป็นต้องใช้ยา หรือผ้าคล้องแขน ถ้าลูกยังเจ็บแขน ก็อาจใช้ผ้าคล้องแขนก่อนได้ แต่ถ้ามีอาการปวดมาก หรือเป็นซ้ำ นานกว่า 12 ชั่วโมง อาจต้องใส่เฝือกประมาณ 7-10 วัน

วิธีป้องกันลูกข้อศอกเคลื่อน

  1. อย่ายกตัวลูกโดยจับที่ข้อมือ เช่น พ่อจับแขนขวา แม่จับแขนซ้าย แล้วยกเด็กลอยขึ้น
  2. อย่ากระชากแขนลูก ให้เดิน ถ้าต้องจูงมือลูก ให้จับท่อนแขนส่วนที่เป็นกล้ามเนื้อจะปลอดภัยกว่า

เครดิต: rak-sukapap.com, รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์, ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, วิชาการ.คอม, emedicine.medscape.com, www.rch.org.au, boringdoc.blogspot.com, www.breastfeedingthai.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids