AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

Kid Safety – อาการผิดปกติจากการกดโทรศัพท์มือถือรัวๆ

เดี๋ยวนี้มือถือไม่ได้มีไว้โทรอย่างเดียว แต่ใช้ส่งข้อความได้ด้วย เด็กๆ ก็ยอดฮิตติดตลาดครับ ป 3 ป 4 ก็ส่งกันเป็นแล้ว ไม่อยากบอกเลยครับว่าคุณหมอไม่เคยส่งข้อความด้วยมือถือเลย! มีรายงานจากประเทศอังกฤษว่าในแต่ละวันมีคนส่งข้อความหรือส่ง message กันกว่า 100 ล้านข้อความ มีผู้ใช้โทรศัพท์ส่งข้อความมีอาการบาดเจ็บจากการส่งข้อความ (text-related injuries) ถึง 3.8 ล้านคน

 

อาการของการบาดเจ็บดังกล่าวคือเกิดจากการใช้เส้นเอ็นของนิ้วโดยการเกร็ง กด เร็วๆ ถี่ๆ ทำให้เกิดการบาดเจ็บของเส้นเอ็นซ้ำๆกันเรียกว่า การบาดเจ็บแบบอา เอส ไอ หรือ repetitive strain injuries นอกจากนั้นท่าทางการจับมือถือเพื่อส่งข้อความโดยมีการเกร็งหัวไหล่ ต้นแขนในขณะพยายามใช้นิ้วกดไปตามตัวอักษรเพื่อพิมพ์ข้อความทำให้การไหลเวียนโลหิตของบริเวณปลายแขนและมือลดน้อยลง ทั้งๆ ที่การทำงานหนักของนิ้วมือนั้นต้องการโลหิตที่ไหลเวียนมากขึ้น

ผลที่ตามมาคือมีอาการปวดของนิ้วโดยเฉพาะนิ้วโป้งและนิ้วชี้ รวมทั้งข้อมือ นานๆเข้าเมื่อกำมือลงแล้วเหยียดมืออก ปรากฎว่านิ้วชี้และนิ้วโป้งไม่ยอมเหยียดออกตามนิ้วอื่น เรียกว่าโรคนิ้วล๊อค ลงเอยต้องพบหมอกระดูกเพื่อฉีดยา หรือผ่าตัดเส้นเอ็นครับ

 

การป้องกัน

อ่านรายงานมากแล้วมาสรุปการป้องกันดีกว่าครับ คืออย่าให้เด็กใช้โทรศัพท์นานๆครับ เอาอย่างในทีวีละก็ “ดิ้นชักแหง๊กแหง๊กแหง๊ก” สมองโป่งแน่เลย ดังนั้นอย่างน้อยไม่ควรให้เด็กอายุน้อยกว่า 6 ปีใช้มือถือ เด็กโตกว่านั้นก็ไม่จำเป็นต้องซื้อให้ประจำตัวครับ ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเสี่ยง จะดีกว่าครับ

หากจำเป็นต้องใช้ก็..ให้ใช้ด้วยความระมัดระวัง   และ ใช้เท่าที่จำเป็น หลายคนอาจเถียงว่า ยังไม่อยากเชื่อเลย เพราะ ผลพิสูจน์ทราบของมันอาจจะยังไม่ชัดเจนเด็ดขาด แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง   อะไรที่ยังไม่ชัวร์ก็คงจะไว้ใจอย่างเต็มที่ไม่ได้ จึงควรมีวิธีปลอดภัยไว้ก่อนเช่น   หาซื้อแฮนด์ฟรี  อันเป็นอุปกรณ์เสริมที่ต่อเข้ากับมือถือ ช่วยให้ไม่ต้องแนบชิดกับมือถือในขณะที่คลื่นแม่เหล็กกำลังทำงาน

ตกลงกับลูกว่า เมื่อใช้มือถือ ก็ไม่ควรคุยเกิน 15 นาที เพราะถ้าเกิน 15 นาที ก็มักทำให้ท่านร้อนหู อ่อนเพลีย และถ้าใช้มากถึง 60 นาทีต่อวัน ก็อาจเกิดอาการปวดศีรษะ  บอกลูกว่า เมื่อใดที่จะโทรหาเพื่อนควรจะใช้โทรศัพท์บ้าน และ บอกเพื่อนด้วยว่า ควรใช้โทรศัพท์บ้านด้วยเช่นกันมาตรการอีกข้อที่จะช่วยทั้งความปลอดภัยของลูก (ไม่ให้ใช้มือถือเกินจำเป็น) และไม่ให้ลูกเคยชินกับความฟุ่มเฟือย ก็คือ การจำกัดวงเงินค่าใช้โทรศัพท์ในแต่ละเดือน

เตือนเด็กๆ และเตือนตัวเองเสมอครับว่า มือถือไม่ใช่สิ่งโทรฟรี           แต่ต้องจ่ายค่าบริการทุกเดือนการคุยโทรศัพท์นานๆนอกจากเสียเงิน ยังเสียสุขภาพซึ่งอาจเป็นเรื่องร้ายแรงเกินกว่าจะคาดถึง….

 

 

ที่มาจากคอลัมน์ Kids’ Safety นิตยสารเรียลพาเรนติ้งฉบับเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2554
เรื่อง : รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
ภาพ : shutterstock