AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แบคทีเรียกินเนื้อคน ลูกติดเชื้อจนเกือบเสียชีวิต

ข่าวจาก 7 News Perth เล่าว่ามีเด็กน้อยรอดชีวิตจากการถูกคุกคามชีวิตจาก แบคทีเรียกินเนื้อคน เพราะเด็กน้อยติดเชื้อขณะที่มาเที่ยวพักผ่อนกับครอบครัวในประเทศไทย หนูน้อย อามาร์ลี มาร์เชลล์ เด็กหญิงวัย 1 ขวบครึ่ง จากออสเตรเลีย เดินทางมาเที่ยวกับคุณพ่อ คุณแม่ และพี่สาว

ทั้งครอบครัวเดินทางมาเที่ยวที่จังหวัดพังงา นาน 10 วัน แต่กลับต้องพบเรื่องที่น่ากลัว เมื่อหนูน้อยเกือบตายเพราะติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อคน

ในข่าวระบุว่าคุณพ่อ คุณแม่พาหนูน้อยไปโรงพยาบาล หลังจากเริ่มป่วยหนัก เบื้องต้นคุณหมอบอกว่าอาการจะดีขึ้น แต่ยังกังวลจึงพาไปอีกโรงพยาบาลหนึ่ง โดยคุณหมอบอกว่าเป็นโรคปอดบวม แต่หนูน้อยอาการแย่ลงไปอีก ครอบครัวจึงพาลูกสาวไปรักษาที่กรุงเทพฯ

อ่านต่อ “แบคทีเรียกินเนื้อคน ลูกติดเชื้อจนเกือบเสียชีวิต” คลิกหน้า 2

ทีมแพทย์วินิจฉัยพบเนื้อปอดอักเสบ ไตวายเฉียบพลัน และไข้เลือดออก เพราะปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดงต่ำลง การรักษามีทางเดียวคือเฉือนเนื้อปอดบางส่วน เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลาม หนูน้อยใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลนาน 34 วัน จึงมานอนพักผ่อนที่โรงแรมได้

คุณแม่กล่าวว่า คุณหมอถึงกับตกใจอาการป่วยของลูกสาว และกังวลว่าจะต้องสูญเสียลูกไป พร้อมทั้งประหลาดใจที่ลูกน้อยฟื้นตัวได้เร็ว โดยปอดที่ผ่าออกไปไม่มีผลกระทบในระยะยาว ลูกน้อยกลับมายิ้มได้ปกติ แต่ก็ไม่รู้ว่าเชื้อนี้มาได้อย่างไร คิดว่าน่าจะเป็นตอนนั่งเครื่องบินมาประเทศไทย

อ่านต่อ “แบคทีเรียกินเนื้อคน ลูกติดเชื้อจนเกือบเสียชีวิต” คลิกหน้า 3

ครอบครัวของหนูน้อยจองตั๋วเครื่องบินกลับออสเตรเลียแล้วเมื่อ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา และทางครอบครัวก็ประกาศขอความช่วยเหลือเรื่องค่ารักษาพยาบาลผ่านเว็บไซต์ Go Fund Me เพราะระยะเวลาในการพักฟื้นนั้นเกินกว่าที่ประกันภัยจะจ่ายให้แล้ว

ชมคลิปข่าวได้ที่นี่ https://www.facebook.com/7NewsPerth/videos/vb.329710559071/10153893097894072/?type=2&theater

อ่านต่อ “แบคทีเรียกินเนื้อคืออะไร? โอกาสเสี่ยงมีแค่ไหน?” คลิกหน้า 4

โรคแบคทีเรียกินเนื้อคืออะไร?

โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังชั้นลึก ตั้งแต่ชั้นหนังกำพร้า ชั้นหนังแท้ ชั้นไขมัน ไปจนถึงชั้นเนื้อเยื้อหุ้มกล้ามเนื้อ เป็นภาวะที่พบน้อยมาก มักพบในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เด็กเล็ก หรือมีโรคเบาหวาน โรคตับแข็ง การติดเชื้อมักพบหลังจากเกิดอุบัติเหตุ ไปเที่ยวทะเล ถูกก้างปลาตำ ทำให้เกิดแผล และสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่มีเชื้อแบคทีเรีย มีอาการแสดงรุนแรง เช่น มีไข้ ปวดบวม แดงร้อน และอักเสบ การวินิจฉัย และรักษาในระยะเริ่มแรกสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้

นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าน่าจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย 2 กลุ่ม ซึ่งเป็นอันตราย และอยู่ในน้ำสกปรก โดยเชื้อเหล่านี้อาจอยู่ในลำตัว ก้างปลา เงี่ยง และซอกเหงือก หากรับประทานปลาแล้วก้างตำก็จะได้รับเชื้อนี้ได้ เมื่อได้รับเชื้อจะมีความรุนแรงมากกว่าแบคทีเรียชนิดอื่น ทำให้เนื้อเยื่อเน่าตาย ต้องตัดชิ้นเนื้อเพื่อไม่ให้ลุกลามไปติดเชื้อในกระแสเลือด เพราะอาจถึงขั้นเสียชีวิตภายใน 48 ชั่วโมง

โอกาสเสี่ยงโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน

1.ผิวหนังมีแผลจากแมลงกัดต่อย อุบัติเหตุถูกของมีคมตำ หรือบาด แผลผ่าตัด

2.มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ เบาหวาน มะเร็ง ภูมิคุ้มกันบกพร่อง วัณโรค

3.อาจเกิดหลังจากป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส

4.ใช้ยา Steroid

อ่านต่อ “อาการของโรคแบคทีเรียกินเนื้อ และการรักษา” คลิกหน้า 5

อาการของโรคแบคทีเรียกินเนื้อ

1.มีอาการเจ็บปวดบวม แดง ร้อนที่ผิวหนังอย่างมาก อาการบวมจะลามอย่างรวดเร็ว อาจมีตุ่มน้ำร่วมด้วย

2.สีของผิวหนังเริ่มเปลี่ยนเป็นสีม่วง และมีเนื้อตายเกิดขึ้น จะมีอาการชาแทนอาการเจ็บปวด และมักจะมีไข้สูง

3.มีภาวะช็อค และการทำงานของอวัยวะต่างๆ ลดลง เช่น ตับ ไต เป็นต้น มักพบการติดเชื้อบ่อยที่แขน และขา

การรักษาโรคแบคทีเรียกินเนื้อ

การรักษา จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล และรักษาเฉพาะ คือ การใช้ยาจุลชีพในรูปยาฉีด กับการผ่าตัดชิ้นเนื้อที่ตอดเชื้อแบคทีเรียออก ผู้ป่วยโรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 17-49% ขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวของคนป่วย และบริเวณที่ติดเชื้อ คนที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น เด็กเล็ก มีโอกาสที่เชื้อจะลุกลามอย่างรวดเร็ว ถ้าการติดเชื้อกว้าง หรือลึกมากจะทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตมากขึ้น

ป้องกันลูกน้อยจากโรคแบคทีเรียกินคน

1.ป้องกัน และระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ บาดแผลที่สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่สกปรก

2.ถ้ามีแผลที่ผิวหนัง ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่สกปรก ล้างมือให้สะอาด

3.ถ้าสัมผัส หรือมีอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดแผล ควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดทันที

4.ไม่ควรบ่งด้วยเข็ม หรือกรีดแผลด้วยตัวเอง เพราะอุปกรณ์ที่ไม่สะอาดจะทำให้ติดเชื้อมากขึ้น

5.ถ้ามีแผล แล้วปวดบวม แดงร้อนผิวหนัง หรือมีไข้ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัย และรักษาทันที

6.ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เด็กเล็ก มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ตับแข็ง ความเสี่ยงสูง ระมัดระวังเป็นพิเศษ

เครดิต: ข่าวสด, Mthai, 7 News Perth, สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, โรงพยาบาลวิภาวดี, กระปุกดอทคอม