การป้องกันเหตุการณ์พลัดหลงกับลูกย่อมเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ซึ่งกฎเหล็ก2 ข้อหลักๆ ได้แก่ไม่ปล่อยให้ลูกคลาดสายตา และการหลีกเลี่ยงไปสถานที่พลุกพล่าน หรือสถานที่ซึ่งมีสิ่งล่อตาล่อใจเด็กเยอะเกินไป แต่การป้องกันไว้ก่อน คุณพ่อคุณแม่สามารถซักซ้อมลูกให้รู้จักช่วยเหลือตนเองเมื่อหลงทางตามขั้นตอนดังนี้
1.ตั้งคำถามเพื่อให้เด็กคิดแก้ปัญหา
ลองถามลูกน้อยถึงความรู้สึกและวิธีแก้ไขปัญหาหากเขาหลงทาง และใช้โอกาสนี้แนะนำวิธีเอาตัวรอดเพิ่มเติมเข้าไป
2.บอกความรู้สึกของพ่อแม่
การบอกลูกว่าคุณพ่อคุณแม่จะรู้สึกตกใจ เป็นห่วงและจะออกตามหาลูกทันทีจะทำให้ลูกมั่นใจว่าคุณพ่อคุณแม่จะตามหาเขาเช่นกัน เขาจะได้ไม่วิตกกังวลมากนักเมื่อเจอสถานการณ์ดังกล่าว
3.เตรียมข้อมูลให้พร้อม
เขียนเบอร์ติดต่อของคุณพ่อคุณแม่ใส่ในรองเท้าหรือเสื้อผ้าที่ใส่ติดตัวลูก และให้ลูกเก็บรักษาใบข้อมูลประจำตัวเช่น ชื่อของลูก ชื่อของพ่อแม่เบอร์ติดต่อ โรคประจำตัว วิธีการช่วยเหลือ และเขียนข้อความขอความกรุณาติดต่อหรือพาลูกมาส่งสั้นๆ เพื่อให้ลูกเก็บไว้ยื่นให้แก่คนที่เขาไปขอความช่วยเหลือ
4.สอนลูกตะโกนเรียกชื่อของคุณพ่อคุณแม่
จะเป็นชื่อเล่นหรือชื่อจริงก็ได้ เพราะเสียงเรียกว่า “พ่อแม่” อาจกลมกลืนไปกับเสียงของผู้คนและเด็กคนอื่นๆ
อ่านเรื่อง “ลูกหลงทาง ป้องกันด้วย 7 วิธีง่ายๆ” คลิกหน้า 2
5.สอนให้ลูกมองหาคนช่วยเหลือ
อาจให้ลูกขอความช่วยเหลือจากผู้หญิงที่มากับเด็กเพื่อขอความช่วยเหลือหรือพนักงานที่เคาน์เตอร์คิดเงินตามร้านค้าใหญ่ๆ
6.สอนให้ลูกอยู่กับที่และมองหาจุดเด่นที่ปลอดภัย
เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าขนาดใหญ่ ฟุตบาท หรือยืนบนเก้าอี้สาธารณะที่ทำให้สูงขึ้นเป็นต้น และลูกน้อยต้องรู้จักยืนยันหนักแน่นว่าจะหยุดรอคุณพ่อคุณแม่อยู่ที่เดิม ไม่ตามผู้คนแปลกหน้าไปไหน
7.ชวนลูกเล่นบทบาทสมมุติหลายๆครั้ง
โดยสมมุติสถานการณ์ที่เขาพลัดหลงและเจอผู้คนหลากหลายรูปแบบ การซักซ้อมด้วยการเล่นบทบาทสมมุติหลายๆ ครั้งจะช่วยให้ลูกน้อยจำได้มากขึ้นและไม่ตื่นตกใจมากนักเมื่อเจอสถานการณ์จริงและทำให้เรามั่นใจได้ว่าลูกจะรู้วิธีการที่จะช่วยเหลือตัวเอง จนกว่าคุณพ่อคุณแม่จะหาเขาเจอ
เพียงเท่านี้คุณก็จะได้ฝึกลูกให้รู้จักป้องกันและแก้ปัญหาสถานการณ์ต่างๆ ได้ และการดูแลเด็กเล็กๆ นั้นต้องอย่าให้คลาดสายตาผู้ใหญ่ และระวังอย่าให้เด็กไปกับคนแปลกหน้านะคะ
จากเรื่อง : “คุณแม่มือใหม่ รับมือได้ทุกสถานการณ์”
โดย : กองบรรณาธิการนิตยสารอมรินทร์เบบี้แอนด์คิดส์ ฉบับ 135 กรกฎาคม 2559
ที่ปรึกษา : พญ. สมจินตนา เอี่ยมสรรพางค์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ