AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

Kid Safety เมื่อลูกถูกลักพาตัว

เมื่อลูกถูกลักพาตัว

Q : จากข่าวคดีเด็ก 4 ขวบที่ถูกลักพาตัวไปตั้งแต่แรกเกิด ปัจจุบันคุณแม่ตัวจริงตามหาเจอและอยากรับกลับไปเลี้ยง แต่ติดตรงที่ว่าเด็กคนนี้เกิดความผูกพันกับบ้านที่ลักพาตัวไปแล้ว กรณีนี้ควรทำอย่างไร เมื่อลูกถูกลักพาตัว นานจนไม่ผูกพันผู้ให้กำเนิด เพื่อไม่ได้เด็กได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ และเรื่องนี้สามารถเป็นอุทาหรณ์ให้กับครอบครัวอื่นๆ อย่างไรได้บ้าง เช่น พ่อแม่ฝากลูกให้ตายายเลี้ยง แต่ไม่ค่อยมาหาลูก แต่วันหนึ่งจะรับลูกกลับไปเลี้ยงเอง เป็นต้น

“สำหรับเด็กที่ถูกลักพาตัวไป การส่งคืนเขาให้แก่ครอบครัวเดิมโดยไม่เตรียมตัวให้ดีอาจจะเท่ากับการลักพาตัวครั้งที่สอง” เขียนไว้ในเอกสาร The Crime of Family Abduction: A Child’s and Parent’s Perspective เผยแพร่โดยกระทรวงยุติธรรม สหรัฐอเมริกา

อย่าลืมว่านับจากวันที่เด็กถูกลักพาและได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีโดยพ่อแม่ใหม่เป็นเวลาหลายปี เด็กได้ปรับตัวเข้ากับพ่อแม่ใหม่รวมทั้งญาติพี่น้องและโรงเรียนเรียบร้อยแล้ว เขาอาจจะลืมหรือไม่ลืมพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด แต่เขาไม่ผูกพันเพราะความผูกพันนั้นสร้างขึ้นจากการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดในช่วง 2-3 ปีแรกของชีวิต ซึ่งเป็นวันเวลาที่สำคัญที่สุด ด้านพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด ส่วนใหญ่แล้วจะจำลูกได้ในวันที่เขาหายไปหรือก่อนหน้านั้น หากเด็กหายไปตั้งแต่แรกเกิดพ่อแม่จำลูกได้ในสภาพของทารก การเข้าหาเด็ก “อีกคน” หนึ่งที่โตแล้วจะส่งผลให้พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดทำตัวไม่ถูกและทำให้เด็กหวั่นวิตกได้

กระบวนการเข้าหาเด็กในวันที่ 1 ไม่ควรครึกโครม ห้ามเด็ดขาดคือการเข้าจับกุมพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูต่อหน้าเด็ก ที่ควรทำคือมีนักจิตวิทยาเข้าประเมินเด็ก ให้โอกาสเด็กปรับตัวกับข่าวที่เกิดขึ้นและการเปลี่ยนแปลงรอบตัว หากพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูถูกจับกุมคุมขัง เด็กมีสิทธิเลือกอยู่ในสถานที่ที่เขาคุ้นเคย และเลือกอยู่กับคนที่เขาคิดว่าปลอดภัยก่อนไปถึงขั้นตอนแนะนำพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดแก่เขา เด็กที่ถูกลักพาหลายคนเขียนบันทึกว่า เขาเสียใจและโกรธแค้นที่พ่อแม่ (คนที่เลี้ยงดูเขามา) ถูกจับกุม และใส่กุญแจมือ อย่าลืมว่าในความเป็นจริงเด็กที่ถูกลักพาได้รับข้อมูลจากพ่อแม่ที่เลี้ยงดูใหม่ทั้งหมดมาหลายปีแล้ว ในหลายกรณีเด็กรับรู้ว่าพ่อแม่ผู้บังเกิดเกล้าเป็นคนไม่ดี

ภาพภายนอกอาจจะมีหลายคนดีใจ แต่สำหรับเด็ก นี่เป็นปรากฏการณ์ Separation ครั้งที่สองซึ่งจะสร้างความบาดเจ็บและบาดแผลในใจอย่างมากอันจะส่งผลต่ออนาคต กระบวนการ Separation หมายถึงกลไกทางจิตที่เด็กจะแยกตัวเป็นบุคคลอิสระจากพ่อแม่ที่เขาสร้าง attachment หรือสายสัมพันธ์เรียบร้อยแล้ว กระบวนการนี้ประกอบด้วยการกำหนดเป้าหมายคือพ่อแม่ การสร้างสายสัมพันธ์กับเป้าหมายคือพ่อแม่ ก่อนที่จะแยกตัวตนคือ self ของตนเองออกมาเป็นปัจเจกบุคคลคือ individual อีกคนหนึ่ง กระบวนการนี้หากกระทำด้วยความไม่เหมาะสม เราเรียกว่า “การพลัดพราก” หากกระทำอย่างเหมาะสม มีการเตรียมพร้อม และเด็กมีความพร้อม เราเรียกว่า “การแยกตัว” ผลลัพธ์ที่ได้ต่างกัน

การพลัดพรากครั้งนี้จะเป็นการพลัดพรากครั้งที่สองในชีวิตซึ่งมักจะรุนแรงกว่าครั้งที่ 1 เด็กจะรู้สึกกลัว โกรธ อับอาย สับสน รู้สึกว่าตนเองกำลังตกอยู่ในสภาพที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้และไม่รู้จะเป็นอย่างไรต่อไป รู้สึกสูญเสียคือ Loss คำว่า Loss ในที่นี้มิใช่การทำของหาย แต่เป็นการทำจิตใจบางส่วนหายไปเลย

อ่านต่อ>> กระบวนการส่งคืนเด็ก แบบไม่ทำร้ายจิตใจ คลิกหน้า 2

กระบวนการส่งคืนเด็ก ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน

ขั้นตอนที่ 1 คือ Research ได้แก่ การสืบเสาะข้อมูลพื้นฐานแวดล้อมทั้งหมด โดยมีเป้าหมายที่จิตใจเด็ก นั่นคือเด็กคิดอะไร อย่างไร และรับมือเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้เพียงใด สถานที่และบุคคลใดในชีวิต (ปัจจุบัน) ที่เขาไว้ใจมากที่สุด และยินดีจะพักอาศัยอยู่ด้วยช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนการส่งคืนพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด

ขั้นตอนที่ 2 คือ Removal ได้แก่ การเคลื่อนย้ายเด็ก ไม่กระทำต่อเด็กอย่างครึกโครม ไม่กล่าวร้ายพ่อแม่ผู้เลี้ยงดู ไม่จับกุมต่อหน้า ไม่ใส่กุญแจมือให้เห็น ไม่มีตำรวจในเครื่องแบบ หากเด็กใช้ชื่ออะไรให้เด็กใช้ชื่อนั้นต่อไปโดยไม่รีบร้อนเรียกชื่อเดิมก่อนการถูกลักพาตัว หรือแม้กระทั่งตั้งชื่อให้ใหม่หมดทั้งชื่อจริงชื่อเล่น เด็กควรได้รับโอกาสร่ำลาญาติของพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูคนอื่น เพื่อนบ้าน คุณครู เพื่อนที่โรงเรียน เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 3 คือ Reassessment ได้แก่ การประเมินจิตใจเด็กว่าพร้อมย้ายกลับบ้านของครอบครัวผู้ให้กำเนิดหรือยัง ประเด็นสำคัญที่ต้องประเมินคือ เซลฟ์เอสตีม (self-esteem) นั่นคือความสามารถและความรู้สึกว่าตนเองสามารถกำหนดและควบคุมชีวิตของตัวเองได้ มิใช่เป็นฝ่ายถูกกระทำเสมือนตกเป็นเหยื่ออยู่ข้างเดียว ลองนึกสภาพเราต้องเดินเข้าไปสู่ดินแดนใหม่ เราจะไม่กลัวเมื่อรู้สึกว่าเราควบคุมตนเองได้พอสมควร

ขั้นตอนที่ 4 และ 5 คือ Reunion & Return เป็นขั้นตอนที่ส่งมือของเด็กให้แก่พ่อแม่ผู้ให้กำเนิด ดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น โดยทั่วไปถ้าเด็กไม่มีอาการทางร่างกายผิดปกติ เช่น หายใจไม่ออก หรือ ร้องไห้ควบคุมตนเองไม่ได้ ก็ถือว่าเด็กสามารถควบคุมตนเองพอสมควรได้แล้ว มีเซลฟ์เอสตีมที่ดี สามารถย้ายบ้านกลับไปอยู่กับพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด หลังจากนั้นควรมีการติดตามความเป็นอยู่อีกสักพักหนึ่ง อย่าลืมว่าคนที่ต้องปรับตัวด้วยคือพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด ซึ่งเป็นเรื่องยาวอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก

คดีลักพาส่วนใหญ่เป็นคดีในครอบครัว นั่นคือเป็นคนในครอบครัวที่ลักพากันเองหรือเป็นคดีที่แม่คนหนึ่งเสียลูกไปต้องการเด็กมาเลี้ยงและเลี้ยงอย่างดีที่สุด กรณีพ่อแม่ไม่เลี้ยงลูกแล้วยกให้ตายายเลี้ยงดูตลอดมาจนกระทั่งวันหนึ่งพ่อแม่จะมาเอาตัวกลับไปแม้ว่าต้องระมัดระวังเรื่องการพลัดพรากเช่นกัน แต่ก็ไม่รุนแรงเท่ากรณีลักพา

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!

ลูกถูกลักพาตัวในที่ทำงาน พ่อแม่ควรระวังสถานที่คุ้นเคย และคนใกล้ตัว

กลยุทธ์แก๊งลักเด็ก พ่อแม่ควรรู้ และระวังตัว!!

 


ที่มา นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

(จากนิตยสารอมรินทร์เบบี้แอนด์คิดส์ ฉบับ มกราคม 2559)
ภาพ Shutterstock