AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

[Kid Safety] เด็กถูกลืมไว้ในรถจนตาย…เรื่องน่าสลดของสังคมไทย !

เด็กถูกลืมไว้ในรถ จนตาย…เรื่องน่าสลดของสังคมไทย !

นี่คือพาดหัวข่าวทำให้พวกเราถึงกับอึ้งแต่คงต้องก้มหน้ายอมรับความจริง เหตุเพราะมันเกิดขึ้นบ่อยเหลือเกิน บ่อยจนสังคมควรต้องตั้งคำถามแล้วช่วยกันหาคำตอบเพื่อแก้ไขป้องกันอย่างจริงจังมิฉะนั้นมันจะกลายเป็นเพียงสายลมที่พัดผ่าน เพื่อรอให้เหตุร้ายเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่นเดียวกับ “น้องอ.”รายล่าสุด จากความ “หลงลืม”ของผู้ใหญ่ ที่ใครๆ ก็ภาวนาขอให้เป็นรายสุดท้าย ของกรณี เด็กถูกลืมไว้ในรถ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็มีการภาวนาเช่นนี้มาแล้วทุกครั้ง !

น้องอ. ถูกลืมไว้ในรถ ขณะที่คนขับรถและคนดูแลเด็กลำเลียงเหล่าเด็กน้อยลงจากรถตู้คันที่แอร์เสียเพื่อไปขึ้นรถอีกคันหนึ่ง โดยไม่ตรวจตราให้รอบคอบว่า…ยังมีเด็กน้อยวัย 3 ขวบอยู่ในรถคันที่แอร์เสียนั้น และแล้วเธอก็เสียชีวิต หลังจากถูกทิ้งอยู่ในรถตู้ถึงกว่า 8 ชั่วโมง ( 11 พ.ค. 2559 จ.สมุทรปราการ)

กรณีก่อนหน้านี้ ( 21 ก.ค. 2557) เป็นรถกระบะตอนครึ่ง ที่ใช้เป็นรถรับส่งเด็กนักเรียนราว 6-7 คนทุกเช้าจะตระเวนรับ-ส่งเด็กๆ ตามโรงเรียนต่างๆ ในละแวกนั้น แต่เช้าวันนั้นคนขับกลับลืมไปว่ายังไม่ได้ไปส่ง “น้องป.”(4 ขวบ) ซึ่งคงหลับอยู่บริเวณที่นั่งแค็ปด้านหลัง จึงขับรถไปจอดไว้ที่ลานจอดรถของ สภ.ชะอวด (อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช) จากนั้นก็ขี่มอเตอร์ไซค์ที่จอดไว้เพื่อไปขายของชำที่หน้าบ้านตน เมื่อผ่านไปราว 4 ชั่วโมงก็เกิดรู้สึกไม่แน่ใจว่าตนเองได้ไปส่ง “น้องป.”รึยัง? จึงรีบขี่รถไปที่ลานจอดรถ เมื่อเปิดประตูรถก็พบร่างของน้องป.นอนเสียชีวิตคาเบาะหลังนั่นเอง

และสิ่งที่น่าตกใจที่สุดก็คือ … กรณี ลืมเด็กไว้ในรถ จนตายนั้นเคยเกิดขึ้นติดๆ กันมาแล้วถึง 4 ราย!!!เด็กทั้งหมดนี้สิ้นใจตายเพราะ อาการ “ความร้อนสูงเกินขนาด”  (Heat stroke)

เพราะแท้จริงแล้วเด็กส่วนใหญ่ที่ติดอยู่ในรถไม่ได้เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ แต่เป็นเพราะความร้อนภายในรถที่สูงขึ้นเรื่อยๆ หากเด็กเข้าไป อยู่ในรถที่จอดอยู่กลางแดดเพียงแค่ 5 นาที อุณหภูมิภายในรถก็จะสูงขึ้นจนไม่สามารถทนอยู่ได้แล้ว หากติดนานเกิน 10 นาที ร่างกายก็จะยิ่งแย่ และถ้าอยู่นานถึง 30 นาที ก็จะยิ่งย่ำแย่และอาจเสียชีวิตได้ (ทุกๆ 30นาที อุณหภูมิในรถจะสูงขึ้น 5องศาเซลเซียส)

ดังนั้น… จึงห้ามทิ้งลูกไว้ในรถที่จอดกลางแจ้งเป็นอันขาด (ไม่ว่าจะลืมหรือไม่) แม้จะอยากจะลงไปธุระนอกรถเร็วหรือช้าก็ห้ามเด็ดขาดครับ หากพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่มากับเด็กต้องลงจากรถต้องนำเด็กลงไปด้วยทุกครั้ง….. แม้แต่ จะขอเปิดหน้าต่าง เหลือช่องไว้แล้วให้เด็กอยู่ภายใน ด้วยเข้าใจเองว่า การกระทำเช่นนี้เด็กจะปลอดภัย จากการขาดอากาศหายใจ แต่อย่างที่บอกไว้ข้างต้นละครับว่า …อย่าได้แต่ห่วงอย่างเดียวว่า เด็กจะขาดอากาศหายใจ แต่จะต้องห่วงใยให้มากๆ กับกรณีที่เด็กเสียชีวิตจากความร้อนสูง

….. การเปิดแง้มหน้าต่างรถทิ้งไว้ก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่า ความร้อนภายในรถจะไม่สูงขึ้นและช่วยให้เด็กปลอดภัยได้ หรือ แม้แต่การรถจอดในที่ร่มในเวลากลางวันเป็นเวลานานมีความเสี่ยงได้เช่นกัน

“ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย”  ยิ่งท่านที่ต้องดูแลเด็กๆ ก็ยิ่งจะประมาทมิได้เลย การบาดเจ็บและการเสียชีวิตเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ครับ

 

อ่านต่อ “[Kid Safety] เด็กถูกลืมไว้ในรถ จนตาย…เรื่องน่าสลดของสังคมไทย!” คลิกหน้า 2

ทำรถรับส่งนักเรียนให้ปลอดภัย

1.กำหนดแบบแผนปฏิบัติงานให้ชัดเจน และปฎิบัติจนเป็นกิจวัตร

2.จะต้องมีคุณครูหนือผู้ช่วยคอยดูแลเด็กอย่างน้อย 1 คนเสมอ

3.มีใบรายชื่อเด็กที่ใช้บริการ เช็คชื่อขณะลงจากรถนับจำนวนเด็กที่ลงจากรถ

4.ก่อนจะปิดประตูหรือล็อกรถ จะต้องดูให้ทั่วๆ ทั้งรอบทั้งบนและล่าง

 

พ่อแม่อาจช่วยตรวจสอบความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน เพื่อพิจารณาว่าจะใช้บริการต่อหรือไม่ ดังนี้

  1. ข้อมูลต้องครบ ผู้ปกครองต้องได้รับรายละเอียดการรับส่งเป็นลายลักษณ์อักษรคุณครู ต้องได้รับรายงานการรับส่ง จากผู้ขับขี่หรือผู้ดูแลเด็ก
  2. ระเบียบต้องชัด มีเส้นทางเดินรถ กำหนดเวลา และลำดับการรับส่งของแต่ละคนที่ชัดเจน
  3. กฏต้องเปิดเผย มีกฎการปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยติดไว้ในรถให้เห็นอย่างชัดเจน
  4. รถต้องพร้อมใช้ ต้องตรวจสภาพรถทุกปี รถต้องไม่เก่าเกินไป ประตูหน้าต่างต้องใช้งานได้ดี และต้องมีป้ายชื่อโรงเรียนอย่างชัดเจน
  5. ผู้ขับต้องขับอย่างปลอดภัย ดื่มไม่ขับ ต้องตั้งใจมองดูเด็กๆอย่างระมัดระวังว่าทุกคนได้ลงจากรถเรียบร้อยแล้ว พ้นจากระยะตัวรถแล้ว จึงค่อยๆออกรถด้วยความนิ่มนวล
  6. ผู้ขับต้องได้รับการอบรมอยู่เสมอ ผ่านการอบรมการขับขี่ที่ปลอดภัย อย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง
  7. ต้องมีผู้ช่วยดูแลเด็กประจำรถที่อายุเกิน 18 ปีอย่างน้อย 1 คนและสามารถดูแลเด็กได้เป็นอย่างดี
  8. ผู้ช่วยต้องผ่านการอบรมการดูแลเด็กๆ บนรถ และการรับส่งให้ถึงมือพ่อแม่อย่างปลอดภัย…


เรื่องโดย : นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กุมารแพทย์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี

ภาพ : Posttoday.com