ไปร่วมงานเทศกาลเฉลิมฉลอง .. ระวัง!
ปลายๆปีกระทั่งต้นๆปี จัดได้ว่าเป็นวันคืนแห่งสารพัดเทศกาล ยิ่งหน้านี้อากาศกำลังเย็นสบาย ใครๆก็อยากออกไปเที่ยว โดยเฉพาะพ่อแม่และลูกๆ นี้คือวันเวลาที่แสนประทับใจ …
เริ่มกันตั้งแต่เทศกาลคริสต์มาส มาจนถึงวันปีใหม่ ซึ่งผ่านๆมา ก็ล้วนคึกคักไปด้วยหน่วยงานทั้งรัฐทั้งเอกชน ระดม”ความสุข”ให้แก่ประชาชนด้วยการจัดงานต้อนรับปีใหม่กันสุดครึกครื้น จากนั้นก็มาถึง “วันเด็ก” วันที่เด็กๆเปรียบดังเจ้าของเทศกาลตัวจริงเสียงจริง อีกไม่กี่เดือนถัดมาก็เข้าสู่ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี นั่นคือช่วงเทศกาลสงกรานต์ อันถือเป็นวันที่ส่งเสริมความรักความอบอุ่นในครอบครัวและสังคมไทย
เทศกาลแห่งความสุขหลายงานที่กล่าวมา ทราบไม๊ครับว่า มีอะไรที่เหมือนๆกัน ?คำตอบก็คือ… มีการเล่น พลุ-ดอกไม้-ประทัด…
ทั้งๆที่ตัวเลขคนไทยเจ็บและตายเพราะโดนพวกดอกไม้เพลิงทำร้าย ถึงปีละ 400 – 600 คน โดยเด็กวัย 10-14 ปี มักจะได้รับอันตรายมากที่สุด แต่ก็ใช่ว่าเด็กเล็กหรือวัยอื่นๆจะปลอดภัย เพราะเด็กๆมักเล่นกันเป็นกลุ่ม และในกลุ่มก็มักประกอบด้วยเด็กๆวัยต่างๆ
พลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ เป็นวัตถุอันตรายอยู่ในหมวดหมู่ของวัตถุระเบิดชนิดหนึ่ง เพราะส่วนประกอบของพลุและดอกไม้ไฟ ก็ล้วนแต่ใช้ทำเป็นเป็นวัตถุระเบิดได้แทบทั้งสิ้นแถมใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อย่างดี แล้วก็ยังมีเสียงดังที่มีผลร้ายต่อสุขภาพ
การเล่นดอกไม้เพลิงจะคึกคักกันมากในวันลอยกระทง นับเป็นวันการบาดเจ็บของพลุดอกไม้ไฟ เทศกาลอื่นๆก็หาซื้อได้ไม่ยาก บรรดาร้านขายขนมของเล่นเด็กตามตรอกซอกซอย ก็ล้วนมีประทัด-พลุ-ดอกไม้ไฟวางล่อใจเด็กๆเกลื่อนไปหมด การศึกษาในประเทศไทยพบผู้บาดเจ็บรุนแรงจากการถูกเปลว หรือ สะเก็ดดอกไม้ไฟ หรือ พลุ ส่วนใหญ่เป็นการบาดเจ็บที่มือและข้อมือมากที่สุดร้อยละ44.4 ในจำนวนนี้มีกระดูกนิ้วมือแตกหรือหัก ร้อยละ 25.0 รองลงมาคือ บาดเจ็บที่ศีรษะและใบหน้า ร้อยละ14.3 ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่มีการบาดเจ็บที่ตาและรอบ ๆ ดวงตาร่วมด้วย (ร้อยละ44.4) ร้อยละ 28.6 มีแผลไหม้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จากความร้อนของเปลวไฟ และสะเก็ดดอกไม้ไฟ หรือ พลุ
ดอกไม้เพลิงทำอันตรายสูงสุดต่อมือ-ข้อมือ-ศีรษะ-ใบหน้า-รอบๆ ดวงตา และ ดวงตา ที่พบไม่น้อยก็คือกระดูกนิ้วมือแตกหรือหัก ตาดำเป็นแผล เสี่ยงต่อการตาบอดหลายๆคนที่ระเบิดปะทัดทำให้นิ้วขาด เย็บต่อไม่ได้ , พลุระเบิดใบหน้า จน หน้าไหม้ หนังตาและเสียโฉม และที่แย่มากคือ ตาบอดถาวร เพราะตาดำไหม้ ขุ่นมัวเลือดออกช่องหน้าม่านตา การแก้ปัญหาที่ตรงที่สุดก็คือ ผู้มีอำนาจหน้าที่ต้องจัดการ “วัตถุอันตรายเหล่านี้อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าใครก็จะต้อง ไม่ส่งเสริมให้ประชาชนเล่นอย่างเด็ดขาดและ พ่อแม่จะต้องห้ามลูกๆเล่น อย่างเด็ดขาด…..และต้องอยู่ให้ห่างไกลกับผู้คนที่กำลังเล่น พลุ-ดอกไม้ไฟ-ประทัด….โดยเฉพาะเด็กโต วัยรุ่นที่เสียงดัง คึกคะนอง หรือเมาเดินเป๋ไปเป๋มา
ข้อแนะนำสำหรับผู้ปกครองคือ ควรสอนเด็กให้รู้ถึงภัยร้ายของบรรดาดอกไม้ไฟ-พลุ-ประทัด ฯลฯ และห้ามเล่นครับ ช่วยสำรวจชุมชน ร้านค้าละแวกบ้านด้วย หากพบเห็นการวางขายทั่วไปก็แจ้งตำรวจ หรือสคบก็ได้ เพราะเป็นการขายผิดกฎหมายครับ ผู้ใหญ่เองเวลาเล่น ห้ามจุดพลุหรือดอกไม้ไฟบริเวณใกล้สายไฟ อาคารบ้านเรือน สถานีบริการน้ำมัน ถังเชื้อเพลิง วัตถุไวไฟ พ่อแม่ที่เห็นใครเล่นใกล้ที่อันตรายแบบนี้ก็ต้องพาลูกออกห่างครับ การระเบิดหลายครั้งเกิดขึ้นเพราะไปจุดไฟซ้ำในพลุ ดอกไม้ฟที่ไม่ทำงาน ผลก็คือระเบิดตูมบาดเจ็บกันไปแล้วหลายคน ถ้าคุณพ่อคุณแม่พบเห็น หรือตกอยู่ใกล้สถานการณ์นั้น ให้รีบพาลูกออกห่างครับ
นอกจากสิ่งอันตรายข้างต้นแล้ว ยังมีอีกอย่างครับ ที่ทุกเทศกาลได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความสดใส นั่นก็คือ… ลูกโป่งหลากสีที่มักใช้ในพิธีเปิดของงานต่างๆ หรือนำมาตกแต่งสถานที่ที่มีการจัดงานเทศกาลปีใหม่ คริสมาสต์ หรืองานเลี้ยงต่างๆ ยิ่งเดี๋ยวนี้นิยมใช้ลูกโป่งใบโตๆ ที่เรียกว่าลูกโป่งสวรรค์ ลูกโป่งจัมโบ้ แต่ใครที่ที่ติดตามข่าวอุบัติเหตุมาอย่างต่อเนื่อง ก็จะจำได้ว่าหลายงานมันกลับกลายเป็นลูกโป่งนรก เหตุก็เพราะลูกโป่งในบ้านเรายังมีบางร้านที่อัดด้วยก๊าซไวไฟ ที่เรียกว่าไฮโดรเจน เพราะมีราคาถูกกว่า ลูกโป่งที่อัดก๊าซไม่ไวไฟหรือฮีเลียม มันจึงเสี่ยงเหลือเกินที่มันจะกลายเป็นลูกไฟ ที่ระเบิดติดๆ กัน และลามไปเป็นวงกว้าง กระทั่งไฟโหมไปทั่วบริเวณงาน เพียงเพราะโดนประกายไฟจากไม้ขีดไฟ, ไฟแช็ก, เทียน, บุหรี่ หรือแม้แต่ไปสัมผัสโดนหลอดไฟนีออน ก็เกิดติดไฟและระเบิดโป้งป้างขึ้นได้อย่างไม่รู้ตัว
สำหรับลูกโป่งใบเล็ก ก็ต้องระวังตอนมันแตกแล้วครับ เศษชิ้นของลูกโป่ง ต้องรีบเก็บกวาดทิ้งทันที มีรายงานจากสหรัฐอเมริการะบุว่า ในปี ค.ศ.1977-2001 มีเด็กๆต้องตายเพราะเศษลูกโป่งเข้าไปอุดตันหลอดลมถึง 110 ราย หรือประมาณ 4 คนต่อปี และเศษลูกโป่งนั้นนอกจากจะหมายถึงลูกโป่งที่เป่าแล้วแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ที่เด็กๆผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เก็บเอาไปเคี้ยวเล่น หรือดึงยืดเพื่อดูดให้เป็นรูบุ๋ม หรือเป่าให้เป็นลูกเล็กๆโป่งออกมา แต่พลาดสำลักเข้าไปติดหลอดล
ขอฝากคำแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่พาเด็กๆไปร่วมในเทศกาลต่างๆ ดังนี้ครับ…..
- ห้าม…เด็กอายุต่ำกว่า 8 ขวบเล่นเป่าลูกโป่ง(ผู้ใหญ่ควรเป่าให้เด็กๆแทน)
- เด็กๆที่มีอายุเกิน 8ขวบ ที่เพิ่งหัดเป่า ผู้ใหญ่ก็ควรแนะนำใกล้ชิด
- เก็บเศษลูกโป่งที่แตกทุกครั้ง และนำไปทิ้งทันที ก่อนที่เด็กจะเอาไปอม ดูด หรือ เป่าเล่น
- บอกเด็กๆว่า ลูกโป่งนั้น มันแตกได้โดยไม่ยาก ดังนั้น อย่าเอามันมาเล่นใกล้หน้าใกล้ตาเป็นอันขาด
- ภัยจากลูกโป่งประดับประดาในงานพิธี งานเทศกาลต่างๆ ยังมีอีกข้อที่ไม่ควรลืมก็คือ มันอาจบรรจุด้วยก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งเป็นก๊าซต้องห้ามได้ ถ้าไม่แน่ใจก็ต้องอยู่ห่างๆไว้นะครับ
หลายต่อหลายงานชอบจัดให้เด็กๆมาแข่ง… เป่า – แย่ง – เหยียบลูกโป่ง….ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้เด็กๆต้องตกอยู่ในเสี่ยง หากเป็นกิจกรรมสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 8 ปีผู้จัดงานก็ควรพิจารณาหลีกเลี่ยงครับ พ่อมแม่เองเวลาพาไปงานแบบนี้ก็ต้องช่วยระมัดระวังให้ลูกด้วย
ที่มาจาก : กองบรรณาธิการ
ที่มาภาพ : shutterstock