AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

Kid Safety ระวังภัยจมน้ำ

ประเทศไทยมีอุบัติเหตุเด็กจมน้ำเสียชีวิตบ่อยครั้ง แต่มีผู้ใหญ่ไม่น้อยที่คิดว่า “เด็กโตแล้ว” จึงวางใจเกินไป คิดเอง (เออเอง) ว่าเด็กวัยนี้เข้าใจดีแล้วเรื่องเสี่ยงไม่เสี่ยง หลีกเลี่ยงภัยได้เองแล้ว จึงไม่ต้องดูแลใกล้ชิดจนอาจถึงขั้นปล่อยปละละเลย จำนวนของเด็กวัยนี้ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุสารพัดจึงยังสูงอย่างต่อเนื่อง

เด็กโตเข้าใจเหตุผล แต่ยังไม่รู้ความเสี่ยง

แม้ความสนใจกระตือรือร้นเรียนรู้โลก คือธรรมชาติตามวัยที่ควรจะสนับสนุนให้ลูกได้เรียนรู้ เพื่อเกิดทักษะ เพื่อพัฒนาการทั้งจิตใจ ร่างกายและสังคม แต่เรื่องของ “ความปลอดภัย” ก็ยังเป็นสิ่งที่จะต้องเอาใจใส่ให้มาก

เพราะแม้ลูกวัยนี้จะเริ่มเข้าใจเหตุและผล เข้าใจความเสี่ยงและเชื่อมโยงถึงผลการบาดเจ็บที่จะตามมาได้แล้ว รวมถึงความใกล้ชิดของการดูแลเด็กโต ที่พ่อแม่สามารถให้เขาอยู่ในระยะพ้นสายตาได้ แต่ก็ต้องตรวจสอบดูแลเด็กทุก 1-2 ชั่วโมง และต้องมั่นใจว่าเขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ผู้ใหญ่ได้จัดการความเสี่ยงไว้แล้วไม่ว่าจะเป็นพื้นที่รอบๆ ชุมชนหรือโรงเรียน

ระวัง…ภัยจมน้ำ  

เด็กวัยนี้ในวันหยุด หรือในช่วงบ่ายๆ เย็นๆ หลังเลิกเรียนมักชวนกันไปเล่นน้ำในละแวกบ้าน ไม่ว่าจะเป็น บ่อน้ำใช้ในชุมชน ลำคลอง บ่อขุด หรือ สระว่ายน้ำที่อยู่รอบๆ หมู่บ้าน อยู่รอบๆ ชุมชน ยิ่งในช่วงวันหยุดยาวๆ เช่น ช่วงปิดเทอมเล็ก (ราวเดือนตุลาคม) และ ปิดเทอมใหญ่ (เดือนเมษายน) ตัวเลขเด็กจมน้ำเสียชีวิตจะพุ่งพรวดเสมอ

เหตุที่ทำให้เด็กวัยนี้เสียชีวิตเพราะจมน้ำ คือ ว่ายน้ำไม่เป็น แล้วไปเล่นใกล้น้ำ พลัดตกลงไปโดยยังไม่ได้ตั้งใจลงว่ายน้ำเล่นเลย บางคนก็ตั้งใจลงน้ำเล่นกับเพื่อนทั้งๆ ที่ว่ายไม่เป็น ตั้งใจจะเล่นตื้นๆ แต่พลัดไหลไปที่ลึก หรือ พอจะเป็นแต่ว่ายไปช่วยเพื่อนที่จมน้ำทั้งๆ ที่ตนเองยังไม่มีทักษะในการช่วยคนจมน้ำ แหล่งน้ำบางแหล่งมีความเสี่ยงมาก เด็กๆ ไม่ควรลงเล่นตั้งแต่แรก เช่น น้ำไหลแรง

พ่อแม่ทำอะไรได้บ้าง เพื่อช่วยลูกพ้นภัยจมน้ำ

1. เรียนรู้จุดเสี่ยง

2. ลอยตัวในน้ำได้เกินกว่า 3 นาที หรือ

3. ว่ายน้ำได้ไกลไม่น้อยกว่า 15 เมตร

4. ช่วยเพื่อนด้วยการตะโกน โยน ยื่น

และ 5. รู้จักใช้ชูชีพ

การ “ตะโกน-โยน-ยื่น” หมายความอย่างนี้ครับ

ตะโกน ดังๆ เพื่อเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วย

โยน วัสดุที่ลอยน้ำได้ (ที่พอหาได้ในบริเวณนั้น เพราะเด็กจะขาดอากาศหายใจ จมน้ำตายภายใน 4 นาทีหากช่วยไม่ทัน) เช่น ลูกมะพร้าว ถังแกลลอนเปล่า ขวดน้ำพลาสติกเปล่า แผ่นโฟม ฯลฯ เพื่อให้คนจะจมน้ำเกาะไว้ก่อน

ยื่น วัสดุยาวๆ เช่น แท่งไม้ กิ่งไม้ กางเกง เสื้อ เพื่อให้คนจะจมน้ำจับ แล้วช่วยดึงเข้ามา

ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจะต้องปักป้ายเตือนอันตราย และห้ามลงน้ำตัวโตๆ หรือล้อมรั้วอย่างหนาแน่น ในบริเวณ เขตแหล่งน้ำเสี่ยง (เช่น มีน้ำวน น้ำลึกมาก พื้นน้ำไม่เสมอ หรือ เสี่ยงไฟดูด ฯลฯ) มิฉะนั้นเด็กก็จะกลายเป็นเหยื่ออีกเช่นเคย

 

บทความโดย : รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี

ภาพประกอบ : beeclassic