จะมีใครทราบมั้ยครับว่า แค่ถ่านไฟฉายก้อนเล็กๆ แต่มันได้นำ “มรณะภัย”มาสู่เด็กอย่างคาดไม่ถึง! ถ้าไม่เกิด เป็นข่าวขึ้น ก็คงไม่มีใครรู้หรอกว่า ถ่านไฟฉายก้อนแค่นี้ มันจะมีอานุภาพจนสามาถทำให้ถึงกับระเบิดเปรี้ยง
กระทั่งเด็กจอมซนต้นเหตุต้องไส้ทะลักและดับอนาถ !
…หนูน้อยวัย 9 ขวบชาวเมืองนครพนมจู่ๆ ก็หยิบเอาถ่านไฟฉายก้อนเล็กๆ ขนาด 2 เอ 1.5 โวลต์ 2 ก้อน (ที่ผู้ใหญ่ซื้อมาจากฝั่งประเทศลาว) มาต่อกับสายไฟ โดยใช้สายไฟสีขาว-แดง 1 คู่ ฉีกปลายสายไฟออก นำไปต่อเข้ากับขั้วบวกขั้วลบ แต่แล้วก็เกิดระเบิดดังตูม เจ้าหนูถึงกับไส้ทะลัก มีแผลเป็นสะเก็ดเต็มท้อง ผู้ใหญ่ในบ้านต้องรีบส่งไปร.พ.นครพนม แต่ไม่ทันกาลเพราะเด็กน้อยต้องสิ้นใจตายหลังถึงมือหมอไม่นาน เหตุเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว
(นสพ.ข่าวสด 13 เมษายน พ.ศ. 2552)
แม้เหตุร้ายแรงข้างต้นอาจจะไม่เกิดขึ้นบ่อย แต่ก็ไม่ควรประมาท รวมทั้งสิ่งที่พบได้บ่อยๆก็ไม่ควรละเลยเป็นอันขาด นั่นก็คือ …การปล่อยให้เจ้าตัวเล็กที่เห็นอะไรๆ ก็หยิบเข้าปาก หยิบๆจับๆเจ้าถ่านไฟฉายหมดอายุเน่าๆมีน้ำย้อยเยิ้มออกมา เผลอๆก็จับเข้าปากหมับแล้วดูดเล่นเคี้ยวเล่นอย่างเพลิดเพลิน !!!
ถ่านไฟฉายและแบตเตอรี่
เมื่อตกอยู่ในสภาพเก่าเก็บก็มักจะเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ไหลเยิ้มย้อยออกมา ซึ่งมีกลิ่นคล้ายสนิมเหล็กนั้น มันก็คือสารเคมีสารพัด ที่ล้วนแล้วมีพิษภัย ไม่ว่าจะเป็นสารแคดเมียมปรอท ตะกั่ว นิกเกิล ลิเธียม และแมงกานีสไดออกไซด์ เป็นต้น สารเคมีที่เสื่อมสภาพเหล่านี้ เพียงแค่ผิวได้สัมผัสก็ถือได้ว่าอันตรายแล้วยิ่งดูดกลืนเข้าไปยิ่งไม่ต้องพูดถึง รับเข้าไปน้อยก็จะสะสม และส่งผลร้ายต่อแทบทุกระบบในร่างกายทั้งระบบประสาท-ทางเดินอาหาร-ระบบหายใจ-เนื้อเยื่อ- เม็ดเลือดแดง หากรับเข้าไปมากก็เสี่ยงต่อการถูกกัดกร่อนอวัยวะภายใน แต่ไม่ว่าพิษที่ได้รับจะเป็นแบบเฉียบพลัน หรือ เรื้อรัง ผลร้ายก็ยังคงเสี่ยงต่อความเจ็บป่วย อย่างน้อยเด็กๆก็เสี่ยงกับการพัฒนาการสมองได้ช้าลง สติปัญญาด้อยลง ฯลฯ พิการ หรือกระทั่งเสียชีวิต
โลกยุคไอที
ในบรรดาอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ชนิดพกพาแม้จะมีมากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น มือถือ ไอพอต ไอแพต แทบเล็ต กล้องดิจิตอล Mp 3 แต่ทั้งหลายนี้โดยมากจะต้องใช้แบตเตอรี่ หรือถ่านไฟฉาย (ถ่านนิกเกิลแคดเมียม ถ่านนิกเกิลเมทัลไฮไดรด์ ถ่านลิเทียม ถ่าน AA และถ่านอัลคาไลน์ซึ่งมีทั้งแบบที่สามารถนำมาประจุไฟใหม่ได้ (Rechargeable) หรือแบบใช้ได้ครั้งเดียวทิ้ง)
ในบ้านเรานั้นขาดความชัดเจนและจริงจังในการกำจัดซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งน่าจะมีเข้ามาทุกวันๆ ถังขยะของกทม.ที่หน้าถังระบุไว้ว่าสำหรับทิ้งขยะดังกล่าวโดยเฉพาะ บัดนี้กลับกลายเป็นของหายากมากไปแล้ว ก็เหมือนกับหน่วยงานหรือบริษัท ที่เคยรณรงค์ในเรื่องนี้อย่างคึกคักก็กลับแผ่วปลายและเงียบหายยังเหลืออีกหนทางที่เคยมีผู้แนะนำ นั่นก็คือ
ให้รวบรวมขยะประเภทนี้ใส่ลงถุงดำ แล้วเอาสติ๊กเกอร์ที่เขียนไว้ว่าขยะพิษ แปะติดที่หน้าถุง เพื่อพนักงานเก็บขยะจะได้ นำถุงขยะพิษไปแยกทิ้งลงช่องรับขยะพิษ(อยู่ที่ท้ายรถเก็บขยะ) เมื่อไปถึงโรงกำจัดขยะ เหล่าขยะพิษก็จะผ่านขั้นตอนบำบัดทางเคมีก่อนก่อนฝังกลบต่อไป
เพื่อปกป้องลูกจากแบตเตอรี่ หรือ ถ่านไฟฉาย คุณพ่อคุณแม่จึงต้องให้การเอาใจใส่ และแนะนำเด็กๆ ดังนี้ครับ
1) พวกถ่านไฟฉายและแบตเตอรี่ที่เตรียมทิ้งนั้น นอกจากรวบรวมใส่ถุงดำแล้วก็ควรมัดปากถุงให้แน่น
และเก็บไว้ในที่เด็กนำไปเล่นไม่ได้
2) ไม่นำไปทิ้งลงแม่น้ำ ลำคลอง ท่อระบายน้ำ หรือในแหล่งน้ำต่างๆ เพราะหากทำเช่นนั้น (ฝังดิน หรือโยนลงแหล่งน้ำ)สารพิษดังกล่าวปนเปื้อนทั้งแหล่งดิน แหล่งน้ำ แล้วก็จะซึมผ่านชั้นดินและแหล่งน้ำส่งผ่านต่อมายังพืช และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ต่อไป
3) ไม่ทำลายโดยนำไปเผาไฟ เพราะนอกจากทำให้เกิดมลพิษที่คลุ้งไปทั่ว การกระทำเช่นนั้น ละอองไอของสารเคมีจะฟุ้งไปทั่ว ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เกิดพิษภัยแก่ผู้ที่อยู่รอบๆบริเวณดังกล่าว แถมยังอาจเกิดระเบิดตูมตามขึ้นมาได้
เลือกแบตเตอรี่ และถ่านไฟฉายอย่างไรให้ปลอดภัย ?
พบว่า แบตเตอรี่มือถือ(รวมทั้งถ่านไฟฉาย)ที่เกิดระเบิดขึ้นมานั้น มักไม่มีเครื่องหมาย มอก. นั่นหมายถึงมันเป็น แบตเตอรี่เถื่อน หรือแบตเตอรี่ปลอม แบตเตอรี่ที่ได้มาซึ่งเครืองหมาย มอก.( มอก 2217-2548) ถือว่ามั่นใจได้ เพราะมอก.บ้านเรายุคนี้มีมาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐาน IEC ของยุโรป
ดังนั้นทุกครั้งที่หาซื้อถ่านไฟฉาย หรือแบตเตอรี่ ถ่านชาร์จ ให้เลือกที่มีเครื่องหมาย มอก. 2217-2548 เอาไว้ ที่มักเป็นฉลากสติ๊กเกอร์แปะติดไว้บนกล่อง หรือตัวสินค้านั้นๆ เวลาซื้อสินค้า อย่าเลือกร้านที่ดูไม่น่าไว้ใจ เช่น ตามแผงลอย หรือแม้แต่ร้านค้าที่ขายใน ราคาถูกว่าปกติมาก นั่นย่อมเสี่ยงที่จะเจอ “ของปลอม” และหากหลงไปซื้อของปลอมมาใช้เข้า ก็มักสังเกตได้ว่า แม้ชาร์จแบตจนเต็มปรี่แล้ว แต่เวลาในการใช้งานกลับสั้นกว่าปกติมาก
เรื่องโดย : นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กุมารแพทย์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก
โรงพยาบาลรามาธิปดี
ภาพ : Beeclassic