วันนี้จักรยานของคุณปลอดภัยแล้วรึยัง? อาจสอนลูกว่าการมีจักรยานสวยๆ ใหม่ๆ นั้นยังไม่พอ เพราะการมีจักรยานที่ปลอดภัยนั้นสำคัญกว่า จึงต้องหมั่นตรวจสอบอยู่เสมอ หรือทุกครั้งก่อนจะขึ้นขี่ครับ ลองให้ลูกสำรวจจักรยานคู่ใจของเขาดูนะครับ ถ้าพบว่ามีลักษณะต่อไปนี้ ก็จะต้องรีบแก้ไข เพิ่มเติม
- จักรยานที่ไม่มีกระจกส่องหลัง ลองหาเพิ่มเติมดูครับ และฝึกให้เด็กโตหัดมองจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยครับ
- จักรยานที่ไม่มีไฟหรืออุปกรณ์สะท้อนแสงทั้งหน้าและหลัง ต้องไปหาซื้อเพิ่มเติม ใช้ไฟแบบใส่ถ่านเปิดสวิทช์เองด้วยมือก็ได้ครับ ติดตั้งง่าย
- จักรยานที่ไม่มีตะกร้าใส่ของหน้ารถ ทำให้เด็กต้องจับแฮนด์จักรยานเพียงมือเดียว ในขณะที่อีกมือหนึ่งต้องหิ้วของพะรุงพะรัง
- จักรยานหลายคันกระดิ่งไม่ดัง เบรคเสีย ดอกยางหมด แฮนด์เบี้ยว แต่ก็ยังขี่กันอย่างสนุกสนาน
- เด็กหลายคนต้องขี่จักรยานที่ “โตเกินตัว” ดูแล้วน่าหวาดเสียว และน่าเวทนา จนต้องตั้งคำถามเอากับคนที่ซื้อให้เด็กว่า …จะหาจักรยานขนาดที่เหมาะสมกับลูกไม่ได้เชียวหรือ?
- ไม่ใส่ใจกับลมยางของรถ ว่าจะอ่อนหรือแข็งเกินไปหรือไม่
- มักจะแข่งกัน “โชว์ลีลา” เช่น ยกล้อ ปล่อยแฮนด์ โยกซ้ายป่ายขวาขณะขี่รถ มากกว่าแข่งกันในเรื่องของความปลอดภัย หรือมีมารยาทในการขับขี่
นับตั้งแต่การกำเนิดของรถจักรยาน 2 ล้อ คันแรกเมื่อ 205 ปีก่อน (พ.ศ.2343) จวบจนกระทั่งยุคดิจิทัล จักรยานก็ยังคงเป็นขวัญใจของคนทั่วโลก ด้วยความที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ที่ไม่ซับซ้อน ไม่เป็นพิษภัยหรือให้มลภาวะแก่สิ่งแวดล้อม ซ้ำยังเป็นสิ่งส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจ
จักรยานจึงเป็นเหมือน “เพื่อนคู่ชีพ” ที่น่ารักของมนุษย์ เพียงแต่มนุษย์เองนี่แหละ ที่ใช้เพื่อนรักรายนี้อย่างแสนประมาท จนนำภัยมาสู่ตนเอง และเด็กๆ อย่างคาดไม่ถึง…
ที่มาจากคอลัมน์ : Kid Safety ฉบับเดือนเมษายน 2554
เรื่องโดย : รองศาสตราจารย์ นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
ที่มาภาพจาก : shutterstock