เชื่อว่าคงไม่มีพ่อแม่คนไหน อยากเห็นลูกเจ็บหนัก หลังเกิดอุบัติเหตุต่างๆที่ไม่คาดคิด การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่ถูกต้องจะช่วยประคับประคองอาการของลูกน้อยดีขึ้นได้ก่อนถึงมือหมอ
อุบัติเหตุ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยที่เรามิอาจคาดคิดได้ อีกทั้งพัฒนาการตามวัยของลูกน้อยวัยทารกและลูกวัยก่อนเรียน มีความเอื้ออำนวยให้ลูกประสบอุบัติเหตุต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวได้ง่าย การเจริญเติบโตและพัฒนาทักษะของกล้ามเนื้อที่ยังไม่แข็งแรงสมบูรณ์เต็มที่ทำให้การคืบ การคลาน การเล่น การวิ่ง และความซุกซนตามวัยของเด็กนั้นเป็นเหตุของอันตราย อีกทั้งพัฒนาการด้านการเรียนรู้ทำให้เด็กได้รับอันตรายจากสิ่งที่ตนกระทำ
การระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นจึง เป็นหนทางแห่งการป้องกันที่ดีที่สุด แต่อย่างไรคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่สามารถที่จะป้องกันได้ 100 % จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาและรู้จัก พร้อมรับมือกับอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึง และสิ่งสำคัญคือต้องรู้จักการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับเด็กที่ถูกต้อง เพื่อให้ลูกน้อยปลอดภัย
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ในเด็กเล็ก ที่พ่อแม่ควรรู้ เพื่อช่วยรักษาชีวิตลูก
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือ การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อลูกน้อยได้รับบาดเจ็บภายในเวลานั้นทันที ณ บริเวณเกิดเหตุ อาจเป็นการใช้ทักษะความรู้เฉพาะทางหรือการตัดสินใจที่เหมาะสมกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ในการช่วยเหลือ ณ ตอนนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจใช้เพียงอุปกรณ์เท่าที่หาได้ในขณะนั้น เพื่อประคับประคองอาการของลูกน้อยจนกว่าจะได้รับการรักษาจากบุคลากรทางการแพทย์ หรือถูกส่งต่อเพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน
สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ
สาเหตุสำคัญที่มักจะทำให้เด็กได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น อาจจะมาจากตัวของลูกน้อยเอง หรือผู้ดูแลเด็ก หรืออาจจะเกิดจากสิ่งแวดล้อม
- ตัวเด็กเอง พัฒนาการตามวัยของเด็กทารกและเด็กวัยก่อนเรียน เอื้ออำนวยให้ลูกประสบอุบัติเหตุต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวได้ง่ายกว่าเด็กวัยอื่น เพราะด้วยการเจริญเติบโตและพัฒนาทักษะของกล้ามเนื้อที่ยังไม่แข็งแรงสมบูรณ์เต็มที่ทำให้การคืบ การคลาน การเล่น การวิ่ง และความซุกซนตามวัยของเด็กนั้นเป็นเหตุของอันตราย เช่น ตกจากที่สูง ตกบันได อีกทั้งพัฒนาการด้านการเรียนรู้ทำให้เด็กได้รับอันตรายจากสิ่งที่ตนกระทำ เช่น อมเหรียญแล้วกลืนเข้าในหลอดลม เอาขาเข้าไปขัดในลูกกรงออกไม่ได้ เอาลวดหรือนิ้วแหย่เข้าไปในรูปลั๊กไฟ เป็นต้น
ทั้งนี้มีอันตรายอีกมากมายหลายประการที่เกิดจากภาวะของความเป็นเด็กเด็กชายมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าเด็กหญิงเพราะธรรมชาติของชายจะซุกซนและอยากรู้อยากเห็นมากกว่าเด็กหญิง นอกจากนี้เด็กที่มีสภาพร่างกายและจิตใจไม่ปกติ เช่น เด็กป่วย เด็กพิการ เด็กที่หิว อ่อนเพลีย เหนื่อย อารมณ์ไม่ดี จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายกว่าเด็กปกติ
- ผู้ดูแลเด็ก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ พี่เลี้ยง หรือครู ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกอาจรับอันตรายได้ หากคุณขาดความรับผิดชอบ หรือประมาท รวมไปถึงการไม่รู้พัฒนาการของเด็ก และธรรมชาติของเด็กตามวัย จำแนกการแสดงออกของเด็กไม่ได้ ทำให้เหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิดก็เกิด เช่น ไม่ทราบว่าเด็กวัยก่อนเรียนจะมีความอยากรู้อยากเห็นหยิบมีดผู้ใหญ่ลืมทิ้งไว้มาหั่นของเล่นจนบาดนิ้ว
- สิ่งแวดล้อม บ้านเป็นสิ่งแวดล้อมที่เด็กต้องใช้ชีวิตอยู่มากที่สุดจึงพบบ่อย ๆ ว่าการเกิดอุบัติเหตุของเด็กมักเกิดจากบ้านที่มีสิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย เช่น การพลัดตกหกล้ม ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก และอุบัติเหตุจากการรับสารพิษต่าง ๆ เป็นต้น
จุดประสงค์ใน การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- เพื่อช่วยลดอาการบาดเจ็บของลูกให้น้อยลง
- ป้องกันไม่ให้มีอาการรุนแรงขึ้น
- ช่วยป้องกันความพิการที่อาจจะเกิดขึ้นได้
- ช่วยให้การรักษาพยาบาลหายเร็วขึ้น
- ช่วยชีวิตเด็กที่ประสบอุบัติเหตุที่ร้ายแรงได้
ดังนั้น Amarin Baby & Kids จึงมีวิธี การปฐมพยาบาลเบื้องต้น สำหรับลูกน้อย มาให้คุณพ่อคุณแม่ได้ทราบและศึกษากัน ว่าหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นกับลูกน้อย คุณแม่คุณพ่อต้องทำอย่างไรที่จะช่วยลูกน้อยไว้ได้ทัน ตามมาดูกันเลยค่ะ…
อ่านต่อ >> “รวมวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้ลูกน้อยที่ถูกต้อง ที่พ่อแม่ต้องรู้!” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
หลักทั่ว ๆ ไปใน การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะไปดูเรื่องวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจกับหลักของการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อน ดังนี้
- คุณพ่อคุณแม่ ต้องมีสติไม่ตื่นเต้นตกใจหรือหวาดกลัวสิ่งที่พบจนทำอะไรไม่ถูก
- ห้ามไม่ให้คนมุงล้อม เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี และทำการพยาบาลได้สะดวก
- สังเกตอาการของลูก สังเกตชีพจร การหายใจตลอดเวลาหากจำเป็นต้องผายปอดหรือปั๊มหัวใจจะได้ทำได้ทันที
- ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามอาการที่เกิดทันที โดยใช้วัสดุเท่าที่จะหาได้รอบๆ บริเวณที่เกิดเหตุ
- หลังจากการปฐมพยาบาลแล้ว รีบนําลุกส่งโรงพยาบาลโดยการเคลื่อนย้ายลูกน้อย ต้องทำอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บที่จะเพิ่มมากขึ้น
กล่องใส่เครื่องมือ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ที่บ้านควรมีกล่องปฐมพยาบาลเตรียมพร้อมไว้ เวลาที่ลูกเกิดอุบัติเหตุจะได้นำมาใช้ทันท่วงที กล่องนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถทำง่ายๆ จากกล่องใส่รองเท้าใหม่ๆ ที่ซื้อมาจากร้าน เอารองเท้าไปใช้ ส่วนกล่องใส่เครื่องเวชภัณฑ์ต่างๆ ในการปฐมพยาบาลได้อย่างสบาย หรือจะเป็นพวกกล่องพลาสติกอย่างกล่องไอศกรีมขนาดบรรจุไอศกรีม 2 ลิตร เป็นขนาดที่พอดี ควรเก็บกล่องปฐมพยาบาลให้พ้นมือเด็ก แต่ง่ายต่อการหยิบใช้ สิ่งที่ควรใส่กล่องไว้ ดังนี้
- ผ้ากอสและสำลีที่ฆ่าเชื้อโรคเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งพลาสเตอร์ และผ้าพันแผล
- พลาสเตอร์ยา ขนาดใหญ่และเล็ก
- ผ้ายืด ขนาดต่างๆ สัก 3-4 ม้วน
- เข็มกลัดซ่อนปลาย
- ยาฆ่าเชื้อ และยาใส่แผลสด (ควรให้เภสัชกรแนะนำชนิดใช้กับเด็ก)
- กรรไกร ปากคีบปลายแหลมและปลายมน แบบมีเขี้ยวและไม่มีเขี้ยว
- ยาแก้ปวดลดไข้ เช่น พาราเซตามอล
- ม้วนผ้าขนาดเล็ก
- เทอร์โมมิเตอร์
- ครีมสำหรับทาแมลงกัดต่อย
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่ถูกวิธีให้ลูกน้อย
ประเภทของการปฐมพยาบาลเบื้องต้นกับลูกน้อยที่สำคัญ (มักเกิดขึ้นบ่อย) มีดังนี้
บาดแผล
ลูกอาจจะเกิดบาดแผล จากการหกล้ม แผลถลอกเล็กน้อยไปจนถึงบาดแผลที่ใหญ่ที่เกิดจากของมีคมทำให้เลือดออกมาก จึงควรปฐมพยาบาลตามลักษณะของบาดแผล ดังนี้
- แผลถลอก หากมีเศษหินดินติดอยู่ ควรล้างทำความสะอาดบาดแผลด้วย น้ำสะอาดและสบู่ แล้วทายารักษาแผลสด หรือใส่ยาแดง พร้อมปิดแผลด้วยผ้าขาวสะอาดหรือ ผ้าก๊อซที่ฆ่าเชื้อแล้ว ถ้าแผล เป็นแผลตื้นๆ มีเลือดตื้นๆ มีเลือดซิบๆ เท่านั้นทายาแล้วไม่ต้องปิดแผล
- แผลถูกแทง เช่น ไม้เสียบลูกชิ้นแทง หรือเหล็กแหลมแทงถ้าแทงเพียงตื้นๆ และไม่เป็นไม้เล็กๆ ให้ดึงออกแล้วห้ามเลือด เมื่อเลือดหยุดใช้ยาใส่แผลเหมือนแผลถลอก ถ้าไม้ที่แทงเป็นไม้ที่ค่อนข้างใหญ่ และแทงเข้าลึก ห้ามดึงไม้ออกเด็ดขาด ให้รีบนําลูกไปโรงพยาบาลทันที โดยระวังไม่ให้แผลถูกกระทบไม่ฝังลึกเข้าไปอีก
- แผลแตก เช่น หกล้มหัวแตก ชนกันหัวแตก ให้ห้ามเลือดขณะที่กดแผลไว้ แล้วรีบนําลูกส่งโรงพยาบาลไปพร้อมๆ กันเพื่อเย็บแผล
- แผลถูกของมีคมบาด เช่น มีดบาด ของเล่นแตกบาด โดยมากมักจะมีเลือดออก ต้องห้ามเลือดก่อนเช่นกัน ซึ่งถ้าเป็นแผลเล็กๆ และของที่บาดไม่สกปรก ไม่จำเป็นต้องพาลูกไปโรงพยาบาล เพียงแค่ใส่ยาเหมือนแผลถลอก แต่ถ้าเป็นแผลใหญ่เมื่อห้ามเลือดแล้ว ต้องนําลูกไปโรงพยาบาลทันที
อ่านต่อ >> “การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่ถูกวิธีให้ลูกน้อย” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
หัวโน ห้อเลือด ฟกช้ำ
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อลูกน้อยสะดุดล้มหัวโน หรือหื้อเลือด และมีรอยฟกช้ำ ควรทำดังนี้
- ในระยะแรกให้ประคบด้วยความเย็น โดยอาจจะใช้ถุงพลาสติกใส่น้ำแข็ง ประคบเส้นเลือด บริเวณนั้นจะหดตัวทำให้เลือดนั้นหยุดไหล ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ห้ามกดนวดคลึงเพราะจะทำให้เลือดที่ออกใต้ผิวหนังยิ่งออกมากขึ้น
- ห้ามใช้ยาหม่อง หรือของร้อนอื่นๆ ทาบริเวณที่โนเพราะแทนที่จะหายโน ความร้อนของยาหม่องจะยิ่งทำให้ลูกปวดร้อน เลือดมาคั่งอยู่ที่บริเวณแผล บางครั้งจะเห็นแผลแดงช้ำมากขึ้น
- หลังจากประคบเย็นแล้ว 24 ชั่วโมง จึงเริ่มประคบด้วยความร้อน โดยการใช้ถุงน้ำอุ่น ขวดใส่น้ำอุ่น หรือใช้ใบพลับพลึงอังไฟให้อุ่นๆ แล้วพันหรือวางนาบไว้ที่แผล เพื่อให้เลือดที่ออกถูกดูดซึมกลับเข้าเส้นเลือดเร็วขึ้น ช่วยลดอาการปวดในบริเวณนั้นหรืออาจจะใช้ยาหม่องทาถูให้ผลดี
ไฟไหม้ ของร้อนลวก
อุบัติเหตุจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก มักพบได้กับเด็กทุกช่วงวัย เมื่อเกิดบาดแผลห้ามใช้น้ำปลา ยาสีฟัน หรือยาหม่อง ตามที่เคยได้ยินคนโบราณบอก เอามาทาให้ลูกเด็ดขาด! เพราะจะทำให้เกิดแผลติดเชื้อได้ และต้องรีบให้การช่วยเหลือทันที ดังนี้
- ถ้าลูกถูกไฟและมีไฟติดที่เสื้อผ้า รีบราดน้ำไปบนตัวเพื่อดับไฟ ถ้าไม่มีน้ำ ให้ใช้ผ้าผ้าหนามาห่อหุ้มลูก เพื่อให้ไฟจากเสื้อผ้าดับก่อน และหลังจากไฟดับแล้วฉีกเสื้อผ้าออกเพื่อดูบาดแผล
- ถ้าเกิดบาดแผลมีบริเวณกว้าง หลังจากราดน้ำเย็นๆ แล้วใช้ผ้าสะอาดรีบซับให้แห้งแล้วนําผ้าสะอาดห่อตัวลูก แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
- ถ้าในเด็กที่มีอายุมากกว่า 10 ปี ขึ้นไป จะใช้การประเมินบริเวณผิวหนังที่ถูกไฟไหม้ ซึ่งในส่วนของการโดน ของร้อนลวก นิยมใช้หลักกฎเลขเก้า (The Rule of Nines) (Jean W.S. and JANE C. O’Brien, 2006: 182) เพื่อประเมินแบบเร่งด่วนว่ามีภาวะของการช็อกจากการเสียสารน้ำในหลอดเลือด (Hypovolemic Shock) กฎเลขเก้า ประกอบด้วย การให้คะแนนบริเวณของผิวหนังที่สูญเสียน้ำ เมื่อผิวหนังชั้นนอกถูกทำลาย
- ถ้าแผลรุนแรงจนเด็กมีอาการช็อก ให้เด็กนอนราบศีรษะต่ำกว่าลำตัว ห่มผ้าให้ดี พร้อมตะแคงศีรษะไปข้างใดข้างหนึ่ง ในกรณีที่ลูกไม่รู้สึกตัว ไม่ควรทำแผลเอง ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
ข้อเท้า ข้อมือแพลง
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากลูกเกิดข้อเท้าแพลง คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ ดังนี้
- ไม่เคลื่อนไหวข้อที่แพลง เช่น ถ้าข้อเท้าแพลงห้ามเดิน ถ้าต้องการเคลื่อนย้ายลูกเข้าที่ร่มควรอุ้ม
- ใช้ความเย็นประคบบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บทันที ความเย็นจะช่วยให้อาการบวมยุบตัวลง เนื่องจากเมื่อข้อแพลงเส้นเลือดเล็กๆ จำนวนมาก รอบๆข้อจะแตก ทำให้เลือดและน้ำเหลือง ไหลออกมาจากเส้นเลือด มาคั่งตามเนื้อเยื่อจึงเกิดการบวม ความเย็นจะช่วยทำให้เส้นเลือดที่กำลังแตกหดรัดตัว เลือดหรือน้ำเหลืองแข็งตัว ข้อที่แพลงจะไม่บวมมากขึ้นและยังช่วยให้ปวดน้อยลง
- ห้ามใช้น้ำอุ่นประคบข้อที่แพลงทันที หรือประคบในวันแรกเพราะหาก เส้นเลือดยังคงแตกแลเลือดหรือน้ำเหลืองยังคงซึมออกมา ความร้อนจะยิ่งทำให้ข้อบวมมากขึ้น และเด็กจะรู้สึกเจ็บปวดข้อมากขึ้น หลังจากประสบอุบัติเหตุอย่างนี้อยู่ 24 ชั่วโมง จึงใช้น้ำอุ่นประคบ เพื่อให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณที่ประคบมากขึ้น ทำให้ก้อนอนเลือดที่แข็งตัวถูกละลายและดูดซึมกลับเร็วขึ้น
- ยกข้อที่แพลงให้อยู่สูง เช่น ข้อเท้าแพลง ควรให้ลูกนั่งแล้วพาดเท้าบนเก้าอี้อีกตัวที่สูงกว่า ไม่ห้อยเท้า หรือนอนแล้วหาหมอนหรือผ้าห่มหนา ๆ มาพับหนุนเท้า ให้สูงกว่าระดับตัวลูกประมาณ 1 ฟุต หรือ หากข้อมือแพลง ให้ห้อยแขนข้างที่แพลงไว้ด้วยผ้าสามเหลี่ยม โดยให้ปลายนิ้วสูงกว้าข้อศอกที่พับตั้งฉาก ประมาณ 4-5 นิ้ว การยกข้อที่แพลง ให้สูงจะทําให้ข้อบวมน้อยลง เมื่อบวมน้อยลงก็จะปวดน้อยลงด้วยเช่นกัน
กระดูกหัก
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อลูกน้อยกระดูกหัก สามารทำได้ ดังนี้
- ห้ามเคลื่อนไหวบริเวณที่บาดเจ็บ หรือเคลื่อนย้ายลูก
- ทำการเข้าเฝือกชั่วคราว เพื่อช่วยให้ส่วนที่หักเคลื่อนไหวน้อยที่สุด ซึ่งจะช่วยลด อาการเจ็บปวดและป้องกันความพิการที่อาจจะเกิดขึ้น การเข้าเฝือกชั่วคราวทำได้โดยใช้แผ่นไม้, กิ่งไม้, นิตยสารพับครึ่งตามยาว, หนังสือพิมพ์พับเป็นท่อนยาวหนา ๆ, ไม้บรรทัด หรือด้ามร่ม วางนาบกับส่วนที่หักแล้วมัดด้วยเชือกให้แน่น หรืออาจจะพันส่วนที่หักติดกับร่างกายก็ได้ เช่น พันต้นแขนที่หักกับลำตัว แล้วใส่ผ้าคล้องแขนไว้ หรือพันแขนข้างที่หักกับข้างที่ปกติ เป็นต้น
- นำลูกส่งโรงพยาบาล โดยด่วน
สิ่งแปลกปลอมเข้าอวัยวะต่างๆ
สิ่งแปลกปลอมเข้าจมูก อาจทำให้ลูกเกิดอาการหายใจขัด หายใจไม่ออกได้ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ต้องปฏิบัติดังนี้
- บอกให้ลูกอ้าปากหายใจทางปากแทน แต่ถ้าเป็นลูกทารกและมองเห็นว่าสิ่งแปลกปลอมนั้น อยู่ลึกและปิดจมูกให้แน่น พร้อมสังเกตการหายใจ หากรู้สึกขัดควรรีบนำส่งโรงพยาบาล
- หยอดน้ำมันพืชเข้าไปในจมูกข้างที่มีสิ่งแปลกปลอม ถ้าเป็นจำพวกเมล็ดพืชก็จะช่วยไม่ให้เมล็ดนั้นบวมปูดในรูจมูกจนแน่นมากขึ้น ถ้าเป็นพวกแมลงเข้าจมูกจะช่วยลดอาการปวดแสบปวดร้อนในรูจมูก และยังทำให้แมลงหยุดการเคลื่อนไหวหรืออาจจะตาย ได้ด้วย
- สำหรับลูกโต บอกให้ลูกที่สามารถสั่งน้ำมูกได้ สั่งน้ำมูกออกมาเบาๆ วิธีนี้สิ่งแปลกปลอมอาจจะหลุดออกมา แต่ถ้าเป็นเด็กเล็ก 2-4 ขวบ ไม่ควรใช้วิธีนี้ เพราะแทนที่เด็กจะสั่งน้ำมูกออก กลับสูดลมเข้าไปทำให้สิ่งแปลกปลอม ยิ่งเข้าไปลึก
- ถ้าสิ่งแปลกปลอมเป็นพวกเศษผ้า เศษกระดาษ อาจใช้ครีมคีบที่มีปลายมนค่อยๆ คีบออกมา
- ถ้าสิ่งแปลกปลอมอยู่ลึก และเป็นจำพวกถั่วเมล็ดกลมผิวมัน หรือลูกปัด ห้ามคีบ หรือเขี่ยออกเอง เพราะจะยิ่งเป็นการดันให้เมล็ดพืชหรือลูกปัดกลิ้งเข้าไปลึกอีก ควรพาลูกไปหาหมอ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถจับศีรษะลุกให้อยู่นิ่งๆ ได้ และของนั้นอยู่ตื้น มองเห็นและคีบออกได้ง่าย ควรจะพูดกับลูกให้เข้าใจอย่าตกใจ แล้วค่อยๆ ใช้ที่คีบปลายมนคีบออกมา อย่ารีบร้อนเพราะของอาจจะยิ่งตกลึกเข้าไป
- ถ้าเป็นเด็กเล็กที่ไม่ยอมนิ่ง และไม่ยอมให้ปฐมพยาบาลหรือสิ่งแปลกปลอมนั้นอยู่ในหูลึก หรือไม่แน่ใจว่าจะคีบได้ ควรพาไปพบแพทย์ เพราะถ้ากระทบกระเทือนถึงเยื่อแก้วหู หูอาจหนวกได้ และทางที่ดีอย่าให้ลูกกินอาหารก่อนไป เผื่อไว้กรณีที่จำเป็น ต้องวางยาสลบเพื่อที่จะเอาของที่ติดอยู่ออกจะได้ ทำได้ง่ายโดยไม่มีอันตราย เพราะในการวางยาสลบ ถ้าทำหลังการกินอาหาร ลูกอาจสำลักอาหารเข้าหลอดลมได้ นอกจากนั้นเวลาเดินทางไปพบแพทย์ต้องระวังอย่าให้กระเทือน เพราะสิ่งแปลกปลอมนั้นจะกระเทือนเข้าไปในหูมากขึ้นได้
อ่านต่อ >> “การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่ถูกวิธีให้ลูกน้อย” คลิกหน้า 4
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่ถูกวิธีเมื่อสิ่งแปลกปลอมเข้าอวัยวะต่างๆ ของลูกน้อย
ถ้าแมลงเข้าหู ต้องทำให้แมลงตาย โดยใช้ น้ำมันพืช เช่น น้ำมันมะกอกหรือน้ำมันพืชที่ใช้ประกอบอาหารหยอดเข้าไปในหู ทิ้งไว้สักครู่ เมื่อแมลงตายจะลอยขึ้นมา ให้ตะแคงหู เพื่อให้แมลงและน้ำมันออกให้หมด แล้วใช้สำลีสะอาดเช็ดอีกครั้ง ถ้ามองเห็นแมลงอยู่ตื้นๆ ไม่ขยับเดิน สันนิฐานว่าอาจตายอยู่ก่อนแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันหยอด ให้ใช้ไม้พันสำลีสะอาดเช็ดออกมาได้เลย
สิ่งแปลกปลอมเข้าตา
- ใช้ยาล้างตาให้ลูก แล้วลืมตาในแก้วล้างตา เศษฝุ่น ผงอาจจะหลุดออกมาได้
- ถ้าสิ่งแปลกปลอมยังไม่ออก ลูกยังร้องเจ็บ พ่อแม่ที่ทำการปฐมพยาบาลต้องล้างมือให้สะอาดแล้วพลิกเปลือกตาบน หรือดึงเปลือกตาล่างดูว่าสิ่งแปลกปลอมอยู่ตำแหน่งใด ถ้าอยู่ที่เปลือกตาล่าง ให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าสะอาด หรือสำลีสะอาดชุบน้ำสะอาดบิดให้แห้ง แล้วค่อยๆ เขี่ยออกอย่างเบามือ แต่ถ้าสิ่งแปลกปลอมอยู่เปลือกตาบน ให้ลูกกลอกนัยน์ตาลง จากนั้นใช้น้ำสะอาดค่อยๆ รินผ่านสิ่งแปลกปลอมที่ติดอยู่ในเปลือกตาบน หรือจะใช้ผ้าเช็ดหน้าสะอาดหรือสำลีชุบน้ำสะอาดบิดให้แห้ง แล้วเขี่ยวัตถุแปลกปลอมออก
- ถ้าสิ่งแปลกปลอมยังไม่ออก ไม่ควรพยายามเขี่ยสิ่งแปลกปลอมแรงๆ เพื่อให้ออก เพราะจะเป็นอันตรายต่อเยื่อตา เยื่อตาอาจอักเสบแดงและติดเชื้อได้ ควรปิดตาด้วยผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดอื่นๆ แล้วรีบนำลูกไปหาจักษุแพทย์
- ถ้าสิ่งแปลกปลอมที่เข้าตาเป็นพวกสารเคมี ต้องรีบเบิกเปลือกตาบนและล่างให้เห็นนัยน์ตากว้างที่สุด แล้วรินนํ้าสะอาดผ่านนัยน์ตาทันที ต้องรินผ่านนานๆ ประมาณ 5 นาที เพื่อล้างสารเคมีออกให้หมด ขณะที่รินน้ำควรระวังอย่าให้น้ำที่ไหลออกกระเด็นเข้าตาอีกข้างหนึ่งที่โดนสารเคมี ควรให้เด็กนอนเอียงตาข้างที่โดนสารเคมีออกจากตัว และเวลารินน้ำควรรินจากหัวตาไปหางตา
สิ่งแปลกปลอมติดคอ
ถ้าเป็นก้างปลาติดคอ ให้ใช้ข้าวปั้นเป็นก้อนขนาดพอคำให้ลูกกลืน ควรทำซ้ำ ถ้ายังไม่ออกและลูกร้องเจ็บ หรือมองเห็นว่าเป็นก้างใหญ่ ควรรีบนําลูกไปโรงพยาบาล
ถ้าสิ่งแปลกปลอมนั้นเป็นวัตถุของแข็ง เช่น เมล็ดผลไม้ต่างๆ ปฐมพยาบาลดังนี้
- ถาเป็นเด็กวัยก่อนเรียน จับเด็กนั่งโดยใช้มือด้านหนึ่งพยุงหน้าอกของเด็กไว้ โน้มศีรษะเด็กให้ต่ำกว่าหน้าอกหรืออยู่ในระดับเดียวกับหน้าอก แล้วใช้ฝ่ามืออีกข้างกระแทกเร็วๆ 4 ครั้งติดต่อกันค่อนข้างแรงตรงบริเวณระหว่างสะบักทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้สิ่งที่ติดอยู่หลุดออกมา ถ้ายังไม่หลุดควรกระแทกซ้ำ ถ้ายังไม่ออกควรนําลูกส่งโรงพยาบาล
กลืนและดมสารพิษ
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากลูกน้อยเผลอกลืนและดมสารพิษ มีคำแนะนำ ดังนี้
- ถ้าลูกยังรู้สึกตัวดี ให้ลูกดื่มนม 1-2 แก้ว เพื่อเป็นการเจือจางสารพิษ ถ้าหานมไม่ได้ในขณะนั้นให้ดื่มน้ำแทน
- รับพาลูกไปโรงพยาบาลทันที พร้อมขวดสารพิษที่ลูกกลืนเข้าไป
- ถ้าลูกกลืนสารพิษพวกน้ำหอม ยาทาเล็บ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม ดีดีที ยาเบื่อหนู ยากำจัดแมลงสาบ หรืออื่นๆ ที่
ไม่ใช่สารเคมีพวกกรดด่างหรือสารประกอบปิโตรเลียม ให้ลุกดื่มนมหรือน้ำ1-2 แก้ว เพื่อเจือจางสารพิษเช่นกัน จากนั้นทำให้ลูกอาเจียนออกมา โดยการใช้นิ้วสะอาดล้วงคอเข้าไปลึกๆ เพื่อกระตุ้นให้ลูกอาเจียน
เลือดกำเดาไหล
- ให้ลูก ก้มหน้าลง ท่าก้มหน้านั้นจะต้องให้ลูกยืนหรือนั่งก็ได้ แต่ห้ามนอน เพราะการนอน จะทำให้เลือดไหลลงคอได้ ถ้าหากเงยหน้าเลือดที่ออกมาจะไหลเข้าไปในปากได้ง่ายขึ้น ทำให้หายใจลำบาก และอาจทำให้ลูกอาเจียนออกมาภายหลังได้
- ใช้นิ้วกดจมูกด้านที่เลือดออก แล้วใช้ความเย็นประคบบริเวณดั้งจมูกสัก 1-2 นาที
- ถ้าเลือดยังไม่หยุดไหล ใช้ผ้าก๊อซหรือผ้านุ่มๆ สะอาดๆ แต่ห้ามใช้สำลีหรือกระดาษชำระผ้าที่หาง่ายที่สุดคือผ้าเช็ดหน้าเนื้อบางๆ นุ่มๆ ที่ซักเรียบร้อยแล้วสอดเข้าไปในรูจมูกข้างที่เลือดออกค่อยๆ สอดเข้าไปให้แน่น เหลือชายผ้าไว้ เพื่อจะได้ง่ายต่อการดึงออก ทิ้งไวสักครู่ใหญ่ สังเกตดูว่าเลือดไม่ออกมาซึมผ่าแปลว่าเลือดหยุดไหลแล้ว จึงค่อยๆ ดึงผ้าออก
- บอกเด็กไม่ให้แคะ แกะ หรือบีบจมูกเล่น
- ถ้าเลือดกำเดาไม่หยุดไหล หรือหยุดไหลไปแล้วครึ่งชั่วโมง ยังไหลออกมาอีกต้องพาลูกไปหาหมอ
การขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
อย่างไรก็ดี อุบัติเหตุ ถือเป็นเหตุการณ์หรืออันตรายที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดมาก่อน การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสามารถช่วยผู้บาดเจ็บได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าบาดแผลมีขนาดใหญ่มากต้องรีบขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ ดังนี้
- ไปขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ที่สุด
- ตั้งสติให้ดี แล้วบอกผู้ใหญ่ว่า เกิดอะไรขึ้น ที่ไหน อย่างไร ผู้บาดเจ็บมีอาการอย่างไร
- ถ้าไม่สามารถขอความช่วยเหลือด้วยตนเองได้ ต้องให้เพื่อนหรือผู้ที่พบเห็นรีบไปแจ้งให้ผู้ใหญ่ทราบ
แต่อย่างไรก็ตามคุณพ่อคุณแม่ต้องมีความรู้เรื่อง การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่ถูกต้องไว้บ้าง เพราะลูกน้อยมักจะเกิดอุบัติเหตุต่างๆบ่อยครั้ง เนื่องจากยังระวังตัวเองไม่เป็น สิ่งสำคัญที่ต้องฝึกให้ชำนาญคือการผายปอดเพื่อช่วยชีวิตลูกค่ะ
ติดต่อสายด่วนช่วยชีวิต
หากคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ช่วยเหลือที่พบคนกำลังต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉิน ให้ตั้งสติ และติดต่อแจ้งเหตุผ่านเบอร์โทรศัพท์ 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- ปฐมพยาบาลสัตว์เลี้ยงข่วนกัดคุณหนู easy baby & kids
- Kid Safety วิธีปฐมพยาบาลเมื่อพบเด็กกินยาเกินขนาด
- วิธีปฐมพยาบาลเมื่อฟันกระแทก
- เซฟด่วน! รวมเบอร์โทรฉุกเฉิน แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย
- วิธีช่วยเหลือลูกน้อย เมื่ออยู่ในสถานการณ์เสี่ยงตาย
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : คู่มือการปฐมพยาบาลในเด็ก โดย อาจารย์ ดร. ณัฏฐณิชา ศรีบุณยวัฒน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่