AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

Kid Safety รักลูก..อย่าให้ลูกนอนเบาะนอนสำหรับเด็กในรถยนต์

“ราคาพิเศษสุด เบาะนอนสำหรับเด็กในรถยนต์ ให้คนที่คุณรักได้พักผ่อนอย่างเต็มที่…ปูปิดช่องวางเท้าหลังรถ กันลูกตกลงไปที่พื้นรถ หลับอย่างสบายตลอดการเดินทาง”

เป็นที่ฮือฮาในระยะที่ผ่านมาทั้งความเห็นชอบและเห็นต่าง กับข้อความและคลิปโฆษณา เบาะปูนอนหลังรถ (ทั้งแบบปั๊มลม และแบบธรรมดา) ที่ใช้เด็กตัวน้อยเป็นพรีเซ็นเตอร์  ที่ดูๆ ไปแล้วเกิดเคลิ้มเหมือนกันว่า ช่างเป็นสินค้าที่เข้าท่า ชวนให้เชื่อว่า ถ้าซื้อไว้ใช้ลูกคงนอนสบายเต็มพื้นที่เหมือนนอนบนเตียงที่บ้าน ไม่ต้องทรมานทั้งยามรถติด หรือยามพาลูกเดินทางท่องเที่ยวทางไกล

แต่ความเห็นต่างโดยมากเป็นไปในทางทักท้วงเรื่องความปลอดภัย หากเกิดอุบัติเหตุเช่นรถชน รถเบรกอย่างฉับพลันเด็กจะอยู่ในสภาพเช่นใด

1) หากพิจารณาถึงสินค้าในลักษณะดังกล่าวแล้วก็คงต้องยอมรับความจริงว่า…เบาะปูนอนแบบนี้มีเอาไว้สำหรับนั่งเล่นนอนเล่นเท่านั้น แต่จะต้องไม่เอามาวางไว้ให้ลูกนอนเล่นในรถอย่างเด็ดขาด  เพราะความเสี่ยงของมันเป็นอันตรายถึงชีวิต!

หลายท่านอาจคาดไม่ถึงว่าพลังของการชน หรือการเบรกอย่างกะทันหันนั้นรุนแรงมากเพียงใด (ซึ่งเจ้า “แผ่นยึดตรงกลาง กันเด็กไถลไปส่วนของด้านหน้ารถยนต์” ตามที่โฆษณาย่อมจะช่วยไม่ได้อย่างแน่นอน)

หากไม่มีที่ยึดเหนี่ยวใดๆ ที่ถูกต้องเหมาะสม เมื่อรถยนต์เบรกอย่างกะทันหัน หักเลี้ยวอย่างฉับพลัน หรือชนอย่างรุนแรง สิ่งที่เกิดขึ้นในทันทีก็คือ ร่างของเด็กๆจะหลุดลอยจากที่นั่งไปอัดกับแผงคอนโซลหน้ารถ ปะทะกับกระจกหน้ารถ แล้วทะลุลอยละลิ่วออกนอกรถ หรือประตูรถเปิดออก แล้วเด็กกระเด็นออกไปนอกรถ ด้วยรูปร่างเล็กบอบบางของเด็กๆ จึงทำให้ กะโหลกศีรษะ กระดูกซี่โครง แขนขา แตกหัก ปอด หัวใจ รวมทั้งอวัยวะภายในช่องท้องต้องชอกช้ำหรือฉีกขาดโดยเฉพาะศีรษะของเด็กๆ ที่กระแทกอย่างรุนแรง ทำให้มีเลือดออกในสมอง เป็นเหตุแห่งความพิการหรือเสียชีวิต

…ดังนั้นเจ้าเบาะปูนอนแสนฮือฮานี้จึงเป็นเพียงเพื่อให้ลูกนอนเล่นเมื่อรถจอดนิ่ง แต่หากรถเคลื่อนตัวเมื่อใด ย่อมไม่รับประกันความปลอดภัยใดๆ ทั้งสิ้น

2) อย่าว่าแต่เบาะที่กล่าวนี่เลยครับ แม้แต่ความคิดที่ว่า เมื่อพาลูกขึ้นรถแล้วนั่งข้างคนขับ ให้กอดลูกแน่นๆ หรืออุ้มลูกนั่งตักเท่านั้นก็ปลอดภัยสบายใจได้แล้ว นั่นคือความเชื่อผิดๆ ที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะความจริงก็คือ…แม้ผู้ใหญ่จะรัดเข็มขัดนิรภัยอย่างแน่นหนาเพียงใด แต่แรงปะทะของจากการชน หรือแรงจากการเบรกกะทันหันนั้นมันมหาศาลเกินกำลังแขนพ่อแม่จะยึดลูกอยู่

อ่านต่อ “สาเหตุที่ไม่ควรใช้เบาะนอนสำหรับเด็กในรถยนต์” คลิกหน้า 2

3) ยิ่งยุคนี้รถแทบทุกรุ่นจะมีถุงลมนิรภัยสำหรับที่นั่งหน้ารถด้านข้างคนขับ ยิ่งกลับเป็นอันตรายต่อเด็กที่นั่งด้านหน้าข้างคนขับอย่างคาดไม่ถึง เนื่องด้วยสรีระอันบอบบางของเด็ก และเมื่ออยู่ในอ้อมกอดนั่งบนตักผู้ใหญ่ หรือแม้แต่ใช้ที่นั่งนิรภัยโดยนั่งตอนหน้าข้างคนขับ ร่างของเด็กกับตำแหน่งของถุงลมนิรภัยย่อมใกล้กว่า 25 ซ.ม.อันเป็นระยะอันตราย หากเกิดอุบัติเหตุถุงลมระเบิดโป้งออกมา แรงประทุอย่างรวดเร็วในเวลา 1/20 วินาที จะทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บสาหัสหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต

4) สำหรับเด็กนั้นจะใช้เข็มขัดนิรภัยที่ติดมากับรถยนต์ได้เหมาะสมปลอดภัยก็ต่อเมื่อ …มีอายุ 9 ขวบขึ้นไป  หรือ  มีน้ำหนักมากกว่า 30 กก. หรือความสูงตั้งแต่ 140 ซม. ขึ้นไปเท่านั้น มิฉะนั้นเข็มขัดนิรภัย อาจกลายเป็นตัวการทำอันตรายต่อเด็กๆ อย่างรุนแรง แต่ใน พรบ.จราจรของบ้านเรากำหนดไว้ในมาตรา 123 ว่า ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัย ไว้กับที่นั่งในขณะขับขี่รถยนต์ และต้องจัดให้คนโดยสารรถยนต์ ซึ่งนั่งที่นั่งตอนหน้าแถวเดียวกับที่นั่งผู้ขับขี่รถยนต์รัดร่างกายไว้กับที่นั่งด้วยเข็มขัดนิรภัย แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากลูกวัยยังไม่ถึง 9 ขวบ หรือ มีความสูงน้อยกว่า  140 ซม.  การนั่งรถยนต์แล้วคาดเข็มขัดนิรภัยกลับกลายเป็นความเสี่ยง เพราะแทนที่เข็มขัดนิรภัยสายล่างจะพาดบนหน้าตักและแนบบริเวณเชิงกราน แต่กลับมารัดตรงท้องน้อย ส่วนเส้นที่ควรพาดที่หน้าอกและไหล่  ก็กลับมารัดที่ลำคอของเด็ก หากเกิดการชน หรือการเบรกรถอย่างกะทันหัน รุนแรง สายเข็มขัดจะทำอันตรายแก่ไขสันหลัง อวัยวะภายในช่องท้อง หรือรัดลำคอของเด็กจนเสียชีวิต

เพราะฉะนั้นการใช้เบาะรองนอนนั้นเป็นอุปกรณ์ที่ไม่ปลอดภัยและไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยจากที่ใดมารองรับ  และเข็มขัดนิรภัยจะปลอดภัยกับเด็กก็ต่อเมื่อเด็กมีอายุ 9 ขวบขึ้นไป

“เพราะฉะนั้นหันมาใช้อุปกรณ์ที่ปลอดภัยอย่างคาร์ซีทจะดีกว่าครับ”

เรื่อง: นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กุมารแพทย์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี

เรียบเรียง: กองบรรณาธิการเว็บไซต์

ภาพ: Beeclassic, csip.org

คลิกอ่านเพิ่มเติม

  1. เด็กทารกจำเป็นต้องใช้คาร์ซีท จริงหรือ?

  2. ลูกน้อยได้รับอันตราย เพราะนั่งคาร์ซีทผิดวิธี

  3. 4 เคล็ดลับพาเบบี๋นั่งรถอย่างมั่นใจ