AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ให้ลูก นั่งคาร์ซีท หรือ อุ้มนั่งตัก แบบไหนปลอดภัยกว่า?

นั่งคาร์ซีท รอดตาย

นั่งคาร์ซีท ดีไหมนะแค่ขับรถพาลูกไปหาหมอเลยหน้าปากซอยหมู่บ้านไป 3 ซอยเอง ยุ่งยากไม่อยากให้ลูกร้องเอาลูกนั่งตักดีกว่า เชื่อว่ายังมีพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ของหลายครอบครัวยังคิดกันอยู่แบบนี้ ทีมงาน Amarin Baby & Kids จะพาไปพบคำตอบว่าในความเป็นจริงนั้น การให้ลูกนั่งคาร์ซีทปลอดภัย และดีกว่าให้ลูกนั่งตักตัวแนบอกแม่อย่างไร

 

นั่งคาร์ซีท หรือ อุ้มลูกนั่งตัก ดีนะ?

เคยเกิดคำถามชวนสับสนกันบ้างใช่ไหมคะ เวลาที่ต้องพาลูกนั่งรถยนต์ไปด้วยจะให้ นั่งคาร์ซีท หรือ อุ้มนั่งตักก็พอแล้ว เอาเป็นว่าเรามาทำความเข้าใจกับที่นั่งพิเศษที่เรียกว่าคาร์ซีทกันซักนิดค่ะ

สำหรับคาร์ซีท (Car Seat) ที่ทุกครอบครัวรู้จักกันดีนั้น คือ ที่นั่งสำหรับติดกับเบาะรถยนต์ไว้ให้เด็กนั่งได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิด จนถึงเด็กโต(อายุ 6-12 ปี)  คาร์ซีทเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อความปลอดภัยแก่เด็กๆ เวลาที่นั่งรถยนต์ …

Credit Photo : Drama-addict, kapook

ถามต่อว่าแล้วให้นั่งเบาะรถยนต์เลยไม่ได้เหรอ? ตอบ “ไม่ได้ค่ะ” เพราะเบาะรถยนต์และเข็มขัดนิรภัยไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้เข้ากับสรีระของเด็กทารก หรือเด็กที่ยังเล็กอยู่ ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุมีการชน กระแทกเกิดขึ้น โอกาสที่เด็กจะหลุดออกจากตัวรถ หรือคอหัก หลังหักขณะอยู่ในรถยนต์มีความเป็นไปได้สูงมาก รวมถึงการที่ผู้ใหญ่นั่งแล้วอุ้มเด็กไว้บนตักตัวเอง ตรงนี้ก็ไม่ปลอดภัยต่อตัวเด็กเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อรถถูกชนไม่ว่าจะด้วยความแรง หรือไม่แรงก็ตาม เด็กมีโอกาสได้รับบาดเจ็บหนักจนถึงขั้นเสียชีวิตเลยก็มีค่ะ

บทความแนะนำ คลิก>> ลูกน้อยได้รับอันตราย เพราะนั่งคาร์ซีทผิดวิธี

อย่างเช่นในข่าวนี้ที่ทางเพจ Drama-addict นำมาแชร์ ถึงความอันตรายของการไม่ให้เด็กเล็กนั่งคาร์ซีท แต่อุ้มให้เด็กนั่งบนตัก และเมื่อเกิดอุบัติเหตุคนที่เจ็บหนักก็คือเด็ก แต่ต่อให้ยุคสมัยเปลี่ยนไปมากแค่ไหนก็ยังมีความเชื่อเดิมหลงเหลืออยู่ว่าการให้เด็กนั่งบนตักขณะอยู่ในรถ จะปลอดภัยกว่าการให้นั่งคาร์ซีท

 

 

Credit Photo : Drama-addict, kapook

อ่านต่อ เลือกคาร์ซีทอย่างไรให้เหมาะกับลูก หน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

เลือกใช้คาร์ซีทอย่างไรให้เหมาะกับลูก

“สมาคมกุมารแพทย์แห่งอเมริกาแนะนำว่าทารกต้องนั่งคาร์ซีทหันไปด้านหลังจนอายุอย่างน้อย 2 ปี หรือจนกว่าน้ำหนักตัวเกิน 16 กิโลกรัม เพื่อป้องกันปัญหากระดูกคอเคลื่อนหากเกิดอุบัติเหตุรุนแรง”[1]

การใช้คาร์ซีทสำหรับเด็ก จะมีการแยกตามขนาด อายุ น้ำหนักของเด็ก ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยต่อตัวของเด็กๆ นั่นเองค่ะ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง…

1. lay-flat travel infant seatRear-Facing Convertible Seats

อย่างบอกค่ะว่าลูกตั้งแต่แรกเกิดจำเป็นต้องมีคาร์ซีท ซึ่งที่นั่งสำหรับทารกจะเรียกว่า lay-flat travel infant seatRear-Facing Convertible Seats เพื่อความปลอดภัยในกรณีที่เกิดการกระแทกขึ้น ที่นั่งประเภทนี้จะใช้ได้ตั้งแต่แรกเกิดถึง 9 เดือน น้ำหนักไม่เกิน 10 กิโลกรัม

2. Rearward-facing baby seat

เป็นที่นั่งสำหรับเด็กแรกเกิด จนถึงอายุ 15 เดือน น้ำหนักไม่เกิน 13 กิโลกรัม

3. Forward-facing child seat

เป็นที่นั่งสำหรับเด็กอายุ 9 เดือน จนถึง 4 ปี น้ำหนัก 9-18 กิโลกรัม

4. Booster seat

เป็นที่นั่งสำหรับเด็กอายุ 4-6 ปี หรือน้ำหนักระหว่าง 15-25 กิโลกรัม ที่นั่งประเภทนี้จะช่วยรองให้ระดับการนั่งของเด็กอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมกับการใช้เข็มขัดนิรภัยในส่วนเบาะหลังของรถยนต์

5. Booster cushion

เป็นที่นั่งสำหรับเด็กอายุ 6-12 ปี หรือน้ำหนักระหว่าง 22-36 กิโลกรัม

บทความแนะนำ คลิก>> การติดคาร์ซีท ในรถให้ลูกนั่ง สำคัญมาก ‘แม่นานา’ฝากเตือน หลังเล่าเหตุการณ์รถบรรทุกชนท้ายรถที่ลูกนั่งอยู่

และที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรลืมเด็ดขาดเลยนั่นก็คือ ในกรณีที่ลูกอายุน้อยกว่า 2 ขวบ และน้ำหนักตัวยังไม่ถึง 9 กิโลกรัม ไม่ควรให้นั่งคาร์ซีทแบบหันไปด้านหน้ารถ เพราะกระดูกสันหลังของเด็กวัยนี้ยังไม่สมบูรณ์ เมื่อเกิดการเบรกแรงๆ หรือเกิดอุบัติเหตุ ศีรษะของเด็กจะถูกแรงเหวี่ยงของตัวรถ กระชากไปข้างหน้า ทำให้เสียชีวิต หรือเป็นอัมพาตได้ค่ะ

มาดูความอันตรายด้วยการทดสอบการเกิดอุบัติเหตุ ด้วยการให้เด็กนั่งบนตักโดยที่ไม่มีการใช้คาร์ซีท ไม่ได้ขาดเข็มขัดนิรภัยกันค่ะ

เห็นการทดสอบนี้แล้ว หวังว่ารถยนต์ที่ใช้เป็นประจำของทุกครอบครัวจะมีการติดตั้งคาร์ซีทที่เหมาะสมสำหรับให้ลูกนั่งกันนะคะ การให้ลูกนั่งคาร์ซีทเท่ากับเป็นการปกป้องชีวิตลูกให้รอดปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกครั้งที่มีการขับขี่รถยนต์ค่ะ

อ่านต่อ วิธีติดตั้งคารซีท หน้า 3

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

วิธีติดตั้งคาร์ซีทอย่างถูกต้อง และปลอดภัยต่อลูกน้อย

เมื่อทราบกันไปแล้วว่าคาร์ประเภทใดที่เหมาะกับลูกๆ ที่บ้าน ต่อมามาดูวิธีการติดตั้งคาร์ซีทที่ถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยต่อการใช้งานกันค่ะ

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยว่า ในแต่ละปีมีเด็กวัย 1 ถึง 14 ปี ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนมากถึง 2,000 คน ในจำนวนนี้เป็นอุบัติเหตุรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตสูงถึง 700 ถึง 1,000 คน โดยการไม่ติดตั้งเบาะนิรภัย

สำหรับเด็กหรือคาร์ซีทในรถ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีเด็กต้องเสียชีวิตมากถึง 120 คนต่อปี เพราะแม้ในรถทุกคันจะมีเข็มขัดนิรภัยอยู่แล้ว แต่ร่างกายเด็กที่เหมาะสมจะใช้เข็มขัดนิรภัยแบบที่ติดมากับรถต้องเป็นเด็กที่มีอายุมากกว่า 10 ปี หรือตามขนาดตัวเด็ก แต่ยังไม่ปลอดภัยเพียงพอที่จะใช้กับเด็กที่อายุน้อยกว่านั้น การติดตั้งคาร์ซีทสำหรับเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยจากการวิจัยพบว่า คาร์ซีทช่วยลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตของเด็กลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลดการเสียชีวิตได้มากถึงร้อยละ 60 ของจำนวนเด็กที่เสียชีวิตทั้งหมด[2]

วิธีติดตั้งคาร์ซีทก่อนการใช้งาน

  1. สำหรับลูกน้อยวัยไม่เกิน 1 ปี ควรติดตั้งคาร์ซีทที่เบาะหลังคนขับ และให้ลูกหันหน้าไปด้านหลังรถ เพราะหากเกิด การเบรกรุนแรง จะช่วยปกป้องคอ ศีรษะและกระดูกสันหลังของลูก ได้ดีกว่าการนั่งแบบหันหน้าค่ะ
  2. ศึกษาคู่มือการติดตั้งและการใช้คาร์ซีทอย่างละเอียด ว่ามีจุดยึดที่ตัวคาร์ซีทกับเข็มขัดนิรภัยอย่างไร จากนั้นดึงเข็ม ขัดนิรภัยให้สุด สอดสายคาดเอวเข็มขัดยึดไว้กับตัวล็อกคาร์ซีทด้านล่างเบาะรถ
  3. ดึงสายคาดเข็มขัดนิรภัยด้านบนให้อ้อมตัวคาร์ซีทมาด้านหลัง โดยต้องยึดกับตัวล็อกหรือจุดยึดของคาร์ซีทให้ มั่นคงแข็งแรง ทดสอบดูด้วยการลองโยกหรือขยับดูว่าติดตั้งได้แน่นหรือไม่

การติดตั้งคาร์ซีทหากไม่มั่นใจในการติดตั้งด้วยตัวเอง สามารถให้ที่ศูนย์รถยนต์ หรือเจ้าหน้าที่จากช้อปที่ไปซื้อคาร์ซีทมา ติดตั้งให้ก็ได้นะคะ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในครอบครัวที่ยังให้ลูกเล็กๆ นั่งหน้ารถยนต์ข้างคนขับด้วยการให้นั่งบนตักจะเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับความปลอดภัยต่อตัวลูกมากขึ้น ด้วยการติดตั้งคาร์ซีทที่เหมาะกับลูกไว้เบาะหลังรถยนต์ ซึ่งตามกฎ ข้อบังคับเด็กต้องได้นั่งคาร์ซีทกันตั้งแรกเกิด ถึง 12 ขวบค่ะ และเมื่อลูกอายุโตขึ้นไม่ว่าจะนั่งหน้ารถข้างคนขับ หรือนั่งเบาะหลังก็ต้องฝึกให้ลูกขาดเข็มขัดจนติดเป็นนิสัยกันด้วยนะคะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก

เด็กทารกจำเป็นต้องใช้คาร์ซีท จริงหรือ?
คาร์ซีท คือสิ่งจำเป็นแค่ไหนสำหรับลูกน้อย?

 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
1สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ. คาร์ซีทจำเป็นไหม
2รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์. “คาร์ซีท”ลดการเสียชีวิตของเด็ก. news.thaipbs.or.th

ขอขอบคุณต้นเรื่องจาก
Drama-addict 
hilight.kapook