เพราะพ่อแม่ปล่อยให้ลูกอยู่คนเดียว และชอบให้ลูกดูโทรทัศน์โดยพ่อแม่ไม่ได้คอยนั่งอธิบายเรื่องราวถูกผิด จึงทำให้มีข่าว เด็กชาย เลียนแบบการ์ตูน กางร่มแล้วกระโดดลงมาจากตึกชั้น 5 ตกกระแทกพื้นคอนกรีต แต่โชคดีที่ยังไม่เสียชีวิต
ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ของประเทศจีนรายงานว่า ได้มีคลิปวีดิโอเหตุการณ์สุดระทึกหวาดเสียวหนึ่งถูกส่งต่อบนโลกออนไลน์ของจีนอย่างแพร่หลาย โดยเป็นภาพของเด็กชายคนหนึ่งที่นอนแน่นิ่งอยู่บนพื้นหน้าร้านตัดผม เนื่องจากกระโดดลงมาจากตึกโดยมีร่มคันหนึ่งอยู่ในมือ ซึ่งด้านข้างมีผู้ปกครองคนหนึ่งนั่งคุกเข่าร่ำไห้อยู่ ท่ามกลางฝูงชนจำนวนไม่น้อย
โดยเหตุการณ์นี้ได้พยานหลายคนที่เห็นและได้เผยว่า เด็กชายคนดังกล่าวร่วงตกลงมาจากตึกที่พักชั้น 5 แต่เนื่องจากตึกนั้นเป็นตึกที่พักแบบสองชั้นในชั้นเดียว ดังนั้นบริเวณชั้น 5 จึงมีความสูงเทียบเท่ากับตึกชั้น 10 ของตึกทั่วไป โดยหลังเกิดเหตุก็มีคนรีบแจ้งตำรวจให้เข้าช่วยเหลือ
ซึ่งแพทย์ได้แจ้งว่า ขณะนี้เด็กชายคนดังกล่าวพ้นขีดอันตรายแล้ว ส่วนสาเหตุเกิดจากวันเกิดเหตุเด็กชายอยู่บ้านคนเดียว แล้วเกิดอยากเลียนแบบหนังการ์ตูนที่ดูขึ้นมา จึงได้ถือร่มออกไปกางแล้วกระโดดลงจากตึก ซึ่งขณะที่เด็กกำลังดิ่งลงมา ก็ตกไปเกี่ยวบริเวณเสาไฟฟ้าชั้น 2 พอดี ก่อนร่วงกระแทกลงพื้น
เมื่อข่าวนี้ถูกเผยแพร่ออกไปก็มีชาวเน็ตมาแสดงความเห็นว่า นี่เคยเป็นความคิดหนึ่งที่ตนอยากทำเช่นกันเมื่อตอนยังเด็กเช่นกัน แต่ไม่กล้าพอ อย่างไรก็ดี เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้ปกครองควรแนะนำบุตรหลานของตนขณะดูการ์ตูนหรือดูทีวีเพื่อให้เด็กมีความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ ที่ถูกต้อง จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์การเลียนแบบ แบบผิดๆนี้อีก เพราะการเลียนแบบตัวละครการ์ตูนบางฉาก การณ์ตูนไม่ตาย แต่ในชีวิตจริงอาจจะทำให้อันตรายถึงแก่ชีวิตได้
⇒ แนะนำบทความน่าอ่าน ก่อนคลิกหน้าถัดไป!
- ลูกชอบดู youtube ระวัง! อาจเป็นการ์ตูนสยองขวัญ สร้างพฤติกรรมไม่ดีให้ลูก
- อุทาหรณ์! ลูกติดจอรุนแรงระงับอารมณ์ไม่ได้
- ช่วยลูกแยกแยะโลกความจริงกับโลกในโทรทัศน์
ขอคุณข้อมูลข่าวและภาพจาก : news.sanook.com , society.qq.com
อ่านต่อ >> “วิธีจัดการพฤติกรรมการลอกเลียนแบบของลูกน้อย” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
พฤติกรรมการลอกเลียนแบบในเด็ก
ในเชิงจิตวิทยา หมายถึง การแสดงออกทางพฤติกรรมของเด็กที่ถูกกระตุ้นด้วยระบบการรับรู้ของจากแบบอย่าง ที่คอยดึงความสนใจและชี้นำให้เด็กปฏิบัติตาม หากจะพูดถึงพฤติกรรมการลอกเลียนแบบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ลูกสัตว์จะเฝ้าสังเกต จดจำ และลอกเลียนแบบการกระทำของสมาชิกรุ่นพี่
ส่วนมนุษย์นั้น การลอกเลียนแบบเกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่ค่อยๆ สั่งสมในแต่ละวัน สมองส่วนที่เรียกว่า “เซลล์กระจกเงา” ซึ่งเป็นระบบการทำงานของสมองที่ทำงานแบบ เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม เมื่อเด็กเห็นพฤติกรรมดังกล่าวซ้ำๆ ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ เด็กจะเริ่มลอกเลียนแบบพฤติกรรมทางสังคมดังกล่าว เช่น เมื่อเห็นผู้อื่นหาวเด็กก็มักจะหาวตาม เป็นต้น ทั้งนี้เซลล์กระจกเงาเป็นเสมือนไมโครชิพที่ฝังลึกในสมองของมนุษย์ที่มีอยู่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ก่อให้เกิดสัญชาตญาณและความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์
ลักษณะของเด็กที่มีพฤติกรรมการลอกเลียนแบบ
ปัญหาพฤติกรรมการลอกเลียนแบบจะแตกต่างไปตามพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็ก อายุ และเพศ พฤติกรรมการแสดงออกของเด็กสามารถสะท้อนความใส่ใจและการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง รวมถึงสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมเขา ปัญหาพฤติกรรมการลอกเลียนแบบในเด็กมีลักษณะดังนี้
- ลูกมีการใช้ภาษาแปลกๆ หรือวาจาผรุสวาส สบถ หรือศัพท์แสลง
- ชอบนำสิ่งของเครื่องใช้ติดที่ตัวมาใช้เป็นอาวุธทำร้ายผู้อื่น
- ติดอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี เช่น ไอแพท ไอโฟน เกมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
- ชอบใช้วลีเด็ดตามละคร ตามการ์ตูน หรือใช้คำศัพท์ที่มีผู้คิดขึ้นใหม่ๆโดยไม่รู้ความหมาย
- ชูนิ้วกลางเพราะเคยเห็นในภาพยนตร์ต่างชาติ
- พูดบทสนทนาในเรื่องเดิมๆซ้ำๆที่ชื่นชอบ เช่น การ์ตูนตอนโปรด เกมการแข่งขันหรือการต่อสู้ที่เป็นฉากก้าวร้าวและกรีดร้องเพื่อเรียกร้องความสนใจ
- ไม่ชอบทำความสะอาดอวัยวะร่างกายและไม่ชอบอาบน้ำเอง
- มีปัญหาพัฒนาการทางสมองและมีพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ลูกชายวัยสามขวบไม่โต้ตอบบทสนทนากับผู้อื่น ขาดปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง ดูการ์ตูนวันละหลายชั่วโมง ใช้คำพูดและภาษาที่แปลกประหลาด อีกทั้งยังพูดช้า ลูกสาววัยห้าขวบหัดแต่งหน้า ทำหน้าทำตาแปลกๆ ติดละคร ส่งเสียงร้องกรี๊ดๆเวลาไม่พอใจ ลูกชายวัยเก้าขวบชอบคบกับเพื่อนรุ่นพี่ ตามไปเล่นนอกบ้านและกลับบ้านผิดเวลา บางครั้งมีปัญหาการใช้กำลังกัน มีร่องรอยการถูกทำร้ายตามร่างกาย เป็นต้น
- มีพฤติกรรมรุนแรงอย่างคาดไม่ถึง เช่น ชกตีกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน พกพาอาวุธไปโรงเรียน ผลักเพื่อนตกสระน้ำ เป็นต้น
- เด็กที่ไม่ได้รับการดูแลและสั่งสอนอย่างจริงจังในวัยเด็ก จะส่งผลโดยตรงมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวในวันข้างหน้าพฤติกรรมการแสดงออกที่ก้าวร้าวในวัยรุ่นนี้อาจเกิดจากการลอกเลียนแบบ เมื่อเขายังอยู่ในวัยเด็กเล็กเมื่อเขาเติบโตขึ้นและมีความคิดเป็นของตัวเอง พฤติกรรมซ้ำๆที่เขาได้มาจากการลอกเลียนแบบจะพัฒนาไปสู่การสร้างอัตลักษณ์อันเป็นลักษณะเฉพาะตัวในที่สุด อัตลักษณ์ที่คงที่ มีทั้งลักษณะที่ดีและไม่ดี ซึ่งเด็กแสดงออกให้เห็นถึงความชื่นชอบหรือความคลั่งไคล้ผ่านพฤติกรรม เช่น ในวัยเด็กชอบก้าวร้าวใช้กำลัง
- ทะเลาะและทำร้ายผู้อื่น เมื่อโตขึ้นหากไม่ได้รับการแก้ไขกลายเป็นนักเลงมีพฤติกรรมเที่ยวทะเลาะวิวาท ใช้อาวุธทำร้ายผู้คนที่ไม่มีทางสู้ ไปจนถึงทำอันตรายจนผู้อื่นถึงแก่ชีวิต
ในช่วงวัย 6 – 9 ขวบนั้น การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมการลอกเลียนแบบในเด็กจะละเอียดอ่อนและซับซ้อนมากขึ้น ในระดับปฐมวัยเป็นพื้นฐานสำคัญที่ผู้ปกครองควรคำนึงถึงพฤติกรรมการลอกเลียนแบบ เพราะเด็กมีการเรียนรู้ที่มากยิ่งกว่าวัยอื่นๆ ควรพิจารณาจากแนวทางต่อไปนี้
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : taamkru.com
อ่านต่อ > >”วิธีช่วยลูกให้แยกความจริง ออกจากโทรทัศน์ ป้องกันพฤติกรรมการลอกเลียนแบบ” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
♠ ช่วยลูกให้แยกความจริง ออกจากโทรทัศน์
บางครั้งบางคราวเด็กๆ ก็สับสนระหว่างภาพที่ปรากฏในรายการโทรทัศน์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง คุณพ่อคุณแม่คือคนสำคัญที่ต้องเพิ่มทักษะการดูโทรทัศน์อย่างมีสติให้ลูกได้เข้าใจและมองโลกให้ลึกกว่าแค่ภาพที่เห็น
- บอกความจริงที่ซ่อนอยู่ มีบางฉากในละครหรือภาพยนตร์ที่ไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น ฉากที่นางเอกกินไอศกรีมปริมาณมหาศาลอย่างเอร็ดอร่อย ถ้าลูกมาบอกว่าอยากจะทำแบบนั้นบ้าง คุณอาจจะให้อีกมุมมองที่แตกต่าง “รู้ไหมจ๊ะว่าจริงๆ แล้ว ไม่มีใครกินไอติมมากขนาดนั้นได้หรอก เพราะตอนถ่าย แสงไฟร้อนๆ จะทำให้ไอติมละลายหมด”
- ระวังเรื่องเสียง เพลงเป็นสิ่งที่กระทบอารมณ์ได้มากที่สุด และดึงดูดความสนใจได้มากที่สุดด้วยในช่วงโฆษณาหรือฉากต่อสู้บู๊ดุเดือด คุณควรหรี่เสียงโทรทัศน์ลงบ้าง
- ให้ความกระจ่างฉากต่อสู้ ถ้าหากมีฉากบู๊ต่อสู้โหดๆ ชนิดเลือดตกยางออก คุณต้องอธิบายให้ลูกรู้ด้วยว่านักแสดงต้องซ้อมฉากนี้อย่างดี และถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในชีวิตจริง จะไม่เหมือนในทีวี แต่จะมีคนเจ็บและอาจจะถึงตายได้ เพราะฉะนั้น ลูกไม่ควรลอกเลียนแบบฉากเหล่านี้เด็ดขาด
- เช็กความเข้าใจ มีบางฉากในละครหรือภาพยนตร์ที่ไม่มีทางเป็นความจริงได้เด็ดขาด แต่เด็กๆ อาจไม่คิดอย่างนั้น คุณอาจตรวจดูบ้างก็ได้ว่าลูกคิดอย่างไร ถามคำถามจากเรื่องที่เขาดู เช่น “ลูกเชื่อไหมว่า ลูกโป่ง 1,000 ลูกจะทำให้บ้านลอยได้”
ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามควบคุมจำกัดเวลาที่ลูกใช้ไปกับการบริโภคสื่อไม่สร้างสรรค์ เช่น รายการการ์ตูนที่มีเนื้อหารุนแรง สื่อออนไลน์ที่นำเสนอการแก้ไขปัญหาโดยการตบตีทะเลาะวิวาท รายการวิทยุที่พูดสบถสาบาน ควรควบคุมและจำกัดเวลาให้ลูกบริโภคสื่อในช่วงระยะเวลาที่พอเหมาะ ไม่ได้หมายความว่า ต้องห้ามปราม จำกัดสิทธิ์ไม่ให้ดูทีวีที่เนื้อหารุนแรง ซึ่งนั่นจะยิ่งทำให้เด็กอยากรู้อยากเห็น ขาดภูมิคุ้มกัน รับสภาพปัญหาความเลวร้ายไม่ได้ และมีพฤติกรรมลักลอบบริโภคสื่อ โดยแอบดูรายการที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมเพียงลำพัง เพื่อไม่ให้ถูกต่อว่า ซึ่งนั่นจะทำให้เขาขาดคำแนะนำในการเลือกปฏิบัติ ดังนั้นนอกจากการจำกัดเวลาแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ควรห่วงใยและดูแลเขาอย่างใกล้ชิดในขณะที่เขาบริโภคสื่อต่างๆ ด้วย
√ ลูกติดดูทีวีมาก เบี่ยงเบนวิธีไหนดี!
สมาคมกุมารแพทย์และจิตแพทย์เด็กแนะนำว่า เด็กแรกเกิดถึง 18 เดือนไม่ควรดูทีวีเลย เด็กวัย 18 เดือนถึง 4 และเด็กวัย 4 ขวบขึ้นไปไม่ควรดูนานกว่าวันละ 1 ชั่วโมง เพราะจะทำให้มีปัญหาดังต่อไปนี้
- ขาดทักษะด้านอื่นๆ หรือพัฒนาการช้า เพราะไม่มีเวลาเหลือพอสำหรับกิจกรรมอื่นที่มีประโยชน์มากกว่า เช่น การเล่นสมมติ การวาดรูป – ระบายสี และการสื่อสาร
- พูดคุยกับผู้อื่น ทำให้พูดช้า อ่านหนังสือได้ช้า และผลการเรียนไม่ดี- ขาดทักษะในการหาทางออกเมื่อเกิดความเบื่อหน่าย ไม่สบายใจ หรือหงุดหงิด เพราะขาดความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์ หรือเมื่อมีปัญหาคับข้องใจก็จะใช้วิธีดูทีวีเพื่อฆ่าเวลาหรือเพื่อช่วยให้ลืมปัญหาที่แม้เป็นการชั่วคราวก็ยังดี
- การไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นออกกำลังกายหรือขี่จักรยานทำให้ขาดทักษะด้านการเคลื่อนไหว ทำให้กลายเป็นคนงุ่มง่าม อ่อนแอหรือติดโรคง่าย และทำให้เป็นโรคอ้วน เนื่องจากการนั่งอยู่หน้าจอทีวีทำให้แทบไม่ได้ใช้พลังงานใดๆ เลย แถมยังอาจกินขนมขบเคี้ยวไปพลางอีกต่างหาก
- อยากกินขนมหรืออยากได้ของเล่นที่อยู่ในโฆษณาทำให้มีปัญหาไม่ยอมกินข้าวเพราะอิ่มขนมที่ไม่มีประโยชน์ แถมสิ้นเปลืองเงินทองด้วย
- เด็กจะเลียนแบบและซึมซับสิ่งที่เห็นจากทีวี ทำให้เกิดพฤติกรรมไม่ดีตามมา เช่น ความก้าวร้าว และในบางครั้งการเลียนแบบฮีโร่ซึ่งมีความสามารถพิเศษ เช่น เหาะได้ อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น ผู้ปกครองจึงต้องคอยอธิบายอยู่ใกล้ๆ
- หากดูรายการที่น่ากลัวก็อาจเก็บไปฝันร้าย
- บางคนใช้ทีวีเลี้ยงลูก เปิดรายการเด็กให้ดูตลอดทั้งวันเพราะคิดว่าไม่มีพิษมีภัย จริงอยู่ว่าตอนนี้เราเลือกโปรแกรมให้ลูกได้ แต่อีกหน่อยเขาใช้รีโมทเป็นก็จะเลือกเปิดดูรายการต่างๆ เอง ยิ่งถ้ามีทีวีอยู่ในห้องส่วนตัวของเด็กก็ยิ่งอันตราย ทางที่ดีอย่าให้ลูกติดทีวีตั้งแต่ต้น สอนให้เขารู้ว่าเรานั่งอ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือล้อมวงกันเล่านิทาน ก็มีความสุขได้
- มีค่านิยมที่ผิด เช่น ต้องหน้าตาดีและมีหุ่นผอมบางเหมือนนางแบบจึงจะสวย ไม่ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางจิตใจ เนื่องจากทีวีไม่สามารถนำเสนอได้ทั้งหมด
- มีปัญหาพฤติกรรมผิดปกติ คล้ายเด็กไฮเปอร์ สมาธิสั้น หรือเด็กออทิสติก หมอเคยพบเด็กอายุ3 ขวบมีปัญหาเรื่องไม่พูด ไม่สบตา และชอบเล่นคนเดียว คุณแม่ไม่แน่ใจว่าเป็นออทิสติกหรือไม่ พอพาไปพบจิตแพทย์เด็ก คุณหมอก็บอกให้ที่บ้านปิดทีวี เพราะเด็กดูตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งเข้านอน ในที่สุดลูกก็สบตาและพูดคุยกับคนอื่นมากขึ้นภายในเวลาแค่ 2 วันเท่านั้นเอง
ถ้าจะให้ลูกเลิกติดทีวี คุณแม่ต้องใจแข็งค่ะ ถ้าเขาโวยวายก็อย่าตามใจ หากิจกรรมอื่นให้ทำแทน อย่าให้เขาว่าง เพราะจะคิดถึงทีวีมากขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปสัก 2 – 3 สัปดาห์ก็เปิดทีวีให้ดูใหม่ โดยดูได้ไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง และเลือกเฉพาะโปรแกรมดีๆเท่านั้น (ไม่ให้ดูประเภทต่อสู้) เขาจะได้ชินกับการไม่มีทีวีและรู้จักใช้เวลาเพื่อทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ให้มากขึ้น และอธิบายถึงข้อเสียของการดูทีวี ที่สำคัญ พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีด้วยนะคะ
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- หมอเตือน!! ดูทีวีทำร้ายลูกร้ายแรง สร้างพฤติกรรมผิดปกติ
- เทคนิคดึงดูดลูกๆให้สนใจหนังสือ
- คลิปหนูน้อยน่ารักแสนอ่อนไหว ดู การ์ตูนเพนกวิ้น แล้วร้องไห้เป็นตุเป็นตะ
บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านทารกแรกเกิด
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids