ใครคิดว่าคาร์ซีทใช้สำหรับเด็กเล็กเท่านั้น เรื่องราวของหนูน้อยวัย 6 ขวบคนนี้ ที่เกือบเสียชีวิตเพราะไม่ได้นั่ง บูสเตอร์ซีท (คาร์ซีทของเด็กโต) แต่คาดเข็มขัดนิรภัยของผู้ใหญ่ที่ติดมากับรถยนต์แทน อาจทำให้คุณเปลี่ยนใจ
หนูน้อยร่างเกือบขาดเพราะ คาดเข็มขัดนิรภัยผิด
หนูน้อย Samantha Swartwout วัย 6 ปี ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ขณะนั่งรถกลับบ้านกับคุณพ่อ เธอได้รับบาดเจ็บสาหัสเนื่องจากไม่ใช้ บูสเตอร์ซีส (คาร์ซีทของเด็กโต) พ่อของหนูน้อยคิดว่าเธอโตแล้ว และเธอก็คาดเข็มขัดนิรภัย แต่ดึงสายเบลท์ที่พาดทแยงหน้าอกไปไว้ด้านหลัง (เหมือนกับที่เด็กหลายๆ คนชอบทำนั่นแหละ) ซึ่งนั่นยิ่งเป็นการเพิ่มแรงกดไปที่หน้าท้องของเธอ
เมื่อรถชนเข้ากับต้นไม้อย่างจัง บวกกับแรงกระแทก ทำให้สายเบลท์ที่คาดอยู่ที่หน้าท้อง (แทนที่จะคาดอยู่ที่สะโพก หากนั่งในบูสเตอร์ซีท) บาดเข้าที่หน้าท้อง ลึกจนเปิดเห็นลำไส้ เกือบทำให้ร่างของหนูน้อยขาดเป็นสองส่วน
บาดแผลของ Samantha รุนแรงมาก แพทย์จำเป็นต้องผ่าตัดหลายครั้ง เพื่อรักษาบาดแผลที่หน้าท้องของหนูน้อยนอกจากนี้หนูน้อยยังได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรงอีกด้วย
หลังจากแพทย์จะอนุญาตให้ Samantha กลับบ้านได้ แต่หนูน้อยก็ยังใช้ชีวิตตามปกติไม่ได้ เพราะยังคงต้องรัดหน้าท้องเพื่อรอให้แผลหายสนิทก่อน ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน
แม่ของหนูน้อยรู้สึกผิดที่ปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับลูกของเธอ “เรื่องนี้สามารถป้องกันได้ ถ้าเธอให้ลูกนั่งบูสเตอร์ซีท เหตุการณ์นี้ก็จะไม่เกิดขึ้น” เธอบอก
คาดเข็มขัดนิรภัยอย่างถูกวิธี เรื่องสำคัญที่พ่อแม่ต้องรู้!
จากเหตุการณ์ครั้งนี้แม่ของ Samantha อยากบอกให้คุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นๆ ได้เห็นถึงความสำคัญของการคาดเข็มขัดนิรภัยอย่างถูกวิธี
“พ่อแม่หลายคนมักคิดว่า เมื่อลูกโตแล้วไม่จำเป็นต้องนั่งคาร์ซีทสำหรับเด็กโตก็ได้ และเด็กก็ชอบที่จะดึงสายเบลท์ที่พาดทแยงหน้าอกไปไว้ด้านหลัง สายเบลท์ด้านล่างจึงเป็นจุดรับแรงกระแทกทั้งหมด และเพราะหนูน้อยยังมีความสูงไม่พอ เมื่อไม่ได้นั่งบูสเตอร์ ทำให้สายเบลท์ด้านล่างแทนที่จะพาดบริเวณสะโพก กลับไปพาดอยู่บริเวณหน้าท้อง คุณหมอจึงเรียกการบาดเจ็บแบบนี้ว่า seat belt syndrome”
คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ลูกนั่งคาร์ซีทอย่างถูกต้องตามวัย และนั่งบูสเตอร์ซีทเพื่อหนุนตัวของลูกให้สูงขึ้น ช่วยให้เข็มขัดนิรภัยทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกัน seat belt syndrome ดั่งเช่นที่เกิดกับหนูน้อย Samantha ในครั้งนี้
อ่านต่อ>> “ข้อแนะนำในการใช้บูสเตอร์ซีทอย่างถูกวิธี” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ข้อแนะนำในการใช้ บูสเตอร์ซีท อย่างถูกวิธี
บูทสเตอร์ซีท (booster seat) คือเก้าอี้นั่งเปล่าๆ ที่ไม่มีเบลท์ของเก้าอี้มาด้วย ใช้กับเด็กที่โตเกินใช้แบบเข็มขัด 5 จุดแล้ว แต่ยังไม่สามารถใช้เบลท์ของรถยนต์ได้พอดี จึงต้อง boost ก้นเด็กให้สูงพอที่จะใช้เบลท์รถได้พอดี (สายเบลท์ต้องพาดไหล่ ไม่ใช่พาดคอ)
ตามข้อแนะนำของ Safe Kids Worldwide ระบุไว้ดังนี้
- เด็กควรนั่งในบูสเตอร์ซีทจนสูง 145 ซม. จึงจะสามารถนั่งคาดเข็มขัดของผู้ใหญ่ได้อย่างปลอดภัย
- เด็กอายุ 4-10 ปี เสียชีวิตในอุบัติเหตุรถยนต์เฉลี่ย 340 คนต่อปี
- เด็กที่ไม่นั่งบูสเตอร์ซีท แต่คาดสายเบลท์ของผู้ใหญ่อย่างเดียวมีความเสี่ยงได้รับบาดเจ็บรุนแรงที่หน้าท้อง ศีรษะและกระดูกสันหลัง เมื่อเกิดอุบัติเหตุ
- การนั่งบูสเตอร์ซีทช่วยลดความเสี่ยงจากการได้รับบาดเจ็บถึง 45% เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่คาดสายเบลท์ของผู้ใหญ่อย่างเดียว
- พ่อแม่ 9 ใน 10 คน เลิกให้ลูกนั่งบูสเตอร์ซีทก่อนที่ลูกจะโตพอที่จะคาดสายเบลท์ของผู้ใหญ่อย่างปลอดภัย
5 ขั้นตอนทดสอบ ลูกโตพอที่จะคาดเข็มขัดนิรภัยอย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องนั่งบูสเตอร์ซีทแล้ว
- ลูกนั่งหลังพิงพนักได้หรือยัง?
- เข่าลูกงอพ้นขอบเบาะหรือยัง?
- สายเบลท์ที่พาดทแยงหน้าอก พาดอยู่กลางบ่าพอดี ไม่พาดใกล้คอ หรือพาดใกล้แขน?
- สายเบลท์ด้านล่างพาดบริเวณต้นขาและสะโพกหรือเปล่า?
- ลูกสามารถนั่งแบบนี้ได้ตลอดการเดินทางหรือเปล่า?
หากทำได้ “ครบทุกข้อ” คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ลูกคาดเข็มขัดนิรภัยของผู้ใหญ่ได้โดยไม่ต้องนั่งบูสเตอร์ซีทแล้วค่ะ แต่หากยังทำได้ “ไม่ครบ” แสดงว่าควรให้ลูกนั่งบูสเตอร์ซีทต่อไป เพื่อความปลอดภัยค่ะ
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!
ลูกน้อยได้รับอันตราย เพราะนั่งคาร์ซีทผิดวิธี
ไม่ติดคาร์ซีท! รถเสียหลักชนที่กั้นขอบทาง ทารกวัย 8 เดือน กระเด็นตกเสียชีวิต
ขอบคุณข้อมูลจาก : เพจนมแม่แบบแฮปปี้, kidspot.com.au
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่