อุทาหรณ์เตือนใจคุณแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยทารก ไม่ควรให้ลูกนอนคว่ำ เพราะเสี่ยงต่อการขาดอากาศหายใจ เนื่องจากทารกยังไม่สามารถชันคอ หรือพลิกกลับไปนอนหงายเองไม่ได้ ดังกรณีนี้ที่ ทารกวัย 3 เดือนที่ประเทศจีน เสียชีวิตขณะที่แม่ของเด็กพยายาม ฝึกลูกนอนคว่ำ ตามคำแนะนำของบริษัทที่ปรึกษาด้านการดูแลเด็ก
เหตุการณ์เกิดขึ้นในขณะที่คุณแม่กำลังเข้าร่วมคอร์สออนไลน์เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกผ่านกรุ๊ป WeChat โดยทางบริษัทที่ปรึกษาได้แนะนำให้คุณแม่ ฝึกลูกนอนคว่ำ โดยคุณแม่คอยสังเกตการณ์ผ่านกล้องวิดีโอจากอีกห้องหนึ่ง
จากคลิปวิดีโอที่เป็นหลักฐาน สังเกตได้ว่า ทารกกำลังนอนคว่ำอยู่บนที่นอน พยายามที่จะพลิกตัว และร้องไห้อย่างต่อเนื่อง แต่คุณแม่ก็ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงแต่อย่างใด แม้จะกังวลใจว่าลูกน้อยอาจจะขาดอากาศหายใจ เพราะเชื่อตามคำแนะนำของบริษัทที่ปรึกษาว่า นี่เป็นวิธีฝึกให้ทารกเรียนรู้ที่จะนอนคว่ำ
แต่แล้วอีก 2 ชั่วโมงต่อมา คุณแม่ก็พบว่าลูกของเธอนั้นไม่หายใจแล้ว
ต่อมาทางบริษัทได้โพสต์ลงในสื่อโซเชียลมีเดียว่า ทารกไม่ได้เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจเพราะนอนคว่ำ และยังกล่าวอีกว่า แม่ของเด็กไม่ได้กล่าวหาว่าทีมงานของบริษัทเป็นต้นเหตุที่ทำให้ทารกเสียชีวิตแต่อย่างใด
จากกรณีดังกล่าว ผู้คนในโซเชียลมีเดียต่างก็แสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย ทั้งวิจารณ์ว่าเป็นความผิดของบริษัท ไม่เป็นมืออาชีพ ไม่มีความรับผิดชอบ ทางด้านแม่ของเด็กก็ถูกตำหนิว่าไม่ใส่ใจลูกเท่าที่ควร เชื่อบริษัทมากเกินไป ในขณะที่ส่วนหนึ่งก็แสดงความเห็นออกเห็นใจคุณแม่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ทางด้านคุณแม่คนอื่นๆ ที่ได้ลงคอร์สออนไลน์กับบริษัทดังกล่าวก่อนหน้านี้ก็ตั้งคำถามว่า ทำไมบริษัทถึงพยายามล้างสมองพวกเธอให้เข้าใจว่า การปล่อยให้ลูกนอนคว่ำนั้นดีมีประโยชน์มากมาย
- รวม 25 วิธีเด็ด ช่วยให้ลูกน้อยนอนหลับง่าย สบาย และนานขึ้น
- คัมภีร์นอนหลับ สร้างอัจฉริยะให้ลูกน้อย
- พ่อแชร์เทคนิคดี๊..ดี ฝึกลูกนอนเอง นอนยาว แบบ “Cry it out”
ฝึกลูกนอนคว่ำ อันตราย หมอไม่แนะนำ
จากกรณีดังกล่าว กุมารแพทย์ของจีนได้ให้สัมภาษณ์ว่า ทั้งในจีน และสหรัฐอเมริกา ไม่แนะนำให้ทารกอายุน้อยกว่า 1 ปีนอนคว่ำ และหากทารกอาเจียนในท่านอนคว่ำก็จะทำให้เกิดการปิดกั้นทางเดินหายใจของทารกได้เช่นกัน ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคไหลตายในทารก (SIDS) ด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก www.globaltimes.cn
อ่านต่อ ทารกไหลตาย vs ขาดอากาศหายใจ ต่างกันอย่างไร? คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
โรคไหลตายในทารก คืออะไร?
โรคไหลตายในทารก หรือ โรคการเสียชีวิตเฉียบพลันในเด็กทารก หรือ อาการหลับไม่ตื่นในทารก ภาษาอังกฤษเรียกว่า Sudden Infant Death Syndrome (SIDS) อาจเรียกว่า cot death หรือ crib death
สามารถเกิดขึ้นได้กับทารกในขวบปีแรก ทุกคนและทุกช่วงเวลา มักเกิดขึ้นระหว่างการนอนหลับ โดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งยังเกิดขึ้นในทารกที่มีสุขภาพแข็งแรง และอาจเกิดขึ้นขณะพ่อแม่นำลูกเข้านอนและเมื่อตื่นมาพบว่าปลุกลูกไม่ตื่นอีกเลย โดยทารกจะไม่ปรากฏอาการใดนำมาก่อน เช่น ร้องงอแงหรือเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้นก่อนเสียชีวิต
ทารกไหลตาย vs การขาดอากาศหายใจ ต่างกันยังไง?
ข้อมูลจาก Amarican SIDS Institute ระบุว่า SIDS เป็นการเสียชีวิตของทารกที่ไม่สามารถอธิบายได้ ซึ่งเป็นผลมาจากความผิดปกติทางการแพทย์ที่ไม่ทราบสาเหตุ มักจัดเป็นการเสียชีวิตตามธรรมชาติ แต่ การขาดอากาศหายใจโดยไม่ตั้งใจ เป็นการเสียชีวิตที่เกิดจากการอุดตันทางเดินหายใจบางส่วน ทำให้เสียชีวิตจาการขาดออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นถูกจัดประเภทเป็นการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ
ในกรณีส่วนใหญ่ การเสียชีวิตของทารกที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ ไม่สามารถแยกได้อย่างชัดเจนว่าเกิดจาก SIDS หรือการขาดอากาศหายใจโดยไม่ตั้งใจ
ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงเสียชีวิตเฉียบพลันของลูกวัยทารกที่สัมพันธ์กับการนอน เรามีคำแนะนำดังนี้ค่ะ
- คุณแม่ควรจับให้ลูกนอนหงายอยู่เสมอ ซึ่งการนอนหงายมีความปลอดภัยมากกว่าการนอนคว่ำ 6 เท่า และปลอดภัยกว่าการนอนตะแคง 2 เท่า
- สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดจากการสูบบุหรี่ เนื่องจากความเสี่ยงต่อโรคไหลตาย (SIDS) จะเพิ่มขึ้น หากมารดาสูบบุหรี่ระหว่างการตั้งครรภ์ รวมถึงมีหลักฐานบ่งชี้ว่า การที่ทารกได้รับควันบุหรี่มือสองอาจเพิ่มความเสี่ยงจากโรคไหลตาย (SIDS) ได้
- ใช้ที่นอนที่แข็งแรงและมีขนาดพอดี ห้ามวางลูกลงบนผ้านวม หมอน หนังแกะ หรือเก้าอี้บีนแบค ฯลฯ
- ลูกควรมีผ้าห่มของเขาเองและแน่ใจว่าเครื่องนอนไม่ไปปิดทับหน้าหรือศีรษะของเขา เมื่อห่มผ้าห่มให้ลูกน้อยควรสอดผ้าห่มไว้ใต้แขน ไม่วางผ้านวมที่มีขนนุ่มนิ่ม ที่กันกระแทกคล้ายหมอน ตุ๊กตายัดนุ่น และอื่นๆ บริเวณที่ลูกน้อยนอน
- อย่าปล่อยให้ลูกน้อยรู้สึกร้อนจนเกินไป ห้ามสวมเสื้อผ้าทับกันหลายชั้นหรือทำให้ลูกน้อยรู้สึกร้อนเกินไปโดยห่มผ้าหลายชั้น
- การสร้างภูมิต้านทาน ด้วยการฉีดวัคซีนให้ครบ รวมถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ช่วยให้เกิดผลด้านการป้องกันโดยตรงต่อโรคไหลตาย (SIDS)
ขอบคุณข้อมูลจาก www.fhs.gov.hk
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ท่านอนของลูกแต่ละวัย นอนท่าไหนถึงจะดี และเหมาะสม
ไอเดียสุดเจ๋ง ถุงมือแทนมือแม่แก้ ลูกติดมือ นอนหลับยาก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่