AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

สิงโตเกือบกัดเด็ก อุทาหรณ์ที่ต้องระมัดระวัง

มีคลิปวิดีโอหนึ่งที่ถูกแชร์กันในโลกโซเชี่ยล เป็นคลิปวิดีโอรายการในต่างประเทศ ในรายการมีผู้ใหญ่ 4 คน เด็ก 1 คน และสิงโตอีก 1 ตัว ในขณะที่พิธีกรสัมภาษณ์ เจ้าหน้าที่ที่ดูแลสัตว์อยู่นั้น สิงโตก็นั่งจ้องมองหนูน้อยที่นั่งอยู่บนตักของแม่ แล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น สิงโตเกือบกัดเด็ก

สิงโตคว้าขาของหนูน้อยมาแล้วพยายามจะกัด ต่อหน้าคุณแม่ คุณแม่ของหนูน้อยตกใจมาก หนูน้อยกรีดร้องด้วยความกลัว เจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์ทั้ง 2 คน พยายามช่วยหนูน้อย เจ้าหน้าที่บอกให้คุณแม่ใจเย็นๆ เพราะยิ่งแสดงอาการกลัว หรือตกใจ สิงโตจะยิ่งทำร้ายหนูน้อยให้เกิดอันตรายได้

คุณแม่จึงสงบ แล้วหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ก็พยายามแกะมือของสิงโตออกมาจากหนูน้อย เมื่อหนูน้อยไม่ดิ้น และคุณแม่ไม่กรีดร้อง สิงโตจึงยอมปล่อย หนูน้อยร้องไห้ด้วยความกลัว เจ้าหน้าที่คนหนึ่งจึงช่วยปลอบใจ เจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งพาสิงโตออกไปจากรายการ เจ้าหน้าที่ปลอบใจทั้งคุณแม่ และลูกน้อยจากเหตุการณ์น่าตกใจในครั้งนี้

ชมคลิปวิดีโอได้ที่นี่

อ่านต่อ “ทำไมสัตว์ชอบกัดเด็ก” คลิกหน้า 2

ทำไมสัตว์ชอบกัดเด็ก

คุณพ่อ คุณแม่คงเคยสงสัย ทำไมสุนัข แมว หรือสัตว์อื่นๆ ถึงชอบกัดหรือข่วนเด็กๆ มากกว่าผู้ใหญ่ Amarin Baby & Kids มีข้อมูลจาก dogilike.com มาฝากค่ะ

1.เด็กตัวเล็กเหมือนเหยื่อที่อ่อนแอ โดยเฉพาะเด็กที่ตัวเล็กกว่าระดับสายตาของสัตว์ที่มีสัญชาตญาณการไล่ล่าสูง จะจู่โจมเข้าหาทันที เพราะคิดว่าเป็นเหยื่อ เช่น สุนัขตัวใหญ่ เสือ สิงโต

2.เด็กวิ่งวุ่นวาย กระตุ้นสัญชาตญาณนักล่า การที่เด็กวิ่งไปมา อาจจะทำให้สัตว์แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ร้องขู่ หรือกัดได้

3.เด็กชอบจับสัตว์เล่น การยื่นมือไปจับ หรือลูบหัว สุนัข และแมวด้วยท่าทางของเด็ก หมายถึงการข่มขู่ หรือแสดงตัวเหนือกว่า บางครั้งสัตว์อาจขู่กลับ หรืองับ หรือข่วนที่มือได้

4.เด็กเสียงแหลมเล็ก โวยวาย กระตุ้นให้สัตว์ตื่นตัว และอาจโต้ตอบด้วยการขู่ หรือกระโจนใส่ต้นตอของเสียง

5.เด็กชอบแกล้งสัตว์ กระตุ้นให้สัตว์ก้าวร้าวโดยไม่รู้ตัว เช่น แย่งอาหารขณะที่สัตว์กำลังกิน ดึงหางเล่น

6.เด็กไม่เข้าใจอารมณ์ และพฤติกรรมของสัตว์ เช่น เห็นสัตว์แยกเขี้ยว คิดว่ายิ้มให้ พยายามจะเข้าไปจับ ทำให้โดนสัตว์ทำร้าย

อ่านต่อ “การฝึกให้เด็กและสัตว์เลี้ยงอยู่ร่วมกันอย่างสงบ” คลิกหน้า 3

การฝึกให้เด็กและสัตว์เลี้ยงอยู่ร่วมกันอย่างสงบ

1.สอนให้ลูกน้อยเข้าหาสัตว์เลี้ยงอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นสุนัข หรือแมว เช่น เมื่อเจอสุนัขครั้งแรกให้ยืนนิ่งๆ มือเท้าสะเอว ไม่มองตา ไม่พูด คุณพ่อ คุณแม่ยืนข้างๆ ให้ลูกน้อยฝึกทำจนเคยชิน ไม่ว่าจะเป็นสุนัขตัวไหนก็ตาม จะทำให้สุนัขเคารพ เพราะทำให้เด็กดูไม่อ่อนแอ สุนัขจะไม่วิ่งไล่ อย่าทำให้สุนัขรู้สึกว่าข่มเด็กได้

2.ห้ามให้ลูกหันหลังวิ่งหนี เพราะนั่นจะทำให้ลูกกลายเป็นเหยื่อ และสัตว์จะเข้าสู่โหมดไล่ล่าทันที

3.เมื่อสัตว์จะเข้าใกล้เด็ก ให้คุณพ่อ คุณแม่ก้าวเข้ามาอยู่ด้านหน้าของเด็ก อยู่ระหว่างกลางเด็กกับสัตว์ ต้อนไม่ให้สัตว์เข้าใกล้เด็กประมาณ 1 เมตร สัตว์อาจจะพยายามวน ดักหน้าดักหลัง เพื่อหาช่องทาง คุณพ่อ คุณแม่ต้องเผชิญหน้ากับสัตว์ ดักเอาไว้ และให้ลูกน้อยยืนนิ่งๆ ไม่ต้องพูดอะไร จนกว่าสัตว์จะเลิกพยายาม และนั่ง หรือหมอบเฉยๆ หรือเดินจากไป นั่นแสดงว่ามันยอมแพ้ ยอมให้เด็กอยู่เหนือกว่า

4.เมื่อสัตว์สงบ คุณพ่อ คุณแม่ลองเรียกมาใกล้ๆ โดยให้เด็กยืนนิ่งๆ แล้วลองให้ลูกน้อยยื่นขนมให้ โดยที่มือคุณพ่อ คุณแม่หุ้มมือลูกเอาไว้ เพื่อเตือนสัตว์ว่าเด็กคนนี้เราคอยปกป้องอยู่ ฝึกแบบนี้บ่อยๆ สัตว์จะมีท่าทีที่นิ่มนวล

5.ถ้ามั่นใจในความปลอดภัย ให้ลูกลองยื่นขนมให้สัตว์กินเอง โดยยืนดูอยู่ข้างๆ เพื่อให้สัตว์ไว้ใจในตัวเด็ก

เคล็ดลับ!!

อ่านต่อ “ถ้าลูกถูกกัดจะทำอย่างไรดี?” คลิกหน้า 4

ถ้าลูกถูกกัดจะทำอย่างไรดี?

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรุณี เจตศรีสุภาพ วว.กุมารเวชศาสตร์, อว.โลหิตวิทยา ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า การถูกสัตว์กัดเป็นอันตราย อาจถึงชีวิต โดยในประเทศไทยพบว่า ประมาณ 85-90% เกิดจากสุนัข 10% เกิดจากแมว 2% เกิดจากหนู และสัตว์อื่นๆ เช่น ค้างคาว กระรอก งู แมลงกัดต่อย และคนส่วนใหญ่ที่ถูกกัดก็คือเด็กในสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือในโรงเรียน

ในประเทศไทยสุนัขมักกัดเด็กตั้งแต่ 2-15 ปีในช่วงฤดูร้อน และกัดเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง เพราะชอบเล่นนอกบ้าน อาจถูกสุนัขจรจัดกัด แผลเมื่อถูกกัดมี 3 แบบคือ แผลถลอก แผลรอยลึก และแผลฉีกขาด

การปฐมพยาบาลเมื่อถูกกัด

1.ล้างทำความสะอาดแผลเบาๆ ด้วยน้ำเกลือ และสบู่ทันที เช็ดแผลด้วยแอลกอฮอล์ 70% และน้ำยาโพวิดีน

2.ถ้าแผลยังมีเลือดออก ให้ใช้ผ้าสะอาดกดแผล และพันแผลเอาไว้ช่วยหยุดเลือด

3.รีบพาไปพบแพทย์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และพยาบาล

การป้องกันไม่ให้ลูกถูกกัด

1.คุณพ่อ คุณแม่ระมัดระวัง ไม่ให้สุนัข หรือสัตว์อื่นๆ กัดจนลูกน้อยได้รับอันตรายถึงชีวิตได้

2.ดูแลลูกน้อยให้อยู่ในสายตา ไม่คลุกคลีกับสัตว์แม่ลูกอ่อน หรือใกล้ชิดกับสัตว์มากเกินไป

3.สอนลูกน้อยให้รู้จักระวังสุนัข หรือสัตว์ที่อาจจะกัดได้

เครดิต: www.dogilike.com, www.bloggang.com, http://haamor.com