“อุบัติเหตุไม่ใช่เหตุที่ป้องกันไม่ได้” อุบัติเหตุไม่คาดฝัน คือ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยเราไม่คาดคิด ไม่รู้ว่านี่คือความเสี่ยง หรือไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่อุบัติเหตุต่างๆ เราสามารถป้องกันได้ เพียงแค่พยายามหาความรู้ ทำความเข้าใจ และหมั่นสังเกต ระมัดระวังป้องกันล่วงหน้า
อุบัติเหตุไม่คาดฝัน ป้องกันได้
ลูกน้อยของเราจะปลอดภัยจากเหตุ ที่ไม่คาดคิดต่างๆ ได้แน่นอน ถ้ารู้ว่า 4 อุบัติเหตุไม่คาดฝัน ในบ้านที่พ่อแม่สามารถป้องกันล่วงหน้าได้คืออะไร
1.อุบัติเหตุจากการนอน
อุบัติเหตุจากการนอนเกิดได้ทั้งจากการนอนของพ่อแม่และการนอนของทารกเอง เช่น ทารกแรกเกิดเสียชีวิตเพราะคุณแม่นอนให้นมจนทับลูก นอนหลับลึกเพราะฤทธิ์ยาหรืออ่อนเพลีย จากการคลอด หรืออีกรายทารกอายุ 3 เดือน ฝากเลี้ยงที่เนิร์สเซอรี่ โดยพี่เลี้ยงจัดให้นอนคว่ำ เรียงรายกันหลายคนบนเบาะผู้ใหญ่ที่สะอาด ถูกอนามัย โดยทารกคนหนึ่งถูกจัดให้นอนริมสุด ข้างกำแพง พี่เลี้ยงมาพบอีกครั้งศีรษะเด็กตกลงไปจากเบาะ นอนแน่นิ่งในซอกระหว่างเบาะกับ กำแพงพอดี เมื่อพลิกเด็กให้หงายขึ้นมาก็พบว่าเด็กได้เสียชีวิตแล้ว 3 เดือนแรกแห่งวัยแบเบาะ การนอนจึงอาจก่อเหตุอันตรายได้หากไม่รู้ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พึงระมัดระวังก็คือ
- ระวังไม่ให้ลูกนอนหงาย นอนชิดกับผู้ใหญ่หรือเด็กโต โดยไม่ได้แยกที่นอน แยกเบาะ
- ไม่ใช้เบาะและผ้าห่มหนานุ่ม เพราะใบหน้าของเด็กจะจมลงไปจนปิดปาก ปิดจมูก ทำให้ขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิตได้
- ระวังการใช้เตียงเด็กที่ซี่ราวกันตก มีช่องว่างมากกว่า 6 เซนติเมตร เพราะตัวเด็กอาจตกลอดช่อง โดยที่ศีรษะติดค้าง
- ไม่ควรใช้ผ้าห่มหรือผ้าคลุมเตียงแบบหนาๆ วางไว้ใกล้ที่ที่ลูกนอน เพราะนั่นคือ “อันตราย” ที่หลายคนคาดไม่ถึง! เพราะเด็กอาจจับและดึงผ้าที่อยู่ใกล้ตัวนั้นลงมาปิดหน้าปิดจมูกจนหายใจไม่ออกได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “จมน้ำ อุบัติเหตุไม่คาดฝันในบ้าน” คลิกหน้า 2
2.จมน้ำ
สมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาเคยออกประกาศเตือนภัยว่า ใครมีลูกหลานอยู่ในวัย 1 – 2 ขวบจะต้องระวัง เรื่องการจมน้ำตายให้มาก ในเด็กไทยของเราเองมีสถิติที่น่ากลัวมิใช่น้อย อัตราการตายจากการจมน้ำในเด็ก 1 – 2 ขวบอยู่ที่ประมาณ 13 – 14 คนต่อ 100,000 คน โดยเด็กวัย 1 – 4 ขวบมีตัวเลขจมน้ำเสียชีวิตสูงกว่าเด็กญี่ปุ่น 3 เท่า และสูงกว่าเด็กสวีเดนอยู่ถึง 7 เท่า ที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือ จุดที่เด็กๆ ของบ้านเราจมน้ำเสียชีวิตก็คือ แหล่งน้ำภายในบ้านหรือใกล้ๆ บ้าน เช่น ถังน้ำหรือกะละมังที่ปริ่มน้ำ โอ่งน้ำที่ไม่ปิดฝาหรือไม่มีฝาปิด บ่อน้ำที่ไม่มีรั้วกั้น รวมถึง ส้วมชักโครกที่เปิดฝาไว้ เช่นตัวอย่าง 2 เรื่องนี้
…แม่ใจสลาย ลูก 1 ขวบจมถังน้ำดับอนาถ! เนื้อข่าวมีอยู่ว่า เด็กวัยขวบเศษอยู่บ้านตามลำพังโดยแม่และป้าต่างออกไปขายของซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่เกิน 10 เมตร เมื่อแวบกลับมาดูลูกก็พบว่าทั้งหัวและตัวของลูกทิ่มลงไปในถังน้ำที่สูงราว 40 เซนติเมตร และมีน้ำอยู่ครึ่งถัง!
…เมื่อคุณแม่ท่านหนึ่งมัวง่วนอยู่กับการทำงานบ้าน จนรู้ตัวอีกทีว่าลูกหายไป ก็มาพบลูกสาววัย 8 เดือน นอนคว่ำหน้าลงไปในกะละมังที่รองน้ำไว้ ลูกน้อยเนื้อตัว ซีดเซียว คุณแม่พยายามปฐมพยาบาลโดยการแบกพาดบ่า แล้วเขย่าๆ (ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด) เมื่อเห็นว่าลูกไม่ฟื้นจึงรีบ ส่งไปโรงพยาบาล เด็กเข้ารักษาตัวในห้องไอซียู อีก 7 วัน ต่อมาเด็กน้อยก็เสียชีวิตด้วยอาการติดเชื้อที่ปอด
“ในเด็กไทยของเราเองมีสถิติที่น่ากลัวมิใช่น้อย อัตราการตายจากการจมน้ำในเด็ก 1 – 2 ขวบอยู่ที่ประมาณ 3 – 14 คนต่อ 100,000 คน โดยเด็กวัย 1 – 4 ขวบมีตัวเลขจมน้ำเสียชีวิตสูงกว่าเด็กญี่ปุ่น 3 เท่า และสูงกว่าเด็กสวีเดนอยู่ถึง 7 เท่า”
1.อย่าปล่อยให้ลูกคลาดสายตาเด็ดขาด โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบยิ่งต้องดูแลใกล้ชิด ไม่ควรวางใจว่า เด็กจะหลบหลีกอันตรายต่างๆ ที่อยู่รอบตัวได้แล้ว อย่าปล่อยให้เด็กอยู่ในน้ำหรือ อยู่ใกล้แหล่งน้ำเพียงลำพัง ไม่ว่าจะเป็นอ่างน้ำในบ้านหรือบ่อน้ำสระน้ำนอกบ้าน แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เท่าใดก็ตาม ดังนั้นถ้าคุณแม่มีธุระ เช่น ไปรับโทรศัพท์ มีคนมาเยี่ยม ไปดูทีวี ก็ให้อุ้มลูก ออกไปด้วยทุกครั้ง
2.ทำบ้านให้ปลอดภัยเสมอ ควรหมั่นสำรวจทั้งในและนอกบ้าน อยู่เสมอๆ ว่าจุดใดคือจุดเสี่ยง เมื่อพบแล้วก็ต้องรีบจัดการให้เรียบร้อย เช่น ถ้ารองน้ำไว้ในถัง ในตุ่ม ในโอ่ง ต้องปิดฝาไว้ตลอดเวลา น้ำในถังและกะละมังหากไม่ได้ใช้ให้เททิ้งและคว่ำ กะละมังและถังไว้ด้วย หากในบริเวณนั้นมีสระว่ายน้ำหรือมีบ่อให้ทำรั้วกั้นเพื่อไม่ให้เด็กๆ เข้าไปเล่นโดยไม่มีผู้ใหญ่ดูแล
3.สอนลูกวัย 5 ขวบขึ้นไปให้เรียนรู้ความปลอดภัยทางน้ำ ได้แก่ การพาไปเรียนว่ายน้ำ ฝึกทักษะการลอยตัว และว่ายน้ำเป็น รวมทั้งรู้ถึงอันตรายของน้ำ โดยเรียนว่ายน้ำกับคุณครูผู้มีความชำนาญด้านการว่ายน้ำ และไม่เพียงแค่พอให้ลูกว่ายน้ำได้เท่านั้น แต่ควรมีความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำด้วย นั่นคือ สอนให้รู้จักแหล่งน้ำ จุดเสี่ยงที่ลงเล่นไม่ได้ รู้จักการลอยตัวได้อย่างน้อย 3 นาที ว่ายน้ำได้อย่างน้อยประมาณ 15 เมตร เพื่อเอาชีวิตรอดยามเกิดเหตุฉุกเฉิน และสุดท้ายต้องมีพฤติกรรมการใช้ชูชีพเสมอ เมื่อต้องเดินทางทางน้ำ ส่วนทักษะในการช่วยเหลือผู้อื่น (ที่จมน้ำ) นั้นก็สามารถฝึกฝนต่อไปได้เมื่อลูกเติบโตขึ้น
4.ส่วนลูกที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบ หากพอจะฝึกฝนการรู้จักช่วยเหลือตัวเองให้โผล่พ้นน้ำขึ้นมาได้เมื่อตกน้ำ และพอจะประคับประคองตนเองได้เพื่อให้ผู้พบเห็นช่วยได้ทัน ก็สามารถลองฝึกในสถาบันที่ได้มาตรฐานและมั่นใจได้
5.จูงมือเด็กๆ ไปสำรวจจุดเสี่ยงด้วยกัน พร้อมกับให้คำแนะนำ และคำห้ามปรามในเรื่องของความปลอดภัย เช่น พาไปสระว่ายน้ำแล้วเดินไปดู หรือสัมผัสถึงความลื่นของขอบสระที่ไม่ควรวิ่งเล่นในบริเวณนี้เด็ดขาด แล้วแนะนำอีกว่า ก่อนลงว่ายน้ำจะต้องทำการวอร์มอัพ หรือบริหารร่างกายก่อนลงสระเพื่อให้ร่างกาย ได้ปรับสภาพความพร้อมก่อนจะออกกำลังกาย มิฉะนั้นอาจเกิดปัญหากล้ามเนื้อ ได้รับบาดเจ็บ กล้ามเนื้อเกร็ง หรือตะคริว กินระหว่างกำลังว่ายน้ำจนเป็นอันตรายได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “เส้นสายยาวรัดคอเด็ก อุบัติเหตุไม่คาดฝันในบ้าน” คลิกหน้า 3
3.เส้นสายยาวรัดคอเด็ก
จากเหตุเด็กอายุ 10 เดือนนอนอยู่กับแม่ เมื่อพ่อกลับถึงบ้านมืดและตรงเข้าหอมลูก รู้สึกว่าลูกตัวเย็นผิดปกติ จึงเปิดไฟดูแล้วพบว่า เชือกหูรูดหมอนข้างพันเกลียวอยู่รอบคอลูก ขณะที่แม่ยังหลับอยู่โดยไม่รู้ว่าเกิดเหตุอะไรขึ้นกับลูก!!
อีกกรณีคือ เด็กอายุ 2 ขวบเล่นคนเดียวอยู่ในห้องนั่งเล่น แม่ทำครัวอยู่หลังบ้าน เมื่อออกมาพบว่าลูกอยู่ในท่าแขวนคอ มีสายปรับมู่ลี่รัดรอบคอ และมีกล่องของเล่น อยู่ที่บริเวณเท้าคล้ายเด็กจะปีนกล่องเพื่อเล่น สายมู่ลี่ ก่อนจะพลัดตกจากกล่อง
นอกจากมู่ลี่หน้าต่างแล้ว ของเล่นที่มีสายยาวก็มีอันตราย จึงห้ามไม่ให้เด็กเล่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งของเล่นที่ต้องนำมาคล้องคอ เช่น โทรศัพท์ที่มีสาย สร้อยคอ กีตาร์คล้องคอ เพราะสายอาจรัดคอเด็ก ทำให้กดการหายใจได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “ทีวีหล่นทับเด็ก อุบัติเหตุไม่คาดฝันในบ้าน” คลิกหน้า 4
4.ทีวีหล่นทับเด็ก
เคยมีเหตุการณ์ที่พี่น้องอายุ 8 ขวบและ 4 ขวบ กำลังดูทีวีกันตามลำพังในห้องนอน ทีวีขนาดใหญ่ วางบนตู้กระจกที่มีลิ้นชักด้านล่าง พี่สาวดูวีซีดีแผ่นแรกจบ จะใส่แผ่นที่สองโดยดึงเอาลิ้นชักล่างออกมาเพื่อเหยียบต่อตัวให้สูงขึ้น ปรากฏว่า ทีวีขนาดยักษ์หล่นทับศีรษะน้องชาย ไม่รู้ว่าจะช่วยอย่างไร กว่าพ่อแม่จะกลับมาก็สายเกินไป
ของหนักหล่นทับเด็กเป็นเหตุอันตรายที่คุณพ่อ คุณแม่ไม่คาดคิด ทั้งจากทีวี วิทยุ ชั้นวางของ ตู้แขวนผนัง เครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น เสาฟุตบอล และแป้นบาสเกตบอล
หากในบ้านมีสิ่งของหนักเหล่านี้ พ่อแม่ ต้องใส่ใจทำการสำรวจว่าติดตั้งได้มั่นคงหรือไม่ และไม่จัดวางของที่เด็กต้องใช้ในที่สูงอันตราย ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่คาดคิด ทั้งจากทีวี วิทยุ ชั้นวางของ ตู้แขวนผนัง เครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น เสาฟุตบอล และแป้นที่เด็กต้องปีนป่าย ถ้าไม่ให้เด็กใช้ก็ต้องบอกกล่าว และไม่ให้เด็กอยู่ตามลำพังกับสิ่งของเหล่านั้น
เด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบไม่ควรดูทีวี เพราะอาจทำให้ปฏิสัมพันธ์ของลูก กับผู้เลี้ยงดูจืดจาง บางครั้งทำให้ลูกพูดช้า และที่สำคัญคือ เด็กที่ดูทีวีแต่เล็กก็จะติดจนโต รวมทั้งเรื่องราวจากสื่อที่ดูล่อแหลม ก้าวร้าว รุนแรง ที่มีอยู่แทบทุกช่องอาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมเลียนแบบจนก้าวร้าวรุนแรงได้
นอกจากนี้เด็กที่ดูทีวีมากจะออกกำลังกายน้อย เป็นโรคอ้วนได้อีก คุณพ่อคุณแม่จึงควรหันมาใช้การเล่านิทานแทนการให้เด็กเล็กดูทีวีจะดีที่สุด เพราะนอกจากจะส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันแล้ว ยังส่งเสริมการอ่าน ทำให้ลูกฉลาดขึ้นด้วย
กองบรรณาธิการ
นิตยสาร Amarin Baby & Kids ฉบับคู่มือระวังภัย โลกยุคใหม่อันตรายรอบด้าน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง คลิก!
รู้ทันพัฒนาการเสี่ยงภัยลูกน้อยแรกเกิด-12เดือน
จัดบ้านปลอดภัย ป้องกันไม่ให้ลูกน้อยเสียชีวิต
เตือนพ่อแม่! ตู้ล้มทับลูก เรื่องใกล้ตัวที่ต้องระวัง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
Save