เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2559 ที่ผ่านมา นายนรินทร์ ชมภูพวง นิสิตปริญญาเอก สาขากีฎวิทยา ภาควิชาชีววิทยาคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงข่าว “ค้นพบแมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน ครั้งแรกในประเทศไทย”
โดยค้นพบในบริเวณถ้ำ ภายในเขตพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) อ.ไทรโยค จ. กาญจนบุรี
ผู้วิจัยเล่าว่าแมงมุมที่มีพิษร้ายแรงในประเทศไทย มี 3 ชนิด ได้แก่ แมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาล (พบได้ทั่วประเทศ) แมงมุมแม่ม่ายหลังเพลิง (ยังพบการกระจายไม่มากนัก ครั้งแรกพบที่ จ.ฉะเชิงเทรา) และแมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน พบเฉพาะในถ้ำดังกล่าวนี้เท่านั้น ซึ่งยังไม่เคยมีรายงานในประเทศไทยที่พบผู้เสียชีวิตจากพิษของแมงมุมชนิดนี้
แม้ว่าแมงมุมชนิดนี้จะมีพิษร้ายแรง แต่ก็มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เนื่องจากเป็นสัตว์กินแมลง ช่วยควบคุมการเติบโตของระบบนิเวศตามธรรมชาติ
อย่างไรก็ดี เจ้าแมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าชอบอยู่อย่างสันโดษ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร แต่เราเราเผลอไปยุ่งเกี่ยวโดนสัมผัสมันแล้วล่ะก็ ความร้ายแรงของพิษร้ายนี้ยังไม่มีเซรุ่มที่จะรักษาได้ หากโดนเจ้าแมงมุมร้ายกัดหรือสัมผัสโดนมันจะมีตุ่มคล้ายยุงกัด และควรรักษาแผลให้สะอาด รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว (ทางที่ดีต้องจับแมงมุมนี้ไปด้วย คุณหมอจะได้รักษาได้ถูกต้อง) หากไม่มั่นใจว่าเป็นแมงมุมชนิดใด สามารถส่งตัวอย่างให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านแมลง สาขาวิชากีฏวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 02-218-5272
อย่ารอให้เรื่องร้ายเกิดขึ้นก่อนถึงจะค่อยหาทางป้องกัน เพราะสมัยนี้เราหาความรู้เรื่องสัตว์ป่า สัตว์มีพิษได้จากเว็บไซต์และวิดีทัศน์สารคดีทั่วไป หากคุณพาลูกเล็กเที่ยวป่า อย่าปล่อยให้ลูกสัมผัสสัตว์ร้ายมีพิษต่างๆ และเมื่อโดนพิษของมันเข้าแล้ว ก็ต้องรู้จักปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกวิธี และรีบพามาพบแพทย์โดยเร็วที่สุดค่ะ
ที่มาจาก : เว็บไซต์คมชัดลึก