ปวดท้องบอกโรค เคยได้ยินคุณแม่คุยกับคุณหมออยู่บ่อยๆ เกี่ยวกับอาการปวดท้อง ที่บางครั้งก็ปวดแบบไม่มีสาเหตุ จะเข้า ห้องก็ไม่ใช่ จะท้องอืดก็ไม่เชิง พอไปหาหมอก็ตรวจอาการตอนแรกไม่พบ สุดท้ายคุณหมอจับเช็กอย่างละเอียด ผลคือเป็นนิ่วในถุงน้ำดี! ทีมงาน Amarin Baby & Kids จะพาไปสำรวจตำแหน่งทั่วบริเวณท้องกันค่ะว่าสามารถบอกโรคอะไรได้บ้าง
ปวดท้องบอกโรค
โอ้ย! ทำไมปวดหน่วงๆ ตรงใต้สะดือ แต่บางทีก็ปวดแสบๆ ตรงใต้ลิ้นปี่ ใครรู้ช่วยบอกทีเวลา ปวดท้องบอกโรค อะไรให้รู้กันได้บ้าง นอกจากคุณแม่แล้วที่มีอาการปวดท้อง เพราะมีสาเหตุมาจากนิ่วในถุงน้ำดี ก็ยังมีเพื่อนๆ รอบข้างนี่แหละค่ะที่มักบ่นเกี่ยวกับอาการปวดท้องให้ฟัง ทั้งปวดประจำเดือน ปวดจุกๆ ปวดมวนๆ ท้อง สารพัดจะปวด จนสุดท้ายก็ต้องไปหาข้อมูลมาให้ว่า ในอาการปวดท้องแต่ละจุดที่เกิดขึ้นนั้น ความจริงแล้วมีอาการของโรคอะไรซ่อนอยู่ได้บ้าง
เพราะการสังเกตว่าปวดท้องต้องบริเวณตำแหน่งไหน จะทำให้รู้เบื้องต้นว่าอาจจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคอะไรตามมาได้บ้าง สำหรับตำแหน่งปวดท้อง บอกโรค ทีมงานขออนุญาตนำข้อมูลที่ แพทย์หญิงสกุณี กระกูลสุขสถิตย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย1 ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับอาการปวดท้องที่เกิดขึ้นไว้ดังนี้ค่ะ…
ปวดท้องตรงไหน บอกให้รู้ว่าเสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง?
คุณหมอสกุณี1 ได้อธิบายถึงสาเหตุของการปวดท้อง ที่เกี่ยวเนื่องกับช่องท้องที่ประกอบไปด้วยอวัยวะต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งสาเหตุของอาการปวดท้องที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากโรคของอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ในช่องท้อง หรืออาจเป็นอวัยวะที่อยู่นอกช่องท้องก็ได้เช่นเดียวกันค่ะ
1. ปวดท้องตรงตำแหน่งขวาช่วงบน
อาจเสี่ยงที่จะเกิดโรคที่เกิดจากตับ ถุงน้ำดี หรือลำไส้ที่อยู่ตรงบริเวณดังกล่าว และไตขวา เช่น ตับอักเสบ นิ่วในถุงน้ำดี หรือจะเป็นกรวยไตขวาอักเสบ รวมถึงการเป็นนิ่วในไตขวา เป็นต้น
2. ปวดท้องตรงตำแหน่งใต้ลิ้นปี่
อาจเสี่ยงเป็นโรคที่เกิดจากกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร ถุงน้ำดี เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ กรดไหลย้อน หรือเป็นนิ่วในถุงน้ำดี เป็นต้น
3. ปวดท้องตรงตำแหน่งซ้ายช่วงบน
อาจเสี่ยงเป็นโรคที่เกิดจากกระเพาะอาหาร ม้าม ตับอ่อน หรือลำไส้ที่อยู่ตรงบริเวณนี้ และไตซ้าย เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ม้ามแตก กรวยไตซ้ายอักเสบ หรือเป็นนิ่วในไตซ้าย เป็นต้น
4. ปวดท้องตรงตำแหน่งรอบสะดือ
อาจเสี่ยงเป็นโรคที่เกิดจากลำไส้เล็ก อาจเกิดจากลำไส้อักเสบ และเป็นอาการเริ่มปวดท้องของของไส้ติ่งอักเสบได้
บทความแนะนำ คลิก>> ลูกปวดท้อง อย่านิ่งนอนใจ! 4 โรคร้ายที่อาจแอบแฝง
5. ปวดท้องตรงตำแหน่งขวาช่วงล่าง
อาจเสี่ยงเป็นโรคจากไส้ติ่ง ลำไส้ที่อยู่ตรงบริเวณนี้ ปีกมดลูกด้านขวา เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ปีกมดลูกขวาอักเสบ เป็นต้น
6. ปวดท้องตรงตำแหน่งเหนือหัวหน่าว
อาจเสี่ยงเป็นโรคที่เกิดจากกระเพาะปัสสาวะ มดลูก เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ มดลูกอักเสบ เนื้องอกมดลูก เป็นต้น
7. ปวดท้องตรงตำแหน่งซ้ายช่วงล่าง
อาจเสี่ยงเป็นโรคที่เกิดจากลำไส้ที่อยู่บริเวณนี้ ปีกมดลูกด้านซ้าย เช่น ลำไส้อักเสบ ปีกมดลูกซ้ายอักเสบ เป็นต้น1
ต่อไปนี้ไม่ว่าจะเด็ก หรือผู้ใหญ่ หากมีอาการปวดท้องให้ลองสังเกตดูว่าปวดตรงตำแหน่งไหน เพื่อที่เวลาไปพบคุณหมอจะได้ตรวจวินิจฉัยอาการได้ชัดเจนมากขึ้น ช่วยให้การดูแลรักษาอาการของโรคได้อย่างตรงจุด และรวดเร็วด้วยค่ะ
อ่านต่อ 7 อาหารช่วยลดอาการปวดประจำเดือน หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
7 อาหารช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน
คุณแม่ หรือสาวๆ คนไหนที่มีอาการปวดประจำเดือนแต่ไม่ได้รุนแรงมากจนทนไม่ไหว ปวดแบบปกติ ลองมาปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมในเรื่องการทานอาหารที่ช่วยลดและบรรเทาอาการปวดประจำเดือนลงได้ แนะนำให้ทานเป็นประจำโดยเฉพาะช่วงก่อนมีประจำเดือนในแต่ละรอบเดือนค่ะ
1. ผักปวยเล้ง
อุดมไปด้วย วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินบี เหล็ก โฟเลต ฟอสฟอรัส และมีแมกนีเซียม ที่จะช่วยในเรื่องของการบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนได้เป็นอย่างดี
2. ผัก ผลไม้ที่มีไฟเบอร์
ใครไม่ชอบทานผัก ผลไม้ คงต้องเปลี่ยนใจแล้วค่ะ ยิ่งกับคนที่ชอบมีอาการปวดประจำเดือนยิ่งต้องทานผัก ผลไม้ให้มากขึ้น ยิ่งโดยเฉพาะกับ ผัก ผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูงๆ มีวิตามินซี แนะนำให้ทานเป็นประจำทุกวัน เพราะจะช่วยลดความเครียด และอาการปวดเกร็งต่างๆ ในช่วงที่มีประจำเดือนได้ดีมากๆ ค่ะ
3. ปลาทะเล
ไม่ว่าจะเป็นแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ฯลฯ จะอุดมไปด้วยกรด EPA และ DHA ที่ช่วยลดอาการบวมน้ำ และลดอาการปวดเกร็งในช่องท้องจากมดลูกบีบตัว แนะนำให้ทานปลาทะเลทุกวันในช่วงที่มีประจำเดือนนะคะ
4. ตังกุย
ช่วงก่อนมีประจำเดือนให้ดื่มตังกุยสัก 1-2 สัปดาห์ ดื่มวันละแก้วเล็กๆ ก็พอค่ะ ตังกุยจะช่วยขยายหลอดเลือดป้องกันการบีบเกร็งของหลอดเลือด สามารถช่วยป้องกันอาการปวดประจำเดือนได้ค่ะ
5. น้ำขิง
สาวๆ ที่ชอบปวดประจำเดือนต้องมีขิงติดครัวไว้ค่ะ จะเป็นผงขิงแบบซองชงน้ำร้อนก็ได้สะดวกดี ในขิงจะมีโพแทสเซียมสูง ที่ช่วยในเรื่องลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้ดี ช่วงมีประจำเดือน 1-2 วันแรก ลองดื่มน้ำขิงอุ่นๆ กันค่ะช่วยได้
6. น้ำอุ่น
การดื่มน้ำอุ่นในวันที่มีประจำเดือนดีต่อร่างกายมากค่ะ เพราะการดื่มน้ำอุ่นจะช่วยทำให้ระบบเลือดไหลเวียนภายในร่างกายได้ดี สามารถบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้ดีมาก ฉะนั้นควรเปลี่ยนจากดื่มน้ำเย็นมาดื่มน้ำอุ่นในช่วงมีประจำเดือนกันนะคะ
7. ถั่วแระญี่ปุ่น
กินอร่อยเพลินดีค่ะ แต่รู้ไหมว่าในถั่วแระญี่ปุ่นนั้นอุดมด้วยแร่ธาตุแมกนีเซียม ที่ช่วยบรรเทาและลดอาการท้องอืด ปวดท้องจากการมีประจำเดือนได้ดีด้วยค่ะ
การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ดังนั้นแนะนำว่าทุกคนในครอบครัวควรหมั่นตรวจเช็กสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละครั้ง แต่ระหว่างนี้ให้ออกกำลังกายเป็นประจำ ทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ เท่านี้ก็จะช่วยให้ทั้งเด็กๆ และทุกคนมีสุขภาพที่ดีได้แล้วค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
ลูกปวดท้อง อย่านิ่งนอนใจ! 4 โรคร้ายที่อาจแอบแฝง
5 วิธีแก้ปัญหา ลูกท้องอืดท้องเฟ้อ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
1แพทย์หญิงสกุณี กระกูลสุขสถิตย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย. www.chulalongkornhospital.go.th