เมื่อ ลูกป่วย เพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนให้ยาลูกเอง เพื่อที่คุณหมอจะได้ประเมินว่า ควรให้ยาไปก่อนแล้วดูอาการได้ หรือ แนะนำให้มาตรวจเพื่อรักษาทันที เพราะบางครั้งอาจเป็นโรครุนแรงที่ต้องการการรักษาทันที
การใช้ยาให้ปลอดภัย และใช้ยาให้ถูกวิธีหรือถูกทาง เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งการที่คุณพ่อคุณแม่จะใช้ยากับลูกรักได้อย่างปลอดภัยก็ต่อเมื่อรู้ข้อมูลเกี่ยวกับยานั้น ๆ ให้มากที่สุด การรู้ว่ายาที่จะใช้คือยาอะไรและใช้เพื่ออะไรนั้น จะช่วยให้ใช้ยาได้เต็มประโยชน์ และลดโอกาสที่อาจเกิดอันตรายจากยาให้เหลือน้อยที่สุด ทุกๆท่านควรศึกษาการใช้ยาโดยละเอียด
คำถามสำคัญ ที่ควรถามเภสัชกร! “เมื่อรับยา” ตอน ลูกป่วย
สำหรับคุณพ่อคุณแม่หลายคนที่เคยให้ยารักษาอาการหวัด ปวดหัว ปวดท้อง ด้วยตัวเองหลาย ๆ ครั้ง อาจรู้สึกว่ามีความชำนาญระดับหนึ่ง แต่คุณจะไม่รู้ว่าอาการหวัด ปวดหัว ตัวร้อน หรือปวดท้อง ในแต่ละครั้งของลูกน้อยอาจมีสาเหตุแตกต่างกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรถามความเห็นจากคุณหมอหรือเภสัชกรก่อน
บางครั้งลูกอาจเคยได้รับยาปฏิชีวนะมาก่อน พ่อแม่มักซื้อยาชนิดเดียวกันให้ลูกกินเองในการป่วยครั้งต่อไปที่มีอาการคล้ายๆกัน ซึ่งไม่ควรทำ เพราะเหตุผลดังนี้
- ประการแรก ป่วยครั้งนี้ อาจต้องใช้ยาตัวอื่น หรือ ปริมาณยาอาจเปลี่ยนแปลงตามน้ำหนักลูก
- ประการที่สอง คือ ยาอาจไปเปลี่ยนแปลงอาการของโรค ทำให้การวินิจฉัยโรคยากขึ้น เช่น ปวดท้องจากไส้ติ่งอักเสบ แต่ถ้ากินยาปฏิชีวนะ จะไปบดบังอาการอักเสบ แต่ไม่ได้ทำให้โรคหาย ทำให้มาพบแพทย์ช้ากว่าที่ควรจะเป็น จนเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น ไส้ติ่งแตก
- ประการสุดท้าย คือ ลูกอาจแพ้ยา เพราะใช้ยาบ่อยเกินไป เช่น ยาปฏิชีวนะ และการให้ยาบางตัว เช่น พาราเซตามอล หากให้นานเกินไป ก็เป็นอันตรายได้เช่นกัน และไม่ควรนำยาของพี่น้อง เพื่อนบ้าน หรือญาติมาให้ลูกโดยไม่ปรึกษาแพทย์
ทั้งนี้ไม่แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ซื้อยาตุนไว้ให้ลูกน้อยกินเองโดยไม่จำเป็น เพราะสิ่งสำคัญเมื่อลูกป่วย คือคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยหมั่นสังเกตว่า ลูกมีอาการเจ็บป่วยเป็นโรคอะไรที่เป็นได้ และเมื่อเป็นบ่อย แล้วจึงไปขอคำปรึกษาจากหมอหรือเภสัชกรเป็นทางเลือกแรกๆ แต่ถ้าหากเป็นอาการโรคที่ลูกรักได้รับการวินิจฉัยดูแลแล้วว่าไม่ได้เกิดจากโรคร้ายแรง หรือเป็นอาการโรคเบื้องต้นที่คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลได้เอง ก็สามารถซื้อยามาไว้สำรองให้ลูกทานได้ ยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน
เมื่อไปรับยาจากเภสัชกร จะถามอะไรดี!
เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้ประโยชน์สูงสุดจากการให้ลูกน้อยใช้ยา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณแม่จะต้องรู้ว่ายานั้นใช้กับลูกอย่างไร และควรปฏิบัติตามวิธีใช้ที่เภสัชกรแนะนำอย่างเคร่งครัด ซึ่งคำถามที่คุณแม่ต้องควรถามข้อมูลต่าง ๆ เมื่อรับยาจากเภสัชกร ไม่ว่าจะเป็นที่ ร้านขายยา คลินิก หรือโรงพยาบาล เพื่อให้ลูกรักได้ใช้ยาอย่างถูกต้องและปลอดภัย รักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วยได้ หลัก ๆ คือมีด้วยกัน 8 คำถาม ดังนี้…
อ่านต่อ >> 8 คำถามสำคัญที่พ่อแม่ควรถามเภสัชกร! “ตอนรับยาเมื่อลูกป่วย” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
8 คำถามที่พ่อแม่ควรถามเภสัชกร!
“เมื่อรับยา ตอน ลูกป่วย“
1. เป็นยาอะไร และยานี้ใช้แก้รักษาอะไร
2. ขนาดยาและวิธีรับประทาน ยานี้กินอย่างไร เช่น กี่เม็ด กี่มื้อ ก่อนอาหาร หลังอาหาร พร้อมอาหาร ก่อนนอน
3. ถ้าลืมกินยา จะทำอย่างไร
4. ยานี้จะเกิดอาการข้างเคียงหรือไม่ อย่างไร และหากเกิดอาการแพ้ยา ควรทำอย่างไร
5. จะต้องใช้ยาไปนานเท่าใด
6. จะเก็บยานี้ไว้ที่ไหนได้บ้าง
7. กินยานี้ตอนท้องว่างหรือหลังอาหาร ถึงจะดี
8. กินยานี้กับนมหรือน้ำส้มได้หรือไม่
ที่สำคัญคุณแม่ต้องดูฉลากยา ว่ามีลักษณะที่บอกข้อมูลชัดเจนหรือไม่ เพราะหากไม่ชัดเจนหรือมีข้อสงสัยให้รีบถามเภสัชกรทันที เช่น กินเฉพาะเวลาเกิดอาการ หรือต้องกินให้หมดตามที่คุณหมอหรือเภสัชกรจ่ายยาให้ และหากให้กินทุก 4-6 ชั่วโมง นอนหลับไปแล้วยังต้องตื่นมากินหรือไม่
หากเป็นยาน้ำ ควรมีช้อนตวงยาหรือหลอดฉีดยามาให้ด้วย ซึ่งจะตวงยาน้ำได้ในปริมาณที่แม่นยำ ไม่ควรใช้ช้อนในครัวตวงยาน้ำ เพราะปริมาณยาที่ได้จะไม่เท่ากัน แม้จะเรียก 1 ช้อนโต๊ะเหมือนกัน
และนอกจากคำถามที่คุณแม่ควรถามแล้ว เพื่อให้ลูกน้อยได้รับยาที่เหมาะสมและสะดวกในการใช้ คุณแม่ก็ควรบอกเภสัชกร เกี่ยวกับโรคประจำตัวที่ลูกน้อยเป็นอยู่ด้วย รวมไปถึงยาที่กำลังใช้อยู่ และตัวยาที่ลูกแพ้ หรือปัญหาอื่น ๆ เกี่ยวกับการใช้ยาที่ลูกมี เช่น กลืนยายากลำบาก ก็ควรปรึกษากับเภสัชกรตรงนั้นเลย
Must read : ยาหมดอายุ-เสื่อมคุณภาพ อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม! พร้อมวิธีสังเกตและตรวจสอบยาเสื่อมสภาพ
ข้อควรพิจารณาเบื้องต้นสำหรับการใช้ยาในเด็ก
- ไม่ควรให้ลูกน้อยใช้ยาโดยไม่จำเป็น หากหลีกเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยง เพราะโรคบางโรคที่ไม่รุนแรงสามารถปล่อยให้อาการทุเลาเองได้
- ควรเลือกยาที่มีความปลอดภัยสูง โดยพยายามเลือกยาที่คุ้นเคยหรือที่เคยใช้แล้วปลอดภัย พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดใหม่ๆโดยไม่จำเป็น
- ต้องอ่านฉลากยาให้ถี่ถ้วนก่อนใช้ยาและสังเกตลักษณะของยาว่ามีลักษณะทางกายภาพเปลี่ยนแปลงจากที่เคยใช้หรือไม่ เนื่องจากคุณหมอหรือเภสัชกรมักเลือกยาประเภทน้ำเชื่อมให้เด็ก ซึ่งยาประเภทดังกล่าวจะหมดอายุเร็วกว่ายาประเภทยาเม็ด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของยาอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กที่กินยานั้นได้
- หากเด็กโตพอที่จะกินยาเม็ดได้ ให้เลือกใช้ยาเม็ดดีกว่ายาน้ำ เพราะนอกจากจะราคาถูกกว่าแล้วยังพกพาสะดวกและหมดอายุช้ากว่าด้วย สำหรับยาฉีดควรหลีกเลี่ยงมากที่สุด ยกเว้นในกรณีที่จำเป็นจริงๆ โดยแพทย์เป็นผู้สั่งให้ฉีดยาและฉีดโดยแพทย์หรือพยาบาลเท่านั้น เนื่องจากยาฉีดมีโอกาสแพ้แบบช็อก (Anaphylaxis) อย่างรุนแรงมากกว่ายาชนิดอื่น
และเมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้ถึงข้อควรพิจารณาเบื้องต้นแล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องรู้อีกหนึ่งเรื่อง คือทำไมการให้ยาในเด็กจึงต้องมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่?
เหตุผลที่ทำให้การให้ยาในเด็กแตกต่างจากการให้ยาในผู้ใหญ่
- การดูดซึมยาเข้าร่างกาย เนื่องจากกระเพาะอาหารของเด็กมีสภาวะความเป็นกรดน้อยกว่าและการบีบตัวมากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้การดูดซึมยาได้น้อยกว่าผู้ใหญ่
- การเผาผลาญทำลายยาและการขับถ่ายยา เนื่องจากตับและระบบเอ็มไซม์ต่างๆของเด็ก ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ทำให้กระบวนการทำลายยาไม่ดีเท่าผู้ใหญ่
- น้ำหนักตัว ส่วนสูง และพื้นที่ผิวของร่างกาย เนื่องจากปกติเด็กจะมีน้ำหนักตัว ส่วนสูง และ พื้นที่ผิวของร่างกายน้อยกว่าผู้ใหญ่ ทำให้การให้ยาในเด็กจึงมีขนาดยาที่น้อยกว่าผู้ใหญ่ด้วย โดยการคำนวณขนาดยาจากน้ำหนักตัวของเด็กเป็นหลัก เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายและมีความแม่นยำสูง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีพ่อแม่หลายคนอาจเคยสับสนเมื่ออ่านเอกสารเกี่ยวกับยาของเด็ก เช่น เด็กแรกเกิด เด็กอ่อน ทารก เด็กเล็ก หรือเด็กโต เขาแบ่งกันอย่างไร เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องจึงควรทราบ คำนิยามที่ควรรู้เหล่านี้เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดในการเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับเด็ก ดังนี้
- เด็กแรกเกิด (New Born) หมายถึง เด็กแรกคลอดจนถึง 4 สัปดาห์
- เด็กอ่อนหรือทารก (Infant) หมายถึง เด็กแรกคลอดจนถึง 1 ขวบ
- เด็กเล็ก หมายถึง เด็ก 1 ขวบถึง 6 ขวบ
- เด็กโต หมายถึง เด็ก 6 ขวบ ถึง 12 ขวบ
- สำหรับเด็กอายุ 12 ขวบขึ้นไป สามารถให้ยาได้เหมือนกับผู้ใหญ่
สิ่งที่สำคัญมากที่ควรพิจารณาในการเลือกใช้ยากับเด็ก ก็คือ ข้อควรระวังและข้อห้ามต่างของยาแต่ละชนิดเพราะหากมองข้ามประเด็นเหล่านี้แล้ว การให้ยาเพื่อรักษาอาจแปรเปลี่ยนเป็นการซ้ำเติมเด็กให้มีอาการเลวร้ายมากขึ้นและในบางกรณีอาจถึงแก่ชีวิตได้
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ”คลิก!
- วิธีคำนวณปริมาณยาลดไข้เด็ก ที่ถูกต้อง
- “ยาฝาแฝด” ภายนอกเหมือน สรรพคุณแตกต่าง พ่อแม่ระวังใช้ผิด ลูกน้อยเสี่ยง อันตรายถึงชีวิต
- เตือน! ยาลดไข้ ใช้ผิดวิธีอันตรายถึงชีวิตลูก
อ่านต่อ >> “ข้อควรระวังเมื่อใช้ยากับลูกน้อย” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ข้อควรระวังเมื่อใช้ยากับเด็ก
- ยาปฏิชีวนะ นิยมทำเป็นรูปผงแห้ง ก่อนผสมน้ำควรเคาะขวดยาให้ผงยากระจายตัวก่อน จึงผสมน้ำสุกต้มที่เย็นแล้วให้ได้ระดับที่กำหนด ยาบางชนิดเมื่อผสมน้ำแล้วต้องเก็บในตู้เย็นและต้องกินยาติดต่อกันจนหมด แม้ว่าอาการจะหายดีแล้ว ยกเว้นกรณีแพ้ยาให้หยุดยาทันทีและรีบไปพบแพทย์
- ยาลดไข้ ที่นิยมให้เด็กกินก็คือ พาราเซตามอล (Paracetamol) โดยให้เด็กกินยาทุก 4-6 ชั่วโมงจนไข้ลด แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ภายใน 2 วัน หรือมีไข้สูงมาก ควรไปพบแพทย์ ห้ามเปลี่ยนไปใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) หรือ ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) เพราะหาก เด็กเป็นไข้เลือดออกจะทำให้เกิดอันตรายได้ และยาพาราเซตามอล ไม่ควรกินยาติดต่อกันเกิน 5 วัน เพราะอาจมีผลเสียต่อตับได้ ส่วนกรณีจำเป็นเมื่อต้องใช้ยาลดไข้แอสไพริน หรือ ไอบูโปรเฟน ควรให้กินยาหลัง รับประทานอาหารทันที เนื่องจากยานี้ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร และนอกจากการให้ ยาลดไข้แล้ว ควรเสริมด้วยการเช็ดตัวเด็กด้วยผ้าชุบน้ำ หมาดๆ เช็ดตามข้อพับ ตามซอกต่างๆและลำตัว เพราะจะช่วยระบายความร้อนและลดไข้ได้ดีขึ้น
- ยาแก้ไอ ไม่ควรนำยาแก้ไอของผู้ใหญ่มาให้เด็กกิน เพราะยาบางชนิดอาจจะผสมแอลกอฮอล์ หรือยาบางตัวอาจมีฤทธิ์กดศูนย์กลางการหายใจ อาจทำให้เด็กหยุดหายใจจนเสียชีวิตได้
- ยาแก้ท้องเสีย ไม่ควรให้ยาที่มีความแรงมากในเด็กเล็ก เพราะอาจไปกดการหายใจได้ วิธีที่ดีที่สุดคือการให้น้ำและเกลือแร่ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำ เพราะอาการขาดน้ำในเด็กอาจทำให้เสียชีวิตได้
ข้อห้ามใช้ของยาสำหรับทารกและเด็กเล็กบางชนิดที่ควรจดจำ
- แอสไพริน (Aspirin) ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ เพราะอาจทำให้มีเลือดออกได้
- คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ไม่ควรใช้ในทารกอายุต่ำกว่า 2 เดือน เพราะอาจทำให้ซึม นอนไม่หลับ หรือชักได้
- คลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) ห้ามใช้ในทารกอายุต่ำกว่า 4 เดือน เพราะอาจทำให้เด็กตัวเขียว เนื้อตัวอ่อนปวกเปียก หรือหมดสติได้
- โลเปอราไมด์ (Loperamide) ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เพราะอาจกดศูนย์การหายใจ
- ซัลฟานาไมด์ (Sulfanamide) ห้ามใช้ในเด็กทารกอายุต่ำกว่า 2 เดือน เพราะอาจทำให้เกิด ดีซ่านและสมองพิการได้
- เตตร้าซัยคลิน (Tetracyclin) ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 8 ขวบ เพราะอาจทำให้ฟันเหลืองดำอย่างถาวรและกระดูกเจริญเติบโตไม่ดี
- เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เพราะยาอาจกดศูนย์กลางการหายใจ
ทั้งนี้ในเรื่องของการรับยา และให้ยากับลูกน้อย สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังจะให้ยากับลูกด้วยตัวเอง ก็ต้องมีกลเม็ดเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ที่จะทำให้การให้ยาเด็กมีประสิทธิภาพและได้ผลมากยิ่งขึ้น ดังนี้ค่ะ
กลเม็ดเคล็ดลับการให้ยาเด็ก
- ต้องใจเย็นและมีความอดทน เพราะโดยธรรมชาติของเด็กส่วนใหญ่มักไม่ชอบกินยา ควรพยายามหว่านล้อมและชักจูงเด็กมากกว่าที่จะใช้วิธีบังคับ เพราะยิ่งจะทำให้ให้เด็กกินยา ยากยิ่งขึ้น
- ไม่ควรบีบจมูกแล้วกรอกยาใส่ปากเด็กและไม่ควรป้อนยาให้เด็กขณะที่เด็กกำลังร้องหรือดิ้น เพราะนอกจากจะทำให้เด็กสำลักแล้ว ยังส่งผลทางด้านจิตใจต่อเด็กด้วย
- หากยามีรสชาติไม่ดีหรือมีกลิ่นไม่น่าทาน ควรผสมน้ำเชื่อมเพื่อเพิ่มรสชาติที่ดี ทำให้เด็กกินยาได้ง่ายขึ้น
- ไม่ควรใส่ยาลงไปในขวดนมเพื่อให้เด็กได้รับยาจากการดูดนม เพราะถ้าเด็กดูดนมไม่หมด จะทำให้เด็กได้รับยาไม่ครบตามจำนวนที่ควรจะเป็น นอกจากนั้นยาบางชนิดอาจทำให้รสชาติของนมเสียไป อาจส่งผลให้เด็กไม่อยากกินนมอีกด้วย
- ไม่ควรให้ยาพร้อมกับอาหารที่จำเป็นต่อเด็ก เพราะจะทำให้เด็กปฏิเสธอาหารเหล่านั้นในภายหลัง
- ใช้อุปกรณ์มาตรฐานในการตวงยาให้เด็ก ไม่ควรใช้ช้อนทานข้าวหรือช้อนชงกาแฟที่ใช้ในครัวเพราะจะทำให้ได้ปริมาณยาที่ไม่ถูกต้อง และขนาดมาตรฐานในการตวงยาที่ใช้กันอย่าง แพร่หลายคือ 1 ช้อนชา เท่ากับ 5 มิลลิลิตร และ 1 ช้อนโต๊ะ เท่ากับ 15 มิลลิลิตร
⇒ Must read : 8 เทคนิคป้อนยาลูก เมื่อลูกกินยายาก
เมื่อ ลูกป่วย ในเรื่องของการให้ยากับลูกแม้จะเป็นเรื่องที่ยากกว่าการให้ยาผู้ใหญ่ แต่เชื่อว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าที่คุณพ่อคุณแม่จะศึกษา เพราะเด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก ดังนั้นการให้ยาเด็กจึงมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ในหลายประเด็น ไม่ใช่เพียงแต่ขนาดยาที่แตกต่างกันเท่านั้น นอกจากนั้นการให้ยาเด็กควรมีจิตวิทยาพอสมควร เพราะเด็กส่วนใหญ่มักไม่ชอบทานยา อีกทั้งเด็กยังไม่เข้าใจเหตุผลของการกินยา แต่เมื่อถึงเวลาที่เด็กต้องกินยา คุณพ่อคุณแม่ควรหาวิธีที่เหมาะสมเพื่อทำให้การให้ยาเป็นไปตามที่ควรจะเป็นและถูกต้องตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ”คลิก!
- ยาแก้ไอ สําหรับทารก เลือกแบบไหน อย่างไรให้ลูกดี?
- ยาน้ำลดไข้ ของเด็ก แต่ละยี่ห้อแตกต่างกันอย่างไร พ่อแม่ควรรู้!
- แก้ปัญหาลูกน้อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง เลือกยาตัวไหนให้ลูกดี?
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.breastfeedingthai.com , webnotes.fda.moph.go.th , www.vibhavadi.com