โรคติดเชื้อในเด็ก สามารถเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะที่โรงเรียน เพราะการที่เด็กๆ อยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้มีโอกาสสัมผัสกับน้ำมูกหรือน้ำลายของเพื่อนที่เจ็บป่วย อีกทั้งมีโอกาสเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดหรือใช้สิ่งของร่วมกันง่ายขึ้นด้วย คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องทราบถึงข้อมูลอาการของโรคเหล่านี้พร้อมวิธีรับมือป้องกันกับโรคติดต่อ เพื่อไม่ให้ลูกน้อยของเราป่วยจากโรคเหล่านี้ได้
แพทย์เตือน! 4 โรคติดเชื้อในเด็ก
ที่ลูกมักติดจากเพื่อน ๆ ในโรงเรียน
เด็กในวัยเรียนที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปมักมีสุขภาพที่แข็งแรง ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีในระดับเพียงพอที่สามารถป้องกันโรคติดเชื้อต่างๆ ได้ ซึ่งแตกต่างจากเด็กในวัยสองขวบปีแรกที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายยังไม่แข็งแรงนัก ส่งผลให้เด็กในวัย 2 ขวบปีแรก เจ็บป่วยได้บ่อยจาก โรคติดเชื้อในเด็ก เช่น โรคติดเชื้อทางระบบหายใจและระบบทางเดินอาหาร
อย่างไรก็ตามแม้ว่าสภาพร่างกายของเด็กในวัยเรียนจะดูแข็งแรง แต่สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กมักส่งผลให้เด็กที่ฝากเลี้ยงในสถานรับเลี้ยงเด็กและเด็กที่เข้าเรียนในชั้นอนุบาลมีอาการเจ็บป่วยได้บ่อยๆ โดยเฉพาะจาก 4 โรคติดเชื้อในเด็ก ที่ลูกมักติดจากเพื่อนๆ ในโรงเรียน ที่มีการแพร่ระบาดได้ง่ายจากเพื่อนๆ เช่น ไข้หวัด เมื่อสภาพร่างกายของเด็กและภูมิคุ้มกันของเด็กแข็งแรงขึ้น อาการเจ็บป่วยของเด็กจะค่อยๆ ห่างออกและเจ็บป่วยเพียงไม่กี่ครั้งใน 1 ปีเหมือนกับที่พบได้ในผู้ใหญ่ ดังจะเห็นได้ว่าเด็กตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ขึ้นไปจะเจ็บป่วยน้อยกว่าเด็กในวัยเตรียมอนุบาลและวัยอนุบาลอย่างชัดเจน
ดังนั้นแล้ว โรคติดเชื้อในเด็ก ที่พบบ่อยและมีความสำคัญเนื่องจากอาการของโรคมีความรุนแรงและแพร่ระบาดได้ง่ายในโรงเรียน จะมี 4 โรค ด้วยกัน คือ โรคอีสุกอีใส โรคไข้หวัดใหญ่ โรคมือเท้าปาก และโรคไข้เลือดออก
โรคอีสุกอีใส
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอีสุกอีใส เด็กที่เคยป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ และมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เชื้อไวรัสที่ซ่อนตัวอยู่ในร่างกายอาจทำให้เกิดโรคงูสวัดตามมาได้ โรคอีสุกอีใสสามารถแพร่ระบาดได้บ่อยในเด็กวัยอนุบาลและวัยประถม
อาการ
เด็กที่ป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสจะมีอาการไข้และผื่น ผื่นมักเป็นบริเวณลำตัว โดยเริ่มจากตุ่มแดง และเปลี่ยนเป็นตุ่มใส ตุ่มหนอง แตกออกและเป็นสะเก็ดในที่สุด มักพบตุ่มหลายลักษณะในเวลาเดียวกัน
การรักษา
เด็กที่ป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสควรเช็ดตัวและกินยาลดไข้พาราเซตามอล ห้ามกินยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน รักษาความสะอาดของผิวหนังบริเวณผิวหนังเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
เด็กที่ป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสที่มีไข้สูงนาน มีตุ่มจำนวนมาก สงสัยว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง มีอาการไอมากหรือหอบเหนื่อย ควรพบแพทย์
บทความแนะนำ การเช็ดตัวลดไข้ให้ลูกอย่างถูกวิธี
การป้องกัน
โรคสุกใสในเด็กปกติอาการมักไม่รุนแรง และหลังหายจากโรคจะมีภูมิคุ้มกันจากโรคสุกใสไปตลอดชีวิตถ้าลูกยังไม่เคยเป็นโรคนี้ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นสุกใส หรือให้วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสก็จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ แต่ราคาค่อนข้างแพงและไม่สามารุป้องกันโรคได้ 100% ควรพิจารณาถึงความจำเป็นหลัก
ส่วนการลดการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นนั้นทำได้โดยให้เด็กที่ป่วยหยุดเรียนจนกว่าผื่นจะแห้งตกสะเก็ดหมด ซึ่งปกติใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ และหลีกเลี่ยงที่จะอยู่ร่วมกันกับบุคคลที่ยังไม่เคยเป็นโรคหรือยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้
อ่านต่อ >> “อีก 3 โรคติดเชื้อ ที่ลูกมักติดจากเพื่อนๆ ในโรงเรียน” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
โรคไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอและบีซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ เชื้อสามารถแพร่กระจายได้ง่ายในสถานศึกษา พบโรคได้บ่อยในเด็กทุกวัยและในผู้ใหญ่ และพบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
อาการ
เด็กที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการไข้สูง มีอาการหวัด และปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ
การรักษา
การดูแลเด็กที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ทำได้โดยการเช็ดตัวและกินยาลดไข้ ห้ามกินยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน ดื่มน้ำให้เพียงพอและพักผ่อนมากๆ
เด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ เช่น อายุน้อยกว่า 2 ปี น้ำหนักตัวมาก มีโรคประจำตัวบางอย่าง (โรคปอด โรคหัวใจ ฯลฯ) เด็กที่มีอาการปอดบวมแทรกซ้อน ไข้ไม่ลดลงภายใน 2-3 วัน ควรพบแพทย์เพื่อพิจารณารักษาด้วยยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่
การป้องกัน
ไม่ควรส่งลูกเข้าเรียนก่อนวัยอันควร พยายามให้ลูกอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกและสะอาด ถ้าลูกอยู่ในวัยที่ไปโรงเรียนแล้วอาจจะให้ลูกหยุดเรียนเพื่อป้องกันการนำเชื้อหวัดไปแพร่กระจายสู่เพื่อนและลดโอกาสรับเชื้อหวัดเพิ่ม หรือถ้าจะยังคงไปโรงเรียนก็ควรใช้ผ้าสะอาดปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจาม แต่อย่างไรก็ดีคุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพราะมีประโยชน์ในการป้องกันโรค และควรฉีดทุกปีเพราะเชื้อที่แพร่ระบาดในแต่ละปีเป็นสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน
ส่วนผู้ดูแลควรทิ้งกระดาษที่ใช้เช็กน้ำมูกหรือเสมหะลงในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด ที่สำคัญควรล้างมือก่อนและหลังสัมผัสกับผู้ที่เป็นหวัดทุกครั้ง
⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕
โรคมือเท้าปาก
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหลายชนิด เชื้อไวรัสที่สำคัญคือเอนเตอโรไวรัส 71 หรืออีวี 71 พบการแพร่ระบาดของโรคมือเท้าปากได้บ่อยในเด็กวัยอนุบาลและวัยประถม
อาการ
เด็กที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปากจะมีอาการไข้ แผลในช่องปากซึ่งมีอาการเจ็บ และพบตุ่มใสที่ฝ่ามือฝ่าเท้า โรค มือ เท้า ปาก อาจมีภาวะแทรกซ้อนทางสมองที่รุนแรงได้ แต่พบน้อยมาก
การรักษา
การรักษาเด็กที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปากเป็นการรักษาตามอาการ เช็ดตัวและกินยาลดไข้ แผลเจ็บในช่องปากทำให้ดีขึ้นโดยการดื่มน้ำเย็นนมเย็น อมน้ำแข็งหรือกินไอศกรีมก่อนรับประทานอาหาร และอาจให้ยาชาทาเฉพาะที่ร่วมด้วยก็ได้
เด็กที่มีไข้สูงหรือเป็นนานเกิน 2-3 วัน มีอาการง่วงซึม อาเจียน กระสับกระส่าย ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
การป้องกัน
- หมั่นทำความสะอาดของเล่น ของใช้ของเด็กทุกชิ้น โดยการทำความสะอาดด้วยสบู่ ผงซักฟอก หรือน้ำยาชะล้างทำความสะอาดทั่วไป หลังจากนั้นควรเช็ดอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ให้แห้งสนิท
- ระมัดระวังสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม อาหาร รวมทั้งของใช้ทุก ๆ อย่างที่เด็กอาจหยิบเข้าปากได้
- ไม่ควรให้เด็กเล่นของเล่น หรือใช้ของที่ปนเปื้อนน้ำลาย หากเป็นไปได้ไม่ควรให้เด็กใช้ของใช้ร่วมกัน
- ควรสอนให้เด็ก ๆ ฝึกนิสัยกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
ที่สำคัญทางโรงเรียนไม่ควรให้เด็กที่ป่วยโรคมือเท้าปากมาโรงเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติดี ซึ่งส่วนมากจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์
อ่านต่อ >> “โรคติดเชื้อ ที่ลูกมักติดจากเพื่อนๆ ในโรงเรียน” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
โรคไข้เลือดออก
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี มียุงลายเป็นพาหะนำโรค พบบ่อยได้ในเด็กชั้นประถมและชั้นมัธยม และพบบ่อยในช่วงฤดูฝน ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นทำให้เกิดภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหารและมีภาวะช็อคได้
อาการ
เด็กที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกจะมีอาการไข้สูงลอย กินยาลดไข้แล้วอาการไข้ลดลงเพียงเล็กน้อย อาการของโรคมักคล้ายคลึงกับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ แต่มักไม่มีอาการหวัดร่วมด้วย และมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง และอาจตรวจพบจุดเลือดออกบริเวณผิวหนัง
การรักษา
เด็กที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกควรได้รับการรักษาตามอาการด้วยการเช็ดตัวและกินยาลดไข้พาราเซตามอล ห้ามใช้ยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ หากเด็กดื่มน้ำได้ไม่เพียงพอ ไข้สูงนานเกิน 3 วัน มีอาการซึม มือเท้าเย็นโดยเฉพาะเมื่อไข้ลดลง ควรพบแพทย์
การป้องกัน
อย่างไรก็ดี เมื่อมีเด็กป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ควรแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาจัดการทำลายยุงและแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ทุกคนควรมีส่วนร่วมในการรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและลูกน้ำภายในบ้านและชุมชน วัคซีนไข้เลือดออกกำลังอยู่ระหว่างการทดลอง คาดว่าจะนำมาใช้ในการป้องกันโรคอย่างแพร่หลายในเร็วๆ นี้
⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕
นอกจากนี้ยังมีอีก 2 โรคติดเชื้อที่แม้ไม่ได้ติดจากเด็กสู่เด็กโดยตรง แต่ลูกน้อยในวัยเรียนก็สามารถเป็นได้เนื่องจาก สุขอนามัยทางโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่สะอาดเพียงพอ
โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า
เชื้อไวรัสโรต้าเป็นสาเหตุสำคัญของโรคอุจจาระร่วงในเด็กช่วงอายุ 5 ปีแรก และผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงกว่าโรคอุจจาระร่วงจากสาเหตุอื่นๆ
อาการ
เด็กที่ป่วยจากโรคติดเชื้อไวรัสโรต้าจะมีอาการไข้ อาเจียน และถ่ายเป็นน้ำ อาการไข้และอาเจียนมักเป็นนาน 1-2 วันในขณะที่อาการท้องเสียอาจเป็นนาน 3-7 วัน เด็กอาจมีอาการขาดน้ำรุนแรงถึงกับต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือและอาจเกิดภาวะช็อกได้
การรักษา
เด็กที่ป่วยเป็นจากโรคติดเชื้อไวรัสโรต้าควรได้รับการดูแลรักษาเช่นเดียวกับโรคอุจจาระร่วงทั่วไป โดยการเช็ดตัวและให้ยาลดไข้ รับประทานอาหารที่ย่อยง่ายโดยเน้นอาหารจำพวกแป้งและหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นเส้นใยอย่างผักและผลไม้ และดื่มนมครั้งละน้อยๆ แต่เพิ่มจำนวนมื้อของอาหารและนม ควรให้เด็กจิบน้ำเกลือแร่บ่อยๆ โดยเฉพาะกรณีถ่ายเป็นน้ำจำนวนมากและมีอาการขาดน้ำ กรณีเด็กดื่มน้ำไม่ได้ มีอาการซึม ร่างกายขาดน้ำมาก ปัสสาวะน้อยลงหรือปัสสาวะสีเข้มมาก ควรพบแพทย์
การป้องกัน
โรคติดเชื้อไวรัสโรต้าสามารถป้องกันหรือลดความรุนแรงได้ด้วยการดื่มนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดและหยอดวัคซีนซึ่งต้องให้ตั้งแต่วัยเด็กเล็ก การดูแลความสะอาดของอาหารและน้ำดื่มไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้ามากนัก แต่มีประโยชน์ในการป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากสาเหตุอื่นๆ
⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕
โรคตับอักเสบเอ
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ ทำให้เด็กต้องขาดเรียนหรืออาจมีอาการรุนแรงถึงกับต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล โรคตับอักเสบเอ อาจเกิดการแพร่ระบาดได้หากเด็กได้รับเชื้อผ่านทางอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน
อาการ
เด็กที่ป่วยเป็นโรคตับอักเสบเอจะมีอาการไข้ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน และอาจพบอาการตาตัวเหลืองที่เรียกว่าดีซ่านได้
การรักษา
เด็กที่ป่วยเป็นโรคตับอักเสบเอควรเน้นการรับประทานอาหารจำพวกแป้ง ดื่มน้ำหวาน กินยาลดไข้และยาแก้อาเจียนตามอาการ และพักผ่อนมากๆทั้งนี้เด็กที่มีไข้สูง อาเจียนมาก ตาตัวเหลือง รับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ไม่เพียงพอ ควรพบแพทย์
การป้องกัน
โรคตับอักเสบเอสามารถป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารและดื่มน้ำสะอาด เด็กที่ป่วยจากโรคนี้ควรให้ล้างมือบ่อยๆ และให้หยุดเรียน โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน
เมื่อได้ทราบกันแล้วสำหรับ โรคติดเชื้อในเด็ก ที่ลูกน้อยอาจจะต้องพบเจอเมื่อเข้าโรงเรียนอนุบาล สิ่งสำคัญทั้งหมดทั้งมวล คือ คุณแม่ต้องสอนให้ลูกใช้ของใช้ส่วนตัวของตนเอง บอกลูกไม่ควรใช้แก้วน้ำ ผ้ากันเปื้อน ผ้าเช็ดหน้า หมอน ผ้าห่มของเพื่อน และถ้าเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาซึ่งหลีกเลี่ยงได้ยากก็รักษาตามอาการก่อน หากมีอาการไม่น่าไว้วางใจต้องไปพบคุณหมอโดยด่วนนะคะ ด้วยความปรารถนาดีจาก Amarin Baby & Kids
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- 5 อันดับโรคยอดฮิตของเด็กไทย
- เตือนพ่อแม่ระวัง 4 โรคติดต่อ 2 ภัยสุขภาพ ปี 60
- 5 อันดับยอดฮิต โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจในเด็กเล็ก
- 5 วัคซีนเด็ก สำคัญ! ป้องกัน 9 โรคร้ายให้ลูกตอนโต
ขอบคุณข้อมูลจาก : รพ.จุฬาลงกรณ์ News twitter.com/prchulahos และ โครงการวัคซีนจุฬา เรื่อง เรียนรู้และเข้าใจ… โรคติดเชื้อในเด็ก โดย ชิษณุ พันธุ์เจริญ, ธันยวีร์ ภูธนกิจ