นี่คือ 11 โรคกลัวของแปลกๆ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ทั้ง พ่อ แม่ และลูก กับการกลัวสุดแปลกแต่มีจริง จะมีความกลัวอะไรบ้าง หรือมีวิธีรักษาโรคกลัวของแปลกเหล่านั้นอย่างไร ไปดูกันค่ะ
ความกลัวของลูก กับ 11 โรคกลัวของแปลกๆ ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนในครอบครัว
ความกลัว เริ่มเกิดขึ้นกับเด็กวัย 3 – 5 ขวบ ซึ่งมีมากมายเต็มไปหมด คุณพ่อคุณแม่อาจจะเคยได้ยินลูกวัยนี้วิ่งเข้ามาบอกว่าลูกกลัวความมืด กลัวน้ำ กลัวความตาย กลัวสัตว์ต่างๆ เพราะเด็กกับความกลัวเป็นเรื่องที่คู่กัน เด็กจะกลัวในเรื่องที่จำฝังใจ
ซึ่งความกลัวจะเกิดขึ้นในช่วงหนึ่งของชีวิตเท่านั้น เพราะพอเด็กโตขึ้นและได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่เขากลัวนั้น เขาสามารถที่จะรับมือกับสิ่งที่กลัวได้อย่างไรบ้าง ก็จะทำให้เด็กใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น เช่น ถ้ากลัวผี ช่วงเวลาหนึ่งเขาจะรู้ว่าผีไม่มีอยู่จริง กลัวความมืด ช่วงเวลาหนึ่งเขาจะเรียนรู้ที่จะอยู่ให้ได้ถ้าไฟในบ้านเกิดดับขึ้นมา เป็นต้น
ในขณะเดียวกันความกลัวที่เกิดขึ้นกับเด็ก จะทำหน้าที่ปกป้องให้เด็กระมัดระวังเรียนรู้ว่าสิ่งใดที่จะปลอดภัย และเป็นอันตรายกับตัวเขาได้บ้าง เวลาที่มีสิ่งที่ทำให้กลัวอยู่ตรงหน้าไม่ว่าจะเป็น ด้วยความรู้สึก หรือกำลังจะถูกกระทำ ร่างกายจะถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวด้วยการทำงานของระบบประสาท ที่เป็นระบบของเนื้อเยื่อพิเศษที่เกิดจากเซลล์ประสาท ทำให้ข้อความผ่านกระบวนการไปมาจากส่วนต่างๆ ของร่างกาย และจะมีการหลั่งสารอะดรีนาลิน ที่เป็นฮอร์โมนสารเคมีที่มีผลกระทบต่อการควบคุมส่วนต่างๆ ของร่างกาย ผลิตโดยต่อมหมวกไตที่อยู่ด้านบนสุดของไต (เป็นสารเคมีของความเครียด ซึ่งเราจะรู้สึกได้ว่าร่างกายจะรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ)
ความกลัวในวัยเด็กที่พบมากที่สุด
สัตว์ประหลาด, ความมืด, กลัวความสูง, พายุ ฟ้าผ่า ฟ้าร้อง, แมลงงู สุนัข, การหลงทาง, การสอบตกซ้ำชั้น, กลัวหมอกลัวเข็มฉีดยา และกลัวว่าจะเสียพ่อแม่ไป เป็นต้น
สาเหตุของความกลัว
- เด็กที่อยู่แต่ในบ้าน หรือเด็กที่พ่อแม่ปกป้องมากจนเกินไป ไม่กล้าที่จะออกมาทำกิจกรรมข้างนอก เมื่อเจอในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย จึงทำให้เกิดความกลัวได้ง่าย
- ให้ลูกดูทีวีที่มีเรื่องราวน่ากลัว มีความรุนแรง เด็กจะเก็บไปจินตนาการต่อกลายเป็นความกลัวอย่างจริงจัง
- บางครั้งเด็กยังไม่สามารถแยกระหว่างความจริงและเรื่องสมมติได้ เด็กมีจินตนาการที่กว้างไกล และเขาใช้จินตนาการเหล่านี้ในการสร้างสรรค์ เทพธิดา นางฟ้า แม่มด รวมไปถึงสัตว์ประหลาดต่างๆที่ทำให้เขากลัวด้วย แต่เมื่อพวกเขาโตขึ้น เขาจะเรียนรู้ที่จะแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนจริงและสิ่งไหนเป็นความเพ้อฝันได้
- ผู้ใหญ่ชอบหลอกเพราะง่ายต่อการปกครองและดูแล บางครั้งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กกลัวนั้นมาจากผู้ใหญ่ การพูดไม่จริงเพื่อให้เด็กทำในสิ่งที่เราต้องการ เป็นผลเสียมากกว่าผลดี เช่น บอกเด็กๆ ว่าอย่ามุดเล่นใต้เตียงนะ เดี๋ยวผีมาหลอก หรืออย่าเล่นซ่อนแอบในเวลากลางคืน เดี๋ยวผีมาเอาตัวไปเป็นต้น อย่าหลอกเด็กเพื่อให้เขาทำในสิ่งที่เราต้องการ เพราะความกลัวนั้นจะติดตัวไปกับเด็กๆ และเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วบางครั้งพวกเขาไม่สามารถกำจัดความกลัวนั้นออกไปได้ และจะเป็นผลเสียตามมา
- เคยมีประสบการณ์กับสิ่งเหล่านั้นมาก่อน เช่น เด็กบางคนกลัวการขี่จักรยานบนท้องถนน หรือกลัวแมงกะพรุนไฟ ความกลัวนี้เป็นความกลัวที่เกิดขึ้น เพราะเด็กเคยมีประสบการณ์กับสิ่งเหล่านี้มาก่อน ทำให้เด็กมีความกลัวฝังใจกับสิ่งเหล่านี้ เป็นต้น
อ่านต่อ >> “11 โรคกลัวของแปลก ที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนในครอบครัว” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
หลักการช่วยเหลือเด็กให้เอาชนะความกลัว กับ โรคกลัวของแปลกๆ
แม้ว่าสายตาและมุมมองของผู้ใหญ่ต่อสิ่งต่าง ๆ จะมองจากความเป็นจริง และสามารถจัดการกับความรู้สึกไม่มั่นคงได้ แต่เด็กอาจต้องฝึกกันนิดหน่อย ซึ่งวิธีการก็ไม่ยากจนเกินไป โดยต้องเริ่มจาก
- ทำความเข้าใจกับความกลัวของลูกน้อย และใช้เหตุผลในการพูดคุย ซึ่งในการพูดคุยนั้น ไม่ควรทำให้เด็กรู้สึกว่าเป็นความผิดที่ตนเองกลัวในสิ่งต่าง ๆ หรือทำให้เด็กรู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าอาย
- อย่าสนับสนุนให้เด็กหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับสิ่งที่เขากลัว แต่ควรจะให้เขาได้เผชิญหน้ากับมันบ้าง เพื่อที่เด็กจะได้รู้จักวิธีจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง (ในกรณีนี้คุณพ่อคุณแม่ควรทำด้วยความระมัดระวัง และไม่กระตุ้นในลักษณะที่รุนแรง)
- สร้างความรู้สึกเชื่อมั่นในตัวเองให้เกิดขึ้นกับเด็ก
- สอนวิธีผ่อนคลายให้เด็ก เพื่อที่เขาจะได้นำมาใช้เมื่อเกิดความกลัว หรือไม่มั่นคงขึ้น โดยอาจจะให้เด็กหลับตาและจินตนาการถึงความสุขที่เคยได้พบมา หรือสถานที่ที่พวกเขาชื่นชอบ อีกทั้งการผ่อนคลายช่วยให้เด็กปลดปล่อยอารมณ์ที่เกิดจากความกังวลใจ มีเทคนิคของผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวพันถึงการให้เด็กจินตนาการ หรือพัฒนาด้วยมโนภาพที่ผ่อยคลาย
- สอนวิธีเผชิญหน้ากับความกังวลใจ พ่อแม่สามารถสอนลูกถึงวิธีโต้ตอบเมื่อเขากังวลใจ
- ค่อยๆ ขจัดปฏิกิริยาโต้ตอบ วิธีส่งเสริมลูกให้เผชิญหน้ากับความกลัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป คือ การค่อยๆ เปิดรับ ปล่อยให้ลูกกำหนดระยะ และไม่บังคับให้เขาทำสิ่งใดๆ โดยไม่สะดวกใจ
♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦
ทั้งนี้อาการกลัวที่ร้ายแรง หรือที่เรียกว่าโฟเบีย (Phobia) ซึ่งบนโลกนี้ก็มีด้วยกันอยู่หลากหลายชนิด โดยแต่ละชนิดก็แปลกจนไม่น่าเชื่อว่าจะมีใครบนโลกเป็นด้วย
แต่ก็มีจริง ๆ อย่างที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเป็นเห็นได้ชัด ๆ ก็คือโรคกลัวรู ที่เคยเป็นข่าวโด่งดังกันอยู่พักหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีอาการกลัวอีกมากมายที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะยังไม่รู้จัก Amarin Baby & Kids จึงขอพาไปทำความรู้จักกับอาการกลัวสุดแปลกที่ไม่คิดว่าจะมีบนโลกนี้ จากเว็บไซต์ listverse.com มาฝากกันค่ะ ตามมาดูกันเลย
ประเภทของ Phobia สามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ประเภท คือ
- Agoraphobia – ความวิตกกังวลอย่างหนักในที่สาธารณะที่ทำให้การหลบหนีเป็นไปได้ยาก
- Social Phobia – ความกลัวและการหลบหลีกสถานการณ์ทางสังคม
- Specific Phobia – ความกลัวจากวัตถุหรือสถานการณ์บางอย่าง
โรคกลัวกระจก (Eisoptrophobia)
เป็นอาการกลัวกระจกที่ทำให้ไม่กล้ามองเข้าไปในกระจก เพราะจะรู้สึกว่าตัวเองจะถูกดูดเข้าไปในโลกอีกฝั่งที่อยู่ในกระจก นอกจากนี้ผู้ที่มีอาการกลัวกระจกจะรู้สึกกังวลเป็นอย่างมากถ้าหากกระจกเกิดแตกขึ้นมา เพราะกลัวว่าความโชคร้ายจะมาเยือน
โรคกลัวตุ๊กตา (Pediophobia)
เกิดจากความกลัวตุ๊กตาทุกชนิด กลัวไปทุกส่วนของตุ๊กตาไม่เว้นแม้แต่เส้นผม เนื่องจากมีความหลังฝังใจกับหนังสยองขวัญที่เกี่ยวข้องกับตุ๊กตาที่เคลื่อนไหวและพูดได้ โดยอาการของโรคนี้จะกลัวแม้กระทั่งหุ่นยนต์ หรือหุ่นโชว์เสื้อผ้า พาลไม่กล้าไปเดินซื้อของตามห้างสรรพสินค้าไปด้วย แต่อาการเหล่านี้จะแตกต่างจากอาการกลัวเด็ก เพราะคนที่มีอาการเหล่านี้จะกลัวการที่ตุ๊กตาหรือหุ่นยนต์เหมือนมีชีวิตขึ้นมาจริง ๆ
โรคกลัวตัวตลก (Coulrophobia)
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กๆ จะกลัวตัวตลก เพราะเหล่า Clown นั้นมีหน้าตาแปลกประหลาดจากคนปกติ แต่หากความมีความหวาดกลัวถึงขั้นทำให้หวาดผวาและยังคงคิดตัวมาจนโต ก็เป็นอาการที่เข้าข่าย Coulrophobia
โรคกลัวที่แคบ (Claustrophobia)
เป็นอาการกลัวที่แคบ กลัวการอยู่ในพื้นที่จำกัดและไม่สามารถหาทางออกได้ อาการนี้สามารถรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้มาก เพราะถูกกระตุ้นได้ง่ายจากการอยู่ในพื้นที่จำกัด อาทิ ลิฟต์ที่มีคนแน่น ห้องที่ไร้หน้าต่าง หรือแม้แต่การใส่เนคไทหรือเสื้อที่รัดคอมากเกินไป
อ่านต่อ >> “11 โรคกลัวของแปลก ที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนในครอบครัว” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
โรคกลัวแม่ยาย (Pentheraphobia)
จริง ๆ แล้วโรคนี้เป็นโรคที่ไม่ค่อยจะแปลกเท่าไรสำหรับคนที่มีครอบครัว เพราะโดยส่วนใหญ่คุณผู้ชายที่มีครอบครัวแล้วก็มักจะกลัวแม่ยายกันเป็นธรรมดา แต่อาการของโรคนี้ใช่ว่ามันจะไม่รุนแรงนะ เพราะอาการของโรคแม่ยายนั้นจะมีตั้งแต่ อาการหอบ เหงื่อออกมาก คลื่นไส้ ปากแห้ง ใจสั่น ไม่สามารถพูดตามที่คิดได้ จนทำให้เสียการควบคุม และในชาวตะวันตก โรคนี้ก็ไม่ใช่เรื่องตลกเลยล่ะค่ะ เพราะว่ามีชาวตะวันตกจำนวนไม่น้อยที่เป็นโรคนี้ดังที่เรามักจะเห็นในภาพยนตร์ต่าง ๆ ซึ่งอาการเหล่านี้ก็มีอาการใกล้เคียงกับโรคกลัวแม่เลี้ยง (Novercaphobia) ซึ่งมีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือตัวละครอย่างซินเดอเรลล่านั้นเอง
โรคกลัวเข็ม (Trypanophobia)
โรคกลัวเข็ม ผู้ที่มีโฟเบียนี้กลัวเข็มฉีดยา กลัวการรักษาที่ต้องถูกฉีดสารหรือยาเข้าทางผิวหนัง นอกจากนี้ Trypanophobia ยังหมายรวมถึงความกลัววัตถุปลายแหลมอื่นๆ ด้วย
โรคกลัวรู (Trypophobia)
ภาวะที่ไม่อยากมองหรือเข้าใกล้วัตถุที่มีลักษณะเป็นรูกลวงโบ๋ หรือมีเม็ดโผล่ออกมาจากรู ไม่ใช่เพียงรูในลักษณะผิดธรรมชาติ แต่รวมไปถึงภาพธรรมดา อย่าง ฟองน้ำ, ปะการัง, เมล็ดพืช หรือแม้แต่วงกลมร่างกายของสัตว์ บางคนเห็นแล้วเกิดอาการคันตามตัว ขนลุก หรือรู้สึกขยะแขยง ผู้ป่วยบางรายอาจถึงขั้น อาเจียน, เข่าอ่อน หรือไม่สบายไปเลยก็มี
โรคกลัวถนนและการข้ามถนน (Agyrophobia)
เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการกลัวการข้ามถนน หรืออาการกลัวถนน ซึ่งอาการเหล่านี้จะทำให้อาศัยอยู่ในเมืองได้ยากลำบากที่สุดเลยล่ะค่ะ เพราะไม่ว่าจะไปทางไหนก็เจอแต่ถนน คนกลุ่มนี้จะกลัวถนนทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นถนนในซอย หรือทางหลวง สี่แยก จะว่ากันง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเจอตรงไหนที่เป็นถนนก็จะกลัวทั้งนั้น สาเหตุอาจเป็นเพราะผู้ที่กลัวถนนนั้นอาศัยอยู่ในเมืองที่มีสภาพท้องถนนวุ่นวายและการจราจรติดขัด ทำให้ในที่สุดแล้วก็ต้องยอมย้ายออกไปอยู่ในพื้นที่ในชนบทที่การจราจรไม่พลุกพล่านแทน แต่อย่างไรก็ตามโรคชนิดนี้จะแตกต่างจากการกลัวรถโดยสิ้นเชิง
โรคกลัวการคลอดลูก (Tocophobia)
เกิดขึ้นได้ทั้งกับผู้ที่ยังไม่เคยตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์ ตลอดจนผู้มีประสบการณ์ตั้งครรภ์และคลอดมาแล้ว ในกลุ่มแรกต้นตอความกลัวมักมาจากการขาดคำอธิบายที่ถูกต้องจากผู้เป็นแม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการคลอด หรือผู้เป็นแม่พููดถึงแต่ความรู้สึกเจ็บปวดหรือความรู้สึกเชิงลบต่อการท้องและคลอด ตลอดจนอาจเคยถูกทารุณกรรมทางเพศมาก่อน การท้องและทำคลอดจึงทำให้หวนคิดถึงประสบการณ์เลวร้าย ขณะที่กลุ่มหลังอาจมีประสบการณ์ตั้งครรภ์และคลอดที่ไม่ดีในคราวแรก จนกลายเป็นอาการหวาดกลัวการคลอดลูกในที่สุด
โรคกลัวอาหารทำให้อ้วน (Lipophobia)
เป็นภาวะที่บุคคลปฏิเสธที่จะรับประทานอาหารเพื่อคงน้ำหนักไว้ในระดับปกติ โดยมีทัศนคติที่ผิดต่อรูปร่าง และน้ำหนักตัวผิดปกติ คนที่เป็นโรคนี้ จะเป็นคนที่กลัวอ้วน กลัวเอามาก ๆ เห็นน้ำหนักตัวเองเป็นศัตรู ปฏิเสธอาหารอย่างมากจนผ่ายผอม ซึ่งโรคนี้มักพบในคนที่ต้องใช้ความผอมในอาชีพอย่างนักบัลเลต์ นางแบบ นักกีฬา รวมถึงพบในประเทศพัฒนาแล้ว เชื่อกันว่าสื่อมีผลกับการทำให้คนอยากมีรูปร่างดีกันมากขึ้น
โรคกลัวการทำอาหาร (Mageirocophobia)
เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการกลัวการทำอาหาร เนื่องจากเกิดความไม่มั่นใจในฝีมือการทำอาหารของตัวเองอย่างหนัก ผู้ที่มีอาการกลัวเหล่านี้จะมีความเสี่ยงที่จะรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ถ้าหากอยู่ตามลำพัง ซึ่งอาการเหล่านี้จะแสดงออกเมื่อต้องทำอาหารให้ตัวเองหรือผู้อื่นรับประทาน เพราะกลัวว่าอาหารจะไม่อร่อย หรือคนอื่นทานอาหารที่ตัวเองทำแล้วจะท้องเสีย อาการเหล่านี้รักษาได้เพียงแค่ไปเรียนทำอาหารเพิ่มเติม หรือฝึกทำอาหารบ่อย ๆ ค่ะ
การรักษาโรคกลัวของแปลกๆ Treating Phobias
การรักษาที่สามารถช่วยผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาถึง 90% คือการให้ผู้ป่วยเผชิญกับสถานการณ์ที่ตัวเองกลัวทีละน้อย เพื่อเพิ่มความมั่นใจและเปลี่ยนมุมมองให้ผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยพัฒนาต่อการตอบสนองสถานการณ์ที่ตัวเองกลัวได้ดีขึ้น
ถึงแม้ว่าโรคกลัวของแปลกๆ เหล่านี้จะดูเหลือเชื่อไปสักหน่อย แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ ซึ่งคนเราสามารถเอาชนะมันได้ แต่ถ้าหากเราไม่สามารถเอาชนะความกลัวในจิตใจไปได้ ก็อาจจะสะสมทำให้กลายเป็นอาการทางจิตที่รักษายาก ฉะนั้นถ้าคุณกำลังกลัวอะไรอยู่ละก็ ลองเผชิญหน้ากับมันนะคะ ความกล้าหาญเท่านั้นที่จะทำลายความกลัวได้ค่ะ
อ่านต่อ “บทความดีๆ น่าสนใจ” คลิก!
- 5 โรคที่มากับมือ ไม่อยากเป็นล้างมือให้สะอาด
- “ขู่ลูก” ให้กลัว เด็กได้อะไร พ่อแม่ได้อะไร!!
- รวม 11 โรค กับวิธีสังเกต ลูกมีปัญหาสุขภาพจิต
ขอบคุณข้อมูลจาก : health.kapook.com , sapparot.co